มาตราวัดแบบโบราณในคัมภีร์ “จันทสุริยคติทีปนี” ใช้ “วัว” เป็นเกณฑ์วัด !?

ทุกท่านคงคุ้นเคยกับหน่วยความยาวหรือมาตราวัดแบบสากลอย่าง นิ้ว ฟุต และเมตรกันอยู่แล้ว ส่วนมาตราวัดแบบไทย มาตราวัดแบบโบราณ อย่าง ศอก วา ฯลฯ ปัจจุบันก็ยังใช้กันอยู่ แต่แท้จริงแล้วยังมีหน่วยวัดอย่างไทยแบบอื่น ๆ ซึ่งถูกบันทึกไว้โดยละเอียดในคัมภีร์จันทสุริยคติทีปนี ตำราโบราณที่สืบย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1

หน่วยวัดต่าง ๆ ที่กล่าวถึงในคัมภีร์นี้มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะมีการใช้ “วัว” เป็นเกณฑ์ในการวัด รวมถึงหน่วย “ศอก” ที่เราเคยได้ยินกันมานั้นก็มีประเภทแยกย่อยลงไปอีก โดยใช้มาตรฐานจากร่างกายของ “ผู้ชาย” ของแต่ละยุคสมัย

ศ.ดร. นิยะดา เหล่าสุนทร ผู้เขียนบทความ “มาตราวัดแบบโบราณ” (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2565) ซึ่งให้ความสนใจและศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ได้บอกเล่าที่มาของคัมภีร์เล่มนี้ พร้อมอธิบายเกณฑ์การวัดแบบโบราณของไทยที่กล่าวไว้อย่างชัดเจนดังนี้


 

“คัมภีร์จันทสุริยคติทีปนี” มีที่มาจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระธรรมอุดม พระราชาคณะคณิศสรสังฆะปริณายกาจารย์ แห่งวัดบูรณาการแปลถวาย เมื่อ พ.ศ. 2346…

คัมภีร์จันทฯ เป็นงานนิพนธ์ภาษาบาลีของพระภิกษุ ซึ่งมีชื่อว่า อุดม มังคลาจารย์ ซึ่งเป็นศิษย์ของ พระอุทุมพรมหาเถระ รายละเอียดเกี่ยวกับปีที่แต่งไม่ปรากฏ แต่อาจสันนิษฐานได้ว่า คัมภีร์จันทฯ น่าจะแต่งก่อน คัมภีร์จักกวาฬทีปนี ของ พระสิริมังคลาจารย์ พระเถระที่มีชื่อเสียงรูปหนึ่งของอาณาจักรล้านนา เพราะ พระสิริมังคลาจารย์ ได้อ้างถึง คัมภีร์จันทฯ ