ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2551 |
---|---|
ผู้เขียน | นิธิ เอียวศรีวงศ์ |
เผยแพร่ |
ลักษณะทางสังคมของความเชื่อผีแม่ม่าย
รถวิ่งออกจากเมืองใหญ่ในภาคอีสานเมืองหนึ่ง ผ่านเข้ามาในเขตชานเมือง ซึ่งก็เหมือนเขตชานเมืองอีกหลายแห่งในประเทศไทย กล่าวคือดูเผิน ๆ ก็คือแหล่งผลิตด้านเกษตรกรรม แต่บ้านเรือนกลับตั้งเรียงรายกันไปตามถนนแทนการเกาะกลุ่มเป็นกระจุก (cluster) อย่างที่หมู่บ้านเกษตรในภาคอีสานมักเป็น ฉะนั้น บ้านเรือนทั้งหมดจึงหันหลังให้แก่ท้องนา และหันหน้าเข้าถนน บ้างขายของชำ, บ้างทำผมสตรี และบ้างก็ขายก๋วยเตี๋ยว แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำกิจการพาณิชย์อะไรนอกจากใช้อยู่อาศัย
บ้านเรือนหลายหลัง มีหุ่นฟางสวมหมวกปักที่ประตูบ้าน หุ่นบางตัวอาจมีอวัยวะเพศชายเสียบไว้ให้เห็นเด่นชัด แน่นอนว่าผีแม่ม่ายกำลังคะนองฤทธิ์อยู่แถบนี้ คงมีผู้ชายที่มีเรือนแล้วถึงแก่กรรมโดยไม่รู้สาเหตุ 2 หรือ 3 คน ติดต่อในเวลาไม่ห่างกันนัก อันเป็นสัญญาณส่อให้เห็นว่าผีแม่ม่ายกำลังเข้ามาหาเหยื่อในละแวกนี้
โดยไม่ได้ขอให้หยุดรถเพื่อพูดคุยซักถามชาวบ้าน ไม่แม้แต่จะให้หยุดเพื่อถ่ายรูป ผมก็คิดอะไรดุ่ย ๆ ของผมไปคนเดียว จนกลายเป็นบทความนี้ ฉะนั้นท่านผู้อ่านพึงอ่านอย่างฟังหูไว้หูนะครับ
ในการสนทนากับหนึ่งใน “เจ้าภาพ” ชาวอีสาน ซึ่งกำลังพาเราไปสู่สนามบิน ผมได้ข้อมูลที่เห็นว่าสำคัญมา 3 ประการ ซึ่งจะขอสรุปไว้ในที่นี้ก่อน
ประการแรกก็คือ เขามีความเห็นตรงกับผมว่า ความเชื่อเรื่องผีแม่ม่ายเป็นความเชื่อ “ใหม่” คือไม่ได้มีมาในอีสานนานนักหนา เขาให้ตัวเลขไว้แค่ 10 ปี ผมรู้สึกเอาเองจากความจำที่ได้อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ว่าอาจนานกว่านั้น แต่ก็ไม่สู้จะมากเท่าไรนัก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือผีแม่ม่ายเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่เกิดใหม่ในภาคอีสานเมื่อไม่นานมานี้เอง
ประการที่สอง ผมถามเขาว่า ใครเป็นคนจัดการทำหุ่นและเอาไปปัก ฝ่ายผู้ชายทำเองหรือผู้หญิงเป็นผู้ทำ เขาบอกว่าฝ่ายหญิง และเสริมว่า โดยทั่วไปแล้วฝ่ายชายแทบไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วยเลย เพราะฝ่ายหญิงเกรงว่าจะสูญเสียสามีไปแก่ผีแม่ม่าย จึงต้องตั้งหุ่นขึ้นหลอกเพื่อให้ผีหลงผิดเอาหุ่นไปแทน ผมนึกต่อเองในใจด้วยความทะลึ่งว่า หากไม่กลับบ้านสัก 2 คืน แล้วค่อยรายงานเมียว่าถูกผีแม่ม่ายจับตัวไป กว่าจะหนีกลับมาได้เกือบตายนี่ เมียจะเชื่อไหมหนอ
แต่ก่อนที่ความทะเล้นจะพาเราเพริดไปทางอื่น ผมขอสรุปเสียก่อนว่า พิธีกรรมเพื่อเผชิญกับผีแม่ม่ายเป็นพิธีกรรมของผู้หญิง ผู้ชายไม่เกี่ยว
ประการที่สาม การที่แต่ละบ้านจัดหุ่นผู้ชายขึ้นมาหลอกผีกันเกือบพร้อมหน้าเช่นนี้ พิธีกรรมนี้จึงไม่ใช่พิธีกรรมของปัจเจก ดังเช่นการทำวัตรเช้า-เย็นของแม่บ้านคนหนึ่ง แต่เป็นพิธีกรรมของชุมชน แม้ว่าต่างจากพิธีกรรมของชุมชนแบบเดิม เช่น บุญข้าวจี่ หรือบุญผะเวสอย่างแต่ก่อน เพราะไม่ได้มีการชุมนุมกันพร้อมทั้งบ้านหรือหลาย ๆ บ้าน แต่การทำกันพร้อมหน้าแม้ว่าต่างคนต่างทำก็ตามนั้น ส่อให้เห็นว่ามีอะไรบางอย่างเป็นสื่อกลางที่เชื่อมโยงให้เกิดพฤติกรรมรวมหมู่เช่นนี้ได้
อย่าลืมว่าสภาพของละแวกนั้นได้เปลี่ยนจากความเป็นชุมชนเกษตรเลี้ยงตนเองไปแล้ว มีความแตกต่างหลากหลายในกระบวนการผลิตของแต่ละครอบครัว บ้างทำการพาณิชย์เล็ก ๆ ในละแวกดังที่กล่าวแล้ว, บ้างไปทำงานรับจ้าง, บ้างอาจไปซาอุฯ หรือกรุงเทพฯ, บ้างส่งลูกเรียนจนปัจจุบันไม่มีทรัพย์สินติดตัว นอกจากอาศัยลูกซึ่งไปทำงานในเมืองกิน ฯลฯ ฉะนั้นจะเรียกบ้านแถบนั้นว่าเป็นชุมชนยังต้องมีคำขยายความเพิ่มเติม เพราะความสัมพันธ์ระหว่างกันมีเบาบางผิวเผินเกินไป การจะเกิดพิธีกรรมของชุมชนได้เช่นนี้จึงต้องมีสื่อกลาง
