ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2542 |
---|---|
ผู้เขียน | พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ |
เผยแพร่ |
สระหลวง แปลกันตรงๆ แปลว่า สระใหญ่
เป็นชื่อเมืองที่ปรากฏอยู่ในเอกสารที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย-ต้นรัตนโกสินทร์ เช่น ในพระราชพงศาวดาร หนังสือกฎหมายตราสามดวง เป็นต้น ปรากฏเป็นชื่อที่เขียนติดกันกับชื่อเมืองสองแคว ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นชื่อเก่าของเมืองพิษณุโลกในสมัยสุโขทัย
โดยเขียนว่า เมืองสระหลวงสองแคว ไม่มีที่ใดเขียนว่า เมืองสระหลวงเมืองสองแคว
เอกสารที่เป็นร้อยแก้วสมัยโบราณไม่ว่าจะเขียนบนหิน หรือบนกระดาษ หรือบนใบลาน แผ่นเงิน แผ่นทอง เวลาเขียนไม่มีเว้นวรรค เขียนไปนานๆ จึงจะมีเครื่องหมายเป็นวงกลมหรืออย่างอื่นคั่นข้อความที่ติดกันเป็นพืดเสียที่หนึ่ง ความจริงมิได้หมายถึงว่าจะเป็นเว้นวรรค แต่หมายถึงขึ้นย่อหน้าใหม่มากกว่า
ดังนั้น คนปัจจุบันเมื่อพบเอกสารโบราณเหล่านี้เอามาอ่านใหม่จัดพิมพ์เป็นหนังสือประชุมพงศาวดาร ตำนาน หรือปริวรรตตัวอักษรโบราณจากศิลาจารึก ฯลฯ จึงจัดวรรคตอนใหม่ตามความเข้าใจของตน เรียกว่าเป็นการชำระเอกสาร ทำให้คนอ่านอ่านทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น
แต่การจัดวรรคตอนใหม่นี้ บางครั้งหากผู้ชำระไม่ระมัดระวัง ก็อาจจะจัดวรรคตอนผิดพลาดทำให้ความหมายต่างไปจากที่ควรเป็นได้ ดังจะยกมากล่าวถึงในบทความนี้ เรื่องชื่อเมืองสระหลวงสองแคว
ในบทความนี้ต้องการชี้และเสนอหลักฐานพร้อมคำอธิบายเกี่ยวกับชื่อเมืองสระหลวงออกเป็นสองประเด็นคือ
1. ชื่อสระหลวงสองแคว เป็นชื่อเมืองเดียวกัน จะแยกออกเป็นคนละเมืองไม่ได้
2. โดยข้อเท็จจริงแล้ว ในสมัยสุโขทัยไม่มีชื่อสระหลวงสองแคว มีแต่ชื่อสรลวงสองแคว
1.
