สุนทรภู่ไปนมัสการ สถูป “พระประธม” ก่อนเป็น “พระปฐมเจดีย์”

ภาพมุมสูง พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม

โอ้หน้าหนาวคราวนี้เป็นที่สุด   ไม่มีนุชแนบชมเมื่อลมหวน

พี่เห็นนางห่างเหยังเรรวน   มิได้ชวนเจ้าไปชมประธมประโทน

กลอนนิราศพระประธมของสุนทรภู่ ที่ยกมาข้างต้นนั้น แสดงว่าสุนทรภู่เดินทางไปนมัสการ “พระประธม” ในฤดหนาว

นักวรรณคดีเชื่อว่าสุนทรภู่นั่งเรือออกจากกรุงเทพฯ-ธนบุรีเมื่อวันจันทร์ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 12 ตรงกับวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2385 หลังลาสิกขาบทแล้ว (ยังอยู่ในแผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2367-2394)

ขณะนั้นสุนทรภู่มีอายุ 56 ปีแล้ว แต่ยังรู้ร้อนรู้หนาว ท่านจึงครวญไว้ในกลอนว่า “ไม่มีนุชแนบชมเมื่อลมหวน”

น่าสงสารจริงๆ

สุนทรภู่ล่องเรือเข้าคลองบางกอกน้อยจนถึงบางใหญ่ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าคลองแยกไปทางทิศตะวันตกจนออกแม่น้ำนครชัยศรี (หรือแม่น้ำท่าจีน) ต่อจากนั้นพายเรือทวนน้ำขึ้นไปจน “ถึงถิ่นฐานบ้านพะเนียดเป็นเนินสูง ที่จับจูงช้างโขลงเข้าโรงหลวง” อันเป็นย่านคล้องช้างป่ามาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งสุนทรภู่ผ่านไปก็ยังเป็นป่ารก “เห็นรอยเสือเนื้อตื่นอยู่ครื้นเครง ให้กริ่งเกรงโห่ฉาวเสียงกราวเกรียว”

แต่บ้านพะเนียดทุกวันนี้เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม อันเป็นเขตที่เจริญรุ่งเรืองจนราคาที่ดินสูงลิบลิ่วจับจองไม่ติด

สุนทรภู่ขึ้นบกพักค้างคืนที่บ้านพะเนียด ครั้นรุ่งเช้าก็ออกเดินบุกป่าถึงวัดพระประธมที่มี “พระประธม”

“พระประธม” คืออะไร?

ตอบว่า-“พระประธม” คือสถูปพระบรมธาตุขนาดมหึมาดังสุนทรภู่ บรรยายว่าเป็น “พระปรางค์เยี่ยมฟ้าสุธาธาร”

“พระประธม” อยู่ที่ไหน?

ตอบว่า-อยู่จังหวัดนครปฐม ทุกวันนี้เรียก “พระปฐมเจดีย์”

อันพระปฐมเจดีย์ที่เห็นทุกวันนี้ เป็นของใหม่ที่ปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่สุนทรภู่เดินทางไปนมัสการตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 3 ก่อนการปฏิสังขรณ์ ดังนั้นสุนทรภู่จึงมิได้นมัสการพระปฐมเจดีย์ แต่นมัสการ “พระประธม” อันเป็นสถูปพระบรมธาตุที่มีมาตั้งแต่สมัยทวารวดี

เรื่องราวเป็นมาอย่างไร? ต้องขออนุญาตย้อนหลังกลับไปไกลๆ สักหน่อย ก็แล้วกัน

ขุนทัพกรุงสุโขทัย ผู้ทิ้งอาวุธมุ่งพุทธภูมิ

“ศรีศรัทธา” เป็นหน่อเนื้อเชื้อราชตระกูลแคว้นสุโขทัย เป็น “ลูก” ของพระยาคำแหงพระราม (เจ้าเมืองสระหลวงสองแคว) เป็น “หลาน” ของพ่อขุนผาเมือง (เจ้าเมืองราด เมืองลุม) จึงเป็น “หลานปู่” ของพ่อขุนศรีนาวนำถุม (ผู้สถาปนาเมืองศรีสัชชนาลัยสุโขทัย แล้วนับเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกของแคว้นสุโขทัย)

