พิธีไล่น้ำ ฟันน้ำ ทำกันตอนไหน? เพื่ออะไร?

น้ำท่วมโบราณสถานภายในจังหวัดพระนคร ศรีอยุธยา “มหาอุทกภัย” เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ (ภาพจากห้องสมุดภาพมติชน)

พิธีไล่น้ำ หรือ ไล่เรือ เป็นพิธีที่กระทำในช่วงเวลาที่ข้าวสุกเต็มที่ใกล้เก็บเกี่ยว [เป็นพิธีที่กระทำในเดือนอ้าย (เดือน 1)] หากระดับน้ำยังไม่ลดจากเดือนที่ผ่านมาอาจเกิดความเสียหายได้ ดังนั้นการประกอบพิธีดังกล่าวเป็นมาตรการใช้ “ไม้แข็ง” เพื่อหวังผลให้น้ำลดระดับเร็วขึ้น หลังจากที่ได้เซ่นสรวงพลีกรรมแสดงความเคารพมาแล้วก่อนหน้านั้น

ตามกฎมณเฑียรบาลเรียกว่า พิธีไล่เรือ พระมหากษัตริย์เสด็จลงเรือพระที่นั่งพร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในครั้นถึงบริเวณ “ท้ายบ้านรุน” ทรงถือพัชนี (พัด) และกระทุ้งส้าว (ไม้มีพู่ประดับสำหรับกระทุ้งให้สัญญาณในเรือพระราชพิธี) สันนิษฐานว่าใช้พัดและกระทุ้งให้น้ำลดระดับลง นอกจากนี้ โคลงทวาทศมาส เรียก พิธีไล่ชล พร้อมทั้งระบุสถานที่ประกอบพิธีว่ากระทำที่บางขดาน ดังนี้

      ชลธีปละปลั่งค้าง    ทางสินธุ์
นาเวศนาวาวาง            วาดน้ำ
ตกบางขดานดิน           สดือแม่
ดลฤดูสั่งล้ำ                 ไล่ชล

บริเวณบางขดาน (บางกระดาน) ถือเป็น “ดินสะดือ” หมายถึงบริเวณที่มีน้ำวนเกลียวลึกลงไปเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ของแม่น้ำเป็นทางลงไปถึงเมืองบาดาลของนาค จึงต้องทำพิธีเพื่อที่ “ผี” หรือนาคจะกระทำให้น้ำลดระดับลง

แผนที่แสดงแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณบางกระดาน สถานประกอบพิธีกรรมไล่น้ำ ปัจจุบันเรียกบางปะอิน อ. บางปะอิน จ. พระนครศรีอยุธยา (แผนที่โดย ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ จากรายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว)

ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงเวลาเดียวกันยังมีการประกอบพิธีอีกอย่างหนึ่งที่มีความหมายของพิธีคล้ายคลึงกันคือ พิธีฟันน้ำ เพื่อเป็นการควบคุมระดับน้ำ ปรากฏในคำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุว่าเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ความว่า

“พระองค์ก็เสด็จลงทรงเรือเอกไชยแล้วจึงพายลงไปจนถึงท่าเกาะพระ แล้วจึงเอาพระขรรค์ชัยศรีนั้นตีลงที่ในคงคา แล้วไล่น้ำขึ้นมาจนถึงหน้าฉนวนใหญ่ ด้วยพระเดชของพระองค์นั้น อันน้ำที่ในแม่น้ำนั้นก็ขึ้นมาตามพระทัยปราร์ถนา ถ้าน้ำนั้นขึ้นมาเหลือกำหนดไปนัก พระองค์ก็เสด็จทรงเรือพระที่นั่งเอกไชยแล้วพายเสด็จขึ้นไปเหนือน้ำถึงบ้านหลวงพร้อมกันแล้ว จึงพายเสด็จต้อนน้ำลงมาจนถึงหน้าฉนวนใหญ่ อันน้ำที่ในแม่น้ำก็ลงตามพระทัย”

เนื้อความจากเอกสารดังกล่าวแม้ว่าจะเจือไปด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อย่างมากก็ตาม แต่ส่วนหนึ่งก็แสดงคุณลักษณะของผู้นำที่ต้องมี “บารมี” หรือบุญญาธิการที่จะสามารถสื่อสารจนไปถึงการต่อกรกับ “ผี” หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติได้ อย่างไรก็ดี พิธีฟันน้ำ จัดเป็นพิธี “เฉพาะกิจ” มิได้กระทำทุกปีและได้ยกเลิกไปในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เห็นได้จากบันทึกของ นิโกลาส์
แชรแวส ระบุว่า

“มีอยู่วันหนึ่งเหมือนกันในรอบปีที่ประชาชนพลเมืองจะแลเห็นพระเจ้าแผ่นดินของตนได้ คือในวันแข่งเรืออันถือกันว่าเป็นงานเอิกเกริกยิ่ง เมื่อก่อนนี้ยังมีอีกโอกสหนึ่งที่จะได้เห็นพระองค์ คือในวันเสด็จไปประกอบพระราชพิธีฟันน้ำ เพื่อมิให้มันท่วมขึ้นมา แต่ปัจจุบันนี้ได้ยุบเลิกขนบประเพณีที่ว่านี้เสียแล้ว”

ความสำคัญของพิธีกรรมอันเกี่ยวเนื่องด้วยระดับน้ำที่ปฏิบัติกันมาแต่กาลก่อนแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติอย่างสอดรับกับเศรษฐกิจที่พึ่งพาการเกษตรกรรมเป็นสำคัญ พิธีกรรมจึงกระทำกับสิ่งที่เป็นปัจจัยการผลิตโดยตรงคือ “น้ำ” ขณะที่ปัจจุบันความเป็น “สังคมเมือง” ทำให้มนุษย์ห่างหายจากความผูกพันกับสายน้ำด้วยรูปแบบการใช้ชีวิตไปในวิถีแห่งการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม และเมื่อชาวเมืองต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมจึงสร้างความเดือดร้อนต่อการดำรงชีพหลายด้าน แต่กระนั้นก็มีการจัดพิธีที่เรียกว่า “ไล่น้ำ” (พ.ศ. 2554) ขึ้นมาแต่ดูเหมือนว่าจะ “ไร้พลัง” ทางจิตใจเช่นในอดีต


ที่มา: คัดจากบางส่วนของบทความ “จาก ‘ไล่น้ำ’ ในอดีต ถึง ‘ไล่น้ำ’ ยุค ‘มหาอุทกภัย’ : ความเปลี่ยนแปลงพิธีกรรม เกี่ยวกับระดับน้ำในสยามประเทศ โดย นนทพร อยู่มั่งมี ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ พฤศจิกายน 2554


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2560