ข้อสันนิษฐานใหม่ ยอดพระปฐมเจดีย์องค์เดิมอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

 

สนามหญ้าด้านหลังศาลาสำราญมุขมาตย์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นที่ตั้งของสถูปศิลาสมัยทวารวดีขนาดสูงราว 4 เมตร องค์ระฆังของสถูปเป็นหม้อน้ำปูรณฆฏะ ปากหม้อต่อด้วยก้านฉัตร รองรับฉัตรเป็นแผ่นซ้อนลดหลั่นกันคล้ายปล้องไฉน ขึ้นไปอีกเป็นหม้อปูรณฆฏะใบเล็ก ที่ปากหม้อรองรับบัวคลุ่ม และยอดดอกบัวตูม มีจารึก เย ธมฺมา อักษรปัลลวะ ภาษาบาลี ที่ก้านฉัตร บ่งบอกว่าสร้างขึ้นในนิกายเถรวาท

สถูปนี้ย้ายมาจากระเบียงคดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม (ข้อมูลจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เลขทะเบียน ล4348 ประวัติพบที่พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม) เป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์ของสถูปในสถาปัตยกรรมของมอญโบราณซึ่งแทบไม่เหลือให้เห็นในสภาพสมบูรณ์ ซึ่งแต่เดิมเคยเชื่อกันว่าเป็นสถูปขนาดเล็กที่สร้างขึ้นเป็นเอกเทศ

แต่ในที่นี้เห็นว่าเป็นแค่เพียงแค่องค์ประกอบหนึ่งของสถูปขนาดใหญ่ซึ่งพังทลายไปแล้ว ดังข้อสังเกตต่อไปนี้

  1. สถูปขนาดเล็กทรงหม้อปูรณฆฏะที่พบว่ามีจารึกคาถาเย ธมฺมา น่าจะเคยใช้เป็นยอดของสถูปใหญ่มาก่อนจะหักพังลง เช่น สถูปดินเผาที่ได้จากวัดพระงาม จ.นครปฐม หรือพบที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี คล้ายกับยอดสถูปศิลาจากศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเคยเป็นส่วนยอดของสถูปใหญ่มาก่อน จึงอนุมานได้ว่าสถูปศิลาจากพระปฐมเจดีย์น่าจะเป็นส่วนยอดของสถูปใหญ่
  2. สถูปสัมฤทธิ์ไม่ทราบที่มา ซึ่งแต่เดิมอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย แล้วนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร น่าจะจำลองแบบมาจากสถูปขนาดใหญ่อันเป็นสถาปัตยกรรมมอญโบราณ องค์ระฆังเป็นทรงหม้อ ปูรณฏะขนาดใหญ่ ตั้งบนฐานทรงกระบอก ปากหม้อรองรับฉัตรแบบปล้องไฉนและปลีสูง ซึ่งยังทำหน้าที่เป็นก้านของฉัตรชั้นเดียวที่รองรับสถูปทรงหม้อปูรณฆฏะองค์น้อย อันประกอบด้วยปลียอดและดอกบัวตูมที่ปลายปลี ส่วนยอดตรงนี้ดูคล้ายคลึงกับสถูปศิลาจากพระปฐมเจดีย์อยู่มาก

คำถามที่ตามมาก็คือถ้าสถูปศิลาองค์นี้ซึ่งมีความสูงราว 4 เมตร เคยเป็นส่วนยอดสุดของสถูปใหญ่มาก่อน ย่อมหมายความว่ายอดของสถูปใหญ่ที่รองรับสถูปศิลาจะต้องแข็งแรงใหญ่โตมิใช่น้อย ประกอบกับเมื่อพิจารณาจากสถานที่สุดท้ายซึ่งพบสถูปศิลา คือ ระเบียงคดพระปฐมเจดีย์ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่สถูปศิลาองค์นี้ จะเคยเป็นส่วนยอดของพระปฐมเจดีย์องค์เดิมมาก่อน

สถูปศิลาขณะเก็บรักษาไว้ที่ลานประทักษิณพระปฐมเจดีย์ [ภาพจากหนังสือ “โบราณคดีเมืองนครปฐม : การศึกษาอดีตของศูนย์กลางแห่งทวารวดี” โดย ดร. สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ เอื้อเฟื้อภาพ)]
สถูปศิลาขณะเก็บรักษาไว้ที่ลานประทักษิณพระปฐมเจดีย์ [ภาพจากหนังสือ “โบราณคดีเมืองนครปฐม : การศึกษาอดีตของศูนย์กลางแห่งทวารวดี” โดย ดร. สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ เอื้อเฟื้อภาพ)]

เมื่อยอดของพระปฐมเจดีย์องค์เดิมหักพังลงตามกาลเวลา สถูปศิลาดังกล่าวก็ร่วงหล่นลงมากองที่พื้นซึ่งคงไม่ไกลจากฐานพระปฐมเจดีย์องค์เดิมมากนัก กระทั่งมีการปฏิสังขรณ์ก่อรูปพระปฐมเจดีย์ใหม่ให้เป็นทรงลังกาครอบองค์เดิม ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 จึงมีผู้เก็บรวบรวมมาไว้ที่ระเบียงคดพระปฐมเจดีย์ (ซึ่งน่าจะเป็นบริเวณส่วนฐานหรือลานประทักษิณของพระปฐมเจดีย์เดิม) ก่อนจะย้ายมายังบ้านหลังใหม่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จนทุกวันนี้

(จาก เพจ ห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom ขอขอบพระคุณแอดมินเพจห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ ที่อนุญาตให้นำบทความเรื่องนี้มาลง)