ขอทำความเข้าใจในเบื้องต้นว่า เนื่องจากคำอธิบายว่าที่จริงคำว่า สระหลวง ในสมัยสุโขทัยเขียนว่า สรลวง นั้น ผู้เขียนเอาไปอธิบายในข้อ 2
ดังนั้น ในการอธิบายในข้อ 1 เกี่ยวกับเรื่องสระหลวงเป็นเมืองเดียวกันกับสองแควนั้น ผู้เขียนจะยังคงใช้คำว่า สระหลวง ตามเอกสารสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่คัดลอกกันมาผิดๆ ไปก่อน จนกว่าจะถึงข้อ 2 จึงจะใช้คำว่า สรลวง ตามหลักฐานข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสมัยสุโขทัย
ชื่อเมืองสระหลวงที่เขียนติดอยู่กับชื่อเมืองอื่นๆ ของกลุ่มเมืองเหนือหรือเมืองในแคว้นสุโขทัยเดิม อันเป็นเหตุให้เกิดการจับแยกเป็นคนละเมืองหรือจับรวมเป็นเมืองเดียวกันนั้น อยู่ในหนังสือกฎหมายตราสามดวง อันเป็นหนังสือกฎหมายในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่รวบรวมมาจากกฎหมายเก่าสมัยอยุธยาในพระไอยการลักพา คือเรื่องข้อปฏิบัติกำหนดกฎเกณฑ์ ความผิดเกี่ยวกับข้าหนีเจ้าไพร่หนีนายมีคนลักพาไปขายถึงแดนไกลจากเมืองหลวงไปถึงเมืองเหนือ สุดหล้าฟ้าเขียว ดังเช่นเมืองต่างๆ ที่กล่าวติดๆ กันสองครั้ง ดังนี้
ครั้งแรกกล่าวว่า…เชลียงศุกโขทัยทุ่งย้างบางยมสองแก้วสหลวงชาวดงราวกำแพงเพชร…
ครั้งที่สองกล่าวว่า...เชลียงทุ่งย้างบางยมสหลวงสองแก้วชาวดงราวกำแพงเพชรศุกโขทัย…
การสะกดตัวอักษรของชื่อเมืองในหนังสือกฎหมายตราสามดวงต่างกับที่ใช้ตัวสะกดในปัจจุบัน บางชื่อเพราะการลอกข้อความต่อๆ กันมาในสมัยโบราณทำให้คัดลอกลายมือกันผิดพลาดไป บางชื่อเขียนสะกดตามแบบที่เขียนในสมัยโบราณ บางชื่อเป็นชื่อเดิมหรืออีกชื่อหนึ่งของเมืองที่รู้จักกันในปัจจุบัน แต่ก็พอจะทราบได้ว่าชื่อต่างๆ ที่กล่าวข้างต้นนั้นในปัจจุบันรู้จักหรือเขียนกันอย่างไร ดังนี้
เชลียง คือ เมืองศรีสัชนาลัย
ศุกโขทัย ปัจจุบันเขียน สุโขทัย
ทุ่งย้าง ปัจจุบันเขียนว่า ทุ่งยั้ง
บางยม ปัจจุบันรู้จักทั้งเมืองบางยม และอีกเมืองหนึ่งคือ ปากยม
สหลวง ปัจจุบันเขียนว่า สระหลวง
สองแก้ว คัดลอกกันมาผิดจากคำว่า สองแคว
ชาวดงราว คัดลอกมาผิดจากคำว่า ชากังราว
กำแพงเพชร คือ เมืองกำแพงเพชร
มีข้อน่าสังเกตว่าชื่อต่างๆ ที่เขียนติดกันเป็นพืดนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงจับมารวมกันเป็นเมืองเดียวกันบ้างและจับแยกออกเป็นคนละเมืองบ้าง ที่จับเอามารวมเป็นเมืองเดียวกันโดยทรงอ้างว่าเป็นการเอาชื่อเก่ากับชื่อใหม่มารวมเรียกด้วยกันคือ เมืองชากังราวกำแพงเพชร ซึ่งเรื่องนี้ผู้เขียนได้จับแยกไปแล้วเป็นคนละเมืองกัน โดยให้เมืองชากังราวอยู่ที่เล่มน้ำน่าน ส่วนกำแพงเพชรอยู่ลุ่มน้ำปิง ในเรื่องกำแพงเพชร ไม่ใช่เมืองชากังราว เมืองชากังราวอยู่ที่ไหน ในศิลปวัฒนธรรม (มิถุนายน, 2539)
