ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2537 |
---|---|
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
เผยแพร่ |
ตาเถร-ยายชี นารี-นักบวช ใคร ? คือ “มหาโจรปล้นพระศาสนา”
ขบวนการ “พระศรีอาริย์” กับ “ผู้มีบุญ” (หรือ “ผีบุญ”) ในสยามประเทศ มีมาช้านานแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่มีใครสนบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร
ร่องรอยของขบวนการเหล่านี้อาจเห็นร่องรอยได้จากบรรดา “ถ้ำโพธิสัตว์” เช่นที่ ทับกวาง จังหวัดสระบุรี แม้ปราสาทเขาพนมรุ้งของ “ฤาษี” ก็อาจจัดอยู่ในกลุ่มนี้
หลังกรุงศรีอยุธยาแตก ขบวนการอย่างนี้มิได้หายไปไหน แต่กลับแตกกระจายออกเป็นกลุ่มย่อยมากมายหลายกลุ่ม ส่วนกลุ่มใหญ่ ๆ ถูกสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบปรามได้ทั้งหมด จึงทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีใหม่อย่างสมบูรณ์ได้
ช่วง 15 ปีของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีพระราชภาระที่จะต้องจัดการกับคณะสงฆ์และขบวนการต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะคณะสงฆ์ที่อยู่ใน “เมือง” มีปัญหามาก จึงทรงลงโทษพระสงฆ์มาก และอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ฐานะของพระองค์ไม่มั่นคง
ครั้นถึงสมัยกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ก็ต้องทรง “จัดการ” คณะสงฆ์อีก ดังที่ทรงตรา “กฎพระสงฆ์” ขึ้นตั้งแต่ปีแรกที่ทรงปราบดาภิเษก คือ พ.ศ. 2325
“กฎพระสงฆ์” ที่รัชกาลที่ 1 ทรงตราไว้มี 10 ข้อ รวบรวมอยู่ใน “กฎหมายตราสามดวง” เริ่มพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2392 (โดยพระยากระษาปณกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) แต่พิมพ์เพียงเล่ม 1 ยังไม่จบ เพราะถูกกริ้ว) ต่อมา กรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่ทั้งหมดเล่มเดียวจบ เมื่อ พ.ศ. 2531 และ “กฎพระสงฆ์” อยู่ระหว่างหน้า 544 ถึงหน้า 569
ข้อความใน “กฎพระสงฆ์” สะท้อนให้เห็นปัญหาเหลวแหลกในวงการสงฆ์สมัยนั้นมากมาย เริ่มตั้งแต่
พระสงฆ์จำนวนหนึ่งชอบเทศน์มหาชาติ “สำแดงถ้อยคำตลกขะนองหยาบช้า” (กฎฯ ข้อ 1)
พระสงฆ์จำนวนหนึ่งชอบรับของฝากเป็นข้าวของเงินทองเบียดบังทรัพย์แผ่นดิน (กฎฯ ข้อ 2)
พระสงฆ์พวกหนึ่ง “สำแดงความรู้วิชาอวดอิทธิฤทธิ เปนอุตริมนุษธรรม เปนกลโกหกตั้งตัวว่าผู้มีบุญ ว่าพบคนวิเศสมีวิชามาแต่ถ้ำแต่เขา คิดจะเอาพวกเพื่อนชิงเอาราชสมบัติ” (กฎฯ ข้อ 3) เป็นต้น
