Discourses on Livy : การเกิดนครและสัญญาประชาคมของ “มาเคียเวลลี”

ภาพประกอบ - อนุสาวรีย์ Niccolo Macchiavelli ในฟลอเรนซ์ อิตาลี

นิคโคโล มาเคียเวลลี (Niccolo Macchiavelli) หนึ่งในบุคคลสำคัญของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญมานุษยวิทยา (Humanism) เคยดำรงตำแหน่งรองมุขมนตรีแห่งสาธารณรัฐฟลอเรนซ์ และเป็นเจ้าของงานเขียนอันโด่งดัง The Prince หรือ เจ้าผู้ครองนคร

ขณะที่ The Prince บอกเล่าความสัมพันธ์ระหว่างคุณธรรมกับนโยบายการปกครอง วิธีปกครอง รักษา และการนำไปสู่การสูญเสียดินแดนของเหล่าเจ้าผู้ครองนคร ผู้ใช้ประโยชน์จากหลักการคือ “เจ้า” หรือ “ผู้ปกครอง” แต่ Discourses on Livy งานเขียนอีกชิ้นหนึ่งของเขา เป็นความรู้สำหรับผู้ที่ “ไม่ใช่เจ้า” แต่สมควรเป็นเจ้า เพราะมีรูปแบบเนื้อหาด้านสาธารณรัฐและเสรีนิยม

Advertisement

นิคโคโล มาเคียเวลลี เขียนงานนี้เพื่ออุทิศแด่ผู้นำกลุ่ม Orti Oricellari แห่งฟลอเรนซ์ ซึ่งเป็นสมาคมที่นักอักษรศาสตร์และนักมานุษยวิทยาชาวอิตาเลียนมาพูดคุยถกเถียงกันถึงวรรรณกรรม ภาษาศาสตร์ และการเมืองกัน ต่อมากลุ่มนี้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนการยึดอำนาจตระกูลเมดิชี ตระกูลเจ้าผู้ครองนครแห่งฟลอเรนซ์ สมาชิกกลุ่มจึงถูกประหาร บางส่วนถูกเนรเทศ และกลุ่ม Orti Oricellari เป็นอันต้องสลายตัวไป

งานเขียนนี้ประกอบด้วยหนังสือจำนวน 3 เล่ม เล่มแรกพูดถึงการทำงานของระบบสาธารณรัฐ เล่มที่สองพูดถึงการทำสงครามอย่างละเอียด และเล่มสามพูดถึงคุณสมบัติที่แท้จริงของเจ้าผู้ปกครอง นิคโคโล มาเคียเวลลี ให้ความเห็นว่า กลุ่มคนสามารถสร้างระบบสาธารณรัฐเพื่อแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นได้ แต่หากระบบสาธารณะรัฐถูกสร้างบนการคอร์รัปชั่น การปกครองในแบบราชาธิปไตยอาจเหมาะสมกว่าประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตยหรือสาธาณรัฐที่มีรัฐธรรมนูญก็ควรได้รับการสนับสนุนมากกว่า งานเขียนนี้จึงกลายเป็นหนึ่งในตำราของกลุ่มสาธารณรัฐนิยม และมักถกเถียงกันบ่อยครั้งว่าเป็นงานเขียนที่ดีกว่า The Prince

Discourses on Livy มีบทเกริ่นว่า การค้นคว้าเรียบเรียงงานชิ้นนี้ของเขาเป็นการแสวงหา “วิถีทาง” และ “ระเบียบ” อย่างใหม่ซึ่งอันตรายอย่างยิ่ง เป็นแนวทางที่ยังไม่มีใครผ่านมาก่อน แต่ “ระเบียบอย่างใหม่” ที่ว่านี้กลับศึกษาจากบทเรียนของโลกยุคโบราณ นั่นคืออาณาจักรโรมัน โดยหนังสือเล่มแรกในชุดงานเขียนนี้กล่าวถึงการก่อกำเนิดของบรรดานครหรือเมืองทั้งหลายในคาบสมุทรอิตาลีรวมถึงกรุงโรม แบ่งเป็นเมืองที่สร้างโดยคนพื้นเมืองและคนต่างถิ่น

เมืองที่สร้างจากคนพื้นเมือง นิคโคโล มาเคียเวลลี อธิบายไว้ว่าต้องเกิดการรวมตัวของชุมชนเล็ก ๆ หลายแห่งที่มองว่าพวกเขาไม่ปลอดภัยจากการรุกรานหากอยู่ตามลำพัง จึงโยกย้ายมาอยู่รวมกัน ทั้งนี้อาจเกิดจาก “ฉันทามติ” พวกเขาเอง หรือ “ผู้นำ” ในหมู่พวกเขา เมื่อชุมชนทั้งหลายรวมกันเป็นเมือง จึงเกิดการสถาปนารูปแบบการปกครองขึ้น มีทั้งรูปแบบดี คือ 1) รัฐโดยเจ้าผู้ปกครอง 2) รัฐโดยอภิสิทธิ์ชน 3) รัฐโดยประชาชน และรูปแบบเลว คือ 1) รัฐทรราชย์ 2) รัฐคณาธิปัตย์ 3) รัฐอนาธิปไตยไร้ความรับผิดชอบ ซึ่ง 3 แบบหลังคือ 3 แบบแรกที่ถูกทำให้เสื่อมนั่นเอง

