เจ้าศรีอโนชา หนึ่งในเบื้องหลังการสถาปนาราชวงศ์จักรี

บริเวณวังหน้า (พระราชวังบวรสถานมงคล) ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, โรงละครแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทความหนึ่งใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมีนาคม 2545 ชื่อ “ความรักเพื่อแผ่นดิน จากล้านนา ถึงท่าพระจันทร์” กล่าวถึงเรื่องราวของ “เจ้าศรีอโนชา” ที่เกี่ยวข้องกับการสถาปนาราชวงศ์จักรี

เจ้าศรีอโนชาผู้นี้เป็นใคร? มาจากไหน? และมีบทบทอะไรในเหตุการณ์ปราบดาภิเษกต้นกรุงรัตนโกสินทร์? ขอเชิญหาคำตอบกับ สมโชติ อ๋องสกุล ผู้เขียนบทความในครั้งนั้น ดังต่อไปนี้


 

ศึก “ฟื้นม่าน” ที่เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2317

หลังจากเชียงใหม่ตกเป็นของพม่าตั้งแต่สมัยพระเจ้าบุเรงนอง เมื่อ พ.ศ. 2101 เป็นต้นมา มีความพยายามเคลื่อนไหวเพื่อ “ฟื้นม่าน” (ต่อต้านพม่า) ภายในเชียงใหม่เป็นระยะ ซึ่งประสบผลสำเร็จบ้างในช่วงพม่ามีปัญหาการเมืองภายใน เช่น ช่วง พ.ศ. 2270-2306 ภายใต้การนำของเทพสิงห์แห่งเมืองยวม แต่ไม่นานพม่าก็มาปราบได้อีก จนถึง พ.ศ. 2317 กองทัพหลวงจากกรุงธนบุรีได้ร่วมกับขุนนางในท้องถิ่น นำโดยพญาจ่าบ้าน (บุญมา) เจ้ากาวิละพร้อมน้องๆ ก็สามารถขับพม่าออกจากเชียงใหม่ได้สำเร็จ เมื่อคืนวันเพ็ญเดือน 5 (เหนือ) ตรงกับคืนวันเสาร์ที่ 14 มกราคม-15 มกราคม พ.ศ. 2317 พม่าต้องถอยกำลังไปตั้งมั่นที่เชียงแสน

ถวายนัดดานารีครั้งที่หนึ่ง

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บันทึกเรื่องราวหลังฟื้นม่านในเชียงใหม่สำเร็จแล้วตอนหนึ่ง ดังนี้ “วันพฤหัสบดี เดือนยี่ แรม 3 ค่ำ เสด็จอยู่ ณ พระตำหนักริมน้ำเมืองเชียงใหม่ ทรงตรัสว่า พระยาลาวมีชื่อสวามิภักดิ์เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ได้ทำราชการช่วยรบพม่ามีความชอบ ทรงพระราชทานพระแสงปืนยาว ปืนสั้น หอก เสื้อผ้าแก่พระยาจ่าบ้านให้ถือพระราชอาชญาสิทธิ์เป็นพระยาวิเชียรปราการครองเมืองเชียงใหม่…ในวันนั้นพระยาวิเชียรปราการถวายนัดดานารีเป็นบาทบริจาริกาผู้หนึ่ง” (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี และจดหมายเหตุรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรี ประชุมพงศาวดาร เล่ม 40 กรุงเทพฯ : คุรุสภา 2512 หน้า 67-68)

แต่พระเจ้าตากไม่ทรงรับเพราะถือว่า “เป็นการพรากลูกเขา” จึงพระราชทานคืนพร้อมเงิน 1 ชั่ง และผ้า 1 สำรับ ดังพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี บันทึกว่า “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงิน 1 ชั่ง ผ้าสำรับหนึ่งแล้วส่งตัวนารีผู้นั้นคืนให้พระยาวิเชียรปราการ” (เรื่องเดียวกัน หน้า 68)

ถวายนัดดานารีครั้งที่สอง

ทัพหลวงกรุงธนบุรีออกเดินทางจากเชียงใหม่มาถึงลำปางซึ่งมีพระยากาวิละรอรับเสด็จ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีบันทึกว่า “ครั้นรุ่ง ณ วันอังคาร เดือนยี่ แรม 8 ค่ำ ยกจากห้างฉัตรมาประทับแรมลำปาง เพลาบ่าย 4 โมงเสด็จมานมัสการลาพระบรมธาตุ บูชาด้วยดอกไม้ทอง เงิน แล้วโปรยเงินพระราชทานแก่ลาวเป็นอันมาก…อนึ่งพระยากาวิละถวายนัดดานารีเป็นบาทบริจาริกาผู้หนึ่ง” (เรื่องเดียวกัน หน้า 69)