ส่วนเมืองสระหลวงสองแคว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงจับแยกออกเป็นคนละเมืองกัน อาจจะเนื่องจากข้อความสองครั้งในหนังสือกฎหมายตราสามดวงก็ได้ที่ครั้งแรกลำดับชื่อเป็นสองแควสระหลวง แต่ครั้งหลังลำดับชื่อเป็น สระหลวงสองแคว เลยทำให้ทรงจับชื่อทั้งสองแยกเป็นคนละเมือง (ที่กล่าวนี้เป็นการเดาพระทัยของผู้เขียนเอง โดยที่ข้อเท็จจริงมิได้ทรงให้เหตุผลไว้)
เมื่อเป็นเช่นนี้ ในการศึกษาเมืองโบราณสมัยก่อนเนื่องจากทราบกันดีแล้วว่า เมืองสองแควคือชื่อเดิมของเมืองพิษณุโลก ที่มีวัดพระศรีรัตนมหาธาตุหรือวัดพระพุทธชินราชเป็นประธานของเมือง จึงมีการมองหาว่าเมืองโบราณใดที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับเมืองสองแคว โดยมีข้อสังเกตว่าควรจะต้องมีบึงน้ำขนาดใหญ่อยู่ใกล้ๆ ด้วยที่ควรจะเป็นเมืองสระหลวง
ดังเช่นในสมัยก่อนก็คิดกันว่าอาจจะเป็นเมืองพิจิตรว่ามีชื่อเดิมเป็นเมืองสระหลวง เพราะมีบึงสีไฟบึงน้ำขนาดใหญ่อยู่หลังเมือง เป็นต้น
การสืบหาเมืองสระหลวงมีอยู่ต่อมาและคิดว่าอยู่ตรงนั้นตรงนี้บ้าง ด้วยเหตุผลต่างๆ กัน จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้ใช้แนวคิดในเชิงตรรกะอธิบายว่า เมืองสระหลวงเป็นเมืองเดียวกันกับเมืองสองแคว ความว่า
การกล่าวชื่อเมืองในศิลาจารึกของสุโขทัยที่มีการระบุชื่อเมืองติดๆ กัน เช่น สุโขทัยศรีสัชนาลัย หรือสระหลวงสองแควนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นคนละเมืองเสมอไป แต่ควรใช้หลักในทางตรรกะมาพิจารณาหลักฐานประกอบด้วย เช่น ศิลาจารึกสุโขทัย กล่าวว่า พ่อขุนรามคำแหงทรงครองเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย ชื่อเมืองที่เขียนติดกันนี้เป็นคนละเมืองได้ เพราะคนๆ เดียวสามารถครองเมืองสองเมืองได้ แต่ที่จารึกหลักที่ 2 วัดศรีชุม กล่าวว่า พระศรีศรัทธาราชจุฬามณีเกิดในนครสระหลวงสองแควนั้น คนๆ เดียวจะเกิดในเมืองสองเมืองไม่ได้ แสดงว่า สระหลวงสองแควนั้นต้องเป็นชื่อของเมืองเดียวกัน คือชื่อเก่าของเมืองพิษณุโลกนั้นมีชื่อเต็มๆ ว่า เมืองสระหลวงสองแคว
มีเรื่องควรตระหนักว่าที่เข้าใจกันว่า เป็นสระหลวงเมืองหนึ่ง กับสองแควเมืองหนึ่งนั้น เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นภายหลังตามพระวินิจฉัยของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพนี้เอง ซึ่งก็ไม่ทรงแสดงเหตุผลอย่างไรว่า ตามหลักฐานที่เขียนติดกันว่า สระหลวงสองแควนั้น เหตุใดจึงทรงใส่เว้นวรรคแยกออกเป็นสองเมือง
