ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2542 |
---|---|
ผู้เขียน | สีมา สมานมิตร |
เผยแพร่ |
เมืองลพบุรี เมื่อครั้งสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น มีทุ่งใหญ่ใกล้กำแพงเมืองอยู่ 3 ทุ่ง คือ ทุ่งพรหมาศ ทุ่งฟ้าโรงมัน และทุ่งพุดซ้อน
ทุ่งพรหมาศ [1] อยู่ด้านทิศเหนือของกำแพงเมือง
ทุ่งฟ้าโรงมัน [2] อยู่ทางทิศตะวันตกคนละฝั่งแม่น้ำลพบุรี ตรงข้ามกับพระราชวังพระนารายณ์ราชนิเวศน์
ส่วนทุ่งพุดซ้อนนั้นอยู่ด้านตะวันออกของกำแพงเมือง ไกลจากพระราชวังราว 2 กิโลเมตร ท่านผู้อ่าน ศิลปวัฒนธรรมและชาวลพบุรี คงจะงงๆ กับชื่อทุ่งนี้อยู่ บ้างละครับ อาจตั้งคําถามทำนองนี้ว่า “มีด้วยหรือ” และ “ถ้ามีอยู่ที่ไหน” ผมจะบอกรายละเอียดข้างหน้าโปรดติดตามครับ
เพื่อไม่ให้ท่านผู้อ่านสับสนเสียแต่แรก จึงอยากจะเรียนว่า ผู้เขียนเป็นชาวลพบุรีโดยกำเนิดและเติบโตที่นั่น จนเมื่อวัยหนุ่มปลายๆ จึงจากลาลพบุรีไปอยู่ที่อื่น
แต่ก็มักแวะเวียนไปมาอยู่เสมอ ข้อมูลข่าวสารจากบ้านเกิดก็ติดตามอยู่เนืองๆ ภาพของตัวเมืองพระราชวัง ป้อมกำแพงเมือง ค่าย คู ประตูชัย พระที่นั่งเย็น บ้านหลวงรับราชทูต ปูชนียสถานวัดเก่าโบราณ ภาพในอดีตเหล่านั้นได้ถูกพิมพ์ไว้ในความทรงจําช้านานและก็ยังค่อนข้างแจ่มชัดดีอยู่ครับ
ก่อนที่จะกลับไปยังทุ่งพุดซ้อน เมืองลพบุรี ผมอยากพูดถึงลักษณะและประโยชน์ของทุ่งไกลกำแพงเมือง และปริมณฑลทั้งหลาย ซึ่งคล้ายๆ กันคือ เป็นที่ราบกว้างขวางอยู่ริมพระนครและปริมณฑล ถึงฤดูน้ำหลากน้ำจะท่วมถึง จึงทำนาได้และก็ใช้เล่นเพลงเรือได้ด้วย ถึงฤดูแล้ง ทุ่งมักถูกใช้ประกอบพิธีหลวงต่างๆ และการละเล่นของราษฎรด้วยเช่นเดียวกัน แต่ประโยชน์หลักเลยทีเดียวคือ ทำนาปลูกข้าว
อยุธยา มีทุ่งมากที่สุด เช่น ทุ่งแก้ว ทุ่งขวัญ ทุ่งภูเขาทอง ทุ่งเพนียด ทุ่งมหาพราหมณ์ และทุ่งวัดโพธิ์ เผือก (อยู่ทางทิศเหนือ) ทุ่งลุมพลี และทุ่งประเชด (ทิศตะวันตก) ทุ่งปากกราน (ทิศใต้) และไกลออกไป หน่อยทางอําเภออุทัย (ทิศตะวันออก) ชื่อทุ่งชายเคือง ทุ่งหันตรา และทุ่งตาลาน เป็นต้น
กรุงเทพฯ ก็มีทุ่งเยอะเหมือนกัน ที่รู้จักกันดีก็คือ ทุ่งพระเมรุ ทุ่งส้มป่อย ทุ่งพญาไท ทุ่งวัวลําพอง ทุ่งสองห้อง ทุ่งบางกะปิ ทุ่งบางเขน และทุ่งสีกัน ไกลออกไปอีกก็คือทุ่งรังสิต
ที่ลพบุรี ทุ่งพรหมาศและทุ่งฟ้าโรงมัน ดูจะไม่ต่างจากทุ่งอยุธยาและกรุงเทพฯ คือใช้ปลูกข้าวเป็นหลัก แม้ทุ่งพระเมรุเองก็เคยใช้เพื่อการปลูกข้าวมาก่อน
