พบ “จานพระเจ้าหลุยส์” มรดกแห่งมิตรสัมพันธ์สยาม-ฝรั่งเศส แต่กว่าจะรู้ก็สายไป!

(ซ้าย) จานลายครามพระเจ้าหลุยส์ ผลงานของแบรนารด์ แปร์โรท์ พิพิธภัณฑ์เครื่องแก้ว “คอร์นิง” ประมูลจานใบนี้จากโซเธอบีส์ (ขวา) โกษาปาน ราชทูตไปฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ภาพพิมพ์ทองแดงโดนโนแลง พิมพ์ที่กรุงปารีส เมื่อราวปี พ.ศ. ๒๒๒๙
*บทความนี้ได้ปรับปรุงขึ้นใหม่จากการพิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวจดหมายเหตุไทย ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑, ๒๕๔๗

ในงานประมูลเครื่องแก้วที่บริษัทโซเธอบีส์ (Sotheby’s) กรุงลอนดอน เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รายการลำดับที่ ๑๖๒ เป็นที่จับตาของภัณฑารักษ์ นักสะสม และผู้ที่สนใจในศิลปะเครื่องแก้วเครื่องลายคราม เพราะเป็นจานลายครามหายาก ผลงานชิ้นโบแดงของแบรนารด์ แปร์โรท์ (Bernard Perrot) ช่างทำแก้วนามอุโฆษชาวฝรั่งเศส จานใบดังกล่าวเป็นจานเคลือบสี ลักษณะกลมรี กว้าง ๓๐ เซนติเมตร สูง ๓๗ เซนติเมตร บนจานแสดงพระบรมสาทิสลักษณ์แห่งพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ของฝรั่งเศส (ต่อไปขอเรียกโดยย่อว่า “จานพระเจ้าหลุยส์”) สันนิษฐานว่าทำขึ้นระหว่างปี พ.ศ. ๒๒๒๓-๒๒๒๙ จานใบนี้เพิ่งค้นพบที่กรุงลอนดอน ก่อนหน้านั้น จานพระเจ้าหลุยส์ของแปร์โรท์มีปรากฏหลักฐานอยู่เพียง ๗ ใบในโลก การประมูลครั้งนี้จึงได้รับความสนใจอย่างสูง

ที่น่าสนใจ จานที่เพิ่งปรากฏโฉมอาจเป็น “จิ๊กซอว์” ชิ้นสำคัญ ที่ทำให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อยุธยาที่พร่องนั้นสมบูรณ์ขึ้น ก่อนจะไขปริศนาว่าจานใบนี้เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์อยุธยาอย่างไร ผมขอกล่าวโดยย่อถึงประวัติและผลงานของช่างทำแก้วผู้นี้

Advertisement

แบรนารด์ แปร์โรท์ เกิดที่เมืองอัลแตร์ ประเทศอิตาลี เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๖๒ เป็นบุตรของครอบครัวช่างทำแก้วสำคัญในอิตาลี เขาเป็นผู้สนใจและมีความสามารถในศิลปะแขนงนี้ ต่อมาแปร์โรท์ได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่ฝรั่งเศส ศูนย์กลางของอารยธรรมยุโรปในสมัยนั้น ในปี พ.ศ. ๒๒๐๕ เขาก่อตั้งโรงทำแก้วขึ้นที่ออร์เลองส์ ราว ๑๐๐ กิโลเมตร ใต้กรุงปารีส ๔ ปีถัดมา เขาเปลี่ยนสัญชาติเป็นชาวฝรั่งเศส แปร์โรท์ได้บุกเบิกคิดค้นกรรมวิธีหลอมแก้วให้เป็นรูปร่างต่างๆ การคิดค้นที่สำคัญคือวิธีการหลอมแก้วเพื่อทำรูปปั้นแกะสลัก เหรียญ และจานที่ระลึก ผลงานชิ้นเอกของเขาคือจานพระเจ้าหลุยส์

แต่น่าเสียดายที่ผลงานชิ้นเอกของแปร์โรท์สูญหายไปเกือบหมดสิ้น จานพระเจ้าหลุยส์ที่เหลืออยู่นั้น ส่วนใหญ่เก็บรักษาไว้ในฝรั่งเศส อาทิ พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ (Musee du Louvre) ในกรุงปารีส พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งภูมิภาคออร์เลองส์ (Musee Historique de l”Orleanais) และบริษัทผลิตแก้ว กองปาญญี แซ็งท์ โกแบ็ง (Compagnie Saint-Gobain) มีเก็บรักษาไว้นอกฝรั่งเศสเพียงใบเดียว ที่พิพิธภัณฑ์เครื่องแก้วคอร์นิง (Corning Museum of Glass) สหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันประมูลจานที่เพิ่งค้นพบมาถึง ห้องโถงที่โอ่อ่าของโซเธอบีส์จึงเนืองแน่นไปด้วยภัณฑารักษ์และนักสะสมกระเป๋าหนักจากทั่วทุกมุมโลก

