พระที่นั่งไกรสรสีหราช (พระที่นั่งเย็น)

สมเด็จพระนารายณ์ทอดพระเนตรจันทรุปราคา ที่พระที่นั่งไกรสรสีหราช (บ้างเรียก พระที่นั่งเย็น หรือพระตำหนักทะเลชุบศร)

พระที่นั่งไกรสรสีหราช บางทีก็เรียกว่า พระที่นั่งไกรสรสีหนาถ แต่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า พระที่นั่งเย็น ซึ่งฟังชื่อก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นพระที่นั่งของสมเด็จพระนารายณ์ ทรงสร้างขึ้นเป็นที่ประทับสำราญพระอิริยาบถ ตั้งอยู่บนเกาะริมฝั่งทะเลชุบศร ด้านตะวันตก จังหวัดลพบุรี

ในจดหมายเหตุของเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ซิมอง เดอ ลาลูแบร์ บันทึกถึงทะเลชุบศรและพระที่นั่งองค์นี้ว่า

ห่างจากเมืองละโว้ไปราวลีกหนึ่ง ทะเล (the sea) นั้นตั้งอยู่ในที่ลุ่มยาวไปราวสองหรือสามลีก ซึ่งรับน้ำฝนขังไว้ ทะเลน้อยนี้มีฝั่งแหว่งเว้าไม่เป็นรูปทรงที่ดีงดงาม แต่มีการดูแลรักษาน้ำในบึงค่อนข้างใสสะอาด โดยเหตุที่บึงนั้นลึกและน้ำนอน พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงดื่มน้ำนี้ ทะเลนี้อยู่กลางทุ่ง มียามเฝ้า มีพนักงานประจำรักษาดูแลตลอดปี ทั้งมีพระที่นั่งองค์น้อย (little house) องค์หนึ่งเรียกว่า “ทะเลพุดซ้อน (Thlee Poussone) หรือทะเลรวย (Rich Sea) ด้วย” อีกหนึ่งประมาณ 4 กิโลเมตร ทะเลยาวไกลออกไปสองสามลีก คือ 8-12 กิโลเมตร นับว่าไกลพอควรใครที่เคยไปพระที่นั่งเย็นก็พอประมาณความกว้างของทะเลได้ว่า จากพระที่นั่งนั้นยาวไปทางทิศตะวันออก จรดเชิงเขาพระพุทธและทิวเขาสามยอด

เดอ ลาลูแบร์ได้เห็นทะเลชุบศรช่วงน้ำทรงเดือนพฤศจิกายน จึงดูว่ากว้างใหญ่มาก ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ทะเลกว้าง พระตำหนักบนเกาะจึงดูเล็กลง เป็นพระที่นั่งองค์น้อยไป จริงๆ แล้วพระที่นั่งมิใช่องค์น้อย แต่ใหญ่โตตามสมควร เป็นปราสาทจัตุรมุขและเป็นอาคารทรงไทยต้นแบบเช่นเดียวกับพระที่นั่งจันทรพิศาลในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ต่างแต่ว่าที่ฐานอาคารเจาะเป็นประตูเล็กรูปทรงโค้ง (arch) แบบสถาปัตยกรรมฝรั่ง ส่วนอื่นๆ เป็นอาคารทรงไทย (ประชุมช่าง) สร้างตามคติพุทธ โปร่ง เบา สบายและลอยตัว มีความหมายว่าไม่สะสมทรัพย์สมบัติ อันเป็นตัวถ่วงห่วงกังวลและติดยึด แต่มุ่งสู่นิพพานโดยเฉพาะ”

น่าเสียดายการซ่อมแซมในชั้นหลังช่างมือไม่ถึง ทำให้สูญเสียเอกลักษณ์ไทยต้นแบบไปอย่างน่าเสียดาย เช่น ฐานอาคารโค้งท้องสำเภาก็ซ่อมเสียใหม่ไม่อ่อนช้อยอย่างเคยและดูแข็งไปด้วย

อาจารย์บรรจง บุญการี แห่งสถาบันราชภัฏลพบุรี ได้ทำแผนผังองค์พระที่นั่งและอาคารข้างเคียงไว้เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน พออธิบายสรุปย่อได้ ดังนี้ครับ

ผังพระที่นั่งเย็น

อาคาร ก. เป็นมุขเด็จ ยื่นมาจากอาคาร ข. มีบันได 3 ขั้นขึ้นสู่มุขเด็จ ใช้เสด็จออกให้ข้าราชการเข้าเฝ้าฯ

