ผู้เขียน | คนไกล วงนอก |
---|---|
เผยแพร่ |
แอมเฟตามีน (Amphetamine) และสารอนุพันธ์นับเป็นยาเสพติด ที่แพร่หลายในประเทศไทยและทั่วโลก แต่ขณะเดียวกันมันก็มีประโยชน์ในทางการแพทย์ที่ช่วยรักษาโรคต่างๆ เช่นกัน
การสกัดสารออกฤทธิ์ที่คล้ายคลึงกับแอมเฟตามีนมีมากว่า 5,000 ปี จากพืชในกลุ่ม Ephedra sinica (จีนเรียกว่า Ma Huang) มีบันทึกการค้นพบในช่วงยุคหินใหม่ ระบุถึงสรรพคุณว่าใช้รักษาโรคหอบหืดและโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน ในหนังสือสมุนไพรของจีนช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1 ส่วนในแอฟริกาตะวันออกมีรายงานการค้นพบพืช Catha edulis ซึ่งให้สารออกฤทธิ์ที่คล้ายคลึงกับแอมเฟตามีนเช่นกัน
ค.ศ. 1887 มีการสังเคราะห์ “แอมเฟตามีน” ขึ้นครั้งแรกที่ประเทศเยอรมนี โดยนักเคมีชาวโรมาเนียชื่อ Lazar Edeleanu จากนั้นในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 มีการนำมาใช้รักษาโรคหอบหืด ขยายหลอดลม และบรรเทาอาการคัดจมูก
ค.ศ. 1919 นักเคมีชาวญี่ปุ่นชื่อ Akira Ogata สามารถสังเคราะห์อนุพันธ์ของแอมเฟตามีนได้อีกตัวหนึ่งคือ “เมทแอมเฟตามีน” (Methamphetamine) ที่นิยมนำมาผลิต “ยาบ้า” ในไทย ก็ผลิตจากเมธแอมเฟตามีนที่เรียกว่า “เมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์” (Methamphetamine Hydrochloride)
ค.ศ. 1932 มีการจดสิทธิบัตร แอมเฟตามีน ซัลเฟต (Amphetamine Sulfate) และ แอมเฟตามีน ไฮโดรคลอไรด์ (Amphetamine Hydrochloride) โดย Gordon Alles นักเภสัชวิทยาชาวสหรัฐอเมริกา
ค.ศ. 1933 นำแอมเฟตามีน มาผลิตเป็นยารักษาโรคโดยบริษัท Smith, Kline and French (SKF)
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939-1345) ประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, อังกฤษ และเยอรมนี ใช้ แอมเฟตามีน กับนักบินของกองทัพตนเอง เพราะช่วยให้ทำงานหนักต่อเนื่องได้เป็นระยะเวลานาน
แม้การสังเคราะห์แอมเฟตามีนเกิดขึ้นเพื่อต้องการใช้มันเพื่อเป็นในทางการแพทย์ หากกลุ่มสารแอมเฟตามีน กลับแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ 1. ยารักษาโรคต่างๆ เช่น โรคลมหลับ, โรคสมาธิสั้น, ยาลดความอยากอาหาร ฯลฯ 2. ยาเสพติดผิดกฎหมาย เช่น ยาบ้า, ยาอี, ยาไอซ์, ยาเลิฟ, ยาอีฟ ฯลฯ
ในส่วนของ “ยาบ้า” (บ้างเรียก ยาม้า, ยาขยัน, ยาแก้ง่วง, ยาโด๊ป) เป็นยาเสพติดที่มีส่วนประกอบหลักคือสารสังเคราะห์กลุ่มแอมเฟตามีน มี 3 รูปแบบด้วยกัน คือ แอมเฟตามีนซัลเฟต, เมทแอมเฟตามีน และเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์
จึงพบว่า ยารักษาโรคบางชนิดที่มีอนุพันธ์ของแอมเฟตามีน บางครั้งก็ถูกสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศต่างๆ สั่งยกเลิกตำรับห้ามผลิต, ห้ามจำหน่ายในร้านขายยายทั่วไป ตลอดจนมาตรการกำกับดูแลการใช้ที่เข้มงวดต่างๆ หนักเบาตามสถานการณ์