แสดงว่าในวงการสงฆ์สมัยนั้นมีปัญหา แต่ปัญหาของสมัยโน้น จะคล้ายคลึงกับปัญหาสมัยนี้หรือไม่ ขอให้ช่วยกันพิจารณาดังมีตัวอย่างต่อไปนี้
พระสงฆ์เสพเมถุน ปล้นพระศาสนา
พระสงฆ์ที่เสพเมถุนกระทำทุจริตผิดนักหนา นับเป็น “มหาโจรปล้นพระศาสนา” มีตราใน “กฎพระสงฆ์” ข้อ 8 เมื่อ “วันพุท เดือนสาม แรมสิบเบดค่ำ จุลศักราชพันร้อยห้าสิบเบด ปีระกา เอกศก” ตรงกับ พ.ศ. 2332 หลังสถาปนากรุงเทพฯ 7 ปี มีใจความปรารภเหตุว่า
สมณะและสามเณรไม่รักษาศีล ไม่ศึกษาเล่าเรียนธรรม แต่ชวนกันเที่ยวเข้าร้านตลาดดูสีกา มีอาการกิริยาเดินเหินกระด้างอย่างฆราวาส ไม่สำรวม เที่ยวดูโขน หนัง ละคร ฟ้อน ขับ เล่นหมากรุก สะกา การพนันทั้งปวง และคบคิดกับคฤหัสถ์ชายหญิงเล่นเบี้ยอย่างสมณะและสามเณร “วัดบางหว้า” ในที่สุดก็เคารพคบค้ากันสนิทสนม แล้วผูกพันเสน่หา
ฝ่ายพวกสีกาที่คุ้นเคยก็บำรุงบำเรอภิกษุสามเณรบาปอลัชซี นั่งในกุฎีที่ลับพูดจาเกี้ยวพานหยอกเอิน จนถึงสัมผัสกายกระทำเมถุนธรรม
“ฝ่ายภิกษุสามเณรบาป ลามก ครั้นคุ้นเคยเข้ากับสีกาแล้ว ก็เข้าบ้านนอนบ้านผิดเพลาราตรี พูดจาสีการูปซี ก็มีความเสน่หารักใคร่ ทั้งสองฝ่ายสัมผัสกายกระทำเมถุนธรรมเป็นปราชิก แลลิงคเถรไถยสังวาส เป็นคุรโทษ ห้ามบรรพชาอุปสมบท จะบวชมิเป็นภิกษุสามเณรเลย” (กฎหมายตราสามดวง 2521 : หน้า 563)
มีบุคคลตัวอย่างดังต่อไปนี้
1. ไอ้ดี บวชอยู่วัดโพ เสพเมถุนธรรมกับอีทองมาก อีเพียน อีพิม อีบุญรอด อีหนู และอีเขียว
2. ไอ้ทองอยู่ เสพเมถุนธรรมกับอีทองอิน
3. เณรปิ่น อยู่วัดโพเสพเมถุนธรรมกับอีคุ้ม เมียพระแพท
4. เณรทอง เสพเมถุนธรรมกับอีชีนวน อยู่หลังวัดบางหว้าใหญ่ เป็นปราชิก
5. ไอ้เป้า บวชอยู่วัด (อัม) พวา เสพเมถุนธรรมกับอีจันลาว จนมีบุตร
6. ไอ้ลุน บวชอยู่วัดบางขุนพรหม รับจ้างเขียนหนังสือ เอาเงินให้อีปิ่นโขลนกู้สิบบาท แล้วเสพเมถุนธรรมกับอีปิ่นโชลน เป็นปราชิก
7. มหาสัง กับ ชีแก้ว อยู่วัดคงคาพิหาร สองต่อสอง เป็นที่สงสัยใกล้ปราชิก
8. เณรนุ่ม อยู่วัด (บาง) เสาธง เข้าไปบ้านเป็นนิจ กับประสกสีกา
9. ทิดอยู่ วัดหง (ษ์) นอนกับอีเป้าภรรยานายฤทธิ์ บนเตียง ในมุ้ง เป็นศีลวิบัติใกล้ฉายาปราชิก
10. เถรษา สัปดน เป็นคนชั่ว ตัวเป็นเถร ห่มคลุมใส่ผ้าพาด ทำอย่างภิกษุ เป็นไถยสังวาส และปลอมบวชเป็นภิกษุอยู่ในพระศาสนา
11. เณรอยู่ ศิษย์พระนิกร นอนในมุ้งกับอีทองคำภรรยานายกรมช้าง แล้วคบเณรเล่นเบี้ย
12. มหาอิน กับ มหาจัน วัดนาก พูดกับอีมุ่ยในที่ลับ เป็นที่สงสัย ใกล้ฉายาปราชิก
13. พระนิกร เป็นราชาคณะ ไม่มีหิริโอตัปปะ เกรงสิกขาหยาบช้า พูดจาเกี้ยวพานกับสีกาเป็นบ้ากาม อวดรูปจับข้อมืออีฉิม ฝ่ายอีฉิมอบผ้าห่มส่งให้เอาผ้าไว้จูบกอดนอน และนอนเอกเขนกให้สีกาพัดลอยหน้า หาความอายไม่
