พระบรมรูปกรุงพนมเปญ พระบรมรูปชวนสงสัย ว่าเป็นผู้ใดกันแน่?!?

พระบรมรูปทรงม้าสมเด็จพระนโรดม ณ ลานด้านหน้าหอพระแก้วในพระบรมมหาราชวัง ที่พนมเปญ (ภาพจากไปรษณียบัตรเก่า ของสะสม คุณไกรฤกษ์ นานา)

ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชามี “อนุสาวรีย์” ที่เก่าแก่อยู่แห่งหนึ่ง คือ “พระบรมรูปทรงม้า สมเด็จพระนโรดม” อนุสาวรีย์นี้คาดว่าสร้างขึ้นใน ค.ศ. 1872 (พ.ศ. 2415) ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นพระบรมรูปทรงม้าที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของทวีปเอเชีย และก่อนที่ประเทศไทยจะมีพระบรมรูปทรงม้าของรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2450) นานถึง 35 ปี!

หากอนุสาวรีย์แห่งนี้ยังมีเรื่องให้ชวนสงสัย ดังที่ไกรฤกษ์ นานา มีข้อคิดเห็นว่า “พระบรมรูปทางม้าของพนมเปญแห่งนี้มีความเก่าแก่และมีที่มาแปลกแหวกแนว” และกล่าวรายละเอียดโดยนำเสนอไว้ในบทความชื่อ “ตามหาพระบรมรูปทรงม้าเมืองเขมร ทางลัดของผู้นำมีระดับ ที่แท้รูปจำแลงของนโปเลียน” (ศิลปวัฒนธรรม, กันยายน 2564)

ก่อนตามไกรฤกษ์ นานา ไปดู “ความแปลกแหวกแนว” ไปรู้จัก “สมเด็จพระนโรดม” กันก่อน

สมเด็จพระนโรดม เจ้านายเขมรพระองค์นี้มีพระนามเดิมว่า “นักองค์ราชาวดี” (ต่อมาเสวยราชย์เป็นสมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์) เป็นพระราชโอรสของนักองค์ด้วง (สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี) ตามธรรมเนียมพระราชโอรสของเจ้าประเทศราชจะถวายตัวเข้ามาไว้ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนกว่าสมเด็จพระราชบิดาจะสิ้นพระชนม์ จึงจะถูกส่งออกไปสถาปนาเป็นกษัตริย์เขมรต่อไป

ดังนั้นสมเด็จพระนโรดมจึงทรงพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ทรงพระเยาว์นานถึง 9 ปี (พ.ศ. 2391-99) รับราชการอยู่ในราชสำนักไทยจนวัยหนุ่มทำให้ทรงมีความรู้สึกนึกคิดและทัศนคติออกไปทางไทยมากกว่าเขมร โดยเฉพาะพระราโชบายเปิดประเทศของรัชกาลที่ 4 ภายหลัง ค.ศ. 1855 (พ.ศ. 2398) กับรัฐบาลอังกฤษ ที่เป็นข้อสันนิษฐานหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อเรื่อง “พระบรมรูปทรงม้า” เมื่อเสด็จกลับไปครองเมืองเขมร [1] จึงได้รับเอาพระราชนิยมของรัชกาลที่ 4 ไปด้วย

นอกจากนี้ยังเป็นที่เล่าลือว่าสมเด็จพระนโรดมโปรดศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมแบบยุโรป เมื่อมีโอกาสจึงทรงเนรมิตเมืองหลวงใหม่ของพระองค์เป็นแบบฝรั่งสมพระทัยปรารถนา การวางผังเมืองจึงเลียนแบบผังกรุงปารีส ให้มีสวนขนาดใหญ่สลับถนนสายตรงๆ มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นสองฟาก แม้แต่ลานพระราชวังก็ให้มีอนุสาวรีย์สวยๆ เหมือนหน้าพระราชวังแวร์ซายส์

เอมีล เดอ วิลลิเอร์ ข้าหลวงใหญ่อินโดจีนฝรั่งเศสกล่าวถึงรสนิยมของพระองค์ว่า “เป็นผู้นำวิวัฒนาการอันล้ำเลิศของตะวันตก มาแต่งเติมความอลังการแบบะตะวันออกได้แนบเนียนที่สุด” [2]

