“ไพร่” ลุ่มน้ำมูลตอนบน-หัวเมืองโคราช ตกทุกข์ได้ยาก เมื่อถูกเกณฑ์ไปรบใน “ศึกฮ่อ”

ช้างบรรทุกปืนใหญ่ ในกองทัพไทย เมื่อคราวสงครามปราบฮ่อ

แถบลุ่มแม่น้ำมูลตอนบนโดยเฉพาะเมืองนครราชสีมาและบริวาร มีความสำคัญมากในฐานะที่เป็นหัวเมืองสำคัญในดินแดนที่ราบสูงภาคอีสานของสยาม ไพร่ในแถบนี้จึงมักถูกเกณฑ์มีทั้งการเกณฑ์แรงงานคนและการเกณฑ์ที่เป็นทรัพย์สิ่งของตลอดจนสัตว์พาหนะอยู่เสมอ

สาเหตุคือระยะทางที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ และบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนเป็นศูนย์กลางของการติดต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับหัวเมืองต่าง ๆ ในบริเวณที่ราบสูงทั้งหมด ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองโดยเฉพาะภาวะสงครามหรือการกบฏต่าง ๆ ในหัวเมืองลาว เช่น ศึกฮ่อในตอนต้นของสมัยรัชกาลที่ 5, วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 และการปราบกบฏผู้มีบุญในปี พ.ศ. 2445 ไพร่ในบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนจะถูกเกณฑ์ในราชการสงครามทุกครั้ง 

ไพร่ในหัวเมืองบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนบนคือหัวเมืองที่ขึ้นกับเมืองนครราชสีมานั้น จะถูกเกณฑ์แรงงานตลอดจนทรัพย์สิ่งของหนักกว่าหัวเมืองอื่น ๆ ในบริเวณภาคอีสาน การเกณฑ์แรงงานแต่ละครั้งนั้นก็สร้างภาระให้ไพร่เหล่านี้ไม่น้อย

ดังในศึกฮ่อ เมื่อกรุงเทพฯ เกณฑ์ไพร่แถบลุ่มแม่น้ำมูลไปใช้ในราชการ ชุมพล แนวจำปา อธิบายเรื่องนี้ไว้ในบทความ “ประวัติศาสตร์ความลำเค็ญของชาวนาบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบน” (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2540) ดังนี้ 


 

ในปี พ.ศ. 2418 ได้เกิดศึกฮ่อขึ้นในดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และนำไปสู่การเสียดินแดนสิบสองจุไทในปี พ.ศ. 2431 ให้กับฝรั่งเศส สยามได้เข้าสู่สงครามกับพวกฮ่อหลายครั้ง ไพร่ในบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนภายใต้การนำของเจ้าเมืองนครราชสีมานับว่ามีบทบาทสำคัญ โดยร่วมกับกองกำลังจากกรุงเทพฯ และจากหัวเมืองลาวอื่น ๆ ภาระในการถูกเกณฑ์ของไพร่บริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนครั้งนี้นับว่าหนักและยาวนานมากกว่าการเกณฑ์ในราชการสงครามหรือราชการเร่งด่วนครั้งใด ๆ ไร่นาต้องถูกปล่อยให้รกร้างเป็นจำนวนมาก ไพร่ส่วนหนึ่งต้องหนีกลับมาเนื่องจากเกิดไข้ระบาดอย่างหนัก และที่เสียชีวิตไปก็มีเป็นจำนวนไม่น้อย

เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2418 เมื่อทางกรุงเทพฯ ทราบข่าวศึกฮ่อทางชายแดนด้านหนองคายนั้น เมืองนครราชสีมาได้รับคำสั่งให้เกณฑ์คนเตรียมพร้อมไว้เผื่อฮ่อจะยกมาตีด้านหนองคายและโพนพิสัย ให้พระยานครราชสีมาเบิกเงินต่อเสนาเมืองนครราชสีมาซื้อข้าวใส่ฉางขึ้นไว้ให้พอจับจ่ายราชการ และโปรดฯ ให้เกณฑ์คนตามระทาง ทั้งนายและไพร่กองละ 10 คนต่อทาง 1 วัน ตั้งแต่เมืองนครราชสีมาลงไปจนถึงเขตแดนเมืองสระบุรี