สื่อกลางนั้นอาจเป็นความเชื่อที่ตรงกัน แม้กระนั้นสภาพที่ไม่ใช่ชุมชนดั้งเดิมเช่นนั้น จะขยายความเชื่อใหม่ให้แพร่หลายไปทั่วละแวกได้อย่างไร เพราะความเชื่อผีแม่ม่ายเป็นความเชื่อใหม่ รวมทั้งจะร่วมกันตัดสินว่าเมื่อไรจึงจะถือได้ว่าต้องปักหุ่นกันผีแม่ม่ายกันแล้วได้อย่างไร เป็นต้น แต่เนื่องจากผมไม่ได้ลงไปพูดคุยกับชาวบ้านจริง ผมจึงตอบปัญหาที่ถามตัวเองเรื่องนี้ไม่ได้ บังเอิญ “เจ้าภาพ” ชาวอีสานท่านที่อ้างถึงนั้นเล่าอะไรบางอย่าง ที่ดูเหมือนจะให้คำตอบเฉียด ๆ แก่คำถามในใจของผม จึงขอเล่าให้ฟังดังนี้
ท่านกล่าวว่า ความเชื่อเรื่องผีแม่ม่ายนั้นเกิดขึ้นจากข่าวลือเมื่อกว่า 10 ปีมาแล้วว่า สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงพระสุบินว่า ผีจะลงมากินผู้ชายที่มีครอบครัวแล้ว เพื่อเอาไปเป็นผัว จึงได้ทรงเตือนให้ชาวบ้านระวังตัว แน่นอนนี่คงเป็นข่าวลือที่ไม่มีมูลความจริงอะไร แต่ข่าวลือนี้ทำ “หน้าที่” บางอย่างในทางสังคม กล่าวคือสร้างความเชื่อร่วมกันของผู้คนจำนวนมาก โดยไม่ต้องผ่านองค์กรศาสนา หรือตำนานปูชนียสถานซึ่งเป็นที่นับถือกันทั่วไปอย่างพระธาตุพนม (อันเป็นองค์กรที่สร้างความเชื่อและโลกทรรศน์พื้นฐานร่วมกันของคนอีสานในอดีต) นับว่าเหมาะกับการสร้างอัตลักษณ์ร่วมของผู้คนในสังคมที่ระบบความสัมพันธ์ภายในได้เปลี่ยนไปแล้ว
ในขณะเดียวกัน ข่าวลือเพียงอย่างเดียว แม้แพร่ได้เร็วและกว้างสักเพียงไร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความ
ทันสมัยของสังคมไทยเองก็มีส่วนช่วยอยู่มาก เช่น การคมนาคมสมัยใหม่ทำให้สามารถไปเยี่ยมญาติหรือทำธุรกิจได้ไกลขึ้น นำเอาข่าวลือระบาดไปได้ไกลและเร็วขึ้นพร้อมกัน สื่อสมัยใหม่เช่นหนังสือพิมพ์ซึ่งลงข่าวเกี่ยวกับผีแม่ม่ายและพิธีกรรมสำหรับต่อกรกับผี ย่อมช่วยให้เกิดรูปแบบที่ชัดเจนแน่นอนของความเชื่อและพิธีกรรมขึ้นมาได้เช่นกัน
ชายผ้าซิ่นชานเมือง
ในบรรดาเขต “ชนบท” ทั้งหมดของไทย เขตชานเมืองคือเขตที่เปลี่ยนแปลงเร็วที่สุด เร็วเสียจนกระทั่งผู้คนมักปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ทัน หรือไม่เท่าเทียม
การสื่อสารคมนาคมที่สะดวกกับตลาด, แหล่งงาน, ข่าวสารข้อมูล, ทุน, อำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ ฯลฯ ให้โอกาสและวิกฤตแก่คนต่าง ๆ ในเขตชานเมืองไม่เหมือนกัน ความเปลี่ยนแปลงที่กระทบมาถึงอาจเป็นโอกาสแก่บางคน แต่เป็นวิกฤตแก่บางคน โอกาสที่เกิดใหม่นั้นอาจทำให้บางคนเอาเปรียบคนอื่น (ทั้งในเชิงส่วนบุคคลและในเชิงโครงสร้าง) ได้มาก ซ้ำเติมให้ความเปลี่ยนแปลงนั้นกลายเป็นวิกฤตหนักขึ้นแก่อีกบางคน
การเกษตรขนาดเล็กที่ผู้คนบางกลุ่มเคยใช้เลี้ยงชีพมาแต่ก่อนล่มสลายลง จำเป็นต้องขายที่ดินให้แก่เกษตรกรรายใหญ่ซึ่งยังพอทำกำไรกับการเกษตรแผนใหม่ได้บ้าง หรือมิฉะนั้นก็ต้องขายที่ดินแก่ลูกหลานของคนรวยในหมู่บ้าน ซึ่งจบการศึกษาและได้งานทำในเมือง สำหรับปลูกสร้างบ้านเรือนแบบคนชั้นกลางอย่างที่เขาสร้างกันในเมือง บางส่วนของเกษตรกรรายย่อยอาจลงทุนส่งบุตรหลานได้เล่าเรียน จนไม่อาจถือครองทรัพย์สินของตนไว้ต่อไปได้ วิถีชีวิตของเมืองขยายเข้าสู่หมู่บ้าน ทำให้คนจนซึ่งไม่มีรายได้จากการเกษตรขนาดเล็กของตนอีกแล้ว ต้องดิ้นรนหาเงินมาบริโภคตามวิถีชีวิตแบบใหม่ที่ได้รับการนับหน้าถือตา
คนจำนวนมากต้องเปลี่ยนอาชีพจากการทำเกษตรไปสู่การรับจ้างแรงงาน ในระยะแรกอาจเป็นเพียงรายได้เสริมสำหรับเกษตรกรรมขนาดเล็กของตัว แต่นานวันเข้าการทำเกษตรรายย่อยคือการประกอบการที่ขาดทุนซ้ำซาก ในที่สุดงานรับจ้างก็กลายเป็นรายได้หลัก และไม่มีเหตุผลที่จะฝืนทำเกษตรต่อไป ซึ่งทำให้ต้องขายที่ดินในมือไปแก่คนมีฐานะจะลงทุนกับเกษตรเชิงพาณิชย์อย่างเข้มข้นได้
ในที่สุดเขตชานเมืองคือพื้นที่การเกษตรเชิงพาณิชย์ขนาดกลาง สำหรับคนที่มีกำลังจะรวบรวมที่ดินทำเกษตรต่อไปได้โดยไม่ขาดทุน อาจจ้างแรงงานเป็นฤดูกาล แต่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรเข้าช่วยเพื่อให้คุ้มทุน (เป็นเจ้าของเครื่องจักรหรือเช่าเหมา) การจ้างแรงงานก็ยิ่งลดลง ในขณะเดียวกันก็มีบ้านเรือนของอดีตเกษตรกรล้มละลายกระจายอยู่ทั่วไป เพราะเป็นที่ดินผืนสุดท้ายที่พวกเขามีอยู่คือที่ตั้งบ้านเรือน หรือมิฉะนั้นก็ได้เงินจากการขายที่นาพอที่จะซื้อที่ดินขนาดเล็กไว้ตั้งบ้านเรือนเท่านั้น