เมื่อเป็นเช่นนี้ หากจะมีการโต้แย้งศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ว่า เมืองสระหลวงควรอยู่อีกแห่งหนึ่ง มิใช่เป็นชื่อเต็มของเมืองสองแคว จะด้วยเหตุผลใดก็ตามก็ควรจะเริ่มต้นด้วยการอธิบายเสียก่อนว่า เหตุใดจึงแยกสระหลวงออกจากสองแคว ทั้งๆ ที่โบราณเขาเขียนติดกัน
แล้วจึงค่อยว่ากันต่อไปว่า สระหลวง อยู่ที่ไหนด้วยเหตุผลหลักฐานอย่างไร
จึงจะชอบด้วยระเบียบวิธีการในการใช้เหตุผลคัดค้านกัน
แต่มีเรื่องประหลาดใคร่จะเล่าในที่นี้ว่า ครั้งหนึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้เสนอข้อคิดในเชิงตรรกะดังกล่าวข้างต้นในที่ประชุมสัมมนาแห่งหนึ่ง คัดค้านอาจารย์ท่านหนึ่งที่เสนอว่า สระหลวงเป็นเมืองอยู่อีกที่หนึ่ง มีเรื่องประหลาดลำดับที่หนึ่งเกิดขึ้นคือ มีการยกมือโหวตว่าจะเชื่อใครดี
ผลปรากฏว่าที่ประชุมเชื่อศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐมากกว่า
แต่เรื่องประหลาดลำดับที่สองก็เกิดขึ้น คือ มีอาจารย์ในกลุ่มที่ยกมือโหวตสนับสนุนการใช้ตรรกะของศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐได้ไปศึกษาต่อโดยอ้างอิงชัยชนะจากการโหวตของศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐว่า เมืองสระหลวงควรได้แก่เมืองโบราณที่ค้นพบใหม่เมืองหนึ่งตั้งอยู่ริมบึงใหญ่ที่กั้นเมืองสองแควไว้อีกฟากห่างกันราวๆ 10 กิโลเมตร มิใช่เมืองที่พ่ายแพ้การโหวตศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐไปแล้ว!!!
เพื่อมิให้เกิดการงงงันแก่ผู้อ่านหนักขึ้น จากเรื่องตลกข้างต้น จึงขอสรุปในตอนนี้ว่าผู้เขียนเชื่อตามหลักเหตุผลของศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐว่า คนๆ เดียวจะเกิดในเมืองสองเมืองไม่ได้ (คือเกิดในที่สองแห่งไม่ได้) ยิ่งเป็นเมืองเดียวกันแต่แยกอยู่คนละฝั่งริมบึงใหญ่ คือ สระหลวงอยู่ฝั่งหนึ่ง สองแควอยู่ฝั่งหนึ่ง ยิ่งเป็นไปไม่ได้ยิ่งขึ้น
เพราะด้วยตรรกะตามแบบศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร จะทำให้เด็กที่จะคลอดออกมานั้นต้องคลอดกลางบึงใหญ่ หากเกิดมีลมเบ่งพลาดพลั้งอาจตกน้ำป๋อมแป๋มลงไปได้
2.
ที่กล่าวมาแล้วเป็นชื่อเมืองจากหลักฐานที่เขียนในสมัยรัตนโกสินทร์โดยลอกมาจากต้นฉบับเดิมเขียนในสมัยอยุธยา แต่เนื่องจากเมืองๆ นี้ เป็นเมืองของสุโขทัยในสมัยสุโขทัย จึงควรตรวจดูเอกสารสมัยสุโขทัยที่เป็นเอกสารชั้นต้น คือ ศิลาจารึกว่าเขาเขียนชื่อเมืองนี้ว่าอย่างไร
