เปิดประวัติ “วัดศรีสุพรรณ” วัดโบราณอายุเก่าแก่กว่า 500 ปี แห่งเมืองเชียงใหม่

พระธาตุเจดีย์ วัดศรีสุพรรณ ขณะสภาพสมบูรณ์ และขณะล้มเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 (ภาพจาก เฟซบุ๊กเพจ วัดศรีสุพรรณ ถนนวัวลาย -Wat Srisuphan Silver Temple)

จากกรณีพระธาตุเจดีย์ของ “วัดศรีสุพรรณ” อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พังถล่ม เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 นั้น จากรายงานของผู้เชี่ยวชาญพบว่า เนื่องจากฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา มีน้ำฝนไหลซึมเข้าไปด้านใน ประกอบกับสภาพพระธาตุเจดีย์องค์เก่าที่ถูกสร้างครอบไว้ผุพังตามกาลเวลา จึงเป็นเหตุให้เกิดการทรุดตัวและพังถล่มลงในที่สุด

ตามประวัติของวัดศรีสุพรรณ เป็นวัดที่มีอายุมากกว่า 500 ปี ถือเป็นวัดที่เก่าแก่มากที่สุดวัดหนึ่งในตัวเมืองเชียงใหม่ โดยปรากฏหลักฐานประวัติการก่อสร้างวัดใน “จารึกวัดศรีสุพรรณ”

ข้อความจารึกด้านที่ 1 กล่าวถึงเจ้าเมืองเชียงใหม่และพระราชมาดาได้อัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐาน ณ มหาวิหารให้ชื่อว่า “ศรีสุพรรณอาราม” เพื่อถวายพระกุศลแด่เจ้าแผ่นดินสองพระองค์ จากนั้นได้นิมนต์มหาเถรญาณรัตนจากวัดหมื่นล้านให้มาอยู่เป็นอาทิสังฆนายกในอารามแห่งนี้

ส่วนจารึกด้านที่ 2 กล่าวถึงการสร้างพระอุโบสถและประดิษฐานพระธาตุในมหาเจดีย์ โดยบรรทัดที่ 5-6 ระบุว่า “ในปีกัดไส้เดือนอาษาฒ ไทยว่าเดือน 8 โหราออก 11 ค่ำ วันพุธ ไทยเต่าสัน” ซึ่งตรงกับวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2052 ในสมัยพญาแก้วหรือพระเมืองแก้วปกครองเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. 2038-2068)

โดยสรุปประวัติแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2043 พระเมืองแก้ว กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ และพระนางสิริยสวดี พระราชมารดา โปรดเกล้าฯ ให้มหาอำมาตย์ชื่อ เจ้าหมื่นหลวงจ่าคำ นำพระพุทธรูปทองสำริดองค์หนึ่งมาประดิษฐานและสร้างวัดชื่อว่า “วัดศรีสุพรรณอาราม” ภายหลังเรียกสั้น ๆ ว่า “วัดศรีสุพรรณ” ได้รับวิสุงคามสีมาจากพระเมืองแก้ว และอาราธนาพระสงฆ์ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. 2052

มีเรื่องเล่าสืบต่อกันว่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นยึดวัดศรีสุพรรณเป็นที่ตั้งฐานทัพ ใช้หอไตรของวัดเป็นกองบัญชาการรบกับกองทัพพันธมิตร จนพระเณรต้องหนีไปอยู่ที่อื่น และได้มีการจับเชลยศึกจำนวนมากมาทรมานภายในวัด ครั้นเมื่อฝ่ายพันธมิตรส่งกำลังทางอากาศเข้าโจมตีฐานที่มั่นกองทัพญี่ปุ่นที่วัดศรีสุพรรณ ศาสนสถานเสียหายย่อยยับ แต่เป็นเรื่องแปลกที่พระพุทธภายในพระอุโบสถ มิได้รับความเสียหาย มีเพียงรอยแฉลบของกระสุนที่ไหล่ขวาและเข่าซ้ายเท่านั้น ชาวบ้านจึงเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธปาฏิหาริย์”

