ราชบัลลังก์-พระราชทรัพย์-อัฐิบรรพบุรุษ ใน ‘คำสั่งเสีย’ รัชกาลที่ 3

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ประกอบกับฉากหลังเป็นภาพพระวิหาร (พระอุโบสถ) วัดหลวง เมืองมงคลบุรี ภาพจากนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม, ตุลาคม 2558

การเมืองช่วงปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นช่วงวิกฤตแห่งสุญญากาศของผู้สืบราชบัลลังก์ท่ามกลางอำนาจขุนนางสายสกุลบุนนาค (เจ้าพระยาพระคลังฯ, เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ฯ และพระยาศรีสุริยวงศ์) ที่มีอิทธิพลต่อราชสำนักสยามในเวลานั้น

ขณะเดียวกันก็อบอวลด้วยความมั่งคั่งของท้องพระคลัง ที่มีทั้ง เงิน 40,000 ชั่ง (3.2 ล้านบาท) กับทองคำ 200 ชั่ง อันนำไปสู่ “คำสั่งเสีย” สุดท้ายก่อนสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชโองการฉบับหนึ่ง (ซึ่งพระราชปรารภก่อนสวรรคต 3 เดือน) ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นวงศาสนิท พระยาพิพัฒนโกษา ความว่า

“พุทธํ สรณํ คจฉามิ ธมมํ สรณํ คจฉามิ สงฆํ สรณํ คจฉามิ คุณพระรัตนตรัยอันเป็นใหญ่ในโลก

ให้เจ้าพระยาพระคลัง พระยาศรีพิพัฒน์ พระยาราชสุภาวดี กับขุนนางผู้น้อยทั้งปวง จงเป็นสามัคคีรสแก่กันและกัน ตั้งใจฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 พระองค์มาแล้ว ได้ช่วยกันรักษาแผ่นดินของสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวอันเป็นปฐมกษัตริย์มาได้ถึง 69 ปี จนมีพระญาติประยูรวงศานุวงศสืบๆ มาเป็นอันมาก ประมาณถึงพันหนึ่งสองพัน แต่ที่เป็นผู้หญิงนั้นยกเสีย ว่าแต่ผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ก็มี กลางคนก็มี เด็กก็มีนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ชุบย้อมคุณาณุรูปทุกองค์ แต่ที่จะให้บังคับให้ท่านผู้ใดเป็นเจ้าแผ่นดิน บังคับไม่ได้ ขอเสียเถิด ให้พระญาติประยูรวงศากับขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยประนีประนอมกัน สมมุติจะให้พระองค์ใดหรือผู้ใดขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินก็สุดแต่จะเห็นพร้อมกันเถิด ให้เห็นแก่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า กับสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวด้วย อย่าให้ฆ่าฟันกันเสียนักเลย จงช่วยกันรักษาแผ่นดินไปด้วยกันเถิด

อนึ่ง การพระราชกุศลซึ่งได้สร้างวัดวาอารามกับทั้งการพระราชกุศลสิ่งอื่นๆ ยังค้างอยู่เป็นอันมากนั้น ถ้าท่านผู้ใดจะได้ครองแผ่นดินสืบไปจงสงเคราะห์แก่ข้า ด้วยเงินในท้องพระคลังทั้งข้างหน้าข้างในมีอยู่สัก 40,000 ชั่งเศษ ขอไว้ให้ข้า 10,000 ชั่ง จะใช้ในการพระราชกุศลซึ่งยังค้างอยู่นั้น ยังเงินอีก 30,000 ชั่งเศษนั้น จงเอาไว้ใช้ในการแผ่นดินต่อไปเถิด ทองคำก็มีอยู่กว่า 200 ชั่ง ขอแบ่งไว้ให้ข้าเป็นส่วนพระราชกุศลสำหรับปิดวัดวาอารามที่ยังค้างอยู่นั้นให้สำเร็จก่อน ทองเหลืออยู่จากนั้นจะใช้ทำเครื่องละเม็งละคอนและการแผ่นดินก็ตามเถิด

