องครักษ์ของจักรพรรดิโรมัน ไม่เพียง “อารักขา” แต่ยัง “เปลี่ยนตัว” จักรพรรดิด้วย

Proclaiming Claudius Emperor by Lawrence Alma-Tadema องครักษ์ เปรโตเรียน อัญเชิญ คลอดิอุส เป็นจักรพรรดิ
องครักษ์เปรโตเรียนอัญเชิญคลอดิอุสขึ้นเป็นจักรพรรดิ - วาดโดย Lawrence Alma-Tadema (ภาพจาก Wikimedia Commons)

หน่วยองครักษ์เปรโตเรียน (Praetorian Guard) มีหน้าที่คุ้มกันวังหลวงและเป็น “องครักษ์” ของจักรพรรดิแห่งโรมัน แต่บ่อยครั้งพวกเขาเป็นตัวแปรสำคัญของอำนาจการปกครองจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกยุคโบราณ

เปรโตเรียน ก่อตั้งขึ้นโดย จักรพรรดิออกุสตุส (Augustus) (27 ก่อนคริสตกาล – ค.ศ. 14) ในยุคเริ่มต้นสมัยจักรวรรดิโรมัน (Roman Empire) เหตุการณ์รุมสังหารซีซาร์เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทรงสร้างกองทหารส่วนพระองค์นี้ขึ้นมา โดยพัฒนาจากทหารเฝ้าเต็นท์หรือที่พักของแม่ทัพ/นายพลตั้งแต่สมัยสาธารณรัฐ (Roman Republic)

จากทหารประจำการกว่า 400,000 นาย ที่กระจายอยู่ตามค่ายทั่วจักรวรรดิโรมัน หน่วยเปรโตเรียนนับว่าเป็นกองกำลังฝีมือดีที่สุดในจักรวรรดิและรับคำสั่งหรือขึ้นตรงต่อจักรพรรดิเท่านั้น พวกเขารับค่าจ้างสูงสุดในบรรดาทหารอาชีพทั้งหมด มีเครื่องแบบพิเศษประดับด้วยสีม่วง (สีประจำตัวของจักรพรรดิโรมัน)

ต้นสมัยจักรพรรดิออกุสตุส หน่วยเปรโตเรียนจะออกปฏิบัติงานตามพระราชวังและอาคารสำคัญอย่างลับ ๆ คุ้มครองจักรพรรดิและสมาชิกราชวงศ์พร้อมทั้งเป็นตำรวจปราบการจลาจลเมื่อถึงคราวจำเป็น ต่อมามีเปรโตเรียนทั้งหมด 9 กองพัน แต่ละกองพันประกอบด้วยทหาร 500 นาย โดยมี 3 กองพันที่ประจำการที่กรุงโรมและคอยตรวจตราชุมชนใกล้เคียงด้วย ส่วนที่เหลือถูกส่งไปทั่วอิตาลีและเมืองสำคัญของจักรวรรดิ

แม้จะเป็นทหารระดับสูงฝีมือดี แต่ด้วยหน้าที่และลักษณะการปฏิบัติงานทำให้เปรโตเรียนไม่ค่อยได้ลงสนามรบบ่อยนัก กระนั้นพวกเขาก็มีส่วนร่วมในสงครามอยู่บ้างหากต้องติดตามจักรพรรดิไปยังสมรภูมิแนวหน้า เช่น การติดตามจักรพรรดิโดมิเชียน (Domitian) ไปรบในดินแดนเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) และจักรพรรดิทราจัน (Trajan) ในสงครามพิชิตดินแดนดาเชีย (Dacia)