หากมีกำลังอยู่บ้างก็ทำการค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ ในหมู่บ้านหรือละแวกนั้น มิฉะนั้นก็ต้องอาศัยงานจ้างที่สมาชิกในครอบครัวบางคนเป็นผู้หาได้จากในเมือง หรือในภาคการเกษตร หรือเป็นแรงงานเร่ร่อน
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและการดิ้นรนเพื่ออยู่รอดของคนเล็ก ๆ ในเขตชานเมืองนี้ ผู้ชายสูญเสียบทบาททางเศรษฐกิจในครอบครัว และชุมชน และสูญเสียบทบาททางสังคมในชุมชน (หากยังมีชุมชนอยู่) ในส่วนบทบาททางวัฒนธรรมซึ่งผู้ชายเคยจับจองไว้โดยผ่านการบวชเรียนในพระพุทธศาสนา สถานภาพเช่นนั้นก็ไร้ความสำคัญในวิถีชีวิตของผู้คนไปตามลำดับ (ตรงกันข้ามกับบทบาทผู้หญิงในศาสนาผี-เช่น การเข้าทรง-ยังเป็นบทบาทที่คึกคักมีชีวิตชีวาในวิถีชีวิตปัจจุบันอย่างมาก)
สูญเสียบทบาททางเศรษฐกิจในครอบครัวก็เพราะ งานจ้างสำหรับผู้ชายในฐานะแรงงานไร้ฝีมือลดลงอย่างมาก เพราะถูกแทนที่ด้วยแรงงานอพยพ และการใช้เครื่องจักร งานหัตถอุตสาหกรรมหลายชนิดยินดีจ้างแรงงานหญิงมากกว่า เพราะจ่ายค่าแรงต่ำกว่าและเชื่อกันว่าควบคุมง่ายกว่า ฉะนั้นแม้ว่าอยู่ไม่ไกลจากแหล่งงานจ้างในเมือง ผู้ชายกลับหางานทำได้ยากกว่าผู้หญิง นอกจากนี้ด้วยเหตุผลหลายประการซึ่งจะไม่กล่าวในที่นี้ การสร้างงานขึ้นเองในครอบครัวหรือในหมู่บ้าน ก็มักเป็นเรื่องของกลุ่มสตรีต่าง ๆ มากกว่าผู้ชาย
แม้แต่งานจ้างในภาคเกษตรกรรมซึ่งมีเพียงบางฤดูกาล ก็ดูเหมือนจะมีสถานการณ์ที่เลือกปฏิบัติต่อผู้ชาย เพราะงานในภาคเกษตรที่ยังต้องใช้แรงงานคนที่เหลืออยู่มักเป็นงานเก็บเกี่ยวพืชผล ซึ่งนิยมใช้ผู้หญิงมากกว่า ส่วนงานหนัก เช่น ไถ, ถาก, พรวน, ขุด, ฯลฯ ซึ่งเคยจ้างงานผู้ชาย ก็พากันใช้เครื่องจักรแทนเป็นส่วนใหญ่เสียแล้ว
และถึงอย่างไร ผู้หญิงก็ยังมี “งาน” หลักตามประเพณีอยู่แล้วคือเป็นแม่บ้าน (ซึ่งเรียกตามสำนักงานสถิติแห่งชาติว่า งานในครัวเรือนที่ไม่ได้รับค่าจ้าง) และที่มาพร้อมกับความเป็นแม่บ้าน คือบทบาททางเศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรมอีกเป็นพรวน ผู้หญิงจึงไม่สูญเสียบทบาทของตนในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเหมือนผู้ชาย
ในส่วนบทบาททางเศรษฐกิจในชุมชน งานสาธารณูปโภคต่าง ๆ กลายเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐหรือ อบต. ซึ่งนิยมการจ้างผู้รับเหมา (ซึ่งใช้แรงงานเขมรหรือพม่าสำหรับแรงงานไร้ฝีมือ) แม้แต่การซ่อมปรับปรุงวัด หลวงพ่อยังเรี่ยไรเงินเพื่อจ้างผู้รับเหมาเช่นกัน จึงเหลือแต่งานเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ขึงเต๊นท์ในงานศพหรืองานแต่งงาน, การประดับไฟและการเตรียมเครื่องเสียงรวมทั้งเป็นโฆษก (และจากประสบการณ์ของผม พบว่าในโอกาสเช่นนี้ผู้ชายมีชีวิตชีวาขึ้นมากทีเดียว)
ฉะนั้นแม้แต่ผู้ชายที่พอหางานทำได้ ก็ยังสูญเสียบทบาททางเศรษฐกิจของชุมชนไปอยู่นั่นเอง ในขณะที่ผู้หญิงยังเป็นแม่ครัวของงาน (ศพ, วัด, แต่งงาน, ขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ) ในชุมชนอยู่เหมือนเดิม นอกจากนี้ดูเหมือนว่าการตัดสินใจจะสละเงินช่วยงานสักเท่าไร ยังเป็นสิทธิของแม่บ้านมากกว่าผู้ชาย ไม่ว่าฝ่ายใดเป็นผู้นำรายได้เข้าสู่ครอบครัวก็ตาม
เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งซึ่งมีบ้านอยู่ในหมู่บ้านชานเมืองของเชียงใหม่เคยบอกผมว่า ผู้ชายในหมู่บ้านของเขากินเหล้ากันมากเหลือเกิน เพิงขายเหล้าตามริมทางเดินขายดีทุกเจ้า และทุกเย็นก็จะเห็นผู้ชายในหมู่บ้านจับกลุ่มกินเหล้าเฮฮากันทุกวัน ที่ผมได้พบเห็นเอง ก็ดูจะตรงกับข้อสังเกตของเขา ผมไม่ทราบสถานการณ์ในภาคอีสานว่าผู้ชายในหมู่บ้านชานเมืองกินเหล้ามากขึ้นหรือไม่ แต่การเป็นคนขี้เหล้าเมายาเป็นบทบาทใหม่ที่ผู้ชายชานเมืองคงเพิ่งค้นพบให้แก่ตนเอง ในท่ามกลางการสูญเสียบทบาททางเศรษฐกิจและสังคม-วัฒนธรรมที่เขาต้องเผชิญอยู่
เช่นเดียวกับเป็นนักซิ่งจักรยานยนต์, นักเลงตีไก่, กัดปลา, สมาชิกชมรมสังสรรค์ตามศาลาริมทาง, และรับงานจ้างที่ปริ่ม ๆ หรือบางครั้งล้ำกฎหมาย นับตั้งแต่เป็นบริวารของ “ขาใหญ่” ไปจนถึงเป็นผู้ค้ายาเสพติดรายย่อย