14. มหาขุน ศิษย์พระนิกร ก็จับแก้มอีขาว แล้วพูดจาเกี้ยวพานอีสี ฝ่ายอีสีก็รัก ยอมถอดแหวนให้
ผู้มีชื่อทั้งหมดนี้ “กระทำทุจริตผิดนักหนา เป็น มหาโจรปล้นพระศาสนา” เพราะพระราชาคณะ พระเถรานุเถระผู้เป็นอุปฌายาจารย์ ไม่เอาใจใส่ตรวจตรา
มหาสีน “ชำเรา” นางข้าหลวงจน “ท้องลูก”
“กฎพระสงฆ์” ข้อ 4 บรรยายความว่า มหาสีน เป็นพระครู อยู่วัดนากกลาง ปลอมตัวเข้าไปหานางอึ่ง ข้าหลวงในกรมสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าอภัยธิเบศ จับตัวได้ แล้วรับเป็นสัจว่า มหาสีนได้เสพเมถุนธรรมด้วยนางอึ่ง ถึงชำเราหลายครั้ง จนนางอึ่งมีท้องลูก
มหาสีนจึงต้องขาดจากสิกขาบท เป็นปราชิก ลามกในพระศาสนา แต่มหาสีนปกปิดความชั่วไว้ แล้วเข้าทำสังฆกรรมในโบสถ์ ร่วมเป็นพระคู่สวดบวชพระสงฆ์ถึง 13 รูป นับเป็น “อาจินตกรรมมหันตโทษถึงอเวจีมหานรก” เพราะกระทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมสูญเศร้าหมอง
ฉะนั้น จึงสั่งให้พระราชาคณะกับพระฐานานุกรม เจ้าอธิการเอาใจใส่ระวังตรวจตรา “หญิงโยมอุปถากผิดพุทธวัจนะอยู่แล้ว ก็ว่ากล่าวให้ปริวัตรออกเสียจากพระศาสนา อย่าให้เป็นปราชิกขึ้นได้ในพระศาสนา ดุจหนึ่งอ้ายสีนฉะนี้”
ถ้าพระสงฆ์องค์ใดกระทำความเชื่อลามกอยู่แล้ว ก็ให้ปริวัตรออกเสีย อย่าให้เป็นมลทินอยู่ในพระศาสนา ทรงพระกรุณาหาเอาโทษไม่ ถ้าพระสงฆ์องค์ใดปกปิดความชั่วไว้ ดุจอ้ายสีน เป็นมลทินอยู่ในพระศาสนาฉะนี้ เมื่อพิจารณาเป็นสัตย์ จะเอาตัวเป็นโทษ 7 ชั่วโคตร แล้วจะให้ลงพระราชอาชญา “ตีโยม (ของ) พระราชาคณะ พระฐานานุกรม เจ้าอธิการ” ตามลำดับความผิด โทษฐานละเลยเมินเฉย ไม่ระมัดระวังตรวจตราให้ดี
“ลูกสุดใจ” ในวงการนักบวช
“กฎพระสงฆ์” ข้อ 10 ตราไว้เมื่อ “จุลศักราช พันร้อยหกสิบสาม ปีระกา ตรีนิศก” ราว พ.ศ. 2343-2344 ความว่า
บัดนี้พระสงฆ์ มิได้มีหิริโอตัปปะ คบหากันทำอุลามกเป็นอลัชชีภิกษุ คือ เสพสุรายาเมา น้ำตาลส้ม และฉันโภชนาหารของกัดของเคี้ยวหลังเวลาเพล และในราตรี บางพวกเอาผ้าพาดกับบาตรเหล็ก ไปขายแลกเหล้า เล่นเบี้ย มิได้ครองไตรจีวร บางพวกเที่ยวกลางวัน เที่ยวกลางคืน ดูโขน หนัง หุ่น ละคร เบียดเสียดอุบาสก สีกา พูดจาตลกคะนอง เฮฮาหยาบช้าทารุณ
บางเหล่าเห็นเด็กชายลูกข้าราชการ และลูกประชาราษฎรรูปร่างงามหมดจดหมดหน้า ก็พูดจาเกลี้ยกล่อม ชักชวนไปอยู่ด้วยกัน แล้วกอดจูบหลับนอนเคล้าคลึง ไปไหนเอาไปด้วย แต่งตัวให้เด็กเพื่อโอ้อวดประกวดกัน แล้วเรียกว่าลูกสวาสดิ์ ลูกสุดใจ บ้างก็เรียกว่า “ศรียะตราหนึ่งหรัด” และ “ยานัด” ช่วงชิงกัน หึงสาพยาบาทกัน จนเกิดวิวาทตีรันกันตายด้วยไม้กระบองสั้น