ท่านศรีศรัทธาทรงเป็นขุนทัพที่แกล้วหาญชำนิชำนาญการศึกสงคราม ทั้งเคยทรงช้างตัวเมียทำศึกยุทธหัตถีชนะศัตรูที่ขี่ช้างพลายตกน้ำมันจนเป็นที่เลื่องชื่อลือชา และเป็นที่โปรดปรานของพระยาเลอไทยพระเจ้าแผ่นดินแคว้นสุโขทัยสมัยนั้น

ความแกล้วหาญชาญชัยน่าจะส่งผลให้ท่านศรีศรัทธามีมหาอำนาจก้าวขึ้นสู่ความเป็นใหญ่ในดินแดนแคว้นสุโขทัยได้

แต่แล้วท่านกลับหน่ายโลกและชีวิตอย่างกะทันหันเมื่อพระชนม์เพียง 31 พรรษา

ท่านศรีศรัทธาผู้ทรงเป็นขุนทัพกรุงสุโขทัยตัดสินพระทัยสละสรรพสิ่ง แล้วทิ้งอาวุธออกผนวชเพื่อมุ่งสู่พุทธภูมิ โดยเสด็จธุดงค์ออกจากนครใหญ่ไปสู่ป่าจาริกแสวงบุญไปทุกหนทุกแห่งในดินแดนสุวรรณภูมิกระทั่งถึงลังกาทวีป

ท่านศรีศรัทธาทรงบำเพ็ญมหากุศลไว้ในลังกามากมายหลายประการจนเป็นที่เคารพเลื่อมใสอย่างยิ่ง กระทั่งเลื่องลือไปในหมู่ชนชาวสิงหลทั้งหมดทุกระดับ ซึ่งรวมทั้งชนชั้นปกครองครั้งนั้นด้วย

กษัตริย์สิงหลจึงยกย่องแล้วน้อมถวายสมณศักดิ์แด่ท่านศรีศรัทธา ไว้ในระดับ “สังฆราช” ที่ทรงไว้ซึ่งความ “ดวงแก้วอันประเสริฐประดับเกาะลัง” ว่า…

“สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธา ราชจุฬามุนีศรีรัตนลงกาทีปมหาสามี”

หลังจากประทับอยู่ในลังกาประมาณ 10 ปี ท่านศรีศรัทธาก็เสด็จกลับสุวรรณภูมิผ่านดินแดนตะนาวศรี ออกด่านสิงขร เข้าเมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี แล้วชักชวนผู้คนให้ช่วยกันซ่อมสถูปพระธาตุหลวงที่เมืองนครชัยศรีหรือนครปฐมโบราณก่อนที่จะกลับเข้าสู่ดินแดนแคว้นสุโขทัย

สถูปพระธาตุหลวงที่ท่านศรีศรัทธาซ่อมไว้ครั้งนั้นนี่แหละคือ “พระประธม” ที่สุนทรภู่เดินทางลอยเรือไปนมัสการแล้วแต่งนิราศพระประธมไว้

ท่านศรีศรัทธา ซ่อมพระประธม

ท่านศรีศรัทธาทรงเล่าถึงการซ่อมพระธาตุหลวงขนาดสูงใหญ่ที่ “ขอมเรียกพระธม” อยู่กลางเมือง “นครพระกฤษณ์” ไว้ในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย

เหตุการณ์ตอนนี้มีความสำคัญ จึงต้องแยกประเด็นพิจารณาอย่างละเอียดดังต่อไปนี้

นครพระกฤษณ์ คือ-นครไชยศรี

ในจารึกวัดศรีชุมกับจารึกวัดเขากบ ท่านศรีศรัทธาเรียกสถานที่แห่งหนึ่งว่า “นครพระกฤษณ์”

ไมเคิล ไรท์ เสนอไว้เป็นคนแรกว่า “นครพระกฤษณ์” หมายถึงเมืองโบราณที่นครไชยศรี (หรือเมืองนครปฐมโบราณ) อำเภอนครไชยศรี จังหวัดนครปฐม

พระกฤษณ์ หรือพระกฤษณะ มีประวัติซับซ้อนหลายสำนวน แต่มักอธิบายกันว่าเป็นพระวิษณุนารายณ์อวตารปางที่ 8 แล้วภายหลังได้เป็นกษัตริย์ครองเมือง “ทวารกา” หรือ “ทวารวดี” อยู่ริมทะเลทางฟากตะวันตกของอินเดีย