ตัวอย่างที่โด่งดังในวงการแพทย์ของไทย คือ กรณีของ “ซูโดเอฟีดรีน”
ซูโดเอฟีดรีน (pseudo ephedrine) มีฤทธิ์ที่ทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือด (โดยเฉพาะในโพรงจมูก, ในท่อที่เชื่อมต่อระหว่างโพรงจมูกและหูชั้นใน และบริเวณเยื่อหุ่มตาขาว) เมื่อมีอาการแพ้หรือเป็นหวัด หลอดเลือดเหล่านี้จะขยายตัวทำให้เกิดอาการคัดจมูก แน่นในหู หูอื้อ หรือเคืองตา ซูโดเอฟีดรีนจึงใช้รักษาอาการดังกล่าวได้ดี มีการใช้แพร่หลายมานานหลายสิบปี ทั้งในแบบตำรับยาเดี่ยว (ซูโดเอฟีดรีนเป็นตัวยาสำคัญเพียงชนิดเดียวในตำรับยา) และแบบยาสูตรผสม (มีตัวยาสำคัญอื่นๆ ร่วมด้วย)
โดยเฉพาะสูตรผสมระหว่างซูโดเอฟีดรีนและยาต้านฮิสตามีน ที่ต้องผสมซูโดเอฟีดรีนร่วมกับยาต้านฮิสตามีน เพราะยาต้านฮิสตามีนมีฤทธิ์เพียงลดน้ำมูก แต่มีฤทธิ์แก้คัดจมูกน้อยมาก จึงต้องผสมซูโดเอฟีดรีนมีลงไปด้วยเพื่อให้ยามีฤทธิ์แก้คัดจมูก บางยี่ห้ออาจผสมยาอื่นๆ ลงไปด้วยเช่นพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ หรือยาแก้ไอ
สูตรโครงสร้างทางเคมีของซูโดเอฟีดรีนมีลักษณะคล้ายคลึงกับเมธแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นสารสำคัญในยาบ้า เมื่อนำซูโดเอฟีดรีนที่อยู่ในยาเม็ดหรือยาน้ำไปสกัดและทำปฏิกิริยาทางเคมี ก็จะได้เมธแอมเฟตามีน จึงมีการลักลอบนำซูโดเอฟีดรีนไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาบ้า
วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555 อย. ออกประกาศให้ตำรับยาทุกตำรับที่มีซูโดเอฟีดรีนเป็นส่วนผสมจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 2 ซึ่งจะมีใช้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น จากเดิมที่ซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
การใช้ยาผิดวัตถุประสงค์นี้ กระทรวงสาธารณสุข, อย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ออกกฎหมายเพื่อควบคุมและบทลงโทษเพื่อผิดผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้เสพ
อนึ่ง ยาบ้า เดิมเรียก “ยาม้า” อ้างกันว่า เป็นยาที่กินแล้วให้กำลัง มีเรี่ยวแรงเสมือนม้า พ.ศ. 2539 นายเสนาะ เทียนทอง รมว. กระทรวงสาธารณสุข เสนอให้เปลี่ยนชื่อเรียกว่า “ยาบ้า” เพื่อหวังให้สังคมตระหนักถึงโทษของยา เกิดความรังเกียจ และจะช่วยลดจำนวนผู้เสพยา ส่วนสถานจริงปัจจุบันก็เป็นเช่นที่ประจักษ์กันอยู่
ข้อมูลจาก :
อานนท์ จำลองกุล. แอมเฟตามีน : นิติเวชปริทัศน์. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ 60 ฉบับที่ 4 เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม พ.ศ. 2559.
อ.ภก.พงศธร มีสวัสดิ์สม ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน “ซูโดเอฟีดรีน (pseudo ephedrine) พระเอกหรือผู้ร้าย?” https://pharmacy.mahidol.ac.th/ สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2565
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 ตุลาคม 2565