จารึกสุโขทัยเขียนว่า สรลวง ไม่มีสระอะ
ในหนังสือประชุมศิลาจารึกจะพิมพ์แยกเป็นสองคอลัมน์ คอลัมน์ซ้ายจะเป็นตัวปริวรรต คือศิลาจารึกเขียนเป็นตัวโบราณอย่างไรก็ถ่ายถอดออกเป็นตัวปัจจุบันให้ผู้ที่ไม่คุ้นเคยตัวอักษรโบราณสามารถอ่านได้ ในคอลัมน์นี้จะปริวรรตออกเป็นสรลวง ในขณะที่คอลัมน์ขวาเป็นคำอ่านปัจจุบัน คือมีการชำระคำเพิ่มเติมการอ่าน ตามความเข้าใจของผู้อ่านซึ่งเป็นนักวิชาการปัจจุบันลงไป คอลัมน์นี้จะเขียนเป็นสระหลวง
จึงขอกล่าวโดยสรุปว่า คำๆ นี้คนสุโขทัย เขาเขียนว่า “สรลวง” มิใช่สระหลวง
สรลวง อ่านว่า สะระลวง มิใช่สระหลวง เพราะคนสุโขทัยไม่มีสระ
คนสุโขทัยเรียกแหล่งน้ำขนาดนี้ว่า ตระพัง หรือสพัง จึงไม่ปรากฏในศิลาจารึกของสุโขทัยหลักใดเลยที่เขียนคำว่า สระ ในความหมายของที่ที่มีน้ำขังอยู่ และถ้าเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ด้านทิศตะวันออกของเมืองสุโขทัยดังปรากฏในศิลาจารึก หลักที่ 1 ก็จะเรียกว่า ทะเลหลวง มิใช่ สระหลวง
ในสมัยอยุธยาดังปรากฏการคัดลอกในหนังสือกฎหมายตราสามดวง และในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับปลีกเขียนเป็นสหลวง ซึ่งเมื่อพิจารณาคำนี้สุโขทัยเขียนว่า สรลวง อ่านว่า สะ-ระ-ลวง คำที่เขียนในสมัยอยุธยา สหลวง จึงเป็นคำที่เขียนขึ้นตามที่หูชาวอยุธยาได้ยินจากปากชาวสุโขทัย คำนี้จึงควรอ่านว่า สะ-หะ-ลวง
แต่พอคัดลอกต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ไม่ได้ยินคำเรียกชื่อนี้แล้ว คงเหลือแต่ตัวหนังสือให้อ่าน จึงมีการอ่านโดยการเข้าใจผิดในชั้นหลังเป็นสะ-หลวง แล้วเติมตัวสะกดอื่นๆ ลงไปตามความเข้าใจ โดยคิดว่าเพื่อให้เขียนถูกต้องเลยกลายเป็นสระหลวง
จากคำที่ไม่มีความหมายของน้ำเลยกลายมาเป็นน้ำนองเต็มไปหมดในชั้นหลังเช่นนี้ การค้นหาเมืองโบราณที่มีน้ำเยอะๆ ว่าเป็นเมืองสระหลวงจึงเกิดขึ้นแต่นั้นมา
มาถึงตอนนี้ ควรอธิบายว่า สรลวง มีความหมายว่าอย่างไร
ขอแยกอธิบายเป็น 2 คำ คือ สระ=สะระ คำหนึ่ง กับคำว่า ลวง คำหนึ่ง
สำหรับคำว่า ลวง โดยทั่วไปมีความหมายว่า ทางหรือด้าน เช่น รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าประกอบด้วย ลวงกว้างลวงยาว หรืออย่างในศิลาจารึก หลักที่ 7 วัดป่ามะม่วง อักษรไทย ภาษาไทย บรรทัดที่ 36-40 สรรเสริญพระมหาราชาลิไท ว่าทรงรอบรู้ทุกอย่างว่า…พระมหาธรรมราชาธิราชนั้น รู้ลวงธรรม พระพุทธเจ้าแท้ รู้ลวงประชา-คือความหมายว่า ทรงรอบรู้ในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง และรอบรู้ในเรื่องเกี่ยวกับพสกนิกรของพระองค์ว่าอยู่ดีมีสุขทุกข์อย่างไรด้วย ฯลฯ
