รัชกาลที่ 5 รับสั่งน้อยพระทัย กับการเสด็จพระพาสยุโรปครั้งที่ 2  

ภาพประกอบ - พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับพระราชโอรสที่โรงเรียนอีตัน คราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พ.ศ. 2450

การเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกในรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2440 สัมฤทธิ์ผลเกินความคาดหมาย หนังสือพิมพ์ทุกฉบับของยุโรปในสมัยนั้นเขียนข่าวอย่างครึกโครมถึงพระราชจริยวัตรอันงดงาม การแต่งพระองค์ด้วยเครื่องแบบจอมพลอย่างชาติตะวันตกอันภูมิฐาน สมศักดิ์ศรี ความสามารถในการตรัสภาษาอังกฤษ และความรู้รอบตัวที่พระองค์ทรงมี ทำให้ชาวต่างชาติเกิดความเลื่อมใสศรัทธาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

เป็นการพิสูจน์อย่างยุติธรรมว่าพระราชปณิธานในการเสด็จไม่ว่าจะเป็นครั้งไหนๆ ก็ได้รับการไตร่ตรองมาอย่างละเอียดรอบคอบ มีการลงทุนล่วงหน้าอย่างมหาศาล โดยมีจุดประสงค์ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาติมหาอำนาจในต่างประเทศ เกิดความเข้าใจและตระหนักว่าสยามเป็นชาติที่เจริญแล้ว และพัฒนาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับชาติตะวันตก ภาพลักษณ์ทั้งหมดจะไม่มีวันได้เกิดขึ้นเลย หากพระมหากษัตริย์มิได้เสด็จไปยังต่างประเทศด้วยพระองค์เอง

แต่หลังจากนั้นเพียง 10 ปี ใน พ.ศ. 2450 พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระราชปรารภที่จะเสด็จประพาสยุโรปอีกครั้งหนึ่ง [23 มีนาคม-17 พฤศจิกายน 2450] การเสด็จครั้งหลังนี้เกิดมีผู้ไม่หวังดีวิพากษ์วิจารณ์ว่าทรงยอมฝรั่งมากจนเกินไป และไม่มีความจำเป็นต้องเสด็จอีกให้เป็นการสิ้นเปลืองเงิน ทรงมีพระราชดำรัสถึงเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) บรรยายความน้อยพระทัยที่คนบางกลุ่มไม่เห็นความสำคัญในการตัดสินพระทัยของพระองค์…

วันที่  24  ตุลาคม  รัตนโกสินทรศก 40 126

ถึง พระยาสุขุม

ได้รับหนังสือฉบับที่ 17, 18, 19 นึกทอดธุระว่าจะไม่ตอบกว่าหนังสือจะไปถึงก็เกือบจะได้พบกัน  แต่มาบัดนี้ก็นอนอยู่เปล่าๆ ทั้งมีช่องที่จะส่งหนังสือเข้าไปถึงก่อนได้ จึ่งต้องเขียน

ของที่ส่งช้าไป เพราะเหตุที่เราไปเลือกๆ แล้วก็ไปจากที่นั่น การที่จะบรรทุกส่งไม่ใช่ของง่าย เมื่อไปถึงแล้วการที่จะแบ่งว่าสิ่งใดควรจะอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ควรจะอยู่สวนดุสิตและอยู่บางปะอิน จะต้องส่งทบทวนถ่ายเทกันจะกินเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน เพราะเหตุที่เราแต่งพระที่นั่งครั้งนี้ ไปเที่ยวรื้อมาจากอื่น ที่เก่าดูร้างไปหมด ถ้าเป็นแขกบ้านค้านเมืองมีมาแต่งโดยด่วนจะได้ความร้อนใจอย่างยิ่ง สู้คลำออดๆ ให้แล้วสำเร็จเสียก่อนไม่ได้