พระเจ้าตากโปรดให้นำนัดดานารีคืนพระยากาวิละ และพระราชทานเงิน 1 ชั่งพร้อมผ้าสำรับหนึ่ง เพราะไม่ประสงค์ “พรากลูกเขา” เหมือนดังได้พระราชทานให้พระยาวิเชียรปราการที่เชียงใหม่ แต่พระยากาวิละและพระยาอุปราชาแห่งลำปางกราบทูลดังบันทึกว่า “บัดนี้เจ้าตัวก็สมัคร บิดามารดาญาติพี่น้องทั้งปวงก็ยอมพร้อมกันอันจะเป็นโทษด้วยพลัดพรากจากบิดามารดา” พระเจ้าตากจึงทรงรับไว้ ดังพระราชพงศาวดาร บันทึกว่า “ทรงพระดำริเห็นว่าตั้งใจสวามิภักดิ์เป็นแท้แล้ว จึงพาตามเสด็จฯ มาด้วย” (เรื่องเดียวกัน หน้า 69-70) นัดดานารีจากนครลำปางก็เข้าสู่ราชสำนักกรุงธนบุรี ตามความประสงค์ของเจ้ากาวิละแห่งนครลำปาง

ความรักของแม่ทัพเอก

ช่วงเวลาที่พระยากาวิละรับเสด็จทัพหลวงแห่งกรุงธนบุรี และถวายนัดดานารีเป็นบาทบริจาริกานั้น แม่ทัพเอกแห่งกรุงธนบุรีคือเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ได้มีโอกาสเห็นโฉมของแม่นางศรีอโนชาน้องสาวของพระยากาวิละรู้สึกต้องใจ จึงให้คนมาทาบทามขอนาง ดังพงศาวดารบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า

“เจ้าพระยาสุรสีห์ก็มีใจรักใคร่ยังนางศรีอโนชา ราชธิดาอันเป็นน้องเจ้ากาวิละ จึงใช้ขุนนางผู้ฉลาดมาขอเจ้าทั้ง 7 พระองค์พี่น้อง มีเจ้าชายแก้ว พระบิดาเป็นประธาน รำพึงเห็นกัลยาณมิตรอันจักสนิทต่อไปภายหน้า ก็เอายังนางศรีอโนชาถวายเป็นราชเทวีแห่งเจ้าพระยาเสือคือเจ้าพระยาสุรสีห์นั้นแล” (ดูพงศาวดารสุวรรณหอคำนครลำปาง ตำนานเจ้าเจ็ดพระองค์ กับหอคำมงคล ฉบับสอบทานเอกสารโดยศักดิ์ รัตนชัย อ้างใน ทิว วิชัยขัทคะ “พระอัครชายาเธอเจ้าศรีอโนชา” เจ้าหลวงเชียงใหม่ กรุงเทพฯ : คณะทายาทสายสกุล ณ เชียงใหม่ 2539 หน้า 226)

เมื่อเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ได้รับเจ้าศรีอโนชาจากเจ้าชายแก้วผู้เป็นพ่อและเจ้ากาวิละผู้เป็นพี่พร้อมเจ้านายแห่งนครลำปาง แล้วก็ “เสด็จเมือ” ทางเมืองสวรรคโลก กลับกรุงธนบุรี ให้เจ้าศรีอโนชาเป็นท่านผู้หญิงแห่งบ้านปากคลองบางลำพู

กล่าวได้ว่า หลังศึกฟื้นม่านที่เชียงใหม่ปี พ.ศ. 2317 สาวงามจากนครลำปางก็ได้ติดตามเป็นบาทบริจาริกาจอมทัพแห่งกรุงธนบุรี 1 คน และติดตามเป็นเทวีของแม่ทัพแห่งกรุงธนบุรีอีก 1 คน โดยทั้งสองต่างได้ “ถวายงาน” เพื่อแผ่นดิน สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกรุงธนบุรีกับล้านนา เรื่องราวของนัดดานารีผู้ติดตามพระเจ้าตากไม่พบบันทึกสืบต่อ แต่เรื่องราวของเจ้าศรีอโนชามีปรากฏอย่างโดดเด่นยิ่ง