สมัยหนึ่ง การมีครอบครัวแล้วเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งซึ่งแยกผู้ชายออกจากวัยรุ่นที่ยังไม่มีเรือน ในขณะที่ผู้ชายวัยรุ่นยัง “กินกงสี” หรืออาศัยอยู่กับครอบครัวพ่อแม่พี่น้องรวมทั้งช่วยงานในไร่นา แต่ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมที่เกิดขึ้นทำให้ครอบครัวพ่อแม่พี่น้องไม่อาจอุปการะได้เต็มที่นัก ซ้ำไม่มีงานในไร่นาให้ช่วย ต้องกินอยู่กับรายได้จำกัดที่ครอบครัวหามาได้ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝีมือผู้หญิง) แม้ผู้ชายที่มีลูกเมียแล้ว ก็หมดหนทางที่จะแยกออกจากครอบครัวพ่อแม่พี่น้องได้ เพียงแต่ต่อเติมบ้านสำหรับครอบครัวตนเอง หรือปลูกเพิงพักของตนต่างหากในบริเวณเดียวกัน แต่พ่อตาก็ไม่มีนาให้ช่วยทำ จึงไม่มีภาระรับผิดชอบอะไรแก่ครอบครัวของเมีย มากไปกว่ากินและหายใจ ทั้งหมดนี้ทำให้พฤติกรรมของวัยรุ่นกับผู้ชายที่ออกเรือนแล้วในปัจจุบัน แทบไม่ต่างอะไรกันนัก
ชานเมืองเป็นทำเลที่ถูกกระทบด้วยความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมดังกล่าวก่อน แต่ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในปัจจุบันได้ขยายไปไกลกว่านั้นมากแล้ว ในภาคอีสานมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า นาข้าวไม่ได้แบ่งออกเป็น “กระทง” หรือ “บิ้งนา” อีกแล้ว จึงไม่มีคันนา สะดวกแก่การใช้เครื่องจักรในการทำนา แสดงให้เห็นว่าการทำนาเชิงพาณิชย์เข้มข้นขึ้น ผลักไสให้เกษตรกรรายย่อยต้องหลุดออกไปจากกิจกรรมนี้ ความเป็น “ชานเมือง” จึงขยายไปเกือบทั่วแผ่นดิน
พิธีกรรมเพื่อความมั่นใจ
การสูญเสียบทบาททางเศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรมของผู้ชายในเขตที่เรียกว่า “ชนบท” ทั่วไปนั้น ก่อให้เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ของครอบครัว, ชุมชน และท้องถิ่น ไม่ว่าจะมองจากแง่ของอาชญากรรม, แรงงานที่ไม่ทำรายได้, การละเมิดกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมและจารีตประเพณี หรือความสัมพันธ์ส่วนบุคคล (ยืมเงินแล้วไม่มีใช้หรือไม่ใช้คืนตามกำหนด เป็นต้น) ในขณะที่ผู้หญิงต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้ชายที่ขาดความเคารพนับถือตนเอง เพราะมองไม่เห็นคุณค่าของตัว เกิดความขัดแย้งกันในครอบครัวอยู่เสมอ
เมื่อผีแม่ม่ายเข้ามาอาละวาด สัญญาณนัดหมายก็คือมีผู้ชายที่มีเรือนแล้วตายโดยไม่ทราบสาเหตุติดต่อกัน ผู้คนพากันไปร่วมงานศพหรือมีข่าวลือจากปากต่อปากไปทั่ว เกิดความหวั่นวิตกในบรรดาผู้หญิงซึ่งทำมาหากินและดูแลบ้านเรือนอย่างหัวไม่วางหางไม่เว้น ความสำคัญของพ่อเรือนซึ่งแม้ไม่ได้ทำรายได้หลักกลับมาสู่สำนึกใหม่ เขาคือคนที่ตกอยู่ในอันตรายที่สุด เพราะไม่มีใครรู้ว่าผีแม่ม่ายจะเอาตัวคนไหนไปแน่ รวยดีมีจนก็อยู่ในอันตรายเท่า ๆ กัน เพราะผีแม่ม่ายไม่สนใจคุณสมบัติด้านใด นอกจากกามารมณ์ อันเป็นคุณลักษณะที่ทำให้ทุกคนเสมอภาคกันโดยธรรมชาติ
แต่ความสัมพันธ์ในชุมชนก็ไม่ได้ผนึกแน่นอย่างที่เคยเป็นในอดีต จะจัดพิธีกรรมรวม เช่น ทำบุญเลี้ยงพระเพื่อปกป้องเหล่าพ่อเรือนก็ทำได้ไม่ถนัด ต่างหาหนทางที่จะเอาตัว (หรือสามีของตัว) ให้รอดจากอันตรายนี้ และวิธีการก็ไม่ยากเย็นเกินกว่าจะจัดการได้ด้วยตนเอง คือทำหุ่นขึ้นจากฟางหรือเสื้อผ้าเก่า พร้อมทั้งเสียบอวัยวะเพศชายให้เห็นเด่นไว้หน้าบ้าน เพื่อหลอกผีให้หลงผิดเอาหุ่นไปแทนผัว
ใช่จะหลอกผีเพียงอย่างเดียว แต่หุ่นนั้นปรากฏให้ผู้คนที่ผ่านไปมารวมทั้งตัวผัวเองได้เห็นความอาทรที่ผู้หญิงมีให้แก่ตน ยิ่งปรากฏหุ่นนั้นทั่วไปในหมู่บ้านหรือละแวกบ้าน ก็ยิ่งตอกย้ำให้ผู้ชายสำนึกถึงความสำคัญของตนเอง อย่างน้อยก็แก่ครอบครัวของตน เป็นเวลานานพอสมควรกว่าเหล่าผู้หญิงจะมั่นใจได้ว่า ผีแม่ม่ายได้ออกไปจากละแวกนั้นแล้ว เพราะไม่มีผัวหนุ่มตายโดยไม่รู้สาเหตุอีก ตลอดช่วงเวลานั้นน่าจะเป็นช่วงเวลาที่ผู้ชายรู้สึกมีกำลังใจ และความนับถือตนเองกลับคืนมา
พิธีกรรมที่ตอบสนองต่อการอาละวาดของผีแม่ม่ายจึงเป็นพิธีกรรมเพื่อปลุกปลอบใจผู้ชาย ซึ่งนับวันก็ยิ่งไร้บทบาทในทางเศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรมไปเรื่อย ๆ