สำหรับพระธาตุเจดีย์องค์ที่ล้มลงมานั้นตั้งอยู่หลังพระวิหาร เป็นพระธาตุเจดีย์ก่ออิฐถือปูนแบบล้านนา องค์ระฆังทรงกลมตั้งบนฐานดอกบัวคว่ำบัวหงายแปดชั้นแปดเหลี่ยม ตั้งบนเรือนธาตุรองรับเป็นทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้ 36 ทั้งนี้ พระธาตุเจดีย์องค์นี้ได้รับการปฏิสังขรณ์มาแล้วหลายครั้ง ทำให้รายละเอียดบางอย่างถูกปรับไปตามแต่ละยุคสมัยที่มีการปฏิสังขรณ์

ด้านศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะผู้เชี่ยวชาญศิลปะล้านนา ให้ความรู้เกี่ยวกับพระธาตุเจดีย์วัดศรีสุพรรณ เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กเพจ “ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร” เอาไว้ดังนี้

“ประวัติการสร้างเจดีย์ระบุไว้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมในรัชสมัยพระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิ (พระเมืองแก้ว) ราว พ.ศ. 2048 อย่างไรก็ตาม หลักฐานทางด้านรูปแบบและการปรากฏร่องรอยของงานสร้างที่ใหม่กว่า รวมไปถึงรูปแบบศิลปะของศิลปวัตถุที่พบบรรจุอยู่ภายในบางส่วนแล้ว ทำให้เข้าใจได้ว่าเจดีย์องค์นี้ตามที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นงานซ่อมสร้างในรุ่นหลัง อาจเป็นราวสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือสมัยการบูรณะของครูบาศรีวิชัย ซึ่งเป็นการก่อเจดีย์องค์ใหม่ครอบทับเจดีย์รุ่นแรก

ทั้งนี้ อิฐของเจดีย์องค์เดิมอาจอยู่ในสภาพผุพังอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อมีการสร้างครอบทับลงไป จึงเป็นการเพิ่มน้ำหนัก และกักเก็บความชื้นไว้ กระตุ้นให้เกิดการเปื่อยของอิฐเก่า เมื่อมีฝนตกลงมาปริมาณมาก ๆ อิฐก็อุ้มน้ำไว้ ประกอบกับสภาพที่ไม่สมบูรณ์จึงพังทลายลงมาตามที่เห็น

สำหรับพระพุทธรูปที่พบภายในองค์เจดีย์ที่พังทลายลงมา ส่วนหนึ่งพิจารณาดูแล้วน่าจะมีอายุเก่าแก่ไปถึงสมัยของพระเมืองแก้วตามที่ประวัติการสร้างระบุไว้จริง เพราะบางองค์ก็อยู่ในสภาพที่พระเศียรหักหาย แต่ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นงานที่บรรจุใหม่ในการสร้างครั้งหลัง ดังนั้น มีความเป็นไปได้ว่า เจดีย์องค์นี้อาจจะเคยพังทลายหรืออยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์มาก่อนหน้านี้แล้ว จึงได้มีการสร้างครอบทับใหม่ตามรูปแบบที่เห็นในปัจจุบัน ก่อนจะพังทลายลงอีกครั้ง”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วัดศรีสุพรรณ จ.เชียงใหม่ สถาปัตยกรรมล้านนาโบราณ, ข่าวสด (11/07/2544). น.32

ชมความงดงามศิลปะล้านนาอันเก่าแก่แห่ครัวทานงาน500ปีวัดศรีสุพรรณเชียงใหม่, ข่าวสด. (25/03/2543) น.24

สืบศิลป์แผ่นดินล้านนาสร้างอุโบสถเงินหลังแรกของโลก, มติชน (19/01/2549). น.34

จารึกวัดศรีสุพรรณ, จาก <https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/16441?fbclid=IwAR2UU1iQhI_g3uE3YVVj7iUF_-X7hCyVu0OhnTktZJtCdYf6kF8lXgG72Xg>

ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, จาก <https://web.facebook.com/ArthistorySilpakornUniversity/posts/3332162550395259>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 กันยายน 2565