อนึ่ง พระอัฐิพระไอยกีพระไอยกาของข้าซึ่งอยู่ในหอพระอัฐินั้นกีดอยู่ ก็ให้มอบไว้กับพระเจ้าลูกเธอผู้ชายพระองค์ใดๆ ก็ตามเถิด ถ้าและเขาฆ่าเสียหมดแล้ว ก็ให้มอบไว้ให้กับพระเจ้าลูกเธอผู้หญิงที่ยังเหลืออยู่นั้น จะได้เชิญไปเสียให้พ้น ถึงพระบรมอัฐิสมเด็จพระศรีสุลาไลยนี้เล่าก็เป็นสูงเท้าหน้าต่ำเท้าหลัง [เพราะแม้จะเป็นพระราชชนีของพระองค์ แต่ทรงมีชาติกำเนิดเป็นสามัญชน-ผู้เขียน] หาสมควรที่จะอยู่ร่วมกับพระบรมอัฐิไม่ ก็ให้เชิญไปไว้กับพระอัฐิพระไอยกีพระไอยกาเสียด้วยเถิด”

ความกังวลที่ปรากฏผ่านความข้างต้นนั้น ประกอบด้วยเรื่องของ 1. การสืบพระราชบัลลังก์ 2. พระบรมอัฐิ และพระอัฐิพระประยูรญาติของพระองค์ 3. พระราชทรัพย์ เป็นหลัก

โดยเรื่องพระบรมอัฐิ และพระอัฐิของประยูรญาติพระองค์ เป็นเรื่องที่ง่ายอย่างไม่คาดคิด ในพระนิพนธ์เรื่องเจ้าชีวิต ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์กล่าวว่า

“…เพราะท่านไม่ทรงทราบว่า ต่อมาพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 จะได้กับหลานหญิงของท่าน ซึ่งจะได้ทรงเป็นสมเด็จพระเทพศิรินทร์ พระราชมารดาของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ฉะนั้นท่านที่กล่าวนามและพระนามมานี้ล้วนจะเป็นบรรพบุรุษสตรีของพระเจ้าแผ่นดินทุกๆ พระองค์ นับตั้งแต่รัชกาลที่ 5 มา”

ขณะที่เรื่องของพระราชทรัพย์เป็นที่โจษจันยิ่ง ด้วยเงินพระคลังข้างที่จำนวน 40,000 ชั่ง และทองคำ 200 ชั่งนั้น มาจากพระปรีชาสามารถของพระองค์ในการค้าขายทั้งสิ้น หาใช่เงินท้องพระคลังที่ตกทอดสืบเนื่องมาจากแผ่นดินก่อน

เมื่อพระองค์สวรรคตลงคำถามเกี่ยวกับเงินดังกล่าวมีการใช้สอยตามพระราชประสงค์หรือไม่? หรือว่าเงินจำนวนดังกล่าวไปอยู่ที่ใด?

ความเคลือบแคลงเหล่านี้ในเวลานั้นมีการร่ำลือหนาหูจนเป็นที่ขัดเคืองพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่เนืองๆ ทำให้ต้องออกประกาศในเรื่องดังกล่าวถึง 2 ฉบับ

โดยความตอนหนึ่งของประกาศว่าด้วยเงินสำหรับซ่อมแซมพระอารามซึ่งเป็นส่วนพระองค์ ปี พ.ศ. 2408 ได้แจกแจงการใช้จ่ายพระราชทรัพย์ของพระองค์โดยละเอียดดังนี้

“…พระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ท่านทรงไว้ในพระราชหัตถเลขาในเวลาปลายมือว่า เงินมีอยู่ 40,000 ชั่ง ทองคำ 100 ชั่ง เงิน 40,000 ชั่งนั้นท่านทรงขอเป็นของท่าน 10,000 ชั่ง เพื่อจะได้จ่ายทำพระอารามที่ค้างอยู่ให้แล้ว อีก 30,000 ชั่ง ให้ยกถวายเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ตามแต่จะใช้สอยทำนุบำรุงแผ่นดินต่อไป