จักรพรรดิมาร์คัส ออเรลิอุส (Marcus Aurelius) ผู้ใช้เวลาหลายปีในดินแดนลุ่มน้ำดานูบทำสงครามมาโครมานนิค (Marcomannic Wars) ก็ใช้เปรโตเรียนเป็นหน่วยรบหนึ่งที่ติดตามพระองค์ไปทำศึกด้วย รวมถึง จักรพรรดิออเรเลียน (Aurelian) ในสงครามทำลายกลุ่มอำนาจพัลมีรา (Palmyra) แห่งซีเรีย พระองค์สามารถยัดเยียดความพ่ายแพ้แก่กองทัพพัลมีราอย่างง่ายดาย ด้วยกองทัพที่ประกอบด้วยหน่วยเปรโตเรียนและกองทหารม้าเปรโตเรียนอันแข็งแกร่ง

สำหรับการพิทักษ์องค์จักรพรรดินั้น หน่วยเปรโตเรียนสามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะแทบไม่ปรากฏเหตุการณ์การลอบสังหารจักรพรรดิโดยศัตรูหรือบุคคลภายนอกเลย เพราะจักรพรรดิที่มีประวัติถูกลอบสังหาร ผู้ก่อการคือ หน่วยของพวกเขาเอง…

ไม่เพียงเท่านั้น มีหลายเหตุการณ์ที่หน่วยเปรโตเรียนซึ่งประจำการอยู่ในกรุงโรมมักแทรกแซงและเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาภายในของจักรวรรดิโรมัน ดังเรื่องราวต่อไปนี้

มีกรณีการสังหารผู้นำเปรโตเรียน หรือ เปรโตเรียน พรีเฟค (Praetorian Prefect) ชื่อ เซจานุส (Sejanus) ในสมัยของ จักรพรรดิไทเบริอุส (Tiberius) (ค.ศ. 12-37) ซึ่งผู้ก่อการคือ กลุ่มทหารในหน่วยนั่นเอง ผู้ดำรงตำแหน่งพรีเฟคคือคนที่รับใช้จักรพรรดิอย่างถวายชีวิต รับการแต่งตั้งและคำบัญชาจากจักรพรรดิโดยตรง นี่จึงเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่เผยให้เห็นว่าภายใต้หน้าที่พิทักษ์ราชบัลลังก์ของเหล่าเปรโตเรียน จักรพรรดิไม่อาจไว้วางใจคนเหล่านี้ได้อย่่างเต็มพระทัยเช่นกัน

จักรพรรดิคาลิกูลา (Caligula) ที่ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 37-41 ถูกสังหารในวัย 28 ปี จากผู้สมรู้ร่วมคิดในสภา และความร่วมมือของเหล่าเปรโตเรียน จากนั้น หน่วยเปรโตเรียนได้อัญเชิญลุงของพระองค์ คือ คลอดิอุส (Claudius) ขึ้นครองบัลลังก์ต่อ การสนับสนุนคลอดิอุสของเปรโตเรียนสร้างความไม่พอใจให้วุฒิสมาชิกผู้ร่วมก่อการอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือข้อตกลงของพวกเขา แต่ไม่มีใครสามารถขัดขวางได้เลย

ค.ศ. 69 “ปีแห่งสี่จักรพรรดิ” (Year of the Four Emperors) เปรโตเรียนเป็นส่วนหนึ่งของความวุ่นวายเช่นกัน เพราะพวกเขาสนับสนุน มาร์คัส เซวิอุส ออโธ (Marcus Salvius Otho) ให้ขึ้นเป็นจักรพรรดิแทน จักรพรรดิกาลบา (Galba) พระองค์ถูกลอบสังหารโดย “องครักษ์” ของตนเอง ข้อเรียกร้องของเปรโตเรียนได้รับการตอบสนองจากจักรพรรดิพระองค์ใหม่ นั่นคือ สิทธิในการเลือกผู้บังคับบัญชาหรือพรีเฟคจากคนในหน่วยเอง