ในพระคัมภีร์มหาภาควัตปุราณะ มีนิทานเรื่องกังสะวธะว่าด้วยพระกฤษณะเมื่อยังเป็นหนุ่มชื่อ “พาลกฤษณ์” ได้ฆ่าพ่อชื่อ “กังสะ” (บางสำนวนว่าฆ่าปู่หรือตา) ซึ่งสอดคล้องกับนิทานท้องถิ่น เรื่องพระประธมหรือพระปฐมเจดีย์และเมืองนครไชยศรีหรือนครปฐมโบราณ รวมทั้งมีอยู่ในพงศาวดารเหนือคือเรื่องพระยากงพระยาพาน

ชื่อพระยากงคือ “กังสะ” หรือ “กงส์” ส่วนพระยาพานก็คือ “พาลกฤษณ์” หรือ “พาล” ดังมีเรื่องพระยากงอยู่ในพระราชพงศาวดารเหนือและในนิทานท้องถิ่น

เมืองนครไชยศรี

แม้โครงเรื่องหลักที่ว่าลูกฆ่าพ่อจะมีในสังคมสมัยโบราณทั่วไปหลายบ้านหลายเมือง แต่ร่องรอยของเรื่องพระยากงพระยาพานกับเรื่องพระกฤษณะก็สอดคล้องกันทั้งโครงเรื่องหลักและชื่อตัวละคร จนถึงสมญาเมืองคือนครพระกฤษณ์

ร่องรอยเหล่านี้น่าจะแสดงว่านครพระกฤษณ์ในจารึกวัดศรีชุมของท่านศรีศรัทธาเป็นแห่งเดียวกันกับบริเวณที่ประดิษฐานพระสถูปสูงใหญ่คือพระประธมหรือพระปฐมเจดีย์ แล้วมีผู้รู้แปลงเรื่องพระกฤษณะมาผูกเป็นนิทานท้องถิ่น เล่าสืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน (บางทีผู้รู้คนนั้นอาจเป็นท่านศรีศรัทธาก็ได้ ใครจะรู้?)

บริเวณดังกล่าวคือเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่เรียกกันทุกวันนี้ว่า นครชัยศรี หรือ นครปฐมโบราณ เมื่อหลายปีมาแล้วรองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิ โภดม สำรวจพบว่าเมืองที่มีขนาดใหญ่โตที่สุดในบรรดาเมืองโบราณบนภาคพื้นสยามประเทศก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา และมีอายุเก่าแก่ถึงสมัยทวารวดีเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 12 (หลัง พ.ศ. 1100 ลงมา) มีความมั่งคั่งและรุ่งเรืองที่สุดในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ความมั่งคั่งของเมืองนครไชยศรีแห่งนี้มาจากการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับต่างประเทศมีอายุสืบเนื่องต่อมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 17 (หลัง พ.ศ. 1600) หลังจากนั้นก็หมดความสำคัญจนร้างไป

รองศาสตราจารย์ ดร.ธิดา สาระยา แห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่าเมืองนครชัยศรีแห่งนี้ เป็นเมืองสำคัญของแคว้นหรือรัฐทวารวดี อันเป็นรัฐในลุ่มน้ำลำคลอง (Riverine state) ที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายและมีอำนาจทางทะเล (Mari time State)

ยังไม่พบหลักฐานว่าเมืองโบราณแห่งนี้มีชื่อเดิมว่าอย่างไร? แต่รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เชื่อว่าเมืองนี้มีชื่อในจดหมายเหตุจีนของหลวงจีนอี้-จิง เมื่อหลัง พ.ศ. 1100 ว่า “หลังยะสิว” หรือ “หลังเกียจู”

ครั้นถึงแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยาโปรดให้ยกบ้านท่านาเป็นเมือง แล้วเรียกชื่อใหม่ว่า “นครไชยศรี”

ชื่อนครไชยศรีอาจจะเกี่ยวข้องกับตำนานพระประโทนเจดีย์ที่ว่า “ท้าวศรีสิทธิชัยพรหมเทพ มาแต่เมืองมโนหนต่อแดนเมืองยศโสธร” เป็นผู้สร้างเมืองนี้ กับตำนานสิงหนวัติเรื่องพระเจ้าไชยศิริ (โอรสพระเจ้าพรหม) และเรื่องท้าวแสนปมที่ยกย่องกันว่าเป็นต้นวงศ์พระเจ้าอู่ทอง

แต่น่าประหลาดที่ตำนานบางฉบับ เช่นฉบับพระยาราชสัมภารากรและฉบับตาปะขาวรอดเรียกชื่อว่า “เมืองศรีวิไชย”