วันที่ 11 สิงหาคม 2406 สมเด็จพระนโรดมลงนามในสัญญากับผู้แทนฝรั่งเศสยินยอมยกเขมรให้เป็นรัฐในอารักขาของรัฐบาลกรุงปารีส

ต่อมาสมเด็จพระนโรดมตัดสินใจย้ายเมืองหลวงแห่งใหม่ ไปอยู่ที่พนมเปญ ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2409 ตามคำแนะนำของคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินซึ่งฝรั่งเศสตั้งขึ้น ซึ่งสัญญาว่าจะสร้างให้โอ่อ่าทันสมัย และสมพระเกียรติยิ่งกว่าราชสำนักไทย ส่วนนครอุดงมีชัยราชธานีเก่าก็ถูกทิ้งร้าง

นายมิลตัน ออสบอร์น ได้บรรยายช่วงชีวิตใหม่ของพระนโรดมเมื่อเสด็จมาประทับ ณ กรุงพนมเปญ ไว้ว่า

“ตั้งแต่ พ.ศ. 2408 เป็นต้นมา ได้มีพ่อค้าหรือไม่ก็นักผจญภัยชาวยุโรปมากหน้าหลายตา แวะเวียนเข้ามาเพื่อเข้าเฝ้าถวายสิ่งของหรือไม่ก็เสนอขายสินค้าแปลกใหม่ เป็นที่รู้กันในเวลานั้นว่าโปรดของขวัญของกำนัลเพื่อตกแต่งวังใหม่ หนึ่งในจำนวนนายหน้าพวกนี้มีพ่อค้าฝรั่งเศสชื่อ ‘คาราเมน’ ผู้สร้างความสนิทสนมจนเป็นที่วางพระราชหฤทัย นายคนนี้ได้ช่วยจัดซื้อสินค้าแปลกๆ จากยุโรปที่สร้างความตื่นเต้นให้กับพระเจ้าแผ่นดินอยู่เสมอ เขาสรรหาปั๊มน้ำแบบทันสมัย เครื่องส่งโทรเลข กล้องถ่ายรูปรุ่นล่าสุด เครื่องยนต์กลไก แม้แต่พระบรมฉายาลักษณ์งามๆ ของพระราชวงศ์ฝรั่งเศส มาถวายเป็นที่พอพระราชหฤทัย รัฐบาลฝรั่งเศสก็ดูรู้ใจไปเสียหมด…[2]

หนึ่งในจำนวนสัญลักษณ์แห่งอำนาจที่มากับของบรรณาการชิ้นใหญ่นั้นมี “พระบรมรูปทรงม้า” รวมอยู่ด้วย

ซึ่งจากการค้นคว้าของไกรฤกษ์ นานา มีข้อชวนสงสัยว่า เป็นอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระนโรดมที่แท้จริง? หรือเป็นอนุสาวรีย์ของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ที่รัฐบาลฝรั่งเศสแก้ไข? (โดยเปลี่ยนพระเศียรให้เป็นสมเด็จพระนโรดม) ดังต่อไปนี้

1. ไม่มีการสั่งให้หล่อขึ้นโดยตรง เป็นไปได้ยากที่อนุสาวรีย์ดังกล่าวจะได้รับการว่าจ้างให้ทำขึ้นโดยตรงจากราชสำนักเขมร อันเป็นกิจกรรมที่ใหญ่เกินตัว การติดต่อจากประเทศราชเล็กๆ ที่อยู่ห่างไกลโดยปราศจากการประสานงานของสถานทูตเขมรในปารีส (เวลานั้นยังไม่มี) นั้น ไม่มีทางเป็นไปได้เลย ที่เป็นไปได้ก็คือรัฐบาลฝรั่งเศสจัดส่งมาให้ด้วยความอนุเคราะห์ยิ่ง แต่คงไม่ใช่สั่งทำพิเศษสำหรับเจ้านายที่ยังอยู่ในฐานะประเทศราชเมืองขึ้น จึงน่าจะเป็นอนุสาวรีย์ที่มีอยู่แล้วมากกว่า [3]

