ประวัติศาสตร์โดยสังเขป “กาตาร์” เจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022

(ภาพจาก pixabay.com)

“กาตาร์” (Qatar) ประเทศเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 เป็นดินแดนแห่งทะเลทรายที่อยู่บริเวณคาบสมุทรอาระเบีย มีลักษณะเป็นคาบสมุทรขนาดเล็กยื่นออกไปในอ่าวเปอร์เซีย เมืองหลวงคือกรุงโดฮา (Doha) ปัจจุบันมีประชากรประมาณ 2.9-3 ล้านคน สืบเชื้อสายมาจากชาวเบดูอิน (Bedouin) เป็นชาติมุสลิมนิกายซุนนี ปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตย มีเจ้าผู้ครองนครหรือเอมีร์ (Emir) เป็นประมุข โดยองค์ปัจจุบันคือชีค Tamim bin Hamad Al Thani

แม้การ์ตาร์มีพื้นที่เพียง 11,521 ตารางกิโลเมตร หรือขนาดพอ ๆ กับจังหวัดน่านเท่านั้น และที่ดินส่วนใหญ่ยังเป็นทะเลทรายแห้งแล้ง แต่ปัจจุบันกาตาร์กลับเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก เพราะเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับต้น ๆ ประเทศนี้มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไรก่อนมาถึงจุดนี้ ?

ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 18 ประวัติศาสตร์ของผู้คนที่จะกลายเป็นพลเมืองของกาตาร์ในปัจจุบันแทบไม่ถูกกล่าวถึงในประวัติศาสตร์เลย ชาวเบดูอินซึ่งเป็นประชากรกลุ่มหลักของคาบสมุทรอาระเบียและบรรพบุรุษของชาวกาตาร์เคยเป็นชนเร่ร่อนในทะเลทรายมาก่อน ส่วนกลุ่มที่ลงหลักปักฐานก็เป็นหมู่บ้านชาวประมงขนาดเล็กเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของกาตาร์จึงเพิ่มจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างในปี 1766 เมื่อเชื้อสายตระกูลคอลิฟะห์ (Khalifah หรือกาหลิบ ประมุขทั้งทางศาสนาและการเมืองของชาวมุสลิม) ได้อพยพจากคูเวตเข้ามาอยู่ในบริเวณคาบสมุทรที่ต่อมาเป็นประเทศกาตาร์

พวกเขาสร้างเมืองแห่งใหม่ชื่อว่า อัล-ซูบาระฮ์ (Al-Zubarah) ที่เติบโตและขยายตัวจนกลายเป็นแหล่งเก็บไข่มุกและศูนย์กลางการค้า ปี 1783 ตระกูลคอลิฟะห์เป็นผู้นำในการพิชิตดินแดนบาห์เรนที่อยู่ใกล้เคียง และปกครองพื้นที่แถบนี้ตลอดศตวรรษที่ 20 ก่อนกาตาร์จะถูกปกครองโดยเหล่าชีค (Sheikhs) เพราะตระกูลคอลิฟะห์ได้โยกศูนย์กลางอำนาจไปยังบาเรน ชีคแห่งกาตาร์มักทำสงครามปลดปล่อยพื้นที่ของพวกเขาจากตระกูลคอลิฟะฮ์อยู่เนือง ๆ

ใต้เงาออตโตมันและอังกฤษ

ปี 1867 จักรวรรดิอังกฤษเริ่มให้ความสนใจกาตาร์ ความขัดแย้งระหว่างการตาร์กับคอลิฟะห์ที่บาห์เรนยังคงดำเนินอยู่ มีการอ้างสิทธิเหนืออัล-ซูบาระฮ์ที่ลุกลามบานปลายไปสู่การเผชิญหน้าครั้งใหญ่จนทำให้โดฮาเกือบถูกทำลาย อังกฤษมองว่ากาตาร์เป็นเพียงเมืองขึ้นของบาห์เรน จึงพยายามเข้ามาแทรกแซงและมีบทบาทด้วยการผลักดันการลงนามในสนธิสัญญาแบ่งแยกการปกครองระหว่างบาเรนกับกาตาร์ ในปี 1868 ผู้นำของฝ่ายกาตาร์ที่มีส่วนในการทำข้อตกลงคือชีค Mohammed ibn Thani

สนธิสัญญาดังกล่าวกลายเป็นตัวกำหนดทิศทางของรัฐกาตาร์ในสมัยหลังทั้งเรื่องเอกราชและอำนาจการปกครองของราชวงศ์ทานี ซึ่งเป็นเพียงตระกูลเดียวที่มีส่วนร่วมในสนธิสนญานี้ในบรรดาตระกูลสำคัญอีกหลายตระกูลบนคาบสมุทร

ปี 1871 หลังจากกองทัพจักรวรรดิออตโตมันพิชิตจังหวัดอัล-หะซา (Al-Hasa) ในซาอุดีอาระเบียที่อยู่ไม่ไกลจากกาตาร์สำเร็จ ออตโตมันได้ผนวกกาตาร์เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิและปกครองคาบสมุทรอาระเบีย กระทั่งตระกูลซาอูดพิชิตอัล-หะซาได้ในปี 1916 อิทธิพลของออตโตมันในกาตาร์จึงสลายตัวไประหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914-1918)

