ทำไม ร. 5 ตรัสบ่นกระทรวงมหาดไทยกลายเป็นกรมไปรษณีย์ไปเสียแล้ว

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลอุดร (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

“…พระอยู่หัว [รัชกาลที่ 5] ตรัสบ่นว่า กระทรวงมหาดไทย กลายเป็นกรมไปรษณีย์ไปเสียแล้ว…”  คือความตอนหนึ่งใน “เทศาภิบาล” ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้เพื่อเล่าเรื่องและอธิบายลักษณะการปกครองหัวเมืองสยามสมัยเมื่อแรกทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

ส่วนเหตุที่ “ทรงบ่น” นั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ดังนี้ [จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]


 

กระบวนการทำงานใน กระทรวงมหาดไทย ตามแบบเก่านั้น ถ้าหนังสือราชการจะเป็นจดหมายในกรุงฯ ก็ดี หรือใบบอกหัวเมืองก็ดี มาถึงศาลาลูกขุนในเวลาเวรของใคร เปรียบว่าเป็นเวรนายแกว่น [1] นายแกว่นก็เป็นผู้รับหนังสือนั้น แม้เป็นหนังสือของตัวบุคคลเช่น สลักหลังซองถึงปลัดทูลฉลองเป็นต้น ก็ส่งไปให้ผู้นั้นทั้งผนึก ถ้าเป็นใบบอกถึงกระทรวง อันเรียกว่า “วางเวร กระทรวงมหาดไทย” นายแกว่นก็เปิดผนึกออกอ่าน แล้วนำขึ้นเสนอต่อปลัดทูลฉลองให้พิจารณาก่อน

ถึงวันต่อมาเวลาเช้าปลัดทูลฉลองกับนายแกว่นเอาใบบอกนั้น กับทั้งหนังสือซึ่งปลัดทูลฉลองเห็นว่าเสนาบดีจะต้องสอบประกอบกัน ไปยังบ้านเสนาบดี เมื่อนายแกว่นคชสารอ่านใบบอกเสนอแล้ว เสนาบดีก็มีบัญชาสั่งให้ทําอย่างไรๆ

ถ้าเป็นเรื่องเพียงจะต้องมีท้องตราตอบหรือสั่งราชการอันอยู่ในอํานาจเสนาบดี ก็ให้ปลัดทูลฉลองรับบัญชามาให้ข้าราชการชั้นสัญญาบัตร ซึ่งเป็นพนักงานร่างหนังสือร่างตรานั้น แล้วให้นายแกว่นเอาไปเสนอเสนาบดีให้ตรวจแก้ไขก่อน

ถ้าเป็นแต่ท้องตราสามัญมีแบบแผนอยู่แล้ว ก็ให้นายแกว่นร่างให้เสร็จไป ไม่ต้องเอาร่างไปอ่านเสนอ แล้วให้เสมียนเวรนายแกว่นเขียนลงกระดาษ มอบให้เสมียนตราเอาไปประทับตราที่บ้านเสนาบดีและส่งไป

ต้นหนังสือทั้งปวงในเรื่องนั้น นายแกว่น อันเป็นนายเวรที่ทำการเป็นพนักงานรักษาไว้ในกระทรวงต่อไป มักเก็บไว้บนเพดานศาลาลูกขุนเป็นมัดๆ ไม่ได้เรียบเรียงเรื่องเป็นลำดับ ถึงกระนั้นเมื่อข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีตรวจพบใบบอกเก่าแต่ในรัชกาลที่ 4 ยังอยู่เป็นอันมาก

ถ้าใบบอกฉบับใดที่จะต้องกราบบังคมทูล เสนาบดีก็สั่งให้ปลัดทูลฉลองคัดความขึ้นกราบบังคมทูลลักษณะคัดความอย่างนั้น เรียกว่า “คัดทูลฉลอง” คือเก็บแต่เนื้อความใบบอก แต่ต้องระวังมิให้ผิดเพี้ยนบกพร่องขึ้นกราบบังคมทูล