อาคาร ข. เป็นอาคารเปิดโล่ง เชื่อมต่อกันระหว่างอาคาร ก. และอาคาร ค. และเชื่อมต่อกับระเบียงซ้าย-ขวา เข้า-ออก

อาคาร ค. เป็นอาคารมีพื้นที่กว้างกว่าอาคารอื่นและยกพื้นสูง 2-5 เมตร เป็นใต้ถุนมีช่องประตูโค้งแหลมเป็นทางเข้า-ออกของราชองครักษ์ ชวนให้เชื่อว่าเป็นที่ประทับส่วนพระองค์

อาคาร ง. เป็นอาคารเล็ก ด้านหลังเชื่อมต่ออาคาร ค. มีประตูซ้าย-ขวา และประตูด้านหลัง มีทางเสด็จสู่เกย ฎ.

อาคาร จ. เป็นอาคารขนาดเล็ก หน้าต่างโค้งแหลม ตั้งอยู่หลังกำแพงฉนวน (เขื่อนเพชร) ด้านใต้ของหมู่อาคารใหญ่ น่าจะเป็นที่พักของราชองครักษ์

อาคาร ฉ. เป็นอาคารขนาดเล็ก ตั้งอยู่ด้านเหนือ ด้านหลังติดกำแพงฉนวน หน้าต่างโค้งแหลม 6 บาน ประตูทางเข้าโค้งแหลม 1 ประตู เชื่อว่าน่าจะเป็นที่ประทับในสวนดอกไม้

อาคาร ฌ. เป็นอาคารที่คร่อมอยู่กับกำแพงฉนวน ไม่แน่ชัดว่าเพื่อประโยชน์ใด อาจเป็นที่พักของบาทหลวงก่อนเข้าเฝ้าฯ เพราะบริเวณนี้น่าจะเป็นบริเวณที่ใช้ดูจันทรุปราคากับเหล่าบาทหลวงเมื่อคืนวันที่ 11 ธันวาคม 2228

ญ. คือเกยติดกับระเบียงด้านเหนือและอาคาร ข.

อาคาร ช.1, ซ. 1 เป็นอาคารทางด้านเหนือ กว้าง ยาว 9.00 x 9.15 เมตร เกือบเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส อาคาร ซ. 1 ต่อกับระเบียงมีประตูเข้า-ออก น่าจะเป็นที่พักขององครักษ์และ/หรือช้างทรงทั้งสองอาคาร

อาคาร ช. 2, ซ. 2 เป็นอาคารทางด้านใต้ ขนาดเดียวกันกับ ช. 1, ซ. 1 และน่าจะเป็นอาคารที่ใช้ประโยชน์เช่นเดียวกันกับ อาคาร ช. 1, ซ. 1

เป็นที่น่าสังเกตว่าอาคารพระที่นั่ง มีหน้าต่างและประตูเป็นจำนวนมากเพื่ออากาศถ่าย โปร่งสบาย คลายร้อน สมชื่อที่ชาวบ้านเรียกว่า พระที่นั่งเย็น กรอบหน้าต่างและประตูแต่งเป็นซุ้มเรือนแก้วงดงามมาก

อาจารย์บรรจงตั้งข้อสังเกตว่าระหว่างกำแพงฉนวนหรือเขื่อนเพชร ด้านหลังและหลังอาคารมีที่ว่างเป็นสวนดอกไม้ ก็น่าจะเป็นไปได้ เพราะทรงโปรดอยู่ และอาจเป็นแปลงทดลองปลูกพันธุ์ไม้อื่นๆ อยู่ด้วยก็ได้ เช่นเดียวกับที่พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ชั้นใน

ด้านหน้าพระที่นั่ง มีสระน้ำ 2 สระ ปัจจุบันถมแล้วและปรับเป็นพื้นราบ และไกลออกไปประมาณ 100 เมตรถึงริมเขื่อน ชายเกาะมีสะพานปูนทอดยื่นไปสู่อาคารไม้รับลมทะเล รอบเกาะสร้างเป็นเขื่อนศิลาโดยรอบ ติดเขื่อนมีสระปลูกบัวเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งด้วยหลายสระ