บริษัทประมูลโซเธอบีส์ กรุงลอนดอน

ก่อนการประมูล โซเธอบีส์ได้สร้างความฮือฮาให้แก่วงการนักสะสม ด้วยการเผยโฉมแท่นไม้สำหรับรองจานพระเจ้าหลุยส์ แท่นไม้นี้ทำขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ประดับลวดลายแกะสลัก “มังกรและราชินีพระสมุทร” ซึ่งโซเธอบีส์สันนิษฐานว่าเป็นตราหรือสัญลักษณ์แห่งพระเจ้ากรุงสยาม ข้อสังเกตอีกประการคือ การเคลือบสีของจานมีกลิ่นอายตะวันออก เชื่อว่าทำขึ้นภายหลังที่จานถูกนำออกจากฝรั่งเศส โดยศิลปินที่ไม่คุ้นเคยกับศิลปวิทยาการของตะวันตก ตัวอย่างเช่น ผู้เคลือบไม่ทราบว่าสีสัญลักษณ์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ คือสีเหลือง จึงเคลือบด้วยสีเขียว อนึ่ง จานพระเจ้าหลุยส์ที่ค้นพบก่อนหน้า มีเพียงใบเดียวที่เคลือบสี แต่ก็เพียงเล็กน้อย ไม่แต้มสีสันฉูดฉาดเหมือนจานใบนี้ โซเธอบีส์ลงความเห็นว่าจานใบนี้ “แปลก” ด้วยรูปแบบที่ผสมผสานระหว่างศิลปะตะวันตกและตะวันออก แต่ยังยืนยันว่าเป็นผลงานของแปร์โรท์ และที่น่าพิศวงยิ่งขึ้นคือที่มาของจานใบนี้ เมื่อเจ้าของผู้นำจานออกประมูลได้เผยว่า บิดาของเขาได้มาจากประเทศจีนในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐

ข่าวการประมูลจานพระเจ้าหลุยส์ จากหนังสือพิมพ์ “แอนติกส์ เทรด กาเซ็ท”, ๒๑ สิงหาคม ค.ศ. ๒๐๐๔

จากข้อมูลดังกล่าว โซเธอบีส์สันนิษฐานว่าจานใบนี้น่าจะเป็นเครื่องบรรณาการที่แปร์โรท์มอบให้ออกพระวิสูตรสุนทร หรือที่รู้จักกันในนามโกษาปาน ราชทูตสยามที่ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๒๙ ข้อสันนิษฐานนี้ส่งผลให้โซเธอบีส์ปรับราคาประเมินขึ้นอีกหลายสิบเปอร์เซ็นต์ และในที่สุด พิพิธภัณฑ์เครื่องแก้วคอร์นิงชนะประมูลไปด้วยราคา ๔๐,๐๐๐ ปอนด์ เพิ่ม “ค่าธรรมเนียม” อีก ๒๐ เปอร์เซ็นต์ รวมสนนราคาทั้งสิ้น ๔๘,๐๐๐ ปอนด์ หรือราว ๓,๖๐๐,๐๐๐ บาท เดวิด ไวท์เฮาส์ (David Whitehouse) ผู้บริหารพิพิธภัณฑ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประมูลว่า “เรารู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้จานใบนี้ มันเป็นประจักษ์พยานที่น่าอัศจรรย์ของการพบกันระหว่างตะวันตกและตะวันออกในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗” เขาย้ำทิ้งท้าย “ของเช่นนี้ไม่ใช่หาได้ง่ายๆ”

“แอนติกส์ เทรด กาเซ็ท” (Antiques Trade Gazette) หนังสือพิมพ์สำหรับนักสะสมชาวอังกฤษ ประโคมข่าวการประมูลโดยพาดหัว “ความเกี่ยวข้องกับสยามส่งผลให้จานลายครามหายากมีราคาสูงถึง ๔๐,๐๐๐ ปอนด์” จะเห็นได้ว่า แม้สนนราคาจะสูงลิ่วสักปานใด ก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับผู้ที่ตระหนักถึงความสำคัญของจานใบนี้ ทั้งในเชิงบันทึกประวัติศาสตร์ และคุณค่าทางศิลปะ