ที่น่าสังเกตก็คือ พิธีกรรมนี้ไม่เกี่ยวกับศาสนา เช่น ไม่มีการเชิญพระมาเจิมหรือสวดหรือเสกหุ่นให้ผีหลง ขึ้นหุ่นไว้แล้วก็ไม่ต้องไปทำบุญที่วัด หรือไม่ต้องแม้แต่จะตักบาตร เมื่อแน่ใจว่าผีแม่ม่ายไปจากละแวกบ้านแล้ว ก็ไม่ต้องทำบุญเลี้ยงพระฉลอง
นอกจากนี้ พิธีกรรมนี้ไม่เกี่ยวกับระบบศีลธรรมใด ๆ เช่น ระหว่างที่ผีแม่ม่ายอาละวาดอยู่นี้ ฝ่ายผู้หญิงก็ไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อห้ามใด ๆ เช่น ไม่ต้องงดเสพอาหารบางชนิด ไม่ต้องถือศีล หรืองดพูดเท็จ เป็นต้น ส่วนฝ่ายชายเองก็ไม่มีข้อห้ามใด ๆ เช่นกัน หากชอบตีไก่ก็ยังอาจตีไก่ต่อไปได้ ชอบออกไปกินเหล้าร้องคาราโอเกะ ก็ยังสามารถทำต่อไปได้เหมือนเดิม เพราะผีแม่ม่ายไม่ได้เจาะจงจะพิชิตผู้ชายที่ไม่อยู่ในศีลในธรรม หรือมัวเมาอบายมุขแต่อย่างใด คนดีคนเลว ผีแม่ม่ายก็ไม่เกี่ยง
การปลอดจากศาสนาและศีลธรรมของพิธีกรรมสอดคล้องกับลัทธิพิธีใหม่ ๆ ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่คนชั้นกลางเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นลัทธิพิธีเสด็จพ่อ ร.5, ความนับถือ “เสด็จเตี่ย”, จตุคามรามเทพ, ฯลฯ ก็ไม่สู้จะเกี่ยวกับศาสนานัก และไม่ถูกกำกับด้วยศีลธรรมใด ๆ มากนัก หรือไม่ถูกกำกับเลย
แม้กระนั้น พิธีกรรมเกี่ยวกับผีแม่ม่าย ก็มีส่วนช่วยพยุงสังคมที่กำลังแตกสลาย ให้ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันต่อไป แม้ว่าจะอย่างทุลักทุเลสักหน่อยก็ตาม มีความเชื่อร่วมกันบางอย่างที่ช่วยเตือนให้นึกถึงความเสมอภาคของผู้คน ท่ามกลางความแตกต่างทางเศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งท่ามกลางวิถีชีวิตที่แทบจะไม่มีโอกาสจะพ้องพานกันเลย เช่น เมียผู้ใหญ่บ้าน หรือเมียพ่อค้าปุ๋ย ก็ตั้งหุ่นหน้าบ้านเหมือนเมียแรงงานภาคเกษตรซึ่งไม่มีงานทำตลอดปี
ในขณะเดียวกันก็ช่วยปลุกปลอบใจผู้ชายจำนวนไม่น้อยซึ่งไม่มีงานประจำทำ ไม่มีรายได้ประจำ และไม่มีบทบาทอะไรเหลือให้แสดงได้อีก ผมขออนุญาตตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมตรงนี้ด้วยว่า หลังการปฏิรูปพระพุทธศาสนาในสมัย ร.4-5 ลงมา ศาสนาผีซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของพระพุทธศาสนาแบบไทยถูกขจัดออกไป ในขณะเดียวกัน หลักธรรมของพระพุทธศาสนาซึ่งถูกเน้นมากขึ้นจากนั้นมาก็ล้วนเป็นมิติของศีลธรรมส่วนบุคคล ละทิ้งมิติทางสังคมซึ่งมีอยู่มากในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า (ยังไม่พูดถึงการละทิ้งบรมธรรมอันเป็นอุดมคติสุงสุดทางศีลธรรมของพระพุทธศาสนา)
ผลก็คือพระพุทธศาสนาแบบไทยไม่สามารถตอบสนองปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดในชีวิตจริงของผู้คน อันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงที่รัฐผลักดันให้เกิดขึ้นในสังคมได้ ประชาชนจึงต้องสร้างลัทธิความเชื่อและพิธีกรรมต่าง ๆ ขึ้น บ้างก็อิงกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่เกี่ยวหรือบางกรณีถึงกับขัดแย้งเลยทีเดียว
ฉะนั้น ลัทธิพิธีและพิธีกรรมใหม่ ๆ เหล่านี้จึงเป็นพยานให้เห็นถึงความอ่อนแอของพระพุทธศาสนาแบบไทยในปัจจุบัน ซึ่งมีองค์กรคณะสงฆ์เป็นผู้นำ แต่เราไม่อาจเข้าใจลัทธิพิธีและพิธีกรรมเหล่านี้จากมาตรฐานหลักธรรมคำสอนได้เพียงอย่างเดียว เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนปัญหาทางสังคมที่กำลังเกิดในสังคมไทย และโดยตัวของมันเองแล้ว ก็เกิดขึ้นเพื่อตอบปัญหาซึ่งพระพุทธศาสนาแบบไทยไม่ยอมให้คำตอบ จะดีหรือเลวก็เป็นส่วนหนึ่งของการดิ้นรนหาคำตอบให้แก่ชีวิต (ทั้งส่วนตัวและชีวิตของชุมชน-สังคม) ที่ต้องเปลี่ยนไปอย่างไม่มีทางหวนคืนทั้งสิ้น
ทำไมอีสาน
เท่าที่ผมทราบ พิธีกรรมและความเชื่อเกี่ยวกับผีแม่ม่ายไม่ระบาดไปยังส่วนอื่นของประเทศ นอกจากอีสานเท่านั้น ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
ทั้ง ๆ ที่ความรู้เกี่ยวกับอีสานไม่มากพอ แต่ผมอยากอธิบายสาเหตุว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