2. ถ้ามีรับสั่งให้สร้างก็เป็นเรื่องใหญ่ ถ้ามีหมายรับสั่งให้สร้างขึ้นจริงก็น่าจะเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วฝรั่งเศส สำหรับประเทศราชเล็กๆ ที่เป็นเมืองขึ้นคงไม่ใช่แน่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งราชอาณาจักรสยามอันไกลโพ้นมีพระราชดำริให้หล่อพระบรมรูปทรงม้าของพระองค์ขึ้นที่ปารีสใน ค.ศ. 1907 จึงเป็นข่าวอึกทึกครึกโครมไปทั่ว โรงหล่อที่มีชื่อเสียงอย่างในฝรั่งเศสถือเป็นเกียรติอย่างสูงที่พระเจ้าแผ่นดินจากแดนไกลทรงเป็นธุระติดต่อมา ตรวจสอบแล้วไม่พบข่าวใดๆ ในกรณีของเขมร [3]

3. เสถียรภาพการเงินใกล้ล้มละลาย มีหลักฐานข้อมูลชี้วัดว่าทั้งก่อนและหลังการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระนโรดม (พ.ศ. 2403) ราชสำนักอยู่ในภาพฝืดเคือง มีความไม่สงบทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา เงินในท้องพระคลังร่อยหรอตลอดมา ทั้งมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างดาษดื่น ถึงจะมีงบพิเศษก็คงไม่ใช่สำหรับสร้างอนุสาวรีย์อีกทั้งเป็นช่วงแรกของการสร้างชาติจึงมิใช่ธรรมเนียมปฏิบัติ [3]

4. ขาดการสนับสนุนของคนในชาติ มีหลักฐานบ่งบอกว่าสมเด็จพระนโรดมมิได้รับการสนับสนุนจากราษฎรแต่อย่างใด ประมุขเป็นผู้ใหญ่ขาดเสถียรภาพที่แท้จริง บารมีที่มีอยู่ได้มาจากการส่งเสริมขุนนาง บริวารผู้ร่ำรวยให้มีตำแหน่งหน้าที่ในฝ่ายบริหาร ราชบัลลังก์มีอิทธิพลอยู่เฉพาะในกรุงพนมเปญ ส่วนอื่นๆ ของประเทศแตกแยกออกเป็นก๊กเป็นเหล่าขาดความสมานสามัคคีจนตลอดรัชกาล [3]

5. ถึงแม้มีทุนทรัพย์ก็ต้องไปเป็นแบบเอง พระนโรดมไม่เคยเสด็จออกนอกพระราชอาณาเขต ถึงแม้จะมีทุนให้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้น ก็จะต้องไปประทับเป็นแบบให้ปั้นถึงในปารีส พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้ทางฝรั่งเศสปั้นรูปพระองค์ขึ้นครั้งหนึ่งจากภาพถ่ายใน พ.ศ. 2406 โดยประติมากรชื่อชาตรูส ชาวฝรั่งเศส แต่ไม่สำเร็จ ทรงส่งกลับคืนไปเพราะปั้นผิดเพี้ยนจนดูไม่ได้ (ดู สาส์นสมเด็จ : ลายพระหัตถ์ปรารภของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลวท. 12 พฤษภาคม 2477) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสกับเจ้าฟ้านิภานภดลว่า “เรื่องรูปปั้นนี้จะทำตามรูปถ่ายไม่ได้เป็นอันขาด เพราะเงารูปมันนูนขึ้นมาไม่พอ” (ดูพระราชหัตถเลขาฉบับที่ 35 ในไกลบ้าน)

6. พิรุธใหญ่! พระวรกายกับพระเศียรไม่เข้ากัน สภาพทั่วไปของตัวม้าและองค์จักรพรรดิเป็นฝีมือช่างปั้นชั้นครู ทรงเครื่องแบบจอมทัพฝรั่งเศส พระหัตถ์ขวาเปิดพระมาลาแสดงคำนับหมายถึงนำชัยชนะ แต่พระเศียรกลมโตไม่ได้สัดส่วนผิดรูปร่าง พระพักตร์บึ้งตึงน่ากลัวดูไม่เป็นธรรมชาติ [3]