ขอมเรียกพระธม คือ-พระปฐมเจดีย์

ท่านศรีศรัทธาบอกไว้ในจารึกวัดศรีชุมว่าพระธาตุหลวงเมืองนครไชยศรี หรือ “นครพระกฤษณ์” ที่ทรงซ่อมแปลงนั้น “ขอมเรียกพระธม”

ขอม

คำว่า “ขอม” ในสมัยแรกๆ ไม่ใช่ชื่อชนชาติ แต่มีความหมายทางวัฒนธรรม

จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายว่าชื่อขอม ในพงศาวดารมอญเมื่อราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 หมายถึงชาวแคว้นละโว้อโยธยาบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสอดคล้องกับจารึกวัดศรีชุมที่ระบุชื่อ “ขอมสบาดโขลญลำพง” อันหมายถึง บุคคลในสังกัดแคว้นละโว้ซึ่งตำนานมักเรียกแคว้นกัมโพชที่มีความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิดกับอาณาจักรกัมพูชา

พระธม

คำว่า “พระธม” มาจากภาษาเขมรหมายถึงใหญ่โต ยังมีร่องรอยความใหญ่โตมโหฬารอยู่ในหนังสือนิราศพระประธมของสุนทรภู่ว่า

ครั้นถึงวัดพระประธมบรมธาตุ   สูงทายาทอยู่สันโดษบนโขดเขิน

แลทะมึนทึนเทิ่งดังเชิงเทิน   เป็นโขดเนินสูงเสริมเขาเพิ่มพูน

สุนทรภู่พรรณนาอีกครั้งหนึ่งว่า

แล้วกราบลาพระประธมบรมธาตุ   เลียบลีลาศแลพินิจทุกทิศา

เห็นไรไรไกลสุดอยุธยา   ด้วยสุธาถมสูงที่กรุงไกร

ที่อื่นเตี้ยเรี่ยราบดังปราบเรี่ยม   ด้วยยืนเยี่ยมสูงกว่าพฤกษาไสว

โอ้เวียงวังยังเขม้นเห็นไรไร   แต่สายใจพี่เขม้นไม่เห็นทรง

ประเด็นสำคัญตรงนี้ก็คือแท้ที่จริงแล้วชื่อ “พระประธม” ในสมัยหลังๆ มีความต่อเนื่องมาจากชื่อ “พระธม” ที่หมายถึงพระเจดีย์มีขนาดใหญ่โตตามคำบอกเล่าของท่านศรีศรัทธานั่นเอง

ชื่อเจดีย์ “พระประธม” มีคู่มากับเจดีย์ “พระประโทน” ที่อยู่กลางเมืองโบราณที่นครไชยศรี ดังนิราศพระประธมของสุนทรภู่วรรคหนึ่งว่า “มิได้ชวนเจ้าไปชมประธมประโทน” แล้วเรียกติดปากชาวบ้านสืบมาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ตำนานหรือนิทานพระประธมกับพระประโทนก็เป็นเรื่องเดียวกันกับเรื่องพระยากง-พระยาพาน ดังกวีสมัยต้นรัตนโกสินทร์บรรยายไว้ เช่น

หมื่นพรหมสมพัตสรหรือเสมียนมี กวีศิษย์สุนทรภู่ ในสมัยรัชกาลที่ 3 บรรยายไว้ในนิราศพระแท่นดงรังว่า

พระประทมของบรมกษัตริย์สร้าง   เป็นพระปรางค์ใหญ่โตรโหฐาน

สูงเท่านกเขาเหินเกินทยาน   พระยาพานก่อสร้างไว้ล้างกรรม

เธอหลงฆ่าบิตุรงค์ทิวงคต   เขารู้หมดเรื่องความไม่งามขำ

เธอทำผิดคิดเห็นไม่เป็นธรรม   จึงกลัวกรรมก่อสร้างพระปรางค์ทอง

แต่สุนทรภู่เล่านิทานเรื่องพระประธมและพระประโทนไว้อย่างละเอียด ในนิราศพระประธมดังต่อไปนี้