 

ไขปมปริศนา “จานพระเจ้าหลุยส์” และประวัติศาสตร์อยุธยา

หลังจากได้อ่านรายงานข่าวดังกล่าว ผมรู้สึกทึ่งกับเรื่องราวความเป็นมาของจานใบนี้ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะถามตนเอง : “เชื่อได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์หรือ ว่าแปร์โรท์มอบจานใบนี้ให้โกษาปานเพื่อนำไปถวายสมเด็จพระนารายณ์” แล้วถ้าเป็นเช่นนั้นจริง “จานใบนี้ไปอยู่ประเทศจีนได้อย่างไร”

ข้อสันนิษฐานของโซเธอบีส์เชื่อถือได้เพียงใด

“ขณะนี้เป็นที่เชื่อว่าแปร์โรท์มอบจานใบนี้ให้แก่ราชทูตของพระเจ้าแผ่นดินสยาม เมื่อครั้งเยือนกรุงปารีส ปี ค.ศ. ๑๖๘๖…ผู้จัดประมูล [โซเธอบีส์] เห็นว่าข้อมูลใหม่มีน้ำหนักมากพอ จึงเห็นสมควรให้ปรับราคาประเมินขึ้นจาก ๓๐,๐๐๐-๔๐,๐๐๐ ปอนด์ เป็น ๔๐,๐๐๐-๖๐,๐๐๐ ปอนด์”

บางท่านอาจคิดว่าโซเธอบีส์ก็ไม่ได้วิเศษอะไร เป็นเพียงบริษัทแห่งหนึ่งที่มีรายได้จากค่าธรรมเนียมการประมูล เขาอาจสร้างข่าวนี้ขึ้น เพื่อใช้อ้างในการปรับราคาประเมิน เพื่อให้ผู้คนฮือฮา แห่มาประมูล เมื่อคนแย่งเสนอราคา สินค้าก็ได้ราคาสูง โซเธอบีส์ยิ้มแป้นเพราะโกยค่าธรรมเนียมอื้อ ภาษาบ้านผมเขาเรียก “เซ็งลี้ฮ้อ”

แต่ผมไม่คิดเช่นนั้น ผมได้ผ่านประสบการณ์การประมูลทั้งที่โซเธอบีส์ กรุงลอนดอน และบริษัทประมูลชั้นนำอีกหลายแห่งในต่างประเทศ ผมรู้ว่าเรื่องแบบนี้เขาไม่ทำ เพราะได้ไม่คุ้มเสีย

ภาพลายเส้นโดยศิลปินนิรนามแสดงการต้อนรับคณะราชทูตสยามที่เมืองท่าแบรสต์ ฝรั่งเศส มิถุนายน ค.ศ. ๑๖๘๖

โซเธอบีส์ เป็นบริษัทประมูลเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๘๗ ตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ที่อยู่ได้จนทุกวันนี้ก็เพราะชื่อเสียงความเชื่อถือที่สั่งสมมากว่า ๒๐๐ ปี หลายท่านยังคงจำได้ว่า เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ภาพวาด “เด็กชายกับกล้องยาสูบ” (Garcon a la Pipe) โดยปีกัสโซ่ จิตรกรเอกของโลก ถูกประมูลไปด้วยราคาสูงถึง ๑๐๔ ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า ๔,๐๐๐ ล้านบาท เป็นภาพวาดที่มีราคาประมูลสูงเป็นประวัติการณ์ และผู้จัดประมูลภาพวาดนี้คือโซเธอบีส์ ซึ่งได้รับค่าธรรมเนียมจากการประมูลร่วม ๒๐ ล้านเหรียญ หรือ ๘๐๐ ล้านบาท!๑๐ บริษัทที่ทำธุรกิจโดยมีรายได้หลักจากค่าธรรมเนียมนั้น อยู่ได้ด้วยความเชื่อถือ เขาคงไม่เอาสิ่งนี้มาแลกกับการสร้างข่าว เพื่อค่าธรรมเนียมเพียงไม่กี่แสนบาทที่เขาหวังจะได้รับจากการประมูลจานพระเจ้าหลุยส์ใบนี้หรอก และเพราะความเชื่อถือที่ลูกค้ามีต่อโซเธอบีส์ ทำให้เขาได้รับเลือกให้เป็นผู้จัดประมูลภาพศิลปะ ๖ ใน ๑๐ ภาพที่มีราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์๑๑ จานพระเจ้าหลุยส์ที่เพิ่งเคาะไปในราคา ๔๐,๐๐๐ ปอนด์ หรือ ๓ ล้านบาท เป็นเรื่องเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับงานศิลปะมูลค่าหลายพันล้านบาทที่เขาจัดประมูลทุกปี ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเห็นว่าโซเธอบีส์คงไม่ด่วนสรุปโดยปราศจากหลักฐาน และเมื่อโซเธอบีส์เชื่อว่าแปร์โรท์มอบจานใบนี้ให้โกษาปาน ผมก็ขอเชื่อตามเขาไว้ก่อน๑๒

