รัชกาลที่ 4 ทรงจัดการอย่างไรกับเรื่อง “ช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

สำนวนไทยที่ว่า “ช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง” หรือบ้างเขียนว่า “ช้างเหยียบนา พระยาเหยียบเมือง” ก็มี ไม่ว่าจะเป็น “พญา” หรือ “พระยา” ก็ได้ความที่ใกล้เคียงกันว่า เมื่อเจ้าใหญ่ นายโต ไปถึงที่ใดก็เกิดความเสียหายกับพื้นที่นั้น พญา (พระยา) เหยียบเมืองเสียหายขนาดไหน? ต้องย้อนกลับไปดูวรรคก่อนหน้าที่ว่า “ช้างเหยียบนา” ก็จะเห็นภาพชัดเจน

แต่เมื่อ “พญา” เข้มงวดกวดขัน “ช้าง” ไหนเลยไม่กล้า

ดังเช่น การเสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลตะวันออกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2400 ซึ่งเป็นการเสด็จประพาสในลักษณะของการท่องเที่ยว+ดูงาน ทรงเลือกประทับค้างแรมที่บ้านอ่างศิลา แขวงเมืองชลบุรี โดยมีเหล่าขุนนางข้าราชการตามเสด็จเป็นคณะใหญ่ รวมจำนวนขุนนางที่ตามเสด็จเบ็ดเสร็จ 3,240 คน จากกรมกองต่างๆ ทั้งฝ่ายพลเรือนและกลาโหม

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงประกาศกำชับแก่คณะผู้ตามเสด็จทั้งหมด ดังนี้

“ไปบ้านเมืองนั้น เสดจอยู่ที่ไหนก็ต้องอยู่ในที่ใกล้รอบคอบเพียงเพื่อจะมีรับสั่งให้หาในเวลากลางคืนก็ดีกลางวันก็ดี ให้ได้ตัวในกึ่งชั่วโมงจึงจะชอบ เมื่อจะไม่ตามเสดจไปแลจะตั้งอยู่ที่นั้นๆ ได้ ฤาจะไปที่นั้นๆ อื่นจากที่เสดจพระราชดำเนินได้ ก็ต่อเมื่อมีรับสั่งกะเกนให้อยู่รักษาแลไปราชการที่นั่นๆ จึงจะอยู่ได้ไปได้จากที่เสดจ์แลกระบวนเสดจ์ แลเมื่อจะไปตามเสดจนั้น…

แลครั้งนี้เจ้านายหลายองค์ ขุนนางหลายนาย แลมหาดเลก ทั้งขุนน้อยเลกหมื่นเลกน้อยเปนอันมาก…ไม่มีที่เที่ยวเร่เตร่เตรดสนุกสบาย ก็ภากันไปจอดเสียที่ท่าเมืองชลเปนอันมาก จะหาตัวใครก็ไม่ได้ เปนแต่เมื่อไรเสดจ์ออกพลับพลา ก็จะมาเฝ้าหมอบบนพลับพลาแลน่าพลับพลาอ้อตัวไปเท่านั้น ไว้ตัวเหมือนมาเที่ยวเล่นเองตามสบายใจ แล้วมิหนำซ้ำทำข่มเหงแก่ชาวเมืองชลต่างๆ ด้วยอ้างว่าเปนพวกตามเสดจ์…

ถ้าเรือเจ้านายแลข้าราชการผู้ใดไม่มาจอดใกล้ที่ประทับที่บ้านอ่างสิลา ไปอยู่ไกลแล้ว จะให้จับคนในเรือลำนั้นทั้งนายทั้งบ่าวจำตรวนส่งเข้าไปในกรุงเทพมหานคร จ่ายขัดสิลาแลขนอิดลากไม้กว่าจะเสดจ์กลับ แล้วจะปรับเรือลำนั้นสอกละบาทตามยาวให้เปนบำเหนจแก่ผู้จับด้วย ถ้าพวกที่เดิรบกมาฤาโดยสารผู้อื่นมาไม่มีเรือ ขึ้นตั้งพักอยู่บนบกไกลจากที่บ้านอ่างสิลากว่ากึ่งชั่วโมงแล้ว ก็จะให้จับตัวให้เสียเบี้ยปรับแก่ผู้จับคนละบาท ตัวก็จะจำตรวจส่งเข้าไปในกรุงเทพมหานครเหมือนกัน

ถ้าใครเข้าไปข่มเหงชาวบ้านเข้าไปในโรงเรือนแลรั้วบ้านของราษฎร ก็ให้เจ้าของบ้านกับพระยาชลบุรานุรักษ์กรมการช่วยกันจับตัวส่งมายังเจ้าพระยายมราช แลเมื่อจะจับนั้น ผู้ที่เข้าไปข่มเหงในบ้านถึงจะถูกบาดเจบมีบาดแผลประการใด ก็จะไม่ว่าให้ จะกดเอาคดีเปนแพ้ แก่ผู้จับทั้งสิ้น ถ้าเปนพวกมากเข้าไปข่มเหงชาวบ้านๆ ไม่สู้รบแลมาฟ้องร้องก็จะให้ชำระเอาตัวให้จงได้ 

ผู้ที่ไปข่มเหงชาวบ้านๆ จับมาส่งก็ดี ชำระได้ความก็ดี จะให้รับพระราชอาญาตามพระราชกำหนดกระบถศึก…ไพร่ในเรือของเจ้านายแลข้าราชการผู้ใดไปข่มเหงราษฎร เมื่อจับได้ชำระได้เปนผิดดังนี้แล้ว ตัวนายผู้เปนเจ้าของเรือ เมื่อไม่ได้ไปด้วยเปนแต่ไม่ได้ห้ามปราม ก็เปนผู้มีความผิดจะให้ปรับเร่งเอาเงินเท่าส่วนที่สามบ้างถึงข้างของเบี้ยหวัด ทำขวันให้ราษฎรผู้ต้องข่มเหงตามสมควร…” [หสช.จ.ร.4 จ.ศ.1219 (พ.ศ. 2400) เลขที่ 96 ประกาศเรื่องผู้ตามเสด็จประพาสบ้านอ่างศิลาทางน้ำทางบก]

เมื่อเสด็จฯ ไปถึงบ้านอ่างศิลา พระองค์ยังทรงรับสั่งกำชับ (แกมขู่) เพิ่มเติมให้ทราบทั่วกันอีกว่า

“เจ้านายขุนนางข้าราชการ ที่ไปแยกย้ายจอดเรือที่อื่น ในหลวงมิได้บังคับนั้น เหมือนเปนกระบถทีเดียว ไปแยกย้ายอยู่ไม่รู้ว่าจะคิดอย่างไร เจ้านายก็หลายองค์ ถ้าไม่ฟังยังขืนหลบหลีกอยู่ เพราะกรมการตำรวจทำอ่อนแอโลเลไป จะให้เรือกำปั่นไปยิงให้ยับเยิน” [หสช.จ.ร.4 จ.ศ.1219 (พ.ศ. 2400) เลขที่ 96 ประกาศเรื่องผู้ตามเสด็จประพาสบ้านอ่างศิลาทางน้ำทางบก]

อ่านเพิ่มเติม :


หมายเหตุ บทความนี้คัดย่อจาก กำพล จำปาพันธ์. “พระจอมเกล้าฯ กับการเสด็จประพาสเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก พ.ศ. 2400” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม 2565


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มีนาคม 2565