แต่ทุ่งพุดซ้อน มิได้ใช้เพื่อการปลูกข้าว ชวนให้เข้าใจว่าเป็นทุ่งปลูกไม้พุ่มที่ชื่อว่า “พุดซ้อน” นั่นเอง
พุดซ้อน เป็นไม้พุ่มยืนต้น ดอกสีขาว กลีบซ้อน เกสรสีเหลืองอ่อนอยู่ตรงกลาง คุณสมบัติหลักประการ สําคัญ และเป็นธรรมชาติ คือมีกลิ่นหอมเย็น ละมุนอารมณ์ ดอกไม้สีขาวธรรมชาติย่อมชดเชยความหอมให้เพื่อใช้ล่อแมลง เช่น พุดซ้อน มะลิ และลั่นทม เป็นต้น นิโกลาส์ แชร์แวส นักบวชฝรั่งสมัยสมเด็จพระนารายณ์พูดถึงพุดซ้อนไว้ในจดหมายเหตุของเขาดังนี้
“ดอกพุดซ้อน (poussoune) สีขาว และกว้าง ขนาดดอกกุหลาบใหญ่ๆ ของเรา กลิ่นใกล้เคียงกับดอกจุ้ยเซียน (jouquille) ของเรา ออกในพรรณไม้พุ่ม อันมีใบสีเขียวสดตลอดปี ใบคล้ายใบ fileria แต่กว้างกว่าสักเล็กน้อย พอลมเหนือเริ่มพัด จะเห็นดอกไม้บานสะพรั่งไปทั่วทุกหนทุกแห่ง…”
ลมเหนือของแชร์แวส คือลมหนาวในเมืองไทยที่พัดลงมาจากทางเหนือราวๆ ปลายเดือนตุลาคมหรือต้นเดือนพฤศจิกายน อันเป็นช่วงที่พุดซ้อนผลิดอกขาวดารดาษเต็มทุ่งพุดซ้อน พอดีได้เวลาช่วงออกพรรษา แต่น้ำเดือน 12 ยังทรงอยู่ สมเด็จพระนารายณ์ฯ จะทรงแปรพระราชฐานทางชลมารคจากอยุธยา ขึ้นไปประทับ ณ เมืองลพบุรี เป็นประจํา เป็นที่เข้าใจกันว่า ทรงโปรดดอกไม้และโปรดการปลูกต้นไม้ มีบันทึกในจดหมายฝรั่งว่า ทรงปลูกด้วยพระองค์เองอีกด้วย ในบริเวณพระที่นั่ง [3] ชุกชุมด้วยไม้ดอกไม้พุ่มนานาพันธุ์
ในจดหมายเหตุของนิโกลาส์ แชร์แวส บันทึกไว้อีกตอนหนึ่งว่า
“โดยรอบกำแพงแก้วนี้ สร้างเป็นห้องเล็กๆ ค่อนข้างสะอาด เป็นที่อยู่อาศัยของบรรดามหาดเล็กและทหารยาม ไกลออกไปทางซ้ายมือเป็นแปลงพรรณไม้ดอกที่หายากและที่น่าดูเป็นพิเศษที่สุดในมัธยมประเทศ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงปลูกด้วยพระหัตถ์เอง ครั้นแล้วก็ถึงอุทยานใหญ่ตรงหน้าพระตําหนัก ปลูกต้นส้มใหญ่ มะนาวและพรรณไม้ในประเทศอย่างอื่นอีก มีใบดกหนาทึบ แม้ยามแดดร้อน ตะวันเที่ยงก็ร่มรื่นอยู่เสมอ…มีสิ่งก่อสร้างคล้ายเตาหรือแท่นสําหรับใช้เผาไม้หอม ส่งกลิ่นไปไกลๆ จึงไม่น่าแปลกใจ ว่าเหตุไฉนพระเจ้ากรุงสยาม จึงได้ทรงโปรดพระที่นั่งสําราญของพระองค์นัก”
ชวนให้เข้าใจว่าทรงโปรดดอกพุดซ้อนด้วย และน่าจะทรงมีพระบัญชาให้ปลูกพุดซ้อนเต็มทุ่งใกล้ทะเลชุบศรและใกล้พระที่นั่งเย็น จึงได้เรียกว่าทุ่งพุดซ้อน
