“รอยเท้าเลโทลิ” หลักฐานการเดิน 2 ขา ของมนุษยชาติ ที่เก่าแก่ที่สุด

รอยเท้าเลโทลิ Australopithecus afarensis ญาติ บรรพชน มนุษย์ กลุ่ม โฮโมนิน
Australopithecus afarensis ญาติสายหนึ่งของบรรพชนมนุษย์กลุ่มโฮโมนิน (Hominin) (ภาพจาก Encyclopædia Britannica)

มีรอยเท้าดึกดำบรรพ์ที่ชี้ว่าบรรพบุรุษของ มนุษย์ เคยเหยียบย่างผ่านพื้นที่บริเวณหนึ่ง รอยนี้มีอายุกว่า 3.6 ล้านปี รู้จักกันในชื่อ รอยเท้าเลโทลิ (Laetoli Footprints) ปรากฏเป็นรอยเดินย่ำด้วยเท้า 2 ข้าง ประทับอยู่บน (อดีต) ธารลาวาจากภูเขาไฟ ช่วยยืนยันการมีอยู่ของบรรพบุรุษผู้เดิน 2 ขาที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ หลักฐานทางบรรพชีวินวิทยานี้มีอายุมากกว่า ลูซี (Lucy) กว่า 4 แสนปี (คลิกชมภาพ รอยเท้าเทโลลิ)

สำหรับ “ลูซี” คือชุดโครงกระดูกฟอสซิลสมบูรณ์ที่สุดของเครือญาติอันเก่าแก่ของเผ่าพันธุ์เรา ที่พบในพื้นที่ประเทศเอธิโอเปียเมื่อปี 1974 ส่วนรอยเท้าเลโทลินั้นถูกค้นพบในปี 1976 (พ.ศ. 2519) ที่ประเทศแทนซาเนีย ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา โดยทีมสำรวจทางโบราณคดีของ Mary Leakey นักบรรพชีวินวิทยาชาวอังกฤษ

ผู้ศึกษาเกี่ยวกับกำเนิดและวิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษย์นั้นทราบมานานแล้วว่าบรรพบุรุษกลุ่มแรกของเราที่วิวัฒน์ผ่าเหล่าออกจากพวกเอป (Ape) หรือลิงไม่มีหางและเริ่มเดินสองขาเป็นปกติวิสัยเกิดขึ้นที่ทวีปแอฟริกา และ ณ ปัจจุบันนี้หลักฐานเก่าแก่สุดที่สนับสนุนเรื่องนี้คือ รอยเท้าเลโทลิ นี่เอง

กระบวนการเกิดรอยเท้านี้ เกิดหลังภูเขาไฟปะทุนำธารลาวาไหลบ่าผ่านพื้นที่โดยรอบและถูกทำให้เย็นลงด้วยสภาพอากาศ ณ พื้นผิวโลก หรืออาจถูกเร่งด้วยฝน เมื่อธารลาวานั้นเย็นจนสัตว์ต่าง ๆ สามารถเหยียบย่างผ่านได้ จึงเกิดเป็นรอยเท้าจากการยุบตัวเพราะพื้นผิวยังไม่แข็งตัวพอที่จะรับน้ำหนักการกดทับ (คล้ายงานปูนซีเมนต์-คอนกรีต) รอยที่เกิดจากการเหยียบย่ำนี้เมื่อถูกกลบทับอีกครั้งด้วยฝุ่นเถ้าจะช่วยให้คงสภาพและลดโอกาสผุกร่อนการการกระทำหรือการกระแทกได้

หลังทีมโบราณคดีพิสูจน์ได้ถึงอายุขัยการเกิด รอยเท้าเลโทลิจึงกลายเป็นหลักฐานเก่าแก่ที่สุดของการเดินตัวตรงด้วยเท้า 2 ข้าง เป็นระยะทางไกล ๆ ซึ่งเป็นความสามารถเฉพาะบรรพบุรุษของมนุษยชาติ

Mary Leakey พบว่ารอยเท้าเลโทลิเป็นฝี (เท้า) มือ ของ “โฮมินิน” (Hominin) บรรพบุรุษกลุ่มแรกของ มนุษย์ ที่แยกขาดจากสายพันธุ์ของชิมแปนซี “รอยเท้าดังกล่าวแสดงท่าเดินที่มีการหมุนตัว อาจมีความเชื่องช้า กระดูกสะโพก (ถูกบีบให้) หมุนขณะก้าว ต่างจากจังหวะการเดินของมนุษย์สมัยใหม่ที่สะโพกเคลื่อนไหวได้อิสระกว่า…เป็นท่าเดินที่ค่อนข้างทุลักทุเลอยู่บ้าง เพราะมีเท้าข้างหนึ่งไขว้อยู่หน้าเท้าอีกข้าง”

Ian Tattersall นักบรรพชีวินวิทยาชาวอเมริกันและภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งนิวยอร์ก กล่าวว่า “โดยปกติ พฤติกรรมจะถูกอนุมานกว้าง ๆ ด้วยหลักฐานที่เป็นกระดูกและฟัน และเกิดการโต้แย้งแทบทุกครั้งถึงข้อมูลจากการอนุมานนี้ แต่สำหรับเลโทริ รอยเท้าเหล่านี้แสดงพฤติกรรมอย่างชัดเจนในสภาพที่เป็นฟอสซิล…”

รอยเท้าเลโทลิ ยังอยู่ไม่ไกลจากอีกแหล่งขุดค้นร่องรอยของโฮมินินที่เริ่มสำรวจตั้งแต่ปี 1938 ซึ่งพบหลักฐานขากรรไกรและโครงกระดูกของทารกที่กลายเป็นฟอสซิลเช่นกัน โดยเป็นกลุ่มคนอย่างน้อย 23 คน บริเวณพื้นที่เลโทลิยังมีการค้นพบฟอสซิลของโฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) ในชั้นหินที่มีอายุประมาณ 120,000 ปีก่อนด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

Britannica : Laetoli anthropological and archaeological site, Tanzania

Nuture : Footprint evidence of early hominin locomotor diversity at Laetoli, Tanzania

PBS LerningMedia : Laetoli Footprints

PBS LerningMedia : Laetoli Trackways Diagram


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ตุลาคม 2565