แต่ยังไม่ทันไร วิเทลิอุส (Vitellius) ก็สามารถโค่นออโธ และยุบเปรโตเรียนชุดดังกล่าวทันที ก่อนแทนที่ด้วยชุดใหม่ที่มีจำนวนถึง 16 กองพัน เวสปาเชียน (Vespasian) เปิดศึกกับวิเทลิอุสและโค่นล้มเขาได้สำเร็จ หน่วยเปรโตเรียนถูกปรับเป็น 9 กองพันอีกครั้ง พร้อมให้พระโอรส คือ ทิทุส (Titus) เป็นพรีเฟคเสียเอง เพื่อควบคุมหน่วยเปรโตเรียนอย่างเข้มงวด

ค.ศ. 193 หน่วยเปรโตเรียนรับค่าจ้างจาก ดีดิอุส ยูลิอานุส (Didius Julianus) ให้ลงมือสังหาร จักรพรรดิเพอร์ตินักส์ (Pertinax) ปีเดียวกันนี้เอง เซบติมุส เซเวอรัส (Septimius Severus) เข้ามาควบคุมสถานการณ์ในกรุงโรมอย่างเบ็ดเสร็จ

เมื่อเข้าสู่สมัยของ จักพรรดิเซเวอรัส (Severus) (ค.ศ. 193-211) เกิดระบบทหารเซนจูเรียน (Centurions) ซึ่งเป็นระบบการเลื่อนขั้นทางทหารที่แม้แต่ชาวนายากจนก็ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูง ๆ ในกองทัพได้ หน่วยเปโตเรียนถูกเปลี่ยนเป็น ทหารราชองครักษ์ (Imperial Guards) และเพิ่มจำนวนเป็นสองเท่า กรุงโรมมีหน่วยนี้ประจำการอยู่ถึง 15,000 คน โดยดึงทหารกรำศึกจากกองทัพดานูบมาอยู่ในตำแหน่ง และยกเลิกระบบเดิมที่ทหารในหน่วยองครักษ์ต้องเป็นคนในคาบสมุทรอิตาลีเท่านั้น

กระทั่งศตวรรษที่ 4 รัชสมัย จักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราช (Constantine the Great) (ค.ศ. 306-337) พระองค์ให้ความสำคัญกับกองทัพม้ามากขึ้น และองครักษ์ส่วนใหญ่มักเป็นทหารรับจ้างชาวต่างชาติ หน่วยองครักษ์แบบเดิมจึงถูกยุบไปอย่างถาวร

ตลอดประวัติศาสตร์การแย่งชิงอำนาจภายในจักรวรรดิโรมัน จะเห็นว่า หน่วยองครักษ์เปโตเรียน มีบทบาทไม่น้อย ท่ามกลางการนองเลือดเพื่อชิงราชบัลลังก์ จักรพรรดิบางพระองค์ประสบความสำเร็จเพราะมีหน่วยนี้ให้การสนับสนุน จักรพรรดิองค์ใหม่ถูกประกาศให้สภาซีเนทและสาธารณชนโรมันรับรู้หลังได้รับความเห็นชอบจากหน่วยนี้ก่อนก็มี แน่นอนว่าช่วงเวลานั้นองค์กรทางการเมืองที่สำคัญอย่างวุฒิสภาโรมัน ก็ไม่สามารถต่อต้านหรือขัดขืนใด ๆ ได้เลยเช่นกัน

ถือเป็นอำนาจทางการทหารที่ครอบงำการเมืองภายในและดูจะผิดแผกไปจากเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งอย่าง จักรพรรดิออกุสตุส เป็นอย่างมาก…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

คอสมอส.  (2560). Traces of Roman Civilization (แกะรอยอารยธรรมโรมัน). กรุงเทพฯ: ไทยควอลิตี้บุ๊คส์.

ดาณุภา ไชยพรธรรม. (2560). จากรุ่งเรืองสู่ล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน.พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: แพรธรรม.

สุริยา รัตนกุล, คุณหญิง. (2557). อารยธรรมโรมัน อารยธรรมตะวันตก. พิมพ์ครั้งที่ 3. นครปฐม: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหิดล.

Heather, Peter. (2006). The Fall of the Roman Empire.  London: Pen Book.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 สิงหาคม 2565