7. พิรุธใหญ่! ลายจารึกที่ขอบฐานของอนุสาวรีย์ บ่งบอกที่มาอย่างชัดเจนว่า Eude Sculpteur 1875, J. Ranvier Fabrigant Paris (ถอดความว่า Eude เป็นชื่อประติมากร, 1875 ปีที่หล่อ, J. Ranvier ชื่อโรงหล่อ ณ กรุงปารีส) อนึ่ง ค.ศ. 1875 นั้นเป็นปีแห่งความมืดมนในอนาคตทางการเมืองของสมเด็จพระนโรดม “คณะที่ปรึกษาข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสพบการขัดขวางนโยบายการบริหารระบอบรัฐในอารักขา พระเจ้าแผ่นดินบ่ายเบี่ยงการให้ความร่วมมือมาเป็นเวลานาน สนพระทัยอยู่แต่การรักษาฐานอำนาจของตนเองและผลประโยชน์ของพวกพ้องถึงขั้นมีการปรึกษาถึงความเป็นไปได้ในการสรรหาผู้นำคนใหม่ในหมู่ชาวต่างประเทศ” การสร้างอนุสาวรีย์แห่งความสำเร็จในเวลานั้น จึงเป็นไปได้ยากสำหรับพระเจ้ากรุงกัมพูชา พยานหลักฐานที่ลายจารึกเป็นคนละเรื่องกันกับเรื่องของพระนโรดมโดยสิ้นเชิง [3]

8. ถูกทอดทิ้งและขาดการดูแล จนน่าสงสัยโดยปรกติอนุสาวรีย์ของพระประมุขระดับนี้จะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี เพราะเป็นสมบัติของชาติที่ภูมิฐาน แต่ที่นี่เหมือนขาดคนศรัทธา ผู้เขียนพบบันทึกที่น่าสนเท่ห์เกี่ยวกับสภาพเดิมของพระบรมรูปนี้จากบุคคลชั้นเจ้าผู้มีชื่อเสียง 2 พระองค์ที่เคยมาทอดพระเนตร [3]

8.1 สมเด็จฯ กรมพรยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้ใน พ.ศ. 2467 ว่า “มีรูปหล่อเป็นรูปสมเด็จพระนโรดม แต่งพระองค์อย่างฝรั่งเศส ขี่ม้า ทำเพดานไว้ข้างบน แต่รูปนั้นทิ้งขะมุกขะมอมเต็มที” (จากหนังสือนิราศนครวัด)

8.2 เจ้าชายวิลเลียมแห่งสวีเดน ตรัสไว้ใน พ.ศ. 2458 ว่า “พบพระบรมรูปทรงม้าขนาดใหญ่หล่อด้วยทองแดงแต่ถูกระบายสีทับไว้จนเปรอะ ดูช่างวิปริตผิดธรรมดาอย่างยิ่ง” (จากหนังสือ In the land of the sun)

9. ดูแมร์กล่าวว่า เป็นอนุสาวรีย์ของเก่าจากฝรั่งเศส พอล ดูแมร์ ราชทูตพิเศษจากปารีส แวะเยือนราชสำนักต่างๆ ในเอเชีย กล่าวว่า พนมเปญใน พ.ศ. 2442 เต็มไปด้วยของบรรณาการมือสองจากจักรพรรดิฝรั่งเศส อนุสรณ์สถานต่างๆ ที่ส่งมาจากปารีสช่วยเสริมบารมีให้แก่พระนโรดมได้อย่างวิเศษ [4]