นอกจากนี้ อาจารย์บุญเย็น วอทอง ยังเคยให้คำอธิบายพร้อมหลักฐานมากมาย ในศิลปวัฒนธรรม (กันยายน,2541) ว่า ในภาษาอีสาน ลวง หมาย ถึงงูและพญานาคด้วย
ส่วนคำข้างหน้า สร อ่านว่า สะระ ติดกันเร็วๆ นั้น เมื่อไม่ได้หมายถึงสระ เพราะสุโขทัยไม่มีสระ ดังกล่าวแล้วข้างต้นอย่างแน่นอน
จึงเป็นคำที่มีปัญหาอยู่บ้างว่าหมายถึงอะไร
เคยคุยกับกวีร่วมสมัยบางท่าน เช่น คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ มีความเห็นว่า น่าจะเป็นกวีโวหารที่อาจพบได้ในบทกวีเก่า ๆ เช่น ลิลิตยวนพ่าย
ผู้เขียนเห็นด้วยสำหรับคำๆ นี้ คือ สร น่าจะเป็นคำอะไรสักอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนไม่รู้จะอธิบายเรียกว่าอย่างไร ในที่นี้จึงขอเรียกตามคุณสุจิตต์ว่าเป็นกวีโวหาร ซึ่งเมื่อเป็นคำกวีโวหารเวลาอ่านทำความเข้าใจ ก็ต้องใช้อารมณ์เข้าจับกับเสียงที่อ่านออกมาว่าจะได้ความรู้สึกอย่างไร ต่อไปนี้จึงจะขอยกบางตอนที่พบในลิลิตยวนพ่าย ดังนี้
ตอนที่เมืองเชียงชื่นตระเตรียมตัวเพื่อรับศึกจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
สรพร้อมสรพราดข้อง พลขนนธ์
สรพรั่งทุกทางทวาร อยู่อย้งง
ฯลฯ
อ่านแล้วได้ภาพพจน์ว่า อะไรๆ ก็พร้อมไปหมดทุกอย่าง ตามประตูเมือง ทุกประตูก็มีคนประจำเต็มพรืดไปหมด
อีกตอนหนึ่งกล่าวบรรยายกองทัพที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จประทับมาบนช้างทรง
จามรยาบยาบกลิ้ง กลดไกว แกว่งแฮ
สรพรั่งพลหาญแหน แห่เฝ้า
ฯลฯ
ความตอนนี้ให้ภาพจามรที่อยู่ในมือทหารบนหลังช้างและกลดที่กางอยู่ เคลื่อนไหวพะเยิบพะยาบเต็มท้องฟ้า พวกทหารรักษาพระองค์ก็ห้อมล้อมอารักขาเนืองแน่นตามกันไป
ขอยกตัวอย่างตอนสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้รับชัยชนะในการรบแล้ว กวีได้บรรยายว่า
ฯลฯ
ชัยชัยรําพึงสยง ฤาลาภ
สรหน่นนนิ้วนอบเข้า อยู่มือฯ
ได้ยินเสียงแซ่ซ้องในชัยชนะทั่วไปหมด ภาพของนิ้วมือที่ประนมขึ้นกราบไหว้แลเห็นนับไม่ถ้วน
จากภาพพจน์ที่ได้จากกวีโวหารที่ยกมาข้างต้น ผู้เขียนมีความเห็นว่ามีความหมายเช่นเดียวกันกับที่นำมาใช้กับคำว่า ลวง
ถ้าลวง แปลว่า ทาง
สรลวงก็แปลว่า มีเส้นทางคมนาคมไปมาเยอะแยะ
ถ้าลวง แปลว่า งู หรือพญานาค อย่างอาจารย์บุญเย็น วอทอง ว่าไว้
สรลวงก็แปลว่า มีงูมากหน้าหลายพันธุ์ยั้วเยี้ยเต็มไปหมด
