“ทรงได้รับมรดกที่น่าสลดใจ” รัชกาลที่ 7 กับความเสื่อมของระบบเจ้า

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับบนพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2468

เป็นที่ทราบกันว่า “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ซึ่งมีการรวมศูนย์อำนาจการปกครองและการบริหารบ้านเมืองไว้ที่องค์พระมหากษัตริย์อย่างเต็มรูปแบบนั้น เกิดขึ้นอย่างจริงจังในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนสิ้นสุดลงในสมัยรัชกาลที่ 7 พ.ศ. 2475 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเวลาเพียง 22 ปีหลังการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 5 และหากพิจารณาจากช่วงปีดังกล่าว ถือว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถือกำเนิดและสิ้นสุดลงอย่างรวดเร็ว

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสมัยรัชกาลที่ 7 นั้น เกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง แนวคิดเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยที่แพร่หลายในชนชั้นกลางรวมถึงกลุ่มทหารหัวก้าวหน้าที่รวมตัวเป็นคณะราษฎรประการหนึ่ง แต่อีกประการหนึ่งก็เป็นที่สังเกตว่า ตัวระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่สมเด็จพระชนกนาถของพระองค์ (รัชกาลที่ 5) สถาปนาขึ้น รวมถึงการบริหารราชการแผ่นดินในสมัยพระเชษฐา (รัชกาลที่ 6) ได้สร้างปัญหาและก่อวิกฤตศรัทธาบางประการต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ไม่น้อยเช่นกัน

อ. ชาตรี ประกิตนนทการ อธิบายประเด็นนี้ในหัวข้อ “รูปแบบสถาปัตยกรรมเมื่อยามสนธยาของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (พ.ศ. 2453 – 2475)” ในหนังสือ การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม (มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2550) ทำให้เห็นสิ่งที่รัชกาลที่ 7 ทรงเผชิญหลังขึ้นครองราชสมบัติซึ่งเป็นปัญหาจากปัจจัยที่กล่าวถึงข้างต้นไว้ ดังนี้


 

…ความชอบธรรมของผู้ปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชที่ก่อร่างมาไม่นานเริ่มตกต่ำเสื่อมถอยลง ซึ่งมีสาเหตุจากปัจจัยหลายอย่าง แต่ส่วนหนึ่งที่สำคัญมาจากความอ่อนแอเชิงโครงสร้างของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามเองที่มิได้เกิดขึ้นจากพัฒนาการทางสังคมที่ครอบคลุมผู้คนส่วนมากในสังคม แต่เกิดจากชนชั้นนำสยามเพียงส่วนน้อย (พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ใกล้ชิดบางพระองค์) ที่ต้องการสร้างระบบการบริการใหม่เพื่อรับมือกับลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตกเป็นสำคัญ

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือกลุ่มคนที่เข้ามาขับเคลื่อนระบอบจำกัดและคับแคบมิได้กว้างขวางออกไปยังคนกลุ่มอื่นภายในสังคม แม้แต่กลุ่มขุนนางชั้นสูงที่เคยมีบทบาทในอดีตก็ถูกลดสถานภาพลงไป เช่น กระกูลบุนนาค เป็นต้น ทำให้ตัวระบบขาดฐานการสนับสนุนจากสังคมส่วนรวมและดูประหนึ่งว่าเป็นระบบที่ผูกขาดอยู่แต่เฉพาะเชื้อพระวงศ์คนใกล้ชิดบางส่วนเท่านั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าตัวผู้นำในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ได้มีบารมีและได้รับการยอมรับที่มากเพียงพอ ก็จะยิ่งก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตศรัทธาในตัวระบอบได้ง่ายขึ้นไปอีก ซึ่งจุดอ่อนดังกล่าวก็ปรากฏให้เห็นทันทีในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ และนี่คือสาเหตุทำให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกเรียกขานจากราษฎรโดยทั่วไปว่า ระบอบเจ้า ในที่สุด ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความชอบธรรมทางการเมืองของระบอบสมบูรณ์ญาสิทธิราชอย่างยิ่ง