กลับมาที่ริมระเบียง พระที่นั่งด้านเหนือ-ใต้อีกครั้ง ระเบียงมีหลังคาเป็นทรงไทย ใต้หลังคาคือผนังฉนวน เจาะไว้เป็นช่องกุดหรือช่องแกลเล็กๆ เช่น เดียวกับในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ แต่ที่นี่มีด้านละ 4 ซุ้ม (ขนาด 0.92  x 0.62 เมตร) จำง่ายๆ ว่า สูงเมตรหนึ่ง กว้างครึ่งเมตร ทำไว้ประดับโคมไฟยามค่ำคืน

ช่องกุดหรือช่องแกลเหล่านี้ น่าจะเป็นสัญลักษณ์หรือโลโก้สำคัญอีกอันหนึ่งของพระนารายณ์ราชนิเวศน์

เมื่อเดินจากระเบียงด้านใต้ เข้าประตูอาคาร ข. สู่ห้องโถงหรือท้องพระโรงด้านซ้ายมือจะมีประตู 2 ประตูเข้าสู่อาคาร ค. อันเป็นที่ประทับ ระหว่างประตู 2 ประตู มีหน้าต่างบานหนึ่งที่เรียกว่า สีหบัญชร บาทหลวงตาชารต์ เคยได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าเฝ้าฯ ใกล้ชิด น่าจะตรงบริเวณนี้ บาทหลวงตาชารด์บันทึกไว้ตอนหนึ่ง

“…โปรดมีพระราชบัญชากับข้าพเจ้าในวันก่อนวันคริสต์มาส พระราชทานวโรกาสให้ข้าพเจ้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในเวลาประมาณเก้านาฬิกา การเข้าเฝ้าครั้งนี้กินเวลานานกว่าสองครั้งที่แล้วมา ทรงแสดงความนิยมชมชื่นและความรักใคร่เคารพอย่างแท้จริงในองค์พระเจ้ากรุงฝรั่งเศส…” และ “…ทรงหันมารับสั่งโดยตรงกับข้าพเจ้าว่า ทรงวิงวอนพระเป็นเจ้าซึ่งทรงฤทธิ์ ตลอดจนพระผู้สร้างสวรรค์และโลก ได้โปรดประทานพรให้ข้าพเจ้ามีสุขภาพดี มีความสุข และได้เฝ้าใกล้ชิดพระองค์ พอรับสั่งจบก็ทรงลุกขึ้นจากพระเก้าอี้เสด็จเข้าข้างใน”

เวลาเก้านาฬิกาน่าจะประมาณสามทุ่ม

พระที่นั่งเย็นช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนสิงหาคม-ธันวาคม รวม 5 เดือน น้ำฝนจะไหลจากเทือกเขาสามยอด เขาพระพุทธ และเขาเอราวัณลงทะเลชุบศรเต็มฝั่ง รอบพระที่นั่งจึงเต็มไปด้วยน้ำ ทำให้ตัวพระที่นั่งดูลอยดุจเกาะเด่นงามตา เมื่อยืนอยู่หน้าพระที่นั่งมองไปทางตะวันออก จะเห็นทะเลสาบกว้างใหญ่ น้ำใสสะอาดไปสุดขอบเชิงเขาและทิวป่า ริมทะเลยาวด้านขวามือ ยามค่ำคืนตั้งเรือนไฟจุดสว่างเป็นระยะๆ แสงเพลิงกระทบน้ำในทะเลเปล่งประกายวับแวม บนฟ้ามีดาวประดับดารดาษ พระที่นั่งเย็นจึงถูกเลือกเป็นที่ดูสุริยุปราคา แทนที่จะเป็นหอดูดาววัดสันเปาโล หรือหอดูดาวที่ตึกโคระซ่าน หรือตึกปิจู ริมวัดเสาธงทอง

บาทหลวงเดอ ชัวชีย์ (มากับคณะทูตเดอ ชัวมองต์) ผู้มีอารมณ์ค่อนข้างสนุกสนาน (mania) ชอบภูมิทัศน์ย่านพระตำหนักนี้มาก บันทึกไว้ว่า “…ทัศนียภาพงดงามนัก มีต้นไม้งามๆ เขียวชอุ่ม มีสัตว์ให้ล่ากับนกกระทาจำนวนมาก ภูเขาห่างจากที่ตรงนั้นไปไม่เกินหนึ่งลิเออ เขาผ่านเข้าไปในเขตอุทยานแห่งหนึ่งของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม มีต้นไทร ทางเดิน และคันดูมากมาย ผู้รักษาพระราชอุทยานที่เป็นชาวฝรั่งเศส เขาทำงานได้เรียบร้อยดีมาก”