ปีเดียวกันนั้น อังกฤษให้ผู้ปกครองกาตาร์ลงนามในสนธิสัญญาซึ่งคล้ายกับข้อตกลงที่อังกฤษทำกับรัฐอื่น ๆ ในอ่าวอาหรับ (หมายถึง “อ่าวเปอร์เซีย” แต่ชาวอาหรับเรียกว่า “อ่าวอาหรับ”) เป็นผลให้อังกฤษมีอำนาจควบคุมนโยบายต่างประเทศของรัฐเหล่านี้เพื่อแลกกับการคุ้มครองจากจักรวรรดิอังกฤษ สนธิสัญญานี้แม้ปลดปล่อยรัฐอ่าวอาหรับจากออตโตมันอย่างสมบูรณ์แต่สถานะพวกเขาแทบไม่ต่างจากอาณานิคมของอังกฤษ

ยุคแห่งความมั่งคั่งของกาตาร์เริ่มต้นที่การค้าน้ำมัน โดยปี 1953 กาตาร์ลงนามในสัญญาสัมปทานกับบริษัทอิรักปิโตรเลียม (Iraq Petroleum Company) ก่อนจะมีการค้นพบน้ำมันในอีก 4 ปีต่อมา อย่างไรก็ตาม น้ำมันที่ขุดพบยังไม่มากพอที่ส่งออกเพื่อการค้าได้

กระทั่งปี 1949 รายได้จากบริษัทน้ำมันชื่อ Petroleum Development (Qatar) Limited หรือต่อมาคือ Qatar Petroleum Company ทำเงินให้กาตาร์อย่างมหาศาล การจัดสรรผลประโยชน์เรื่องน้ำมันทำให้เกิดข้อพิพาทรุนแรงภายในราชวงศ์ทานี เปิดโอกาสให้อังกฤษเข้าแทรกแซงเกี่ยวกับประเด็นรัชทายาทจนนำไปสู่การยึดอำนาจในปี 1972 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ชีค Khalifa ibn Hamad Al Thani กลายเป็นประมุขของรัฐกาตาร์

สู่รัฐเอกราช

ปี 1968 อังกฤษประกาศแผนการถอนกำลังออกจากพื้นที่อ่าวเปอร์เซีย หลังจากการเจรจากับบรรดาชีคของรัฐเพื่อนบ้านทั้งหลาย ทั้งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และบาห์เรน กาตาร์จึงประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 กันยายน ปี 1971 ข้อตกลงเดิมกับอังกฤษถูกแทนที่ด้วยสนธิสัญญาสัมพันธไมตรี ในเดือนเดียวกันนั้น กาตาร์ได้เข้าเป็นสมาชิกของสันนิบาตอาหรับ (Arab League) และสหประชาชาติ (United Nations)

ปี 1981 รัฐกาตาร์เข้าร่วมกับเพื่อนบ้านอ่าวอาหรับ (อ่าวเปอร์เซีย) ทั้ง 5 ประเทศเพื่อจัดตั้งสภาความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council, GCC) เป็นพันธมิตรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและยกระดับความมั่นคงภายในและการป้องกันภัยคุกคามจากภายนอกที่เกิดจากการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน และสงครามอิรัก-อิหร่าน

ปี 1990-1991 กองทัพกาตาร์เข้าร่วมในสงครามอ่าวเปอร์เซีย (Persian Gulf War) โดยเฉพาะการรบเพื่อควบคุมเมือง ราอัส อัล-คาฟจี (Ra’s al-Khafji) เมืองชายแดนของซาอุดิอาระเบีย ระหว่างวันที่ 30-31 มกราคม โดฮาซึ่งทำหน้าที่เป็นฐานสำหรับการโจมตีโดยเครื่องบินของฝรั่งเศส แคนาดา และสหรัฐฯ ต่อต้านอิรักและกองทัพอิรักที่ยึดครองคูเวต

ความขัดแย้งครั้งใหม่เกี่ยวกับการจัดสรรผลประโยชน์และรายได้จากน้ำมันยังก่อให้เกิดการยึดอำนาจอีกครั้งเมื่อปี 1995 ซึ่งทำให้ชีค Hamad โอรสของชีค Khalifa กลายเป็นประมุของค์ใหม่

ระหว่างทศวรรษ 1990 กาตาร์ตกลงที่จะอนุญาตให้กองกำลังสหรัฐฯ ใช้พื้นที่เพื่อเก็บยุทโธปกรณ์ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และอนุญาตให้ใช้ลานบินของกาตาร์ระหว่างการปฏิบัติการของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานในปี 2001 ข้อตกลงเหล่านี้มีขึ้นอย่างเป็นทางการในปลายปี 2002 และกาตาร์ได้กลายเป็นกองบัญชาการของสหรัฐอเมริกันและการปฏิบัติการทางทหารของพันธมิตรในอิรักปีต่อมา

กาตาร์เป็นที่รู้จักจากนานาชาติมากขึ้นเมื่อพวกเขาได้เป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์เมื่อปี 2006 และถูกพูดถึงมากยิ่งขึ้นหลังคว้าสิทธิ์เป็นเจ้าภาพในการจัดมหกรรมกีฬาระดับโลกอย่างฟุตบอลโลก 2022 โดยจัดขึ้นที่กรุงโดฮา เพื่อดึงดูดนักเดินทางและแฟนบอลจากทั่วโลกมายังประเทศทะเลทรายแห่งนี้ พวกเขายังเป็นชาติอาหรับชาติแรกที่ได้รับโอกาสในการจัดฟุตบอลโลกด้วย เราจึงได้เห็นฟุตบอลโลกที่มีการแข่งขันในฤดูหนาวนั่นเอง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา : ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับรัฐกาตาร์

John Duke Anthony, Jill Ann Crystal; Encyclopædia Britannica : History of Qatar


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2565