พูดถึงการรับเสด็จและพูดถึงการซื้อของมีความเจ็บใจเป็นอันมาก แต่ความเจ็บใจอันใด จนถึงเขาหาว่าเป็นผู้จะทำลายแผ่นดินสยามก็ไม่มีความเสียใจเท่าที่ได้เห็น ปรากฏว่า…เป็นผู้มีความอิจฉาโดยจะไม่เกิดในสันดารเอง ก็ได้ถูกด้วงแมลงล้วงไส้พรอนภายในมาเสียนานแล้ว ความรู้สึกเหมือนอย่างมีผู้บอกว่ากรมหลวงวชิรญาณ หยอกผู้หญิง แกจะคิดเห็นว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ข้าเองจะเป็นผู้ไม่เชื่อคำบอกนี้ก่อนคนอื่นหมด ฉันใดถ้ามีผู้มาบอกเรื่อง…เช่นนี้จะไม่เชื่อเหมือนกัน แต่นี่เข็ดหลาบที่หนังสือมันมาโดนในตาเอง โดยไม่มีผู้ใดจงใจเอามาให้ เวลาออกจากเมืองโรมได้แยกเป็นขบวนน้อย…ไม่ได้มาในขบวนนั้น จรูญได้รับหนังสือเมล์บางกอกที่ปาเลอโม ก็นำมาส่งได้ดูหนังสือนั้นเห็นว่าเป็นรายงานประชุมเสนาบดีหรือเป็นหนังสือซองเล็กซึ่งจะเป็นส่วนบุคคล ได้สั่งให้จรูญเอาคืนส่งไปให้กรมสมมตที่เยนัว

แต่ครั้งนี้ไม่ได้แตะต้องเงินแผ่นดินสักอัฐเดียว ด้วยเห็นว่าเป็นแต่การออกมารักษาตัวไม่ใช่มาราชการ ถ้าจะว่าด้วยซื้อของให้ลูกเมียญาติมิตรก็เงินซึ่งยกให้เป็นส่วนข้าแล้ว ข้าจะให้กันจะเป็นอะไรไป ถึงจะไม่ไปให้ใครเงินนั้นก็ไม่ไปเพิ่มภูลในราชการแผ่นดิน ถ้าจะกำตัวเงินส่งให้ผู้ใดไปเสียเงียบๆ ใครจะเป็นผู้มาว่าว่าไม่เป็นประโยชน์แก่แผ่นดิน

ถ้าจะว่าซื้อของสำหรับตกแต่งพระที่นั่งหรือเครื่องใช้สอยแผ่นดินกลับได้เปรียบเสียอีก ถ้าข้าจะทิ้งเสียไม่ซื้ออะไรเลย ไม่แต่งอะไรเลยจะผิดร้ายอะไร ใครจะเป็นผู้บังคับ ว่าให้ชักเงินของตัวออกซื้อออกแต่ง เมื่อซื้อของไปแต่งพระที่นั่งแล้วก็ตกเป็นของแผ่นดิน กลับเป็นผู้ซึ่งทำผิด เช่นนี้ก็เป็นการหนักเต็มทีที่ลงโทษ แต่ก็ไม่สู้เดือดร้อน เพราะเป็นกองกิเลศอันหนึ่งซึ่งรักดีรักงามไม่สันโดษ แต่เชนเตนสที่ลงโทษต่อไปข้างท้ายเห็นว่าควรจะร้องอุทรธรณ์คำตัดสินนี้ได้ 

คำตัดสินนั้นดังนี้ เห็นจะไม่พ้นเป็นขี้ค่าฝรั่งเป็นแน่ หรือจะเป็นชะตาของบ้านเมือง ที่หากจะให้เป็นไป ซึ่งเป็นได้ดังนี้ความอันนี้อ่านไม่ออกว่าได้ทำอะไรซึ่งสมควรจะเป็นขี้ค่าฝรั่ง จะว่าเพราะใช้…ซึ่งจะต้องเป็นค่าฝรั่งก็ไม่ใช่ จะว่าเพราะใช้เงินพระคลังข้างที่มากซึ่งจะต้องเป็นขี้ค่าฝรั่งก็ไม่ใช่ จะมีได้ก็แต่พระราชอิริยาบถปรวนแปรนั้นต้องแปลให้แรงขึ้นว่าเป็นบ้า