และหากจานใบนี้ไม่เคยอยู่ในครอบครองของโกษาปาน ทำไมพิพิธภัณฑ์เครื่องแก้วคอร์นิง ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์เครื่องแก้วชั้นนำของโลก จึงยอมทุ่มเงินหลายล้านบาท เพื่อจานเก่าๆ หน้าตามอมแมมใบนี้ ทำไมผู้บริหารพิพิธภัณฑ์จึงกล่าวว่า “เรารู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้จานใบนี้ มันเป็นประจักษ์พยานที่น่าอัศจรรย์ของการพบกันระหว่างตะวันตกและตะวันออกในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗”

และหากไม่ใช่ ทำไม “แอนติกส์ เทรด กาเซ็ท” หนังสือพิมพ์ชั้นนำในวงการนักเล่นของเก่าเมืองผู้ดี ซึ่งนานปีถึงจะลงเรื่องเกี่ยวกับสยาม ถึงได้เสนอข่าวนี้เสียใหญ่โต๑๓

มีหลักฐานยืนยันไหมว่าโกษาปานเคยพบแปร์โรท์ที่ฝรั่งเศส

ในช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ชาวฝรั่งเศสสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับสยามเป็นอย่างมาก หนังสือเกี่ยวกับสยาม ภาพพิมพ์ และแผนที่สยาม ขายดิบขายดีจนต้องพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง นอกจากนี้ยังมีวารสารชื่อดังหลายฉบับที่นำเสนอข่าวคราวจากสยามอย่างต่อเนื่อง วารสารที่ลงเรื่องเกี่ยวกับสยามมากที่สุดเห็นจะเป็นแมรกูร กาลังต์ (Mercure galant) ซึ่งลงข่าวและบทความเกี่ยวกับสยามตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๒๒๗๑๔ ในระหว่างที่โกษาปานอยู่ฝรั่งเศส โดโน เดอ วิเซ (Doneau de Vise) บรรณาธิการของวารสารฉบับนี้ ได้ทยอยตีพิมพ์บันทึกการเยือนของโกษาปาน ในบันทึกนี้ เดอ วิเซ ได้กล่าวถึงการเยือนโรงทำแก้วของแปร์โรท์ที่ออร์เลองส์ :

“ในวันที่มงเซียร์ฮูแบงมาทำการทดลองให้ท่านราชทูตดูนั้น เผอิญมาดามแปร์โรต์ ภรรยาของนายช่างหลอมแก้วที่โรงหลอมแก้วและเครื่องลายครามต่างๆ ที่เมืองออร์เลอังส์ ได้มาพร้อมกันกับมงเซียร์ฮูแบงที่สถานทูตนั้นด้วย และท่านอัครราชทูตเมื่อได้แลเห็นนางคนนั้น ท่านก็จำได้ทันที เพราะตอนเมื่อท่านได้ผ่านเมืองออร์เลอังส์ก่อน และเจ้าเมืองออร์เลอังส์ได้พาท่านไปชมโรงลายคราม และโรงหลอมแก้วซึ่งสามีของนางแปร์โรต์นั้นเป็นเจ้าของ…”๑๕

ไมเคิล สมิธีส์ (Michael Smithies) ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์สยาม-ฝรั่งเศส ก็ยืนยันในบทความ “การเยือนฝรั่งเศสของราชทูตสยาม ปี ค.ศ. ๑๖๘๖-๑๖๘๗” (ตีพิมพ์ในวารสารสยามสมาคม ค.ศ. ๑๙๘๙) ว่าโกษาปานเคยเยือนโรงทำแก้วของแปร์โรท์ โดยระบุวันด้วยว่า คือ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๒๒๙๑๖ เป็นไปได้ไหมที่แปร์โรท์ได้มอบจานใบนี้ให้โกษาปาน เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนารายณ์ ในวันที่โกษาปานเยือนโรงทำแก้วของเขา