ดอกและกลิ่นพุดซ้อน น่าจะเป็นที่สบพระอัธยาศัยและสอดคล้องกับพระบุคลิกภาพของพระองค์ ในจดหมายเหตุฝรั่งระบุว่า ทรงเป็นโรคหืด (asthma) อันเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจและพระหฤทัยของพระองค์ กลิ่นดอกพุดซ้อนคงจะช่วยผ่อนคลายทั้งทางพระอารมณ์และพระวรกายด้วย
สีขาวสะอาดของดอกพุดซ้อน หมายถึงความ สะอาดบริสุทธิ์ของผู้คนในสมัยของพระองค์ที่ทรงปรารถนาโดยเฉพาะผู้มีอํานาจ แย่งชิงกันเป็นศึกภายในไม่หยุดหย่อน ทรงอึดอัดที่ประทับในอยุธยา เมืองลพบุรีมี “สถานที่ตั้งนั้นเป็นชัยภูมิดี อากาศบริสุทธิ์” [4] ในรอบปีหนึ่งประทับที่ลพบุรีนาน 8-9 เดือน โดยประทับที่อยุธยาเพียง 3-4 เดือน และเฉพาะช่วงเข้าพรรษาเท่านั้น อันเป็นช่วงที่ปลอดภัยที่สุดจากการถูกปิดล้อมทำรัฐประหารหรือกบฏ โดยธรรมเนียมเดิมคนไทยจะหยุดหรืองดกิจกรรมอันตรายช่วงเข้าพรรษา เช่น หยุดดื่มสุราหรือทำปาณาติบาต เป็นต้น ทั้งนี้รวมทั้งการทำรัฐประหารปิดล้อมลอบสังหารหรือกบฏไปด้วยเต็มๆ 3 เดือน
ทุ่งพุดซ้อน เป็นที่ราบ ที่ดอน น้ำไม่ท่วม เหมาะกับพุดซ้อน ไม้พุ่มที่ไม่ชอบน้ำท่วมขัง น่าจะเป็นพื้นที่โดยรอบพระที่นั่งเย็น (พระที่นั่งไกรสรสีหนาท หรือไกรสรสีหราช) ทางด้านทิศตะวันตกและด้านทิศใต้
ด้านตะวันตกคือพื้นที่จังหวัดทหารบกด้านเหนือ บริเวณโรงเรียนวัดไก่ หมู่บ้านรอบๆ เจดีย์วัดไก่บริเวณหมู่บ้าน โดยรอบพระที่นั่งเย็น (ด้านตะวันตก) จรดบ้านสะพานอิฐและบ้านหินสองก้อน
ส่วนด้านทิศใต้ คือพื้นที่บริเวณวงเวียนศรีสุริโยทัยถึงวงเวียนสมเด็จพระนารายณ์ฯ บริเวณศาลากลางจังหวัดสนามกีฬาจังหวัด และสนามกอล์ฟทหารบกทั้งหมด จรดริมถนนหน้าโรงพยาบาลประจําจังหวัด
ริมทุ่งพุดซ้อน ด้านตะวันตกจะติดกับกำแพงและคูเมืองชั้นนอกสุด (ชั้นที่ 3) และสระแก้ว มีวัด 3 แห่ง (ล้วนเป็นวัดเก่าสร้างสมัยอยุธยาตอนต้นทั้งหมด) ทอดระยะห่างๆ กัน ตามขอบทุ่งขึ้นไปทางเหนือ คือ
วัดป่าสระแก้ว (วัดชีป่าสิตารามในปัจจุบันอยู่ติดกับสวนสัตว์ลพบุรี)
วัดไก่ (เหลือแต่ซากเจดีย์ริมคลองชลประทาน อยู่เหนือวัดไก่)
วัดซาก (วัดหินสองก้อน อยู่เหนือวัดไก่ไปทางเหนือ ประมาณ 1-2 กิโลเมตร วัดซากนี้เป็นวัดที่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์หรือฟอลคอน ถูกประหารชีวิตที่นี่ครั้งพระเพทราชาทำรัฐประหารปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ)