การที่จะให้เป็นขี้ค่าฝรั่งต้องอาไศรยเหตุสองประการ คือทำให้ผิดหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีอย่างแรง คือจับเอาฝรั่งมาตัดหัวเป็นต้น หรือไปทำหนังสือยอมอยู่ในโปรเตกชัน หรือทำหนังสือยอมยกเมืองโดยวิลล์ให้แก่ประเทศหนึ่งประเทศใด ถ้าหากว่าความเห็นของคนว่าข้าจะเป็นเช่นนั้นได้แล้ว ไม่มีอย่างอื่นที่จะควรทำยิ่งกว่าให้ออกเสียจากราชสมบัติเพื่อจะรักษาแผ่นดินไว้ 

ถ้าอีกอย่างหนึ่งจะว่าการที่ออกมายุโรปนี้ต้องใช้เงินแผ่นดินเปลือง ดูก็ไม่ผิดกันกับมิชันอะไรๆ ที่แต่งออกไปประชุมต่างๆ ซึ่งรู้ได้ว่าผู้ที่ไปประชุมนั้นไม่มีความคิดหรือถ้อยคำที่จะไปคัดค้านเรโซลูชันของประเทศใหญ่ๆ ได้แก่สักอย่างเดียว เช่นไปประชุมเฮค ไปประชุมกากบาทแดงเป็นต้น หรือการเอกซิบิเซน ที่จำต้องไปช่วย เสียเงินมากมายเท่าใดก็รู้กันอยู่ นี่จะนึกว่าเอาเจ้าแผ่นดินออกมาโชสักครั้งหนึ่งไม่ได้หรือ และได้กุศลที่ทำให้อายุยืนยาวไป ดูไม่ควรจะดุร้ายถึงเพียงนี้ เว้นไว้แต่ถ้าเขาเห็นว่าปรวนแปรนั้นถึงเป็นบ้า อย่างเช่นกล่าวมาข้างต้นนั่นเป็นการไม่ควรจะปล่อยให้ออกมาจริงๆ

เดี๋ยวนี้ชาวบางกอกเห็นเช่นนี้หมดแล้วหรือ ถ้าชั้นผู้ใหญ่จะไม่เห็น ข้าราชการผู้น้อยชั้นนี้จะมีความคิดอย่างเดียวกันเป็นพวกมากน้อยสักเท่าใด เป็นที่น่าสงไสยอยู่มาก การที่จะจัดรับรองอันใด ขอให้เหลียวดูอ้ายคนพวกชั้นนี้ว่ามันมีอยู่มากน้อยเท่าใด มันจะเอาอ้ายความฉิบหายของการรับรองนี้ ไปขายให้แก่คนต่างประเทศ ให้เห็นว่าคนในเมืองเราร้าวราญไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพราะไม่ชอบเจ้านายของตัว อ้ายศัตรูมันจะย่องตามเข้าไปทางนั้นมากกว่า น่าที่ข้าจะฆ่าฝรั่งหรือจะยอมยกเมืองให้

รวมใจความว่า…ไม่มีความพอใจทั้งเจ้าแผ่นดิน และทั้งที่ประชุม เซนเซอร์การปกครองแผ่นดินสยามในเวลานี้ ซึ่งเขาจะมีความคิดอย่างอื่นอย่างไรอยู่ ความคิดมนุษย์ชั้นนี้จะมีมากสักเท่าไร ทำไฉนเราจะรู้

ที่เขียนเรื่องนี้เข้ามาให้ยืดยาวอยากจะให้รู้ไว้จริงๆ สักคนหนึ่ง เผื่อจะพูดกันเข้าใจผิดไปประการใดในที่ประชุมหรือที่แห่งใด แกจะได้ชี้แจงได้ตามความจริง แต่ที่เป็นสำคัญนั้นคือแกอิน ควรจะพิจารณาว่า คนอินเป็นได้ถึงเพียงนี้ จะมีความสลดใจมากกว่าผู้อื่น