แต่ทองคำ 100 ชั่งนั้น ขอให้แบ่งแผ่เป็นทองคำเปลวปิดในการวัดที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นเท่าไรแล้ว เหลือนั้นก็ให้ถวายเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ตามแต่จะใช้สอย

ความทั้งปวงแจ้งอยู่ในพระราชหัตถเลขานั้นแล้ว ก็จำนวนพระราชทรัพย์ที่ว่าในพระราชหัตถเลขานั้นก็หาสิ้นจริงไม่

ชะรอยท่านจะทรงจำไม่ได้ จะพลั้งไป

เงินอยู่ในรวม 40,000 ชั่งนั้น ยังมีมากกว่านั้น 5,000 ชั่งเศษ ทองคำยังมีมากกว่าที่ว่าในพระราชหัตถเลขานั้นอีก 100 ชั่งเศษ…ก็เงินราย 10,000 ชั่ง ที่ขอให้เป็นส่วนบำเพ็ญพระราชกุศลในการค้างนั้น ก็ได้จ่ายไปทำการที่ค้างในวัดมหาธาตุ วัดชนะสงคราม วัดบวรมงคล แลซ่อมแซมวัดอรุณราชวราราม วัดราชโอรสวราราม วัดเฉลิมพระเกียรติ จ่ายไปแล้ว

แต่วัดราชนัดดารามแห่งหนึ่ง วัดพรหมสุรินทร์ที่เรียกว่าวัดปรินายกแห่งหนึ่ง พระเจดีย์ใหญ่วัดสระเกศแห่งหนึ่งยังค้างอยู่ วัดราชนัดดาราม พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีรับไปทำ จับการเข้าได้ 3 เดือนก็สิ้นพระชนม์ วัดพรหมสุรินทร์นั้นแต่แผ่นดินโน้นเจ้าพระยาบดินทรเดชารับทำก็ถึงอนิจกรรมลง เจ้าพระยามุขมนตรีรับทำต่อมาก็เป็นโทษ เพราะดังนั้นในหลวงจะรับเป็นเจ้าของทำต่อไปดีก็ดีอยู่ ถ้าไม่สบายไปต่างๆ ก็จะเป็นที่วิตกรำคาญไป ทรงรังเกียจอยู่ แต่ต้นทุนที่จะทำให้แล้ว คือส่วนเศษในจำนวนพระราชทรัพย์ 10,000 ชั่งนั้นก็ยังมีพอ…

…พระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเหลือกว่านั้น ได้ทรงชักเงินเหลือนอกจำนวน 30,000 ชั่ง ออกทรงแจกพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 29 พระองค์ พระเจ้าหลานเธอพระองค์หนึ่ง รวมเป็น 30 พระองค์ พระองค์ละ 20 ชั่ง ให้ไปทำบุญในการพระบรมศพ กับได้ชักพระราชทานเจ้านายที่เลื่อนที่เป็นต่างกรมไปใช้การโรงครัวเมื่อตั้งกรมอีก 200 ชั่ง รวมเป็น 800 ชั่ง

ก็บัดนี้ทรงคิดเงินรายอื่นใช้คืนเสียแล้ว นับว่าเป็นการไม่ได้ชักทองคำแท่งจีนของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฝากชาวคลังไว้ 19 แท่ง เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว ชาวคลังนำมาทูลเกล้าฯ ถวาย ได้พระราชทานพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไปพระองค์ละแท่ง ยังไม่พอได้ทั่วทุกพระองค์ ก็ได้พระราชทานทองแท่งเป็นของมีมาใหม่ให้ได้ทั่วทุกพระองค์เสมอกัน