วิธีกราบบังคมทูลนั้น ตามประเพณีโบราณซึ่งยังใช้มาจนรัชกาลที่ 3 อันพึ่งเห็นได้ในหนังสือ “จดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ” ซึ่งหอพระสมุดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2458 โดยปรกติเจ้าแผ่นดินเสด็จออกขุนนางในท้องพระโรงวันละ 2 ครั้งเป็นนิจ เสด็จออกเวลาเช้า ทรงว่าราชการฝ่ายตุลาการ คือพิพากษาฎีกาของราษฎรเป็นต้น เสด็จออกเวลาค่ำทรงว่าราชการบ้านเมือง เสนาบดีต้องไปเฝ้าพร้อมกันหมด มีใบบอกราชการอย่างไรมาแต่หัวเมือง

เมื่อเสนาบดีเจ้ากระทรวงทูลเบิกแล้ว ปลัดทูลฉลองอ่านใบบอกที่คัดนั้นถวายทรงฟัง เมื่อทรงฟังตลอดแล้วตรัสปรึกษาหารือกับเสนาบดีเป็นยุติแล้วตรัสสั่งให้ทําอย่างไร ปลัดทูลฉลองก็เป็นผู้จดจำกระแสรับสั่งมาจัดการ ถ้าเป็นราชการสำคัญโปรดให้นำร่างตราขึ้นถวายทรงตรวจแก้ก่อน ก็เป็นหน้าที่ปลัดทูลฉลองที่จะนำร่างตราเข้าไปอ่านถวาย และแก้ไขตามรับสั่งในเวลาเสด็จออกขุนนางเหมือนเมื่ออ่านใบบอก

ราชการแผ่นดินทําเป็นการเปิดเผยดังพรรณนามา จึงถือกันว่าท้องพระโรง เป็นที่ศึกษาราชการของข้าราชการทั้งปวงอันมีตําแหน่งเฝ้าในท้องพระโรง

แต่ต่อมาข้าพเจ้าเข้าใจว่าในรัชกาลที่ 4 เมื่อมีกิจเกี่ยวข้องกับรัฐบาลฝรั่งต่างประเทศมากขึ้นจึงเริ่มกําหนดราชการเป็น 2 ประเภทต่างกัน คือราชการอันควรเปิดเผยประเภท 1 ราชการอันไม่ควรเปิดเผยประเภท 1 อ่านใบบอกกราบทูลในเวลาเสด็จออกขุนนาง แต่ราชการประเภทเปิดเผย ถ้าเป็นราชการประเภทที่ไม่เปิดเผย ให้ทําเป็นจดหมายบันทึกทูลเกล้าฯ ถวาย ถ้าจะทรงปรึกษาหารือเสนาบดีคนไหน ก็มีรับสั่งให้หาเข้าไปเฝ้าในที่รโหฐาน

เมื่อข้าพเจ้ายังเป็นเด็ก เคยเห็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อยังเป็นสมุหพระกลาโหมเข้าเฝ้าอย่างนั้นเนื่องๆ จดหมายบันทึกที่คัดเขียนในสมุดดําเหมือนอย่างใบบอกที่อ่านในท้องพระโรง แต่มีดินสอขาวเหน็บไปกับใบปกสมุดสำหรับทรงเขียนลายพระราชหัตถ์ตรัสสั่ง แล้วส่งกลับออกมา วิธีกราบทูลราชการหัวเมืองจึงเกิดเป็น 2 อย่าง คือ อ่านกราบทูลในเวลาเสด็จออกขุนนางอย่าง 1 กับเขียนเป็นจดหมายบันทึกทูลเกล้าฯ ถวายอย่าง 1