ด้วยเดิมเรื่องเมืองนั้นถวัลยราชย์    เรียงพระญาติพระยากงสืบวงศา

เอาพานทองรองประสูติพระบุตรา   กระทบหน้าแต่น้อยน้อยเป็นรอยพาน

พอโหรทายร้ายกาจไม่พลาดเพลี่ยง   ผู้ใดเลี้ยงลูกน้อยจะพลอยผลาญ

พระยากงส่งไปให้นายพราน   ทิ้งที่ธารน้ำใหญ่ยังไม่ตาย

ยายหอมรู้จู่ไปเอาไว้เลี้ยง    แกรักเพียงลูกรักไม่หักหาย

ใครถามไถ่ไม่แจ้งให้แพร่งพราย   ลูกผู้ชายชื่นชิดไม่ปิดบัง

ครั้นเติบใหญ่ได้วิชาตาปะขาว   แกเป็นชาวเชิงพนมอาคมขลัง

รู้ผูกหญ้าผ้าพยนต์มนต์จังงัง   มีกำลังลือฤทธิ์พิสดาร

พระยากงลงมาจับก็รับรบ   ตีกระทบทัพยันถึงชนสาร

ฝ่ายท้าวพ่อมรณาพระยาพาน   จึงได้ผ่านภพผดุงกรุงสุพรรณ

เข้าหาพระมเหสีเห็นมีแผล   จึงเล่าแต่ความจริงทุกสิ่งสรรพ์

เธอรู้ความถามไถ่ได้สำคัญ   ด้วยคราวนั้นคนเขารู้ทุกผู้คน

ครั้นถามไถ่ยายหอมก็ยอมผิด   ด้วยปกปิดปฏิเสธซึ่งเหตุผล

เธอโกรธาฆ่ายายนั้นวายชนม์   จึงให้คนก่อสร้างพระปรางค์ประโทน

แทนคุณตามความรักแต่หักว่า   ต้องเข่นฆ่ากันเพราะกรรมเหมือนคำโหร

ที่ยายตายหมายปักเป็นหลักประโคน   แต่ก่อนโพ้นพ้นมาเป็นช้านาน

จึงสำเหนียกเรียกย่านบ้านยายหอม   ด้วยเดิมจอมจักรพรรดิอธิษฐาน

ครั้นเสร็จสรรพกลับมาหาอาจารย์   เหตุด้วยบ้านนั้นมีเนินศีลา

จึงทําเมรุเกณฑ์พหลพลรบ   ปลงพระศพพระยากงพร้อมวงศา

แล้วปลดเปลื้องเครื่องกษัตริย์ขัตติยา   ของบิดามารดรแต่ก่อนกาล

กับธาตุใส่ในตรุบรรจุไว้   ที่ถ้ำใต้เนินพนมประธมสถาน

จึงเลื่องลือชื่อว่าพระยาพาน   ผู้สร้างชานเชิงพนมประธมทอง

นอกจากนั้นชาวบ้านแถบนั้นยังมี เพลงฉ่อยเล่าเรื่องพระยากงพระยาพานว่า

สร้างพระปฐมสูงเท่านกเขาเหิน ผู้คนยืนเดิน มากมาย  สร้างพระประโทนสร้างไว้เป็นจอม สร้างให้ยายหอม ที่แกเลี้ยงไว้ เมื่อพระปฐมละลายไปเป็นหน้ากลอง พระยาพานถึงจะต้อง เกิดได้

ต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ยังทรงพระผนวชได้เสด็จไปนมัสการพระสถูปใหญ่ที่เรียกพระประธมนี้หลายครั้ง ทรงพระราชดำริว่าเป็นพระเจดีย์ยอดปรางค์ตอนหนึ่งกับฐานล่างกลมเป็นรูประฆังอีกตอนหนึ่ง บรรดาราษฎรเรียกพระประธม แต่ทรงเห็นว่าจะไม่ถูกต้อง เพราะทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสว่าเป็นมหาเจดีย์ใหญ่กว่าพระเจดีย์ในประเทศสยามทุกๆ แห่ง ทั้งทรงเลื่อมใสอีกว่าเป็นของเก่าที่มีมาช้านาน ก่อนพระเจดีย์อื่นใดในสยามประเทศ จึงทรงเรียกชื่อว่า “พระปฐมเจดีย์”

แต่สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีลายพระหัตถ์ไว้ในสาส์นสมเด็จ (ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2478) ว่าพระประธมกับพระประโทนเป็นคำเขมรคือ พระธมหมายถึงพระเจดีย์ใหญ่ ส่วนพระโทนหรือพระโทล หมายถึงพระเจดีย์แข็งแรงหรือมั่นคง แต่เขมรอ่านตัว พ. ออกเสียง ป. จึงเป็นประธมกับประโทนหรือประโทล