พื้นที่โดยรวมของทุ่งพุดซ้อนค่อนข้างใหญ่ ส่วนบริเวณทุ่งที่สวยสะพรั่งด้วยพุดซ้อน น่าจะอยู่บริเวณใกล้พระที่นั่งเย็น ขอบทะเลชุบศรด้านใต้ ประมาณว่าจากขอบสระแก้ว [5] ถึงบริเวณประตูช่องกุด (ปากจั่น) คือ บริเวณสนามกอล์ฟทหารบกทั้งหมดนั่นเอง (แฟนกอล์ฟที่นั่น เมื่อขึ้นวงสะวิ่งอยู่แถวๆ นั้นโปรดสูดลมหายใจลึก ก็อาจได้กลิ่นพุดซ้อนหอมเย็นๆ โชยมาบ้างก็ได้ หรือแนะนําผู้จัดการสนามโปรดปลูกไว้สักกอหนึ่งเป็นที่ระลึก ถ้ายังไม่มีนะครับ เป็นเครื่องบอกให้รู้ว่าท่านกําลังเล่นอยู่กลางทุ่งพุดซ้อน ทุ่งประวัติศาสตร์ นะครับ)
สมเด็จพระนารายณ์ฯ เสด็จฯ ผ่านทุ่งพุดซ้อนอยู่เนืองๆ จึงคล้ายเป็นสถานีปลายทาง (terminal) ของพระองค์ก่อนเสด็จไปประทับพักผ่อนพระหทัยและ/หรือว่าราชการ ณ พระที่นั่งเย็น หรือก่อนจะเสด็จเข้าสู่ประตูป่าล่าช้างบริเวณตีนภูเขาเอราวัณในปัจจุบัน (เดิมเขาสํามะลึง) ไปยังเขาหนีบ เขาแก้ว ห้วยซับเหล็ก และภูเขาหนอกวัว
มีบางครั้งที่ทรงใช้ทุ่งพุดซ้อนเป็นท้องพระโรงเปิด หรือ รอยัล โอเพ่น ฮอลล์ เพื่อพระราชทานโอกาสให้แขกชาวต่างประเทศเข้าเฝ้าฯ เฝ้าฯ กลางแดดโล่งแจ้งอย่างนั้นเลยมีชีวิตชีวามาก จดหมายเหตุของแปร์ ตาชารด์ บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า
“พระเจ้าอยู่หัว เสด็จเป็นการด่วนมายังทุ่งพุดซ้อน (Iles Poussoune) เพื่อพระราชทานโอกาสให้นาย เดอ ลาลูแบร์เข้าเฝ้า ซึ่งนายคอนสแตนซ์ [6] เป็นผู้จัดการให้ ก่อนไปเข้าเฝ้า เขาได้ขอให้ข้าพเจ้าไปพบ พร้อมด้วยนายเดฟาร์จ [7] นายดู บรูอ็อง [8] และคณะนายทหารฝรั่งเศสและสยามทุกเหล่ากอง แล้วเราก็เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวพร้อมกันในทุ่งกว้าง ขณะที่พระองค์เสด็จผ่านมา นายทหารทุกคนอยู่บนหลังม้า นายคอนสแตนซ์กับข้าพเจ้าต่างก็ได้ที่นั่งบนหลังช้าง ครั้นพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถึงท้องทุ่ง ก็รับสั่งให้หานาย เดฟาร์จและนายดู บรูอ็อง ทันที…” และอีกตอนหนึ่ง แปร์ ตาชารด์ บันทึกว่า
“พระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จแปรพระราชฐานไปยังทุ่งพุดซ้อน ณ ที่นั้นได้โปรดมีพระราชบัญชากับข้าพเจ้าในวันก่อนคริสต์มาส พระราชทานโอกาสให้ข้าพเจ้าเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในเวลาประมาณเก้านาฬิกา…”
บางทีจะเป็นเพราะตําหนักทะเลชุบศรและทุ่งพุดซ้อนอยู่ใกล้ๆ กัน และความเป็นตําหนักเด่นกว่าด้วย มีวัตถุพยานตําหนักประจักษ์ชัดเจนแก่คนรุ่นหลัง ทุ่งพุดซ้อนจึงคล้ายถูกกลืนหายไปกับกาลเวลา