นักบวชช็อปปิ้ง อวดแฟชั่นโชว์
กฎพระสงฆ์” ข้อ 10 บรรยายต่อไปว่า บางพวกเห็นสรุปกำปั่น เห็นสำเภาจีนเข้ามา ก็ขึ้นเที่ยวบนสำเภาซุกซน ซื้อหาของเล่นเป็นอลวนอยู่กับพวกจีน จาม ฝรั่ง เป็นที่ดูถูกดูหมิ่น
บางพวกก็เที่ยวซื้อผ้าแพรพรรณในพ่วงแพและร้านแขกร้านจีน เอาไปเย็บย้อมเป็นผ้าพาด จีวร สบง สะใบ ผ้ากราบ ผ้ารัดตะคต และผ้าอังสะ ทำเป็นสีแสด สีชมภู ใช้นุ่งครองให้ต้องอาบัติ
บางพวกก็นุ่งห่มสีแดงบ้าง สี “กร้ำกรุ่นอำปลัง” บ้าง คาดรัดตะคตบ้างไม่คาดบ้าง คลุมศีรษะ สูบบุหรี่ ดอกไม้ห้อยหู เดินกรีดกรายตามกันดุจฆราวาส
นักบวช หรือ “โจรห่มผ้าเหลือง”
“กฎพระสงฆ์” ข้อ 10 ย้ำอีกว่า บางพวกไปขึ้นพระพุทธบาท โดยเดินทางด้วยคาดตะกรุด โพกประเจียด ถือดาบ ถือกระบี่ ถือกริช ดุจพวกโจร เมื่อถึงพระพุทธบาทแล้วคุมกันเป็นพวก ๆ ถึงกลางวันก็เข้าถ้ำร้องละคร ร้องลำนำ หยอกสีกา ถึงกลางคืนก็คลุมศีรษะตามกัน ตีวงร้องปรบไก่ ดุจฆราวาส
บางพวกเป็นนักสวดเมื่อรับนิมนต์ไปสวดพระมาลัย ก็ไม่สวดต้องตามเนื้อความพระบาลี แต่พากันร้องเป็นลำนำแขก จีน ญวน มอญ ฝรั่ง แล้วฉันสาคูเปียก แกงบวด เมี่ยงส้ม เมี่ยงใบ กล้วย อ้อย ฯลฯ ยามวิกาล
ข้อห้าม และบทลงโทษ
กฎฯ ต่าง ๆ ทั้ง 10 มีข้อแนะนำแก้ไข มีข้อห้าม และมีบทลงโทษ เช่น กรณีที่พระสงฆ์ “กระทำทุจริตผิดนักหนา เป็น มหาโจรปล้นพระศาสนา” นั้น มีข้อแนะนำว่า เถรเณรจะออกจากอาราม มีกิจไปไกล้ไกล ให้ห่มดองครองผ้าเหมือนกิริยาบิณทบาตร เมื่อหากิจนิมนต์ไม่ได้ อย่าให้เที่ยวเข้าบ้าน ถ้ามีกิจธุระจะไปบ้านหาบิดามารดา ให้อำลาพระอุปฌาย์ แล้วมีพระสงฆ์ไปเป็นเพื่อนพะยานสองสามรูป
ห้ามสมณะสามเณรคบหาสีกาที่ไม่ใช่ญาติ ห้ามเข้าไปบ้านนอนบ้านผสมผสานด้วยลาภรากเสน่หา
ห้ามฝ่ายอุบาสิกาอย่าทำสนิทติดพันเป็นโยมให้ผ้า ให้อามิสให้อาหารจำเพาะสมณะและสามเณร ด้วยปราถนาเมถุนธรรม โทษหนักทำลายพระศาสนา ให้ตั้งใจศรัทธาถวายทานเป็นสงฆ์อย่าจำเพาะ ถ้าจำเพาะถวายเป็นบุคลิกด้วยศรัทธา และถ้าจะไปถวายถึงอารามนั้น ให้ไปในเวลาเช้าจนเที่ยง
ห้ามเข้าไปถวายในกุฎีและนั่งในที่ลับที่กำบัง ให้นั่งในที่แจ้งนอกกุฎี แล้วมีเพื่อนสีการู้เห็นเป็นหลายคน ฝ่ายสมณะสามเณรก็ห้ามรับในกุฎีที่กำบัง ให้มีเพื่อนพรหมจารีนั่งด้วยในที่แจ้ง เมื่อรับไทยทานแล้วอย่าอยู่ช้า สนทนาตามสมควรแล้วให้สีกาไปเสียจากอาราม
รูปชีอย่าให้อยู่ในอารามหรือใกล้อารามเป็นอันขาดทีเดียว
และ ฯลฯ
ถ้าไม่ปฏิบัติตาม ทั้งสมณะสามเณรจะถูกลงโทษ แล้วรวมถึงบิดามารดาญาติโยมของสมณะสามเณรเหล่านั้นก็มีโทษด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 ตุลาคม 2565