ความรักที่บ้านปากคลองบางลำพู

ในสมัยกรุงธนบุรี บ้านพักหรือตำหนักของเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) แม่ทัพเอกอยู่ที่ปากคลองบางลำพู ใกล้วัดตองปุหรือวัดชนะสงคราม เจ้าศรีอโนชาได้อยู่ที่บ้านพักแห่งนี้และมีธิดาด้วยกัน 1 คนเมื่อ พ.ศ. 2320 ต่อมาเมื่อบิดาได้รับสถาปนาเป็นวังหน้า จึงเรียกธิดาว่าเจ้าฟ้าพิกุลทอง

ความรักแผ่นดินของคนยวน ปากเพรียว

หลักฐานร่วมสมัยกรุงธนบุรีคือ จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี กล่าวว่าปลายรัชกาลกรุงธนบุรี “เกิดโกลี”

เมื่อธิดา (เจ้าฟ้าพิกุลทอง) อายุได้ 4 ขวบนั้น กรุงธนบุรีก็มีเหตุร้าย ขณะแม่ทัพใหญ่ 2 พี่น้องคือเจ้าพระยาจักรี และเจ้าพระยาสุรสีห์ไปราชการทัพที่เวียดนามและเขมร พระยาสรรค์และพวกยกกำลังเข้าปล้นบ้านพระยาสุริยอภัย หลานพระเจ้ากรุงธนบุรีเพื่อก่อกบฏ

หนังสือไทยรบพม่าได้บันทึกบทบาทของเจ้าศรีอโนชา หรือเจ้าศิริรดจาตอนนี้ว่า “เมื่อเกิดการรบขึ้นนั้น เจ้าศิริรดจาท่านผู้หญิงของพระยาสุรสีห์อยู่ที่บ้านปากคลองบางลำพู รู้ข่าวว่าข้าศึกมาปล้นบ้านเจ้าพระยาสุริยอภัย จึงคิดอ่านกับพระยาเจ่ง พระยาราม นายกองมอญเพื่อปราบกบฏ” ขณะเดียวกัน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ บันทึกว่า “เจ้าศรีอโนชาได้ใช้ดั้น (จดหมาย) ไปหาชาวปากเพรียวเข้ามา แล้วมีอาชญาว่าคันสูยังอาษาพระยาสิงพระยาสันได้ ในเมื่อกูมีชีวิต กูบ่หื้อสูได้ทำการบ้านเมือง จะหื้อสูสะดวกค้าขายตามสะบายเท่าเว้นไว้แต่การกูต้องประสงค์ว่าฉันนั้น ชาวปากเพรียวอาษาเข้ายับ (จับ) เอาพระยาสิงห์พระยาสันได้แล้วฆ่าเสีย

เจ้าศรีอโนชา ‘หงายเมือง’ ได้ไว้แล้วไปเชิญเจ้าพระยาจักรี พระยาสุรสีห์สองพี่น้องเข้ามาผ่านพิภพ ขึ้นเสวยราชย์…” (ดูตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี 2539 หน้า 118)

ปากเพรียวในเอกสารก็คือสระบุรี

ชาวปากเพรียวที่อาสาเข้ามาคงเป็นคนลาวหรือยวนในสังกัดของเจ้าศรีอโนชา จึงสามารถมีจดหมาย (ดั้น) สั่งมาปราบกบฏได้ บริเวณปากเพรียวนี้ต่อมาเป็นที่อยู่ของชาวยวนเชียงแสนจำนวนมากหลังจากพระเจ้ากาวิละพี่ชายของเจ้าศรีอโนชานำทัพตีเชียงแสนแตกเมื่อ พ.ศ. 2347

หลักฐานดังกล่าวแสดงถึงบทบาทของเจ้าศรีอโนชาในฐานะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของการสถาปนาราชวงศ์จักรีอย่างชัดเจน

ความรักที่วังหน้า ท่าพระจันทร์

หลังจากปราบดาภิเษกและสถาปนาราชวงศ์จักรีเมื่อ พ.ศ. 2325 แล้ว เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ก็สถาปนาเป็นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ส่วนพระอนุชาคือเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ก็ได้รับสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (พ.ศ. 2286-2346)