ทุ่งพุดซ้อนวันนี้ ไม่มีร่องรอยทุ่งเหลืออยู่เลย จะมีก็แต่ดอกพุดซ้อน ซึ่งจะบานในเดือนพฤศจิกายน ดอกสีขาวสวยซ้อนกลีบ กลิ่นหอมเย็นละมุนอารมณ์ ระเริงใจ ฝากถึงกรมศิลปากรจังหวัดลพบุรีด้วยครับว่า ถ้าจะปลูกพุดซ้อนไว้หลายๆ พุ่ม รอบๆ พระที่นั่งเย็น ก็จะได้บรรยากาศดีๆ มากทีเดียวครับ
คลิกอ่านเพิ่ม :
เชิงอรรถ
[1] ทุ่งพรหมาศ เข้าใจว่าหมายถึงชื่อศรเล่มหนึ่งของพระราม และเขียนในปัจจุบันว่า พรหมาสตร์ มีตําบลพรหมาสตร์ และวัดพรหมาสตร์ ริมทุ่งนี้ด้วย
[2] ทุ่งฟ้าโรงมัน ไม่ค่อยแน่ใจในความหมายว่าหมายถึงอะไร น่าจะเป็นทุ่งฟ้าโรมันมากกว่า ฟ้าอาจหมายถึงเจ้าฟ้า หรือเจ้าหาว หรือเพี้ยนเป็นเจ้าเหาก็ได้ โรมันอาจหมายถึงโรม กรุงโรม ซึ่งบาทหลวงตาชารด์ มักเล่าถวายข้อมูลข่าวสารต่างประเทศ โรม/ปารีส ถวายสมเด็จพระนารายณ์ฯ บ่อยๆ ทำให้เกิดโรมันและกลายเป็นโรงมันในที่สุด
[3] หมายถึง พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ เสด็จสวรรคตที่พระที่นั่งนี้ด้วย ตั้งอยู่ในที่รโหฐาน ด้านทิศใต้ของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระนารายณ์ราชนิเวศน์
[4] ดู นิโกลาส์ แชร์แวส ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม สํานักพิมพ์ก้าวหน้า กรุงเทพมหานคร 2506 หน้า 44
[5] สระแก้วที่เห็นตรงวงเวียนศรีสุริโยทัย รูปพานแว่นฟ้าล้อมด้วยคชสีห์แปดตัวนั่นเป็นของใหม่ สระแก้วเก่าสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ อยู่บริเวณสวนสัตว์ลพบุรีปัจจุบัน รูปลักษณ์เดิมเป็นสระสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละประมาณ 300-400 เมตร จุน้ำได้มาก และน้ำใสสะอาดก่อนที่คลองชลประทานจะตัดผ่าน (ประมาณปี 2497) ชุกชุมด้วยไม้น้ำพื้นบ้านและปลากัดไทยพันธุ์ยอดเยี่ยม พอๆ กับปลากัดไทยจากบึงทุ่งฟ้าโรงมันอย่างไรอย่างนั้นทีเดียว
[6] คอนสแตนซ์ คือ คอนสแตนติน ฟอลคอน-พระยาวิชาเยนทร์ เหยี่ยวนกเขาชาวกรีก ผู้บินข้ามทะเลยาวไกล เติบโตมาจากกะลาสีเรือจนมาเป็นใหญ่ในราชสํานักสยาม เขาเป็นคนเฉลียวฉลาด มักใหญ่ใฝ่สูงและทะเยอทะยาน ด้านหนึ่งเขาเป็นคนขยันขันแข็ง กระตือรือร้น คล้ายๆ ข้าราชการอุดมคติ (idealman) สมัยนั้น กระนั้นก็ดี ฟอลคอนก็ติดกับดักของตัวเอง ถูกจับได้และถูกฆ่าตายที่วัดซาก ริมทุ่งพุดซ้อนนั้นเอง
[7] มีฐานะเป็นนายพลเอก คุมทหารฝรั่งเศส รักษาป้อมเมืองบางกอก
[8] มีฐานะเป็นนายพลโท คุมทหารฝรั่งเศส รักษาป้อมเมืองมะริด
เผยแพร่ในระบบอนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กันยายน 2565