อนึ่ง บันทึกการเยือนฝรั่งเศสของโกษาปานระบุว่า เขาอยู่ที่เมืองออร์เลองส์เพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ทำไมโกษาปานจึงเจียดเวลาอันจำกัดไปเยือนโรงทำแก้วของแปร์โรท์

คำตอบอยู่ในหนังสือ “ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส สมัยอยุธยา” โดยพลับพลึง มูลศิลป์ ซึ่งระบุว่าสมเด็จพระนารายณ์โปรดปรานเครื่องแก้วจากฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก และในภาคผนวกท้ายเล่ม “บัญชีรายละเอียดต่างๆ ที่พระเจ้ากรุงสยามได้มีรับสั่งให้ราชทูตสยามไปจัดทำหรือซื้อที่เมืองฝรั่งเศส” จะพบว่าเป็นรายการเครื่องแก้วมากถึง ๓๕,๖๖๐ ชิ้น! ลองพิจารณาว่าแปร์โรท์ เป็นช่างทำแก้วที่มีชื่อที่สุดในฝรั่งเศสขณะนั้น ทั้งยังมีโรงทำแก้วของตนเอง โกษาปาน ผู้ได้รับคำสั่งให้จัดหาเครื่องแก้วคุณภาพดีจำนวนมากจากฝรั่งเศส จะได้รับคำแนะนำจากชาวฝรั่งเศสให้ติดต่อกับใคร พลับพลึงยังกล่าวเสริมว่า สมเด็จพระนารายณ์โปรดปรานเครื่องกระจกที่มีภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสมากกว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมด๑๗

เหล่านี้จึงเชื่อมโยงมาถึงโกษาปาน ซึ่งเชื่อว่าได้ซื้อหรือรับมอบจานพระเจ้าหลุยส์จากแปร์โรท์ ส่วนจะใช่จานใบที่เพิ่งประมูลหรือไม่นั้น เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

ถ้าจานพระเจ้าหลุยส์เคยอยู่ในสยามจริง แล้วพบที่ประเทศจีนได้อย่างไร ทำไมจึงไม่ถูกทำลายหลังสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต หรือในช่วงเสียกรุงแก่พม่า

ในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เกิดความรู้สึกเกลียดชังฝรั่งเศสอย่างรุนแรงในสยาม ภายหลังที่พระองค์สวรรคต ชาวฝรั่งเศสได้ถูกขับไล่ออกจากสยาม บ้างก็ถูกควบคุมตัวไว้ สิ่งของที่มีต้นกำเนิดจากฝรั่งเศสถูกทำลายเสียแทบหมดสิ้น ในพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์ มีรายงานว่า สิ่งของหรือภาพฝรั่งที่หลงเหลืออยู่ ได้ถูกเผาทำลายไปเสียพร้อมกัน รวมถึงพระบรมสาทิสลักษณ์แห่งพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔๑๘ แน่นอนว่าหากขุนนางสยามเห็นจานใบนี้ คงต้องรู้ทันทีว่าบุคคลในภาพคือพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แล้วจานใบนี้รอดพ้นจากการถูกทำลายได้อย่างไร

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจว่า แม้ชาวฝรั่งเศสจะตกเป็นเป้าของความเกลียดชัง แต่ฝรั่งชาติอื่นๆ โดยเฉพาะชาวดัตช์ ก็ยังอาศัยอยู่ในสยามได้๑๙ ในจดหมายเหตุของแกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) นายแพทย์เยอรมันที่เข้ามาสยามเพียงไม่กี่เดือนหลังการถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์ ได้บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า เขาได้เห็นแผนที่ฝรั่งและภาพวาดพระบรมวงศานุวงศ์ของฝรั่งเศสแขวนอยู่ที่ผนังบนเรือนที่พำนักของโกษาปาน๒๐ หากโกษาปานสามารถเก็บรักษาและจัดแสดงภาพดังกล่าวอย่างเปิดเผย เขาก็น่าจะได้รับอนุญาตให้เก็บจานพระเจ้าหลุยส์ไว้เช่นกัน