ที่กล่าวมาแล้วเกี่ยวกับความหมายว่า สรลวง จะถูกผิดอย่างไรไม่มีความสำคัญในเรื่องที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เพราะในที่นี้ต้องการจะชี้ให้เห็นว่าเป็นคำที่มาประกอบกับชื่อสองแคว อันเป็นวิธีการในการชี้เฉพาะเจาะจงสถานที่ที่มีชื่อเรียกอย่างเดียวกันหลายแห่งที่อาจเป็นที่รู้จักของคนในสังคมหนึ่งๆ เช่น ในหนังสือตำนานของลาว มีการเรียกชื่อสถานที่ว่า เชียงดงเชียงทอง เพราะชื่อเชียงทองเป็นที่นิยมตั้งเป็นชื่อเมืองหลายแห่ง เมื่อกล่าวแต่ชื่อเชียงทองอย่างเดียวคนก็จะถามว่าเชียงทองไหน พอบอกว่าเชียงดงเชียงทองคนก็จะรู้ว่าหมายถึงเมืองเชียงทองแห่งใด หรือ นาน้อยอ้อยหนู เพราะชื่อนาน้อยมีหลายแห่ง ก็ต้องบอกลักษณะบางอย่างเพิ่มเติมคือนาน้อยที่มีอ้อยลำเล็กๆ ขนาดเล็กกว่าหัวแม่มือหน่อยหนึ่ง ที่เรียกว่าอ้อยหนูขึ้นอยู่มาก
หรือที่สุโขทัยเองก็มีชื่อบ้านด่านลานหอย เหตุที่ต้องมีคำว่า ลานหอย (ลานที่มีหอยมาก) ต่อท้าย ก็เพราะแถวๆ นั้นมีบ้านด่านหลายแห่ง ที่ผู้คนรู้จักติดต่อถึงกันอยู่ คือ บ้านด่านแม่คำมัน อยู่เหนือขึ้นไปในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ ริมห้วยแม่คำมัน เหนือขึ้นไปอีกริมแม่น้ำน่านก็มีบ้านด่านน้ำ ทางทิศตะวันตกของบ้านด่านน้ำ อยู่ใกล้ภูเขาก็มีบ้านด่านบก หรือบางครั้งเรียกว่า บ้านด่านชายเขา เป็นต้น
สำหรับชื่อสองแคว เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามลักษณะธรรมชาติที่แม่น้ำสองสายมาพบกัน
ที่ไหนๆ ก็อาจมีสองแควได้
เหนือพิษณุโลกขึ้นไปตามลำแม่น้ำน่านในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ตรงที่ที่แม่น้ำตรอนไหลจากเทือกเขาทิศตะวันออกมาพบแม่น้ำน่าน ตรงนั้นมีเมืองโบราณเก่าถึงสมัยสุโขทัย ชาวบ้านปัจจุบันเรียกว่า เมืองตาชูชก บริเวณนั้นมีหมู่บ้านชื่อ บ้านหาดสองแคว
เป็นไปได้ว่าในสมัยโบราณเมืองโบราณ เมืองนั้นคือเมืองที่เรียกว่า สองแคว อีกเมืองหนึ่ง
ดังนั้น เพื่อให้ชัดเจนขึ้นเมื่อมีการกล่าวถึงชื่อเมืองในสมัยก่อน จึงเรียกชื่อเมืองที่ปากคลองตรอนว่า เมืองหาดสองแคว ในขณะที่เรียกเมืองที่มีวัดพระประธานที่พิษณุโลกว่า เมืองสรลวงสองแคว ในกรณีที่ผู้เรียกต้องการไม่ให้เข้าใจผิดพลาด แต่ในกรณีที่ผู้เรียกมั่นใจว่าในบริบทที่กำลังกล่าวถึงมีความชัดเจนว่าหมายถึงที่แห่งใด หรือคิดว่าไม่มีผู้สงสัยว่าจะหมายเป็นที่อื่นใด ก็จะพบว่ามีการกล่าวถึงชื่อเมืองว่าสองแควอย่างเดียวก็มี
สรุป