ครั้นเมื่อภาวะสงครามตึงเครียดมากขึ้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์กองทัพเมืองนครราชสีมา 5,000 คน พร้อมด้วยเครื่องศาสตราวุธและกระสุนดินดำให้พร้อมเสร็จ แล้วให้พระยานครราชสีมารีบยกขึ้นไปเมืองหนองคายให้ทันท่วงที แล้วให้พระยาปลัด พระบรมราชบรรหารผู้อยู่รักษาเมือง เกณฑ์ไพร่และเครื่องศาสตราวุธกระสุนดินดำเตรียมไว้กับบ้านเมือง

กองทัพของเมืองนครราชสีมาและเมืองขึ้นยกขึ้นไปถึงหนองคาย ขณะที่พวกฮ่อยกมาถึงเวียงจันท์ เจ้าเมืองเวียงจันท์และกรมการแตกทัพลงมา ทัพพระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร) และทัพพระยานครราชสีมา จึงช่วยกันสกัดมิให้ราษฎรแตกหนีไปมากนัก อย่างไรก็ตาม ในการทำสงครามกับฮ่อครั้งนั้น ปรากฏว่าไพร่ของกองทัพเมืองนครราชสีมาได้สร้างวีรกรรมในการรบ โดยที่พวกฮ่อกลับไปเวียงจันท์ “แต่ไพร่พลเมืองนครราชสีมาและพวกลาว” ก็ถูกยิงตายไปหลายคน

การทัพศึกกับพวกฮ่อมิได้ยุติเพียงเท่านั้น พวกฮ่อได้กลับเข้ามามีอิทธิพลที่เวียงจันท์และหนองคายอีก และกองทัพเมืองนครราชสีมาซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการทัพศึกครั้งนี้ก็ต้องรับภาระหนักต่อไป ถึงกระนั้นในปี พ.ศ. 2426 เจ้าเมืองนครราชสีมาก็ยังถูกตำหนิจากทางกรุงเทพฯ ว่าละเลยในราชการทัพ ไม่เจ็บร้อนด้วยราชการแผ่นดิน และให้พระยานครราชสีมาแต่งกรมการออกตรวจข้าวในแขวงเมืองนครราชสีมาและเมืองขึ้นว่ามีอยู่มากน้อยเท่าใด ให้เกณฑ์ขอแรงลงไปรับราชการในกองทัพครั้งนี้ให้สิ้นเชิง ให้ได้จำนวนช้าง 200 เชือก ม้า 200 ตัว และเกณฑ์ไพร่พล เครื่องศาสตราวุธ เกวียน โค โคต่าง ทำบัญชีสำรวจเตรียมการไว้ให้พร้อม แล้วเร่งรีบมีใบบอกแต่งกรมการคุมช้างและหมอควาญ สำหรับช้างลงไปให้ถึงเมืองสระบุรีในเดือน 12 ขึ้น 2-3 ค่ำ ให้ทันกำหนดให้ได้

แล้วให้พระยานครราชสีมาเร่งเอาเงินแทนส่วยต่าง ๆ ในเมืองนครราชสีมาและเมืองขึ้น จัดซื้อเสบียงอาหารขึ้นฉางไว้ให้พอจ่ายราชการ และให้เกณฑ์คนปลูกตำหนักรับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอซึ่งสำเร็จราชการกรมมหาดไทย แม่ทัพใหญ่ในเมืองนครราชสีมาแห่งหนึ่ง ปลูกทำเนียบรับพระยาราชวรานุกูล ทัพหน้าแห่งหนึ่ง กับตำหนักที่ประทับ ทำเนียบพักร้อนพักแรมตามระยะทางและกลางทาง ต่อเขตแขวงเมืองบัวชุม เมืองสระบุรี พระยากลาง พระยาเย็นตลอดขึ้นไปสิ้นเขตแขวงเมืองนครราชสีมาและเมืองขึ้น