นอกจากนี้โดยตัวโครงสร้างของระบบซึ่งมีลักษณะแบบรวมศูนย์การบริหารเข้าสู่พระมหากษัตริย์แต่เพียงผู้เดียวทำให้พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทลงมาทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในแบบใหม่ที่รับผิดชอบนโยบายอย่างแท้จริง เพราะทรงเป็นผู้มีอำนาจทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติทั่วพระราชอาณาเขตโดยเด็ดขาดเพียงผู้เดียว

พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยามต้องลงมาดูแลการบริหารในรายละเอียดทุกอย่างด้วยพระองค์เอง ไม่มีใครสามารถตัดสินใจแทนพระองค์ได้ แม้แต่เรื่องที่ไม่สำคัญก็ต้องทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยก่อนเสมอ ซึ่งไม่เหมือนในอดีตที่อำนาจพระมหากษัตริย์เป็นเพียงทฤษฎี การบริหารส่วนใหญ่ถูกแบ่งไปอยู่ใต้อำนาจของขุนนางชนชั้นสูงตระกูลต่าง ๆ อีกทั้งพระราชอำนาจยังจำกัดอยู่เฉพาะเมืองหลวงและหัวเมืองใกล้เคียงเท่านั้น

ดังนั้นผลสะท้อนกลับที่ไม่อาจเลี่ยงได้คือ พระมหากษัตริย์ต้องตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งก็เห็นได้ชัดในรัชกาลต่อมาอีกเช่นเดียวกัน เมื่อผนวกเข้ากับการที่คณะผู้บริหารส่วนใหญ่ล้วนเป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์หรือคนใกล้ชิดส่วนพระองค์ก็ยิ่งเป็นการสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากยิ่งขึ้น ความนิยมในสถาบันเสื่อมลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ดังคำปรารภของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อ พ.ศ. 2469 มีใจความตอนหนึ่งว่า

“….พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) กล่าวไว้ในพระราชบันทึกของพระองค์โดยตรงว่า ทรงได้รับมรดกที่น่าสลดใจ เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์บัลลังก์ เนื่องจากพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินตกลงอย่างมากทั้งในแง่ความเคารพสักการะและความเชื่อมั่น กระทรวงพระคลังมหาสมบัติก็เกือบจะล้มละลาย รัฐบาลกินสินบน และงานราชการก็ยุ่งเหยิงไม่มากก็น้อย….”

นอกจากนี้พระราชกรณียกิจและพระราชนิยมส่วนพระองค์บางประการในรัชกาลที่ 6 ก็ได้นำมาซึ่งภาวะความเสื่อมศรัทธาในการบริการราชการแผ่นดินด้วยเช่นกัน จะเห็นได้จากคำให้การของกลุ่มผู้ก่อการกบฏ ร.ศ. 130 ตอนหนึ่งว่า

“….เขาพอใจที่จะเปลี่ยนแปลงประเพณีการปกครอง เพราะการเล่นโขนเล่นละครเสียเองของพระประมุขแห่งชาตินั้นไม่มีประโยชน์อันใดแก่ชาติเลย มีแต่จะเสื่อมเสียพระเกียรติยศเกียรติคุณแก่นานาประเทศ และมีผลกระทบกระเทือนถึงชาติ ถึงประชาชนคนไทยอีกด้วย…”

แม้กระนั้นในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 7 ก็ยังทรงมีพระราชวิจารณ์ว่า

“….ในรัชสมัยที่พึ่งสิ้นสุดลง (สมัยรัชกาลที่ 6 – ผู้เขียน) หลายสิ่งหลายอย่างได้ทวีความเลวร้ายไปมาก….พระเจ้าแผ่นดินกลายเป็นบุคคลที่ได้รับอิทธิพลจากใครก็ตามที่เป็นคนโปรด ข้าราชการทุกคนต้องสงสัยว่ายักยอกหรือเล่นพรรคเล่นพวก….”

ทั้งนี้ยังไม่นับรวมปัจจัยความขัดแย้งภายในรหว่างรัชกาลที่ 6 กับเจ้านายชั้นสูงด้วยกันเองหลายประองค์ เช่น สมเด็จฯ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นต้น ซึ่งเป็นการตอกย้ำภาพแห่งความเสื่อมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชให้เห็นเด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ …

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 ตุลาคม 2565