10. โรงหล่อที่ปารีสไม่เชื่อว่าสร้างให้สมเด็จพระนโรดม “ซูสแฟร์ ฟองเดอร์” โรงหล่อพระบรมรูปทรงม้ารัชกาลที่ 5 ที่ผู้เขียนได้ไปเยือนมาแล้ว ไม่เชื่อว่าจะเป็นพระบรมรูปของสมเด็จพระนโรดม เพราะผิดหลักการในข้อ 1.2 และ 5 ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบประจำโรงหล่อกลับแสดงทัศนะในประเด็นอื่นที่น่าเชื่อถือกว่า โดยแสดงภาพวาดสำคัญภาพหนึ่งของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 กำลังทรงม้าในลักษณะเดียวกันกับแบบของอนุสาวรีย์ปริศนาโดยให้ความเห็นว่าน่าจะเป็นภาพต้นแบบในการสร้างนั้น ภาพดังกล่าวเป็นภาพแห่งความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของนโปเลียนที่ 3 ผู้สามารถจัดงานระดับโลก “ปารีส เอ็กซิบิชั่น” ได้ใน ค.ศ. 1867 นโปเลียนที่ 3 ทรงม้าต้นเสด็จเลียบพระนครให้ประชาชนได้ชมพระบารมี อันเป็นภาพสีน้ำมันที่มีชื่อเสียงที่สุดภาพหนึ่งในรัชกาล [3]

ซ้าย-“พระบรมรูปทรงม้า” สมเด็จพระนโรดม ที่กรุงพนมเปญ ขวา- ภาพวาดจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ประทับบนหลังม้าสีขาว ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นแบบของพระบรมรูปทรงม้าองค์นี้ที่พนมเปญ (ภาพจากไปรษณียบัตรเก่าหายาก ของสะสม คุณไกรฤกษ์ นานา)

11. หลักฐานพยานบุคคลในพนมเปญ ผู้เขียนเดินทางไปพนมเปญ 3 ครั้งใน พ.ศ. 2542, 2544 และ 2546 และได้ไปเยี่ยมชมที่พระบรมรูป ได้พบพยานบุคคล 3 คน ในระยะห่างกัน ทั้ง 3 คนเป็นมัคคุเทศก์ของหน่วยงานท่องเที่ยวภาครัฐ การยืนยันว่าเป็นพระบรมรูปทรงม้าจักรพรรดินโปเลียนที่ 2 ซึ่งพระเศียรถูกเปลี่ยนเป็นพระนโรดมจริง [3]

12. หลักฐานข้อมูลในปารีส  ผู้เชี่ยวชาญทางสารานุกรมข้อมูล ชื่อดาเมียน บุยดีน ที่ผู้เขียนรู้จักอยู่ในปารีส ได้ยืนยันการสืบค้นข้อมูลในเรื่องนี้ทางเครือข่าย (website) ที่กว้างขวางที่สุดในฝรั่งเศสชื่อ web Copernic agent basic programmes สนับสนุนว่าเป็นพระบรมรูปของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 อย่างแพร่หลาย [3]

13. หลักฐานเอกสารสิ่งพิมพ์อื่นๆ พบเอกสารสิ่งพิมพ์หลายรายการในต่างประเทศระบุผลงานค้นคว้าโดยนักเขียนอื่นๆ ยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่าเป็นอนุสาวรีย์จักรพรรดิฝรั่งเศส แต่พระเศียรเป็นพระนโรดม ในจำนวนนี้มีเอกสารแนะนำประเทศกัมพูชา ซึ่งมีวางจำหน่ายอยู่ทั่วไปในยุโรปและเอเชีย คือ

13.1 Footprint Cambodia Handbook เขียนโดย John Colet (and) Joshua Eliot (with) Dinah Gardner

13.2 The Rough Guide To Cambodia เขียนและค้นคว้าโดย Beverley Palmer

ไกรฤกษ์ กล่าวว่า “น่าเสียดายที่ไม่สามารถค้นพบข้อมูลที่ชัดเจนกว่านี้ในพื้นที่ได้ ชาวพนมเปญเป็นคนชั้นใหม่ไปหมดแล้ว เอกสารเก่าอันมีค่าถูกทำลายทิ้งไปเป็นอันมากในยุคเขมรแดง คำบรรยายที่แกะไว้บนฐานหินอ่อนเป็นของทำขึ้นใหม่ไม่มีสาระอะไรทั้งสิ้น ค.ศ. 1860 (พ.ศ. 2403) เป็นปีขึ้นครองราชย์ของพระนโรดม  เมืองหลวงยังขึ้นกับไทยที่อุดงมีชัยและไม่ตรงกับปีที่อิทธิพลฝรั่งเศสเข้ามา