อีกทฤษฎีหนึ่งคือ นักบวชฝรั่งเศสได้ลักลอบนำจานใบนี้ออกจากสยาม และนำติดตัวไปประเทศจีน ข้อมูลจากหนังสือการปฏิวัติในสยาม ปี ค.ศ. ๑๖๘๘ โดย อี.ดับบลิว. ฮัทชินสัน (E.W. Hutchinson) ระบุว่า เลอ บลังค์ (Le Blanc) และเดอ แบส (De Beze) นักบวชเยซูอิตที่เดินทางมาสยามพร้อมโกษาปานเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๒๓๐ ได้พำนักในสยามนานถึง ๑ ปี ๒ เดือน ภายหลังสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต พวกเขาได้เดินทางต่อไปประเทศจีน๒๑ เป็นไปได้ไหมว่านักบวชสองท่านนี้ได้ลักลอบนำจานพระเจ้าหลุยส์ติดตัวไปประเทศจีน

ที่สันนิษฐานเช่นนี้ เพราะมีผู้พบบันทึกต้นฉบับของนักบวชเดอ แบส และจดหมายต้นฉบับเขียนที่กรุงละโว้โดยออกญาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) อยู่ในครอบครองของนักสะสมฝรั่งในกรุงปักกิ่ง นักสะสมผู้นี้คือ จี.อี. มอร์ริสัน (G.E. Morrison) ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดอะ ไทมส์ (The Times) ประจำกรุงปักกิ่ง หลังจากที่มอร์ริสันเสียชีวิตในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เอกสารเกี่ยวกับสยามที่เขาเคยมีในครอบครอง ถูกขายให้กับบารอน อิวาซากิ (Baron Iwasaki) ขุนนางญี่ปุ่น ปัจจุบันเอกสารล้ำค่าดังกล่าว เก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดในกรุงโตเกียว๒๒

ช่างบังเอิญเหลือเกิน ที่บันทึกของนักบวชฝรั่งเศส จดหมายจากเสนาบดีสยาม และจานลายครามล้ำค่าจากยุโรป ล้วนสมบัติเก่าแก่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ต่างโคจรไปพบกันที่ประเทศจีนในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน คือต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐!

ผมอยากรู้เหลือเกินว่า ผู้ที่นำจานพระเจ้าหลุยส์ออกประมูลในกรุงลอนดอน ผู้อ้างว่าบิดาของเขาได้มาจากประเทศจีนเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ใช้นามสกุล “มอร์ริสัน” หรือเปล่า ถ้าใช่ ก็อยากถามเขาว่า บิดาของเขาได้บันทึกเดอ แบส จดหมายออกญาวิชาเยนทร์ และจานพระเจ้าหลุยส์ มาอย่างไร ถ้าไม่ใช่ ผมก็อยากวิงวอนให้ใครก็ได้ ช่วยถามโซเธอบีส์ว่า เจ้าของเดิมของจานใบนี้คือใคร

ผมอยากวานให้ใครสักคน ช่วยแวะไปดูแท่นไม้รองจานพระเจ้าหลุยส์ที่พิพิธภัณฑ์คอร์นิง เพราะอยากรู้ว่าลวดลายแกะสลัก “มังกรและราชินีพระสมุทร” หน้าตาเป็นเช่นไร จะใช่สัญลักษณ์ของพระเจ้ากรุงสยามดังที่กล่าวอ้างหรือไม่

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ปัญญาชนสาธารณะ เคยกล่าวไว้ว่า “เรามี ‘ความไม่รู้’ มากกว่า ‘ความรู้’ ประวัติศาสตร์อยุธยา…ทั้งๆ ที่อยุธยามีความสำคัญอย่างมหาศาล”๒๓

ผมอยากเชื่อเหลือเกินว่า จานพระเจ้าหลุยส์ใบนี้คือเครื่องบรรณาการที่ช่างทำแก้วฝรั่งเศสมอบให้โกษาปานเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนารายณ์ แม้ว่าจานจะชำรุดไปบ้าง แต่ยังคงไว้ซึ่งร่องรอยแห่งความสง่างาม ให้เราสามารถจินตนาการรำลึกถึงความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างสมเด็จพระนารายณ์และพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส

และหากพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าจานพระเจ้าหลุยส์เคยอยู่ในแผ่นดินไทย ผมก็อยากเห็นจานใบนี้กลับคืนสู่มาตุภูมิ เพื่อเติมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ให้คนไทยได้ยืนบนฐานความรู้ของแผ่นดินที่แน่นกว่าเดิม


*ผมขอขอบคุณ Laurent Hennequin ภาควิชาภาษาฝรั่งเศส คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ได้กรุณาถอดเสียงภาษาฝรั่งเศส และให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อบทความชิ้นนี้