ภูเขานี้ห่างไปไม่เกินหนึ่งลิเออ น่าจะเป็นเขาพระพุทธและเขาเอราวัณในปัจจุบัน (เดิมเรียกเขาสำมะรึง) จึงเป็นที่ลาลูแบร์บันทึกว่า ทะเลไกลออกไป 2-3 ลีก (ลิเออ) อาจยาวหรือไกลเกินจริงไปหน่อย

บาทหลวงตาชารด์บันทึกการทอดพระเนตรจันทรุปราคา ณ พระที่นั่งเย็น (11 ธันวาคม 2228) ไว้ว่า “เราตกลงเลือกเอาพระตำหนักองค์หนึ่งชื่อว่า ทะเลชุบศร (Thlee Poussone) ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองละโว้ไปทางทิศตะวันออก ประมาณหนึ่งลิเออ ไม่ไกลเท่าใดนักกับป่าที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จประพาสล่าช้าง”

บาทหลวงตาชารด์บันทึกไว้อีกตอนหนึ่ง “…เราได้เตรียมกล้องส่องยาวห้าฟุตไว้ให้ทอดพระเนตรที่ช่องพระบัญชรที่เปิดออกสู่ลานพระระเบียงที่พวกเรานั่งกันอยู่…” ซึ่งน่าจะเป็นประตูและริมระเบียงด้านใต้ของพระที่นั่งมากกว่าด้านอื่น และทรงเป็นกันเองกับนักดาราศาสตร์และนักบวชในคณะนั้นอย่างมาก

“…เราลุกขึ้นและเข้าไปยืนเบื้องหน้าที่ประทับ และทรงมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรภายหลังเรา เพราะเราต้องปรับกล้องให้ได้ภาพชัดเจนเสียก่อนจะถวายให้ทอดพระเนตร ผู้ที่ทราบว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทุกพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้ผู้เข้าเฝ้าแสดงความเคารพต่อพระองค์สถานใด บอกแก่เราว่าพระมหากรุณาครั้งนี้ เป็นกรณีพิเศษมากทีเดียว”

พระที่นั่งเย็นจึงเป็นที่ประทับที่เป็นการส่วนพระองค์อย่างเป็นพิเศษ พาพระองค์สู่ความเป็นเสรีโดยสมบูรณ์ หากพระนารายณ์ราชนิเวศน์ คือ แวร์ซายส์ พระที่นั่งเย็นก็น่าจะเป็นตริอานอง ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 นั้นทีเดียว เป็นที่ทรงพระสำราญจากงานราชการ กีฬาช้าง ทรงเรือ ทรงดูเดือนดาว และทรงว่าว ณ พระที่นั่งนี้ด้วย

ทรงหวงแหนเก็บไว้เป็นการส่วนพระองค์ค่อนข้างมาก แม้จะรับแขกต่างประเทศ ยังทรงใช้ทุ่งข้างตำหนัก (ทุ่งพุดซ้อน) แทนด้วยซ้ำไป และบริเวณพระที่นั่งก็ป้องกันแข็งแรงมาก

“…เต็มพื้นที่ตามความกว้างของพื้นดินระหว่างคลองกับกำแพงมีขวากเหล็กปลายแหลม เรียงรายอยู่สองชั้น เขานำออกขึงไว้ทุกคืนโดยรอบที่พักหลังนี้ เพื่อป้องกันคนแปลกปลอมเข้าไปใกล้…”

พระที่นั่งเย็นวันนี้ กรมศิลปากรตกแต่งไว้เรียบร้อยมาก ต่างจากครั้งเมื่อผู้เขียนเป็นเด็กๆ พระที่นั่งครั้งนั้นถูกทิ้งร้าง รกเรื้อ ชวนสังเวชใจ เผอิญได้รูปเก่าจึงนำมาเป็นพยานรูปหนึ่ง!

พระที่นั่งเย็น เมื่อ พ.ศ. 2491

ขอบพระคุณกรมศิลปากรอีกครั้งหนึ่งที่ดูแลทำนุบำรุงพระที่นั่งเย็นไว้ดี และขอได้โปรดดูแลรักษาไว้ให้ดีต่อเนื่องนานๆ เป็นงานประจำโดยไม่ลืมปลูกพุดซ้อนไว้เป็นสัญลักษณ์ สักกอหนึ่งตรงมุมไหนก็ได้นะครับ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กันยายน 2565