ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
พญามังราย-พญางำเมือง-พญาร่วง 3 กษัตริย์ไม่ได้สร้างเชียงใหม่?!?
จังหวัดเชียงใหม่มีอนุสาวรีย์ “สำคัญ” อยู่แห่งหนึ่ง คือ “พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์” ตั้งอยู่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ด้านหน้าติดกับถนนพระปกเกล้า “สามกษัตริย์” ที่ว่าคือ พญามังราย, พญางำเมือง และพญาร่วง หรือพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งทั้ง 3 พระองค์ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้สร้าง เมืองเชียงใหม่” ใน พ.ศ. 1839
แต่นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกันยายน 2565 สมฤทธิ์ ลือชัย มาเสนอความคิดเห็นที่ต่างออกไปในบทความของเขาที่ใช้ชื่อว่า “3 กษัตริย์ไม่ได้สร้างเชียงใหม่”
สมฤทธิ์ ลือชัย มีหลักฐานอะไร? ที่ทำให้ลุกขึ้นมาทวนกระแสความคิดความเชื่อเดิมที่มีอยู่ และหลักฐานอะไร? ที่มีนั้นชวนให้น่าเชื่อถือเพียงใด
ข้อสังเกตแรกของสมฤทธิ์ก็คือ แม้ในภูมิภาคนี้หลายอาณาจักรจะมีความสัมพันธ์กันในทางการเมือง, การค้า หรือความเป็นเครือญาติ เช่น การแต่งงานเพื่อผูกญาติกันของชนชั้นนำ ตลอดจนความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ระหว่างรัฐใหญ่กับรัฐเล็ก พ้นจากนี้พระราชกรณียกิจ “ในต่างแดน” ของกษัตริย์ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการศึกและการพระศาสนา การเสด็จต่างบ้านต่างเมืองเพื่อช่วยพันธมิตรสร้างเมืองใหม่นั้น ค่อนข้างจะเป็น “ราชกิจที่แปลก”
การศึกษาคำตอบครั้งนี้อาศัยหลักฐานจาก เอกสารทางประวัติศาสตร์, ศิลาจารึก และพยานแวดล้อมอื่นๆ อาทิ ศิลปกรรม ภาษา ศาสนา ฯลฯ
ในที่นี้ขอนำเนื้อหาเฉพาะในส่วนของ “พยานแวดล้อม” ที่ว่า
ถ้า “พญาร่วง-พระโรจ-พระร่วง” หมายถึงกษัตริย์สุโขทัยและตีความว่าคือพ่อขุนรามคำแหงและมีความสัมพันธ์กับเชียงใหม่ ที่ใกล้ชิดกันจนถึงขนาดขั้นมาร่วมสร้างเชียงใหม่ แล้วเหตุใดเอกสารหรือหลักฐานอื่นๆ ของสุโขทัยถึงไม่กล่าวถึงเรื่องนี้
แม้แต่ “ศิลาจารึกหลักที่ 1” ซึ่งสันนิษฐานว่าส่วนต้นเขียนโดยพ่อขุนรามคำแหงและส่วนหลังๆ นั้นเชื่อกันว่าเขียนหลังรัชกาลพ่อขุนรามคำแหง หากในจารึกหลักนี้นอกจากไม่กล่าวถึงเรื่องพญาร่วงมาร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว หากชื่อเมืองเชียงใหม่กลับไม่ปรากฏในจารึกหลักนี้ ในขณะที่กล่าวถึงบ้านเมืองต่างๆ ที่อยู่รอบสุโขทัยทั้ง 4 ทิศ โดยเฉพาะทิศเหนือหรือทิศตีนนอน ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาณาจักรล้านนานั้น จารึกกล่าวแต่เพียงว่า
“…ทิศตีนนอน รอดเมืองแพร่ เมืองม่าน เมืองน…เมืองพลัว พ้นฝั่งของ เมืองชวาเป็นที่แล้ว” ซึ่งไม่กล่าวถึงเมืองเชียงใหม่เลย
นอกจากนี้ เมื่อพ่อขุนรามคำแหงและพญามังรายมีมิตรไมตรีอย่างดี เช่นนั้นแล้วอักษรไทยที่พ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์ขึ้นใน พ.ศ. 1826 (ก่อนการสร้างเมืองเชียงใหม่ 13 ปี ) น่าจะมีอิทธิพลต่อเมืองเชียงใหม่ไม่มากก็น้อย
ทว่าคำตอบกลับไม่เป็นเช่นนั้น สมฤทธิ์อธิบายในเรื่องนี้ว่า
“เหตุใดทางเชียงใหม่จึงไม่ได้อิทธิพลตัวอักษรของพ่อขุนรามคำแหง (ในขณะที่ล้านช้างกลับได้ไป) ล้านนาต้องพัฒนาอักษรของตัวเองไปจากอักษรมอญหริภุญไชย กว่าจะได้อิทธิพลอักษรสุโขทัยที่ต่อมาเรียกว่า ‘อักษรฝักขาม’ ก็เมื่อพระสุมนเถระนำพุทธศาสนารามัญวงศ์จากสุโขทัยมาเชียงใหม่ใน พ.ศ. 1914 รัชสมัยพระเจ้ากือนาแล้ว ซึ่งเกิดหลังจากสร้างเมืองเชียงใหม่ถึง 75 ปี
นอกจากนี้อักษรล้านนาที่ไปปรากฏในสุโขทัยครั้งแรกก็คือจารึกลานทองมหาเถรจุฑามุนี ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าก็คือมหาเถรศรีศรัทธาฯ ซึ่งจารึกนี้มีอักษรล้านนาที่ถือว่าเก่าที่สุดเขียนในตอนท้ายที่เป็นภาษาบาลี ระบุศักราช พ.ศ. 1919 ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาหลังจากพระสุมนเถระไปล้านนาแล้ว ที่เล่าเรื่องนี้ก็เพื่อจะยืนยันว่าความสัมพันธ์ระหว่างเชียงใหม่กับสุโขทัยเกิดหลังเหตุการณ์สร้างเมืองเชียงใหม่แล้วทั้งสิ้น”
อีกประเด็นสำคัญ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างเชียงใหม่กับสุโขทัย ที่มีกล่าวในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ที่สมฤทธิ์ค้นมากลับเป็นว่า
“เป็นเรื่องศึกสงคราม หาได้ยืนยันเรื่องมิตรภาพไม่ สงครามครั้งแรกนั้นเกิดในสมัยเจ้าแสนเมืองมา เมื่อเจ้ามหาพรหมแห่งเมืองเชียงรายไปนำสุโขทัยมาตีเชียงใหม่แต่ก็ตีไม่ได้ และต่อมาเจ้าแสนเมืองมาก็ยกไปตีสุโขทัยก็แพ้กลับมา (ที่ตำนานว่าต้องให้ 2 ข้าไทแบกมา อันเป็นที่มาของรูปช้าง 2 เชือกที่ประตูช้างเผือก) และอีกครั้งเมื่อตอนที่เจ้ายี่กุมกามไปขอให้พระยาไสลือไทมาช่วยรบกับเจ้าสามฝั่งแกนแห่งเชียงใหม่ แต่คราวนี้ฝ่ายสุโขทัยแพ้กลับไป เห็นไหมครับว่าสุโขทัยกับเชียงใหม่มีแต่รบกัน ซึ่งเรื่องนี้จะนำไปสู่การเกิดศึกใหญ่ในเวลาต่อมาคือ ‘ศึก 2 โลก’ ระหว่างพระเจ้าติโลกราชกับพระบรมไตรโลกนาถ”
นอกจากนี้ใน “ตำนานสิบห้าราชวงศ์” และ “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” ก็กล่าวข้อความคล้ายกันว่า “…ศักราชได้ 638 ตัวเจ้าพระยามังรายยังอยู่เมืองเชียงราย…ในหว่างอันนี้กูควรไปปล้นเอาเมืองพูยาวชาว่าอั้นแล ก็ยกเอาริพลสกลเสนาโยธาไปเถิงที่นึ่งแดนเมืองเชียงรายกับแดนเมืองพูยาวต่อกันที่นั้นชื่อว่าบ้านดอย พระยางำเมืองเจ้าเมืองพูยาวรู้ข่าวก็ยกริพลออกมาว่าจักต้อนจักรบพระยามังรายที่บ้านดอย ที่นั้นเจ้าพระยาทั้ง 2 ต่างคนต่างยกริพลเข้าชูกัน พ้อยบ่รบกัน ลวดมีไมตรีกับด้วยกัน เหตุว่าเวรานุเวรบ่มีแก่กันแต่ชาติอันก่อน…เจ้าพระยามังรายจิ่งเรียกพระยางำเมืองว่าเรือนเดียว พระยางำเมืองก็มีความชมชื่นยินดี จิ่งฝากแคว้นแก่พระยามังรายพุ่นพากนา 1 มี 500 หลังเรือนแก่พระยามังราย จิ่งเข้ามาแคว้นเชียงรายเพื่ออั้นแล…”
ทั้งหมดที่กล่าวไปนี้ คือบางส่วนของ “หลักฐาน” ยังมีเอกสารทางประวัติศาสตร์, ศิลาจารึก อื่นๆ ที่สมฤทธิ์ค้นหามาใช้คัดค้านว่า 3 กษัตริย์ หรือ พญามังราย, พญางำเมือง และพญาร่วง ไม่ได้ร่วมกันสร้าง เมืองเชียงใหม่ ส่วนจะหนักแน่นเพียงใด ขอท่านผู้อ่านโปรดอ่านเพิ่มเติมจาก 3 กษัตริย์ไม่ได้สร้างเชียงใหม่ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2565
อ่านเพิ่มเติม :
- นครเชียงใหม่โบราณไม่ได้มีเฉพาะแค่เวียงในคูเมืองเท่านั้น!
-
สภาพหลังพม่ายึดล้านนา ปกครองเมืองเชียงใหม่ 200 ปี สู่ยุคเชียงใหม่เป็นเมืองร้าง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กันยายน 2565