ชื่อเมืองว่า สองแคว ค่อนข้างจะเป็นชื่อสามัญ เพราะเรียกชื่อตามลักษณะภูมิประเทศที่แม่น้ำสองสายมาพบกันที่ตัวเมืองตั้งอยู่ เมืองที่มีชื่อสามัญเช่นนี้จึงต้องเพิ่มคำขยายเข้าไปเพื่อให้ทราบว่าหมายถึงเมืองใดกันแน่
เมืองสรลวงสองแควจึงเป็นชื่อที่เพิ่มคำเพื่อให้เข้าใจชัดเจนว่าหมายถึงเมืองสองแควแห่งใด
แต่ภายหลังต่อมาสองแควที่มีพระพุทธชินราชเป็นเมืองใหญ่ที่มีความสำคัญมากกว่าที่อื่น บางครั้งในสมัยสุโขทัยเองเรียกสั้นๆ ว่า สองแควก็เข้าใจกันได้ว่าหมายถึงที่ใด
เมื่อมีการเรียกสั้นๆ ว่าสองแควสืบต่อกันมาจึงเกิดความเข้าใจว่าหมายถึงชื่อเก่าเมืองพิษณุโลกอย่างเฉพาะเจาะจง ภายหลังได้พบเอกสารโบราณเรียกชื่อเมืองว่า สรลวงสองแคว จึงเกิดการจับแยกออกเป็นคนละเมือง และเนื่องจากเอกสารโบราณที่จับชื่อแยกออกจากกันนี้เป็นเอกสารที่มีการเขียนผิดเพี้ยนไปตามหูที่ได้ยินสำเนียงพูดของคนถิ่นอื่น คือชื่อสร-ลวงสองแควที่เขียนผิดไปเป็นสห-ลวงสองแควตามหูที่ได้ยิน แต่คนอ่านที่จับแยกชื่อออกเป็นสองเมืองนั้นก็เป็นคนรุ่นหลังที่ไม่เคยได้ยินชื่อสห-ลวงสองแคว จึงอ่านผิดไปเป็นส-หลวงสองแคว แล้วเลยเขียนใหม่อย่างที่คิดว่าจะถูกเป็นสระหลวงสองแคว เมื่อจับชื่อแยกออกเป็นสองเมืองแล้วก็เลยตั้งหน้าตั้งตาหาชื่อเมืองที่มีภูมิประเทศเป็นสระน้ำกว้างใหญ่กันเรื่อยมา
ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นผู้เสนอคำอธิบายจากหลักฐานที่ว่า การที่จารึกหลักที่ 2 กล่าวว่าพระศรีศรัทธาราชจุฬามณีเกิดในนครสรลวงสองแควนั้น แสดงว่าสรลวงและสองแควนั้นเป็นชื่อเมืองๆ เดียวกันคือ เมืองสรลวงสองแคว เพราะคนๆ เดียวจะเกิดในที่สองแห่งไม่ได้
บทความนี้จึงเป็นการอธิบายสนับสนุนหลักเหตุผลของศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ดังกล่าว
แต่ถ้าผู้ที่อ้างว่าเชื่อตามศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร แล้วยังวนหาสระใหญ่ๆ เพื่อให้เป็นที่ตั้งของตำแหน่งชื่อสระหลวงว่าเป็นคนละที่กับสองแคว ไม่ว่าจะรวมเป็นเมืองคู่แฝดกันอย่างไรก็ตามก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้
เพราะผู้ที่เสียแรงคิดเสียแรงเขียนเสียแรงพูดเหนื่อยเปล่านั้นมมิใช่ผู้เขียน แต่เป็นศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เอง
อ่านเพิ่มเติม :
- สุโขทัย ไม่ใช่ราชธานีแห่งแรก แต่เป็นรัฐขนาดเล็กรัฐหนึ่ง – สุจิตต์ วงษ์เทศ
- ทิศสําคัญของ เมืองเชียงใหม่ และสุโขทัย
- คนสุโขทัย ไปดื่มแม่โขงกันที่ไหนบ้าง
- พบหลักฐาน “เจ้าแม่ศรีจุฬาลักษณ์”ไม่ใช่คนสุโขทัย แต่ไปจาก “สุพรรณภูมิ”
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ตุลาคม 2565