เรื่องนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีลายพระหัตถ์ไว้ใน สาส์นสมเด็จ (ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2478) ว่าชื่อที่ถูกต้องคือ “พระปฐมเจดีย์” สมดังพระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 4 แล้วทรงแย้งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ว่า คำว่า พระประธมเกิดจากสำเนียงพวกมอญกับพวกเขมรเรียกแปร่งไปจากพระปฐม

เมื่อไม่นานมานี้ ไมเคิล ไรท์ เสนอคำอธิบายว่า “นครพระกฤษณ์” กับธาตุหลวงที่ “ขอมเรียกพระธม” ในจารึกวัดศรีชุมนั้น แท้ที่จริงคือเมืองนครไชยศรี กับพระประธมหรือพระปฐมเจดีย์นั่นเอง

สรุปแล้วจะเห็นว่าชื่อ “พระปฐมเจดีย์” ไม่มีร่องรอยดั้งเดิม แต่เป็นพระราชดำริของรัชกาลที่ 4 ที่ทรงวินิจฉัยด้วยพระองค์เอง แต่ชื่อ “พระประธม” มีร่องรอยเก่าแก่อยู่ในจารึกวัดศรีชุม แล้วต่อเนื่องมาถึงปากชาวบ้านจนกระทั่งหนังสือนิราศสมัยต้นรัตนโกสินทร์ซึ่งสอดคล้องกับตำนาน และนิทานท้องถิ่นด้วย

เพราะฉะนั้นชื่อ “พระธม” หรือ “ประธม” ที่หมายถึงพระเจดีย์ใหญ่จึงควรถูกต้อง

ขอมเรียกพระธม

ที่จารึกวัดศรีชุมระบุว่า “ขอมเรียกพระธม” จึงน่าจะหมายถึงชาวแคว้นละโว้อโยธยา เรียกพระธาตุหลวงองค์นั้นตามภาษาเขมรว่า “พระธม” ที่หมายถึงพระสถูปใหญ่โตมโหฬารกว่าองค์อื่นใดในละแวกที่ราบลุ่มนั้น

ที่พระธาตุหลวงองค์นี้มีขนาดใหญ่โตมโหฬารนับเป็นเรื่องปกติของเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่พบทั่วๆ ไปคือมีศาสนสถานขนาดใหญ่โตและมีความสำคัญตั้งอยู่นอกเมือง ดังสถูปที่ “ขอมเรียกพระธม” องค์นี้ตั้งอยู่นอกเมืองนครไชยศรีห่างไปทางด้านตะวันตกราว 2 กิโลเมตร และอาจจะเรียกกันทั่วไปว่า “พระธม” สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยทวารวดีแล้ว

พระธาตุหลวงหรือเจดีย์ที่ “ขอมเรียกพระธม” ซึ่งท่านศรีศรัทธาทรงรวบรวม “คนฝูงดี” ไปซ่อมแปลงเป็นแบบลังกานี้ ต่อมาเรียกกันทั่วไปว่า “พระประธม” (แล้วมีผู้ถูกนิทานว่าพระเจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นสวมพระแท่นที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาบรรทม (เข้านิพพาน) จึงสร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้นใหม่เป็นสัญลักษณ์)

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้เรียกชื่อใหม่ว่า “พระปฐมเจดีย์”

ซ่อมแปลงธาตุหลวง “พระธม”

ราวหลัง พ.ศ. 1600 เมืองนครไชยศรีโบราณแห่งนี้เริ่มหมดความสำคัญ ทำให้ไม่มีผู้มีอำนาจทำนุบำรุง พระธาตุหลวงจึงปรักหักพังลง (เรื่องนี้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ผู้เคยเป็นแม่กองปฏิสังขรณ์ พระปฐมเจดีย์มีบันทึกเรื่องพระปฐมเจดีย์ก่อนปฏิสังขรณ์ไว้ว่า รัชกาลที่ 4 เคยเสด็จไปทอดพระเนตรซากพระเจดีย์ร้างองค์นี้หลายครั้ง แล้วทรงมีพระราชดำริมีความตอนหนึ่งว่า “ที่เนินใหญ่เป็นกองอิฐหักลงมา ได้ชันสูตรขุดลงไปดูลึกสองศอกสามศอกบ้าง พบอิฐยาวศอกหนึ่ง หน้าใหญ่สิบสองนิ้ว หน้าน้อยหกนิ้วเป็นพื้นอยู่ พิเคราะห์ดูเห็นว่าจะเป็นองค์พระเจดีย์เดิมจะหักพังลงมา”)