ประการแรก ในแง่หนึ่งอีสานอาจถูกผลของการพัฒนา-ซึ่งถ้าพูดให้สัมผัสกับวิถีชีวิตประชาชน ก็คือถูกทำให้การผลิตมีลักษณะเชิงพาณิชย์มากขึ้น-ช้ากว่าภาคอื่น โดยเฉพาะในเขตชนบทของอีสาน
สัก 20 ปีที่แล้ว คนขับแท็กซี่ในกรุงเทพฯ ยังบอกผมว่า มีลูกเมียทิ้งอยู่ในภาคอีสาน แต่เนื่องจากมีนาทำเอง จึงเพียงแต่ส่งเงินสดให้บ้านเดือนละไม่กี่ร้อยบาท เพื่อใช้ซื้อกับข้าวกิน บางรายต้องหยุดขับแท็กซี่ในช่วงเกี่ยวข้าวเพื่อกลับไปช่วยแรงทางบ้าน บางรายก็ส่งเงินค่าแรงไปช่วยบ้านในเดือนนั้นเป็นพิเศษ
เพราะฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ในขณะที่การผลิตเชิงพาณิชย์ในภาคอื่น ๆ มีความเข้มข้นขึ้น แต่อีสานเพิ่งย่างเข้ามาอย่างไม่เต็มตัวนัก แม้ว่ามีผู้ทำงานเป็นแรงงานรับจ้างจำนวนมากในอีสาน แต่ขาข้างหนึ่งของเขายังยืนอยู่ในการเกษตรเพื่อเลี้ยงตนเอง มิฉะนั้นรายได้จากการขายแรงงานก็ไม่เพียงพอจะเลี้ยงดูครอบครัวได้ทั่วถึง ถ้าอุตสาหกรรมไทยงอกงามขึ้นมาจากหยาดเหงื่อของแรงงานอีสาน ยังควรเข้าใจด้วยว่า ไม่ใช่เฉพาะหยาดเหงื่อของแรงงานที่อยู่ในไซท์ก่อสร้างและโรงงานเท่านั้น แต่รวมถึงหยาดเหงื่อของพ่อแม่ลูกเมียของเขาซึ่งทำนาเลี้ยงชีพให้พอกับค่าแรงน้อยนิดที่ลูกผัวส่งไปให้ การขูดรีดของธุรกิจอุตสาหกรรมไทยมีมือที่ยื่นออกไปไกลถึงท้องนา ทั้ง ๆ ที่สมัยนั้นท้องนาไม่ใช่ตลาด, แหล่งวัตถุดิบ หรือแหล่งลงทุนของตนเลย
(และสิ่งที่คนชั้นกลางอย่างพวกเราไม่ควรลืมก็คือ ส่วนหนึ่งของค่าโดยสารแท็กซี่ที่เราต้องจ่ายนั้น พ่อแม่ลูกเมียของโชเฟอร์ช่วยออกให้ด้วย)
มาในระยะสัก 10 ปีที่ผ่านมานี่เอง ที่ชนบทอีสานถูกคลื่นของการพัฒนา (การผลิตเชิงพาณิชย์เข้มข้น) ถาโถมเข้าใส่อย่างรุนแรงขึ้น เฉพาะข้าวหอมมะลิอย่างเดียวก็เปลี่ยนโฉมหน้าของทุ่งกุลาร้องไห้ไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ยังไม่พูดถึงการรุกเข้าไปของบริษัทเกษตรข้ามชาติ ที่ทำเกษตรเชิงพันธะสัญญาโดยตรงหรืออ้อมอย่างกว้างขวาง อุตสาหกรรมหลายชนิดใช้อีสานเป็นฐานผลิตวัตถุดิบ การเลี้ยงสัตว์, โครงการชลประทานขนาดใหญ่ซึ่งให้คอมมิสชั่นเลี้ยงพรรคการเมืองทุกพรรค, จนแม้แต่ไร่องุ่นผลิตไวน์ก็รุกคืบเข้าไปมากขึ้นทุกที
ขาข้างที่เคยยืนอยู่ในการเกษตรเพื่อเลี้ยงตนเองได้หลุดออกไปแล้ว จำนวนมากของเกษตรกรอีสานปลูกแต่ข้าวเจ้าซึ่งมีตลาดรองรับมากกว่า และยินดีซื้อข้าวเหนียวกิน และในเกษตรเชิงพาณิชย์อย่างเข้มข้นนี้ เกษตรกรรายย่อยล้มละลายขนาดที่ไม่สามารถรักษาที่ดินของตนไว้ได้ หรือถึงมีที่ดินเหลืออยู่ การทำเกษตรขนาดเล็กก็ไม่คุ้มทุนอีกแล้ว
ชนบทอีสานคือ “ชานเมือง” ของประเทศไทยปัจจุบันโดยแท้ นั่นคือถูกกระทบด้วยความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน อะไรที่ได้เคยเกิดขึ้นในเขตชานเมืองดังบรรยายไว้ข้างต้นกำลังเกิดในภาคอีสาน ในขณะที่ส่วนอื่น ๆ ของประเทศได้ผ่านไปแล้ว หากต้องปรับตัวด้านพิธีกรรมและความเชื่ออย่างไรก็ได้ปรับไปแล้ว (และคงต้องปรับต่อไปอีกเรื่อย ๆ ตามความเปลี่ยนแปลงซึ่งไม่เคยหยุดนิ่งของสังคม) อีสานกำลังอยู่ในช่วงของการปรับตัวด้านพิธีกรรมและความเชื่อที่น่าตื่นเต้น เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งที่อีสานเพิ่งได้ประสบ แต่ก็มาเร็วเสียจนแทบตั้งตัวไม่ทัน
แต่ในทางกลับกัน เพราะอีสานเพิ่งประสบความเปลี่ยนแปลงภายหลัง ทำให้วัฒนธรรมเดิมยังคงมีความแข็งแกร่งในการปรับตัว มากกว่าการปรับตัวของภาคอื่น ในขณะเดียวกันนโยบายรวมศูนย์ทางวัฒนธรรมของไทยได้ผ่อนคลายไปมากกว่าสมัยที่ภาคอื่น ๆ ต้องปรับตัว อีสานจึงสามารถดึงเอาพลังทางวัฒนธรรมของตัวมาใช้ในการปรับตัวได้มากกว่า อย่างน้อยวัฒนธรรมเดิมก็ยังเป็นที่เข้าใจของประชาชนโดยทั่วไป จำนวนมากของคนอีสานในชนบทยังสามารถโหยหาชีวิตใน ชุมชน เดิมได้อยู่ ในขณะที่คนในภาคอื่นไม่เคยมีประสบการณ์ และหากฝันถึงเพื่อหลบหนีจากสภาพความเป็นจริง ก็มักจินตนาการถึงชุมชนในอุดมคติซึ่งไม่เคยมีจริง
ประการต่อมา เพราะวัฒนธรรมเดิมยังไม่อ่อนเปลี้ยเพลียแรงดังกล่าวนี้เอง สิ่งที่น่าสนใจในความเชื่อเรื่องผีแม่ม่ายมีอยู่ 2 อย่าง คือ ชุมชนและผี