แต่พระราชทรัพย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนอกกว่านั้นยังคงอยู่หมด ไม่ได้เอาไปใช้สอยจับจ่ายอะไรที่ไหน เว้นแต่ในรายหมื่นที่จ่ายทำวัดเท่านั้น ก็พระอารามที่สร้างลงใหม่ๆ ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ๆ ทั้งหัวเมืองในกรุงก็ไม่ได้ใช้เงินรายหมื่น ได้ใช้แต่ในของที่ค้างมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เงินรายหมื่นนั้นรอไว้เพื่อวัดราชนัดดาราม วัดพรหมสุรินทร์ที่เรียกว่าวัดปรินายก แลพระเจดีย์ใหญ่วัดสระเกศ

ตัวเงินยังมีอยู่ พระราชาคณะจะคิดเห็นควรอย่างไร ช่วยคิดอ่านด้วย ในหลวงจะใคร่ยอมแต่เสียเงินให้ผู้ทำ ไม่อยากขวนขวายเป็นเจ้าของ ก็ทองคำเป็นของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ได้เอาไปแผ่ทำเป็นเบญจาเมื่อถวายพระเพลิงทั้ง 200 ชั่ง สูญเพลิงไปบ้าง ช่างฉ้อเอาไปบ้าง ตกหายเสียบ้าง ยังให้ชำระบัญชีอยู่ เมื่อขาดไปเท่าไรจะทรงรับใช้ให้เต็ม

แต่ที่ทองคำเปลวไปปิดวัดนั้น ล้วนเป็นทองของแผ่นดินใหม่ ไม่ใช่เป็นของแผ่นดินเก่า กล่าวด้วยพระราชทรัพย์ที่เป็นของสำหรับแผ่นดิน แลพระราชทรัพย์ที่ค้างมาแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสิ้นความเท่านี้” (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

หลังการออกประกาศดังกล่าว ความเรื่องพระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงยุติลง ทั้งการใช้ก็เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรารภไว้ “ยังเงินอีก 30,000 ชั่งเศษนั้น จงเอาไว้ใช้ในการแผ่นดินต่อไปเถิด”

เมื่อให้ไทยต้องนำเงินดังกล่าวใส่ “ถุงแดง” ไปชำระเงินค่าปรับและเงินค่าทำขวัญแก่ฝรั่งเศส (กรณีพิพาท ร.ศ.112) เป็นเงินทั้งสิ้น 3,000,000 ฟรังก์ (ประมาณ 1,600,000 บาท)

ส่วน “คำสั่งเสีย” เรื่องการสืบราชบัลลังก์ เป็นเรื่องที่แม้วันนี้เรารู้คำตอบแล้วว่าเป็นของผู้ใด

แต่ในวันนั้นนี้คือประเด็นที่หลายฝ่ายต้องใช้สรรพกำลังเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งส่วนที่เป็นเบื้องหลังแต่ต้นรัชกาลที่เจ้าจอมมารดาเรียม พระสนมเอก (พระราชชนนีของรัชกาลที่ 3) ผู้บังคับการห้องเครื่อง ที่ทั้งแหม่มแอนนา (ครูสอนหนังสือในราชสำนักรัชกาลที่ 4) และหมอมัลคอล์ม สมิธ (แพทย์หลวงประจำราชสำนักรัชกาลที่ 5) ต่างเขียนถึงบทบาทของพระองค์ที่มีส่วนในการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตลอดจน “เจตนารมย์” ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อการสืบทอดพระราชอำนาจต่อราชบัลลังก์ไว้ในวาระสุดท้ายแห่งชีวิต

โดยใช้พระประคำทองของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระราชทานแก่พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าอรรณพ แทนพระบรมราชโองการแต่งตั้ง (หากประคำทองที่เจ้าพนักงานหยิบถวายนั้น หาใช่องค์จริงไม่) จนเป็นธรรมเนียมสืบทอดมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อใกล้เสด็จสวรรคต ก็ได้พระราชทานให้กับเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

สุพจน์ แจ็งเร็ว. “พระราชปรารภ รัชกาลที่ 3 เมื่อก่อนเสด็จสวรรคต” ใน, นิตยสารศิลปวัฒนธรรม, เมษายน 2549.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กันยายน 2565