ท่านศรีศรัทธาจะต้องรู้จักพระธาตุหลวงองค์นี้เป็นอย่างดีตั้งแต่อยู่สระหลวงสองแคว และอาจจะเคยเสด็จมานมัสการเมื่อนานมาแล้วด้วยซ้ำไป เพราะดูเหมือนท่านจะมีการวางแผนซ่อมแปลงพระธาตุหลวงองค์นี้ล่วงหน้าไว้แล้วตั้งแต่ประทับอยู่ลังกา ดังที่ทรงเล่าไว้ในจารึก

ท่านศรีศรัทธาเลื่อมใสพระพุทธศาสนาในลังกา ซ่อมเจดีย์ในลังกามาก็หลายองค์ย่อมจะทรงคุ้นกับแบบแผนพระเจดีย์อย่างลังกา จึงเชื่อได้ว่าท่านศรีศรัทธาซ่อมแปลงเจดีย์แบบทวารวดีให้เป็นแบบลังกา

มีพระบรมราชวินิจฉัยของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ว่าหลังจากพระเจดีย์องค์เดิมชำรุดลงแล้ว จึง “มีผู้ศรัทธามาเกลี่ยอิฐให้เป็นเกาะขึ้น แล้วมาก่อเป็นพระเจดีย์กลมขึ้นอีกคราวหนึ่งเหมือนอย่างพระเจดีย์ในเกาะลังกา” ทั้งนี้ก็เพราะรัชกาลที่ 4 ทอดพระเนตรซากเดิมก่อนที่จะมีการปฏิสังขรณ์เป็นพระปฐมเจดีย์อย่างที่เห็นทุกวันนี้

ต่อมาพระสถูปแบบลังกาที่ท่านศรีศรัทธาทรงซ่อมแปลงไว้ต้องชำรุดลง อีกถึงขนาดยอดพังทลายลงมา จึงมีผู้ศรัทธาซ่อมแปลงใหม่โดยเปลี่ยนส่วนบนเป็นรูปพระปรางค์ตั้งซ้อนสถูปแบบลังกา (ที่ท่านศรีศรัทธาทำไว้) ขึ้นไป ซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะทำขึ้นสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา โดยมีเค้ามูลอยู่ที่สถูปจำลองของเดิมกับภาพเขียนจำลองสถูปองค์เดิมอยู่ที่พระปฐมเจดีย์และรวมทั้งเค้ามูลองค์เจดีย์พระประโทนด้วย

จากร่องรอยดังกล่าวจะเห็น ว่าถ้ายกพระปรางค์ออกไป ส่วนที่เหลือเป็นรูปสถูปลอมฟางแบบลังกา ก็น่าจะเป็นพระธาตุหลวงที่ท่านศรีศรัทธาทรงซ่อมแปลงนั่นเอง

แต่รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ตั้งข้อสังเกตว่าทั้งสถูปลอมฟางกับพระปรางค์อาจเป็นสิ่งที่ท่านศรีศรัทธาบูรณะไว้ก็ได้

พระสถูปลอมฟางที่มียอดเป็นพระปรางค์ตามที่ท่านศรีศรัทธาซ่อมไว้นี้เอง เป็นพระสถูปที่สุนทรภู่ไปนมัสการดังกลอนนิราศพระประธมบรรยายว่า “พระปรางค์ใหญ่เยี่ยมฟ้าสุธาธาร” และอีกตอนหนึ่งว่า

ครั้นถึงวัดพระประธมบรมธาตุ   สูงทายาทอยู่สันโดษบนโขดเขิน

แลทะมึนทุนเทิ่งดังเชิงเทิน   เป็นโขดเนินสูงเสริมเขาเพิ่มพูน

ประกอบก่อย่อมุมมีซุ้มมุข   บุดีบุกบรรจบถึงนภศูล

เป็นพืดแผ่นแน่นสนิททั้งอิฐปูน   จงเพิ่มพูนพิสดารอยู่นานครัน

สร้างวัดซ่อมพระพุทธรูป

นอกจากซ่อมแปลงพระธาตุหลวงที่ขอมเรียกพระธมแล้ว ท่านศรีศรัทธายังสร้างวัดกับซ่อมพระพุทธรูปเก่าแก่ที่ชำรุดไว้ที่นั้นด้วย