ปัญหาการสูญเสียบทบาทและความนับถือตนเองของผู้ชาย เพราะความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมดังที่กล่าวแล้วนี้ วิธีการแก้ปัญหาของอีสานยังอาศัยลักษณะของ “ชุมชน” แบบเดิมอยู่ แม้ว่าในความเป็นจริง “ชุมชน” แบบเดิมได้มลายหายสูญไปเสียแล้ว นั่นก็คือทำให้การตั้งหุ่นหลอกผีแม่ม่าย ไม่ใช่เป็นการกระทำของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง แต่ทำกันทั่วไปทั้งละแวก ปลอบประโลมใจชายผ้าซิ่นไม่เฉพาะแต่ในครอบครัว แต่ทั่วไปหมดในละแวกซึ่งคือพื้นที่จริงในชีวิตของชายผ้าซิ่นนั่นเอง ผีแม่ม่ายจึงแสดงความอาทรต่อเขา ทั้งจากครอบครัวและจาก “ชุมชน” (ที่ไม่เป็นชุมชน) ที่เขามีชีวิตอยู่
ผีในความเชื่อของไทยมีบทบาทสำคัญทางสังคม คือทำหน้าที่รักษาระเบียบของสังคม และทำหน้าที่กระชับความเป็นปึกแผ่นของชุมชน ไม่มีนิสัยชอบหลอกหลอนใคร จะลงโทษก็ลงเลย จะให้คุณก็ให้เลย แต่ผีในลักษณะเช่นนี้ในส่วนใหญ่ของประเทศไทยได้สูญหายไปแทบจะหมดแล้ว ถูกแทนที่ด้วยผีชนิดใหม่ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปธรรม เช่น นางนาคพระโขนง และมีความเป็นปัจเจก (นางนาคก็เป็นผีตนหนึ่ง ผีที่ถูกรถชนตายตรงหัวโค้งก็เป็นผีอีกตนหนึ่ง มีประวัติภูมิหลังและนิสัยใจคอในการหลอกหลอนต่างกัน)
แม้ว่าผีแม่ม่ายไม่ได้มีบทบาทอย่างผีโบราณ เพราะไม่ได้กำกับระเบียบของสังคมและไม่ได้กระชับความสัมพันธ์ของกลุ่มเช่นผีเรือน แต่ผีแม่ม่ายมีลักษณะบางอย่างคล้ายผีโบราณ กล่าวคือผีแม่ม่ายมีลักษณะเป็นนามธรรมสูงกว่ารูปธรรม เช่น ไม่มีใครรู้ว่าผีแม่ม่ายมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ผีแม่ม่ายตนที่กาฬสินธุ์กับตนที่ร้อยเอ็ดเป็นตนเดียวกันหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ อย่างเดียวกับผีป่าผีเขา (หรือที่เรียกกันว่าเจ้าป่าเจ้าเขา) ซึ่งอยู่ในป่าและเขาต่าง ๆ จะเป็นตนเดียวกันหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ อิทธิฤทธิ์ของผีแม่ม่ายนอกจากเอาตัวผู้ชายไปทำผัวแล้ว ยังมีอะไรอีกก็ไม่มีใครบรรยายไว้ ผีแม่ม่ายจึงไม่เป็นปัจเจก เพราะไม่มีใครรู้ว่าเป็นใครมาจากไหน ไม่มีชีวประวัติส่วนตัวอย่างนางนาคพระโขนง
นอกจากนี้ผีแม่ม่ายยังทำงานโดยยึดหลักความเสมอภาคเหมือนผีโบราณ เพราะผีแม่ม่ายไม่เกี่ยงว่าผู้ชายที่จะนำไปทำผัวต้องรูปหล่อ, พ่อรวย, เลี้ยงควายใหญ่, หรือเป็นลูกกำนัน อย่างเดียวกับผีที่คุ้มครองบ่อน้ำสาธารณะในสมัยโบราณ หากละเมิดระเบียบสังคม เช่น ทำบ่อน้ำสกปรก (ฉี่ลงไป เป็นต้น) ย่อมได้รับโทษเสมอเหมือนกันหมดเพราะขะลำทั้งนั้น ความต่างอยู่ที่ว่าผีแม่ม่ายไม่ได้กำกับกฎเกณฑ์ทางสังคมข้อใด และไม่มีนัยะทางศีลธรรมแต่อย่างใด
ฉะนั้น ผีแม่ม่ายจึงเป็นผีสมัยใหม่ แต่ยังเก็บรูปลักษณ์ของผีโบราณไว้ด้วย หาได้เหมือนผีฮอลลีวู้ดที่คนอ่านหนังสือพิมพ์รู้จักไม่ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์รู้จักแต่ผีฮอลลีวู้ดเช่นเดียวกับผู้อ่านหนังสือพิมพ์ ทั้งสองฝ่ายจึงอ่านเรื่องผีแม่ม่ายออกมาได้เพียงมิติเดียว ได้แก่มิติแห่งความงมงาย
ผมคิดว่า หากไม่ใช่ชาวอีสานแล้ว คงไม่มีคนไทยภาคอื่นสามารถสร้างผีขึ้นใหม่ให้อิงคติเก่าได้เท่านี้ แม้จำเป็นต้องสร้างผีใหม่ ๆ ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปรับตัวเข้าสู่ความเป็นสังคมสมัยใหม่เหมือนกันก็ตาม เพราะผีโบราณของอีสานเพิ่งตายไม่นานมานี้ และบางตนก็ยังมีชีวิตชีวาฟื้นกลับมาใหม่ในอีกลักษณะหนึ่ง เช่น ผีมเหสักข์และผีปู่ตา เป็นต้น (ซึ่งผมอยากเขียนถึงหากมีโอกาสได้ศึกษามากกว่านี้)
ความเชื่อเรื่องผีแม่ม่ายจึงเกิดที่ไหนในเมืองไทยไม่ได้นอกจากในอีสานด้วยประการฉะนี้
หลักฐานเชิงประจักษ์
เพื่อทำความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่บทความนี้ ผมพยายามมองหาหลักฐานเชิงประจักษ์จากตัวเลขแรงงานในประเทศไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติ แต่น่าเสียดายที่ตัวเลขเท่าที่ผมหามาได้ ไม่ค่อยยืนยันทฤษฎีของผมนัก แม้กระนั้นก็อยากจะไล่เรียงตัวเลขดังกล่าวไว้ในที่นี้ เพื่อแสดงส่วนอันน้อยนิดที่ตัวเลขเหล่านี้ช่วยยืนยัน