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทโปรดฯ ให้สร้างพระราชวังบวรฯ อย่างใหญ่โตบน “พื้นที่ท่าพระจันทร์” ประกอบด้วยพระราชมณเฑียรที่ประทับสร้างเป็นวิมาน 3 หลัง พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระพิมานดุสิดา โปรดให้สร้างพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ที่ทรงนำไปจากเชียงใหม่

โปรดให้สร้างทุกอย่างในวังหน้าบนพื้นที่ท่าพระจันทร์ เหมือนในวังหลวง เช่น โรงช้าง โรงม้า ศาลาลูกขุน คลัง วัดพระแก้ววังหน้า ฯลฯ ต่างกันตรงที่ตำหนักข้างในวังหลวงสร้างด้วยไม้ แต่ตำหนักชั้นในวังหน้าสร้างเป็นตึก โดยเฉพาะตำหนักของเจ้าศิริรดจาหรือเจ้าศรีอโนชาพระอัครชายา สร้างเป็นหมู่ตำหนักยกหลังคาเป็นสองชั้น และตำหนักของเจ้าฟ้าพิกุลทองพระราชธิดา รอบวังหน้ามีป้อม 10 ป้อม เช่น ป้อมพระจันทร์ ป้อมพระอาทิตย์ ฯลฯ

นอกกำแพงพระราชวังบวรฯ ด้านใต้มีวัดแห่งหนึ่ง เดิมชื่อวัดสลัก กรมพระราชวังบวรฯ โปรดให้เรียกว่าวัดนิพพานราม และเมื่อจะทำสังคายนาพระไตรปิฎกใน พ.ศ. 2331 โปรดให้เรียกว่าวัดพระศรีสรรเพชญ์ ทรงออกผนวชวัดนี้ 15 วัน

ปี พ.ศ. 2345 พม่ายกทัพมาตีเชียงใหม่ กรมพระราชวังบวรฯ ยกทัพขึ้นปราบ แต่เมื่อถึงเมืองเถิน อาการนิ่วกำเริบ ทรงมอบอำนาจให้กรมพระราชวังหลังคุมทัพแทน แล้วทรงกลับกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2346 และสวรรคตที่พระที่นั่งบูรพาภิมุข พระชนมายุ 60 พรรษา [ดู ม.ร.ว.แสงโสม เกษมศรีและวิมล พงศ์พัฒน์ ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2325-2394) กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี 25215 หน้า 20-21, 34-36]

พระอัครชายาเจ้าศรีอโนชา และพระราชธิดา

หลังจากกรมพระราชวังสุรสิงหนาทสวรรคตแล้ว ไม่พบเรื่องราวของพระอัครชายาเจ้าศรีอโนชา แต่คงอยู่ในพระราชวังบวรฯ จนสิ้นพระชนม์ และคงมีการนำอัฐิมาที่นครลำปาง เพราะปัจจุบันยังมีที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระอัครชายาเจ้าศรีอโนชา ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ส่วนพระราชธิดาคือเจ้าฟ้าพิกุลทอง ได้ทรงกรมเป็นกรมขุนศรีสุนทร เมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2351 และสิ้นพระชนม์เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. 2353 พระชันษา 34 ปี นับเป็นนัดดาของพระเจ้ากาวิละแห่งนครเชียงใหม่

ความรักเพื่อแผ่นดินภาคแรก

พระอัครชายาเจ้าศรีอโนชา “แม่หญิงแห่งล้านนา” ได้สร้างวีรกรรม “หงายเมือง” ให้สองพี่น้องแม่ทัพเอกแห่งกรุงธนบุรีผู้เป็นอดีตขุนนางแห่งกรุงศรีอยุธยาได้ปราบดาภิเษกและสถาปนาราชวงศ์ใหม่ ซึ่งสองพี่น้องผู้เป็น “วังหลวง” และ “วังหน้า” แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตระหนักและยกย่องพระนางจึงเป็นพลังสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสัมพันธ์อันดีระหว่างราชวงศ์จักรีกับตระกูลเจ้าเจ็ดตนแห่งล้านนา ความรักของเจ้าศรีอโนชาจึงเป็นความรักเพื่อแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่ และพิเศษสุดคือเป็นความรักเพื่อสองแผ่นดิน ทั้งแผ่นดินของพ่อแม่พี่น้องคือล้านนา และแผ่นดินของฝ่ายสวามีคือกรุงรัตนโกสินทร์

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กันยายน 2565