ผู้เขียนจึงขอสันนิษฐานอย่างมั่นใจว่า พระบรมรูปทรงม้าองค์นี้น่าจะถูกส่งมาถึงกรุงพนมเปญทางเรือ พร้อมกับของบรรณาการชุดใหญ่ชิ้นอื่นๆ เช่นพระที่นั่งวิลล่าจักรพรรดินียูเจนี ประมาณ พ.ศ. 2419 (ค.ศ. 1876)”

ที่ฐานอนุสาวรีย์จารึกด้วยภาษาเขมรว่าเป็นอนุสาวรีย์ของพระนโรดม กษัตริย์เขมร

ในระยะแรกที่มาถึงพระบรมรูปนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหน้าพระราชวังเขมรินทร์ เพราะวังยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ จนเมื่อ พ.ศ. 2435 จึงถูกนำเข้ามาไว้ในหน้าพระอุโบสถวัดพระแก้วตราบจนทุกวันนี้” [4]

ต่อมาไกรฤกษ์ ได้พบ “ข้อมูลเพิ่ม” จากร้านหนังสือเก่าแห่งหนึ่งในปารีส เป็นหนังสือเก่าประเภทคัดพิเศษ ที่จะที่มีสิ่งพิมพ์ยุคอาณานิคมจากโลกเก่า จำพวกจำนวนพิมพ์จำกัด ชนิดที่ครั้งหนึ่งสั่งพิมพ์เท่าจำนวนผู้อ่านบอกรับเท่านั้น

ข้อมูลที่ว่าคือ ไดอารี่ชุดอัตชีวประวัติของข้าหลวงใหญ่อินโดจีนผู้มีชื่อเสียงคือ ฯพณฯ พอล ดูแมร์ พิมพ์ใน ค.ศ 1903 (พ.ศ. 2446) แต่กลับตั้งชื่อหนังสือบังหน้าคลุมเครือเหลือเกินว่า “อินโดจีนฝรั่งเศส” มีบันทึกส่วนตัวของท่านสมัยที่มาประจำอยู่ในโคชินไชน่า (ไซ่ง่อน) เล่าเรื่องชีวิตและสิ่งที่ท่านพบเห็นในสมัยนั้นไว้หลายสิบเรื่อง มีอยู่ตอนหนึ่งที่เล่าเรื่องวุ่นๆ ในราชสำนักเขมรยุคพระนโนดม ให้ความรู้ที่ผู้เขียนยังเคยคิดว่า สูญหายไปจากโลกนี้นานแล้ว แม้แต่นักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญที่สุดยังต้องอึ้ง! [4]

เรื่องนั้นเกี่ยวกับ “การตัดพระเศียรพระบรมรูปทรงม้าจักรพรรดินโปเลียนที่ 3”

เรื่องมีอยู่ว่า…

“…หนึ่งในพวกพ่อค้า (ที่ปรึกษา) ชาวฝรั่งเศส ที่ตั้งรกรากอยู่ในเขมร ทำให้กษัตริย์เชื่อว่า เพื่อเป็นการรักษาซึ่งสถาบันอันเรืองรองของพระองค์ พนมเปญต้องมีอนุสารีย์อันใหญ่โตไว้เป็นเกียรติยศ เหมือนเช่นที่เขามีกันในยุโรป อนุสาวรีย์นั้นต้องโดดเด่นเป็นสง่า ถ้าเป็นพระบรมรูปทรงม้าของพระมหากษัตริย์ด้วยยิ่งดี  พ่อค้าคนนั้นเดินทางไปกรุงปารีสโดยใบสั่งของชิ้นใหญ่ พร้อมเงินก้อนโตในกระเป๋าของเขา เพื่อนำไปเป็นแบบห่อสำหรับสร้างอนุสาวรีย์หรูๆ สักชิ้นหนึ่ง  เขาต้องสร้างมันให้ได้ในฝรั่งเศส