ใน พ.ศ. 2548 (อันเป็นตัวเลขปัจจุบันที่สมบูรณ์สุดเท่าที่ผมหาได้) เรามีแรงงานชายทั้งประเทศประมาณ 25 ล้านคน (นับที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป) ที่นักสถิติเรียกว่ามีงานทำมีอยู่ 19-20 ล้านคน แปลว่ามีผู้ชายอีกประมาณ 5 ล้านคน ที่นักสถิตินิยามว่า ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน ในจำนวนนี้คงอยู่ในสถานศึกษาจำนวนหนึ่ง และไม่มีงานประจำทำอีกจำนวนหนึ่ง นับว่าไม่น้อยเลยนะครับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกถาม ผู้ชายที่นิยามตนเองว่า ไม่มีงานทำ มีอยู่เพียง 3 แสนคนเท่านั้น (ประมาณ 2% กว่า) ผมอยากเดาว่า คนเหล่านี้คือคนที่ไม่มีงานทำเอาจริง ๆ ทั้งปี เพราะมีผู้ชายที่มีงานทำเฉพาะตามฤดูกาลอยู่ (ในช่วงสูงสุด) 4 แสนกว่าคน จะเป็นแรงงานภาคเกษตร, ก่อสร้าง หรืออะไรอื่นก็ตามที
คราวนี้ลองมาดูแรงงานหญิงบ้าง
ในปีเดียวกันนี้เรามีแรงงานหญิงรวม 17 ล้านกว่าคน อย่าเพิ่งตกใจนะครับว่าทำไมแรงงานหญิงจึงน้อยกว่าชายขนาดนั้น ผู้หญิงมิต้องมีผัวคนครึ่งหรอกหรือจึงจะมีความสุขกันทั่วหน้า เพราะยังมีแรงงานหญิงอีกประมาณ 8 ล้านคน ที่ถูกสำนักงานสถิติแห่งชาตินิยามว่า แรงงานในครัวเรือนที่ไม่ได้รับค่าจ้าง (ทำให้มีแรงงานหญิงอยู่ 25 ล้านคน พอ ๆ กับชาย) นิยามนี้น่าสนใจนะครับ เพราะในจำนวนนี้คงอยู่ในสถานศึกษาจำนวนหนึ่ง และเป็นแม่บ้านหรือรับใช้ในฐานะญาติผู้พึ่งพิงอีกจำนวนหนึ่ง เทียบได้กับแรงงานชายที่ ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน อีก 5 ล้านคน ซึ่งในทางปฏิบัติก็คือ (ยัง) ไม่ได้ทำงานอะไร 2 กลุ่มนี้ไม่ต่างอะไรกัน แต่เพราะกลุ่มหลังเป็นผู้หญิง จึงสามารถนิยามตามบทบาทได้ว่าเป็น “แรงงานในครัวเรือนที่ไม่ได้รับค่าจ้าง” ในขณะที่ไม่รู้จะให้บทบาทอะไรแก่ผู้ชาย
อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ. 2548 ผู้หญิงที่ถูกนิยามว่า “ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน” มีถึง 9 ล้านคน แต่เมื่อหักผู้หญิงที่ถูกนิยามว่า “แรงงานในครัวเรือนที่ไม่ได้รับค่าจ้าง” ออกไป 8 ล้านคน ก็จะเหลือผู้หญิงที่ (ยัง) ไม่ได้ทำอะไรเพียง 1 ล้านคนเท่านั้น ในขณะที่มีผู้ชายที่ถูกนิยามอย่างเดียวกันนี้ (ทั้งโดยสำนักงานสถิติฯ และสังคมไทย) ถึงเกือบ 5 ล้านคน
และเพราะเหตุดังนั้น ตัวเลขจึงไม่ได้บอกความต่างระหว่างหญิง-ชายได้มากนัก เพราะแรงงานหญิงก็จะตกงานอยู่ราว 3 แสน 5 หมื่นคน คิดเป็นประมาณ 2% พอ ๆ กับแรงงานชาย แรงงานหญิงได้งานทำเฉพาะตามฤดูกาล 2 แสน 5 หมื่นคน พอ ๆ กับแรงงานชายคือจาก 2 แสนกว่า ถึง 4 แสนกว่า ตามแต่ฤดูกาล
แต่ถ้าดูลึกลงไปที่ตัวเลขบางตัวก็จะเห็นความต่างได้มาก นั่นคือผู้หญิงที่ (ยัง) ไม่ได้ทำงานมีรายได้ มีบทบาทที่แม้แต่นักสถิติก็นิยามได้ว่าเป็น “แรงงานในครัวเรือนที่ไม่ได้รับค่าจ้าง” และสังคมไทยให้บทบาทตรงนี้ไว้แก่ผู้หญิงมาแต่โบราณ เป็นบทบาทที่ทำให้ผู้หญิงมีความ “เต็ม” และดำเนินชีวิตในสังคมได้โดยไม่ต้องรู้สึกเกะกะตัวเอง ตรงกันข้ามกับผู้ชายซึ่ง ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน อีก 5 ล้านคน ไม่ได้ออกไปล่าสัตว์, ไม่ได้ออกไปทำนา, ไม่ได้ออกไปเลี้ยงควาย, ไม่ได้ออกไปทำอะไรสักอย่าง ออกไปเมื่อไรก็เตร็ดเตร่ หาจุดหมายไม่ได้ บางครั้งก็เมาเหล้า เมายา หรือเมาผู้หญิงเสียเพื่อจะได้ลืมความเกะกะของตนเอง
ผมคิดว่าตัวเลขเหล่านี้ “ส่อ” ให้เห็นว่า ผู้หญิงมีงานทำมากกว่าผู้ชาย หรืออย่างน้อยก็บอกตัวเองได้ว่ามีบทบาทในหน้าที่การงานอย่างไรได้มากกว่าผู้ชายแยะทีเดียว
ในปัจจุบัน เรามีแรงงานในภาคเกษตรทั้งหญิงและชายอยู่ 15 ล้านคน และมีแรงงานนอกภาคเกษตรทั้งหญิงและชายถึง 22-24 ล้านคน แต่หยาดเหงื่อที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และช่วยพยุงให้ครอบครัวไทยหรือแม้แต่สังคมไทยดำรงอยู่ได้ มาจากผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
ซ้ำนาน ๆ ครั้ง ผู้หญิงยังต้องลุกขึ้นมาตั้งหุ่นเพื่อหลอกผีแม่ม่าย และปลุกปลอบใจผู้ชายให้เผชิญกับความว่างเปล่าของชีวิตต่อไปได้ด้วย
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 ตุลาคม 2562