ดังได้กล่าวมาแต่แรกแล้วว่าเมืองนครไชยศรีมีขนาดใหญ่โตที่สุดและมั่งคั่งรุ่งเรืองที่สุดในสมัยนั้น ทั้งเป็นเมืองที่ยกย่องพระพุทธศาสนา จึงมีพุทธศิลป์มากมายก่ายกอง ครั้นบ้านเมืองร่วงโรยไปไม่มีผู้ดูแลวัดวาอาราม บรรดาพุทธศิลป์ทั้งหลายย่อมปรักหักพังไปด้วยโดยทิ้งร้างไว้กลางป่ารกชัฏ

ท่านศรีศรัทธาย่อมเห็นซากพระพุทธรูปปรักหักพังเป็นจำนวนมาก จึงระดมผู้คนฝูงดีไปขนมาซ่อมให้คืนดีแล้วประดิษฐานไว้ในมหาพิหารหรือในวัดที่สร้างขึ้นใหม่นั้น

แสดงว่าครั้งนั้นมีพระภิกษุสงฆ์พำนักประจำอยู่แล้ว ดังสุนทรภู่บรรยาย ว่า “เห็นห้องหับลับลี้เป็นที่สงฆ์ เที่ยวธุดงค์เดินมาได้อาศัย” และ…

โบสถ์วิหารท่านสร้างแต่ปางก่อน   มีพระนอนองค์ใหญ่ยังไม่หมอง

หลับพระเนตรเกศเกยเขนยทอง   ดูผุดผ่องพูนเพิ่มเติมศรัทธา

รัชกาลที่ 4 ปฏิสังขรณ์เป็น “พระปฐมเจดีย์”

บริเวณเมืองนครไชยศรีมิได้ร้างไม่มีผู้คนอาศัยเสียเลย เพียงแต่ผู้คนลดน้อยลงมากกว่าที่เคยมีมาก่อนเท่านั้นเอง จึงยังมีผู้คนบางกลุ่มเดินทางไปนมัสการสถูปธาตุหลวงพระประธมอยู่เสมอๆ ดังที่ท่านศรีศรัทธาไปซ่อมแปลงพระธาตุหลวงนี้ แล้วสร้างมหาพิหารรวมทั้งซ่อมพระพุทธรูปไว้ด้วย แสดงว่ามีพระสงฆ์จำพรรษาหรือบ้างก็เดินทางไปจำศีลภาวนาอยู่ที่นั้นเนืองๆ

ครั้นถึงสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงฟื้นฟูเมืองนครไชยศรีขึ้นใหม่ ทำให้มีผู้คนผ่านไปมามากขึ้นซึ่งแม้จะไม่มากนัก แต่ก็มีไม่ขาด สืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์จึงมีเจ้านายและขุนนางเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปนมัสการพระประธมและพระประโทนดังนิราศของเสมียนมีและสุนทรภู่ที่ยกตัวอย่างมาก่อนแล้ว

ขณะที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ยังทรงพระผนวชได้เสด็จไปนมัสการพระสถูปใหญ่ที่เรียกพระประธมนี้หลายครั้ง แล้วทรงเลื่อมใสว่าเป็นของเก่าที่มีมาช้านานก่อนพระเจดีย์อื่นใดในสยามประเทศ จึงทรงเรียกชื่อว่า “พระปฐมเจดีย์” ไม่ควรที่จะทิ้งให้รกร้างอยู่ จึงได้ถวายพระพรทูลขอให้รัชกาลที่ 3 ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์

แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระดำรัสว่า “เป็นของอยู่ในป่ารก จะทำขึ้นก็เห็นไม่เป็นประโยชน์อันใดนัก”

เมื่อเสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็นรัชกาลที่ 4 แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ขึ้นใหม่โดยก่อเป็นสถูปทรงกลมครอบคลุมพระเจดีย์องค์เดิม (ตามแบบที่เห็นและเป็นอยู่ทุกวันนี้) แต่การก็ยังไม่สำเร็จทั้งหมดในรัชกาล

ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นเสวย จึงโปรดให้ปฏิสังขรณ์ต่อไปจนสำเร็จบริบูรณ์

เพราะฉะนั้นสุนทรภู่จึงไม่มีโอกาสไปนมัสการ “พระปฐมเจดีย์” แต่สุนทรภู่ไปนมัสการสถูป “พระประธม” ตั้งแต่ก่อน จะเป็น “พระปฐมเจดีย์”

อ่านเพิ่มเติม :


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ตุลาคม 2565