ภาระต่างมากมายดังกล่าวล้วนแล้วตกเป็นของไพร่ซึ่งเป็นแรงงานผลิตที่สำคัญ และในการเกณฑ์ต่าง ๆ นั้นยังมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงเกิดขึ้นด้วย เพราะทางกรุงเทพฯ ได้ย้ำอยู่เสมอถึงการฉ้อโกง ให้กำชับห้ามปรามกรมการผู้ซึ่งจะไปสำรวจเกณฑ์ช้างนั้น อย่าให้คิดหาผลประโยชน์ลงเอาเงินกับเจ้าของช้าง หรือปิดบังช้าง ม้า โค เกวียน ไว้เป็นอันขาด ถ้ามีโจทก์มาว่ากล่าวว่ากรมการคนใด ลงเอาเงินแก่เจ้าของช้าง ปิดบังช้างไว้ หรือราษฎรชาวนาคนใดเสือกไสช้างไปให้เป็นที่เสียราชการ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ถ้าพิจารณาได้ความจริงจะให้ทำโทษตามอาญาศึกโดยแรง

การเกณฑ์ในภาวะสงครามเช่นนี้เป็นไปอย่างหนักหน่วงและเด็ดขาดมาก และแม้ว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงจะถูกพิจารณาโทษอย่างเด็ดขาด และรุนแรงก็ตาม แต่การทุจริตในการเกณฑ์ดังกล่าวก็ยังมีอยู่ทั่วไป นายทิม สุขยาง ซึ่งได้ติดตามไปในราชการทัพเพื่อปราบฮ่อในปี พ.ศ. 2418 เขียน “นิราศหนองคาย” ได้พรรณนาถึงการทุจริตของพวกข้าราชการในการซื้อเสบียงกองทัพ แขวงเมืองนครราชสีมา โดยเที่ยวอ้างอาญาทัพเก็บข้าวสารจากชาวนาทุกครัวเรือนแทนที่จะซื้อ แล้วนำข้าวสารนั้นมาขายแก่กองทัพ นายทิมได้เขียนไว้ในนิราศหนองคายว่า

นอกจากการทุจริตของข้าราชการในการซื้อเสบียงกองทัพแล้ว ยังมีการทุจริตในการเกณฑ์พาหนะจากราษฎรเพื่อใช้ในกองทัพ ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นที่เมืองนครราชสีมา ในนิราศหนองคาย นายทิม เขียนไว้ว่า

นอกจากความเดือดร้อนจากการถูกเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ยังปรากฏว่าไพร่พลที่ยกไปคราวนั้น เกิดโรคระบาดขึ้นในหมู่ทหารล้มตายเป็นอันมาก และหลังจากนั้นเพียง 2-3 เดือน เมื่อกองทัพยกขึ้นไปถึงเขตเมืองหนองคายริมฝั่งแม่น้ำโขง ทหารที่นำไปทั้งหมดก็เหลือเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ประกอบกับเสบียงอาหารก็ขัดสน ทางกองทัพจึงขออนุญาตกลับลงมาโคราชเพื่อทำไร่นาหาเสบียงอาหารอีก ซึ่งปรากฏว่าไม่โปรดฯ อนุญาต และบอกว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด

ในภาวะสงครามฮ่อครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนและหัวเมืองลาวอื่น ๆ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกณฑ์คนและทรัพย์สิ่งของนั้น หัวเมืองในบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนรับภาระมาก เนื่องจากเป็นกำลังสำคัญของราชการครั้งนี้ และผู้ที่รับภาระมากก็คือไพร่และครอบครัวซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการผลิต ต้องถูกเกณฑ์ไปใช้ในราชการสงคราม ต้องถูกเกณฑ์ทั้งกำลังคนและทรัพย์สิ่งของ การทำมาหากินตลอดจนสินค้าต่าง ๆ ลดจำนวนลง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 กันยายน 2565