ต่อมาขนบธรรมเนียมในราชสำนักเปลี่ยนมาโดยลําดับ ด้วยพระเจ้าอยู่หัวมีราชกิจอย่างอื่นมากขึ้น ไม่มีเวลาจะเสด็จออกขุนนางในท้องพระโรงได้วันละ 2 ครั้ง เหมือนอย่างโบราณ ราชการต่างๆ ที่เจ้ากระทรวงกราบบังคมทูลจึงใช้เป็นจดหมาย และดํารัสสั่งด้วยลายพระหัตถเลขามากขึ้น

ถึงรัชกาลที่ 5 ประเพณีที่เสด็จออกขุนนางเสด็จออกแต่เวลาบ่ายวันละครั้งเดียว และไม่มีการปรึกษาหารือราชการในเวลาออกขุนนางเหมือนอย่างแต่ก่อน เสนาบดีก็เลยไม่เข้าไปเฝ้าในเวลาเสด็จออกขุนนาง การอ่านใบบอกหัวเมืองกราบทูลก็กลายเป็นแต่อย่างพิธีเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมเดิมไว้ อ่านกราบทูลแต่ใบบอกราชการอย่างจืดๆ เช่นข่าวโจรผู้ร้ายหรือรายงานน้ำฝนต้นข้าวเป็นต้น เหมือนกันทั้งกระทรวงมหาดไทยและกลาโหม กรมท่า ส่วนราชการ ที่เคยทําจดหมายบันทึกทูลเกล้าฯ ถวาย

ถึงตอนนี้กระทรวงกลาโหม กรมท่า เปลี่ยนเป็นกราบทูลด้วยจดหมายเขียนกระดาษฝรั่ง แต่กระทรวง มหาดไทยคงเขียนในสมุดดําอยู่ตามประเพณีเดิม จึงแปลกกับกระทรวงอื่นมีอยู่แต่กระทรวงเดียว จนในกรมราชเลขาธิการเรียกว่า “หีบขนมปัง” ของกระทรวงมหาดไทย เพราะหอสมุดซึ่งส่งเข้าไปถวายได้ขนาดกับหีบขนมปังที่ขายในท้องตลาด

ใช่แต่เท่านั้นความที่เขียนในบันทึกก็คงเป็นอยู่เหมือนใบบอกเช่นอ่านกราบทูลในท้องพระโรงแต่โบราณ ก็กลายเป็นขอเรียนพระราชปฏิบัติ เหมือนอย่างทูลถามว่า “จะโปรดให้ทําอย่างไร” ไปทุกเรื่อง

จนพระเจ้าอยู่หัวตรัสบ่นว่า กระทรวงมหาดไทยกลายเป็นกรมไปรษณีย์ไปเสียแล้ว

มีราชการอะไรก็เกณฑ์ให้ทรงพระราชดําริวินิจฉัยเสียทั้งนั้น ไม่ช่วยคิดอ่านบ้างเลย แต่ก็ไม่ตรัสสั่งให้แก้ไขอย่างไร คงเป็นเพราะทรงพระราชดําริเป็นยุติแล้ว ว่าจะหาคนสมัยใหม่เป็นเสนาบดีให้ฟื้นราชการมหาดไทยทั้งกระทรวงทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เชิงอรรถ :

[1] ในชั้นเสมียนพนักงานมีนายเวร 4 คน รับประทวนเสนาบดีตั้งเป็นที่ “นายแกว่นคชสาร” คนหนึ่ง “นายชำนาญกระบวน” คนหนึ่ง “นายควรรู้อัศว” คนหนึ่ง “นายรัดตรวจพล” คนหนึ่ง นายเวร 4 คนนั้นกลางวันมาทำงานในศาลาลูกขุนด้วยกันทั้งหมด เวลากลางคืนต้องผลัดเปลี่ยนกันนอนค้างที่ศาลาลูกขุน คราวละ 15 วันเวียนกันไป เรียกว่า “อยู่เวร”

ข้อมูลจาก :

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. “ภาวะของกระทรวงมหาดไทย” ใน, เทศาภิบาล. สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2565