ความคิดของ…ข้าไม่เดือดร้อน เพราะพูดไม่มีที่จบอยู่เพียงไหน ถ้าจะเอาเรโซลูชันเข้าก็จนเท่านั้น นี่เสียใจที่สิ่งซึ่งไม่คาดว่าจะเป็นมาเป็นขึ้น เป็นของที่จะเปลื้องให้ลืมเสียได้ยากอย่างยิ่ง

มีความยินดีที่จะได้พบกันเร็วแล้ว แต่อย่านึกว่าจะอ้วนพีบริบูรณ์ เห็นเข้าจะเสียใจ ไปโทรมเสียที่ฮอมเบิคคราวนี้เดือนหนึ่ง พึ่งจะฟื้นตัวขึ้นเมื่อกลับลงทเล แต่คงจะดีกว่าเมื่อแรกมาไม่ต้องเสียใจ

จุฬาลงกรณ์  ปร. [1]

พระราชดำรัสฉบับนี้อธิบายความซับซ้อนของกิจการทางการเมืองภายในราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 5 ว่าถึงแม้ในบั้นปลายจะยุติลงได้ด้วยดี และสยามสามารถรักษาเอกราชและอธิปไตยไว้ได้จนบัดนี้ แต่ในระหว่างการดำเนินนโยบายนั้น รัชกาลที่ 5 ก็ทรงต้องประสพอุปสรรคมากมาย ไม่ใช่เฉพาะกับฝรั่งมังค่าเท่านั้น แต่แม้กับคนไทยด้วยกันเอง

[ไกรฤกษ์ นานา] วิเคราะห์ข้อความสำคัญในพระราชสาส์นฉบับนี้

(1) เกิดคำครหาว่าไทยกำลังเป็นขี้ค่าฝรั่ง เพราะใน พ.ศ. 2450 นั้น สยามถูกกดดันให้แลกเปลี่ยนดินแดนกับทางฝรั่งเศส โดยเราได้เมืองตราดกลับคืนมา แต่ต้องแลกกับ 3 เมืองของเขมรคือ เสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ ซึ่งถูกมองว่าเสียเปรียบและไทยอ่อนข้อให้ฝรั่งเศสจนเกินไป

(2) พระราชดำรัสว่า จะนึกว่าเอาเจ้าแผ่นดินมาโชว์สักครั้งหนึ่งไม่ได้หรือ” หมายความว่าทำไมคนไทยไม่นึกบ้างว่าการเสด็จไปปรากฏพระองค์ในต่างประเทศทุกครั้ง โดยเฉพาะที่สิงคโปร์และยุโรป  (พ.ศ. 2413 และ พ.ศ. 2440) ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลก็เกิดจากการตัดสินพระทัยถูกต้องมาแล้วในอดีต

(3) พระราชดำรัสว่า ข้าไม่เดือดร้อนอันใด…ถ้าจะเอาเรโซลูชั่นเข้าก็จนเท่านั้น แต่ความน้อยพระทัยก็ไม่ได้ทำให้หมดกำลังใจหรือท้อถอย รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชวินิจฉัยส่งท้ายว่าพระองค์ไม่ผิด คำครหาเป็นการใส่ร้ายป้ายสีที่ไม่มีมูล จึงไม่ทรงเดือดร้อนแต่อย่างใด และถ้าจะว่ากันด้วยเหตุผลแล้ว (RESOLUTION  แปลว่าความตั้งใจ) พระองค์ต่างหากที่มีความตั้งใจจริงต่อแผ่นดินและประชาชน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจาก ไกรฤกษ์ นานา. “เบื้องหลังความในพระทัย รัชกาลที่ 1 ‘ทำไมจะเอาพระเจ้าแผ่นดินมาโชว์ไม่ได้’,  ในศิลปวัฒนธรรม, ธันวาคม 2556.


เชิงอรรถ :

[1] สำเนาพระราชหัตถ์เลขาส่วนพระองค์รัชกาลที่ 5 ถึงเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม), พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 10 เม.ย. พ.ศ. 2482


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 ตุลาคม 2565