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในราวปี ค.ศ. 1872 พ่อค้าคนนี้เดินทางไปพบอนุสาวรีย์สำเร็จรูปชิ้นหนึ่งเข้าโดยบังเอิญ ตั้งแสดงอยู่ในโรงหล่อแห่งหนึ่ง มันเป็นพระบรมรูปทรงม้าของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส! สร้างสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย แต่ถูกนำมาเก็บพักไว้ชั่วคราวในระหว่างสงคราม แต่ทางโรงหล่อจะขายให้ในราคาพิเศษสุด ถ้าจะเอาจริงๆ ก็จะขายให้ในราคาต้นทุนทีเดียว พ่อค้าต่อรองว่าแล้วว่าจะเอารูปนโปเลียนไปทำไมกัน? พระพักตร์ก็ไม่ใกล้เคียงกับพระนโรดมเลยสักนิด แต่กระนั้นเลยเขาจึงตัดสินใจให้เลื่อยพระเศียรนโปเลียนทิ้งไปเสีย  แล้วจัดการหล่อพระเศียรพระนโรดมให้เสียเลยตามรูปที่นำไปเป็นแบบนั้น เมื่อหัวใหม่หล่อเสร็จ ทางโรงหล่อก็ติดประกอบเชื่อมใหม่ให้ดูดีดังเดิม  เศียรของกษัตริย์องค์ใหม่ไปตั้งอยู่บนร่างของจักรพรรดิอีกอย่างง่ายดาย

อีกสองสามเดือนต่อมา พระบรมรูปทรงม้าองค์ใหม่ก็มาถึงพนมเปญ…พิธีต้อนรับอย่างอย่างเอิกเกริกถูกจัดขึ้นอย่างสมพระเกียรติ พระบรมรูปทรงม้าถูกนำไปตั้งไว้บนแท่นสูงหน้าพระราชวัง ดูอลังการภูมิฐานสมศักดิ์ศรี…” [4]

ไม่มีคำอธิบายใดๆ มีความหมายลึกซึ้งไปกว่าคำบอกเล่าของท่านดูแมร์ พระบรมรูปทรงม้าพระนโรดม ซึ่งกลายเป็นอนุสาวรีย์แบบฝรั่งเศสแห่งแรกในตะวันออกไกลเสร็จสมบูรณ์ลงในที่สุด หน้าหนึ่งในพงศาวดารปิดฉากลงพร้อมกับบทบาทของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในสมัยนั้น เหลือไว้แต่เพียงตำนานอมตะที่เล่าขานกันไม่รู้จบตลอดไป

เกร็ดความรู้ที่ควรลงไว้ด้วยตรงนี้คือ “พระมณฑป” ที่สร้างครอบพระบรมรูปอยู่ในปัจจุบันเป็นสิ่งก่อสร้างใหม่ ซึ่งพระเจ้าสีหนุโปรดให้สร้างขึ้นที่หลัง เมื่อ พ.ศ. 2496  เพื่อการแก้บนตามคำอธิษฐานให้พระองค์สามารถขับพวกฝรั่งเศสออกจากกัมพูชาได้สำเร็จ [1]

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เอกสารประกอบการค้นคว้า :

[1] ไกรฤกษ์ นานา. “ถึงคราวฝรั่งยกเมฆ เรื่องพระบรมรูปทรงม้า กรุงพนมเปญ ‘ข่าวบิดเบือน’ ป่วนพงศาวดารนโปเลียน,” ใน การเมือง “นอกพงศาวดาร” รัชกาลที่ 4 KING MONGKUT หยุดยุโรปยึดสยาม. สำนักพิมพ์มติชน, 2547.

[2] Osborne, Milton. The French Presence in Cochinchina and Cambodia. Cornell University, 1969.

[3] ไกรฤกษ์ นานา. “พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์! อนุสาวรีย์พระเจ้ากรุงกัมพูชามีพิรุธ! พนมเปญก็มีพรบรมรูปทรงม้า ทว่ามั่นใจหรือว่าเป็นของแท้? แต่ไม่ใช่ ‘รัชกาลที่ 5 แน่,” ใน การเมือง “นอกพงศาวดาร” รัชกาลที่ 4 KING MONGKUT หยุดยุโรปยึดสยาม. สำนักพิมพ์มติชน, 2547.

[4] Doumer, Paul. L’Indochine Francaise. Paris, 1903.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 ตุลาคม 2565