นอกจากการเกิดเมือง เขายังอธิบายการเกิด “ผู้นำ” ที่เริ่มต้นจากหมู่ชนยกการตัดสินใจให้คนที่แข็งแกร่งและกล้าหาญที่สุดในหมู่พวกเขา เกิดความเข้าใจในเรื่องเกียรติและศักดิ์ศรีที่ต่างจากความอันตรายและความชั่วร้าย หากมีการทำร้ายผู้มีคุณแก่คนย่อมก่อให้เกิดความเกลียดชังพร้อมความเมตตาขึ้นในหมู่ชน เกิดการลงโทษผู้อกตัญญูนั้น พร้อมกันนั้นก็ให้เกียรติผู้รู้คุณคน หมู่ชนย่อมรู้ว่าความเจ็บปวดทั้งหลายอาจเกิดขึ้นแก่ตนได้ จึงสร้างกฎหมายและบทลงโทษซึ่งต้องอาศัย “ความยุติธรรม” เป็นตัวนำพาด้วย ดังนั้น หากต้องเลือกเจ้าหรือผู้นำ คนผู้นั้นไม่เพียงต้องแข็งแรงกว่า แต่ต้องเป็นผู้รอบคอบและมีความยุติธรรมสูง

สำหรับการเกิดเมืองของคนต่างถิ่นตาม นิคโคโล มาเคียเวลลี แบ่งประเภทนี้เป็นอิสรชนและกลุ่มผู้ที่ต้องพึ่งพาคนอื่น โดยยกตัวอย่างกลุ่มแรกคือ โมเสส ที่พาชาวยิวไปตั้งถิ่นฐานยังคานาอัน ส่วนกลุ่มที่สองคือเมืองฟลอเรนซ์นั่นเอง

อีกประเด็นที่น่าสนใจใน Discourses on Livy คือเขายอมรับว่า ศาสนา เป็นเครื่องมือทางสังคมเพื่อให้คนอยู่ในบรรทัดฐานและเชื่อฟัง จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการรักษาการปกครอง เพราะเป็นตัวสร้างสังคมสมมติ เขายังเชื่อมั่นในอำนาจและอิทธิพลของโชคลาภซึ่งทำหน้าที่คล้ายคลึงกับบทบาทของพระเจ้า แต่ศาสนาเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ส่วนโชคลาภมีอยู่ตามธรรมชาติ

โดยสรุปแล้ว Discourses on Livy มีลักษณะที่เน้นปรัชญา “สัญญาประชาคม” รวมถึงเสรีภาพ เพราะแนวคิดที่เขาพยายามอธิบายคือ การไล่เรียงตั้งแต่การเริ่มต้นของเมือง ที่เกิดจากความยินยอมพร้อมใจของของปัจเจกชนทั้งมวลในการละทิ้งธรรมชาติมารวมกันเป็นสังคมขนาดใหญ่จนกลายเป็นเมืองได้ แปลว่า หมู่ชนต้องยินยอมสละสิทธิตามธรรมชาติของตน แล้วมอบอำนาจให้องค์อธิปัตย์ในรูปแบบการปกครองต่าง ๆ ที่กล่าวไปข้างต้น

หากเทียบกับ “The Prince” ที่ช่วย “เจ้า” ให้มองจากที่สูงลงมา “Discourses on Livy” คือการสำรวจจากฐานรากขึ้นไปถึงปลายยอด เราจึงเห็นความเป็นนักเสรีนิยมและสาธารณรัฐในงานเขียนชิ้นนี้ของ นิคโคโล มาเคียเวลลี อย่างชัดเจน แต่ด้วยความโด่งดัง The Prince ที่ถูกพูดถึงในวงกว้างมากกว่า ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยรู้จักและมองเขาเป็น “นักชาตินิยม” มากกว่านักเสรีนิยม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. รอยสัญญาประชาคมในปรัชญามาคิอาเวลลี: บททดลองมองมาคิอาเวลลีในแง่ดี. วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ปีที่ 30 ฉบับที่ 3 (2540)

นิกโกโล มาเคียเวลลี. (2561). THE PRINCE : เจ้าผู้ครองนคร. แปลโดย สรวงอัปสร กสิกรานันท์. พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ : แอร์โรว์ มัลติมีเดีย.

อังเกอร์, ไมลส์ เจ. (2557). มาเคียแวลลี เจ้าทฤษฎีการเมือฃสมัยใหม่.  แปลโดย ศิริรัตน์ ณ ระนอง. กรุงเทพฯ : มติชน.

Pocock, J.G.A. (1975). The Machiavellian Moment: Florentine Political Thought and the Atlantic Republican Tradition. New Jersey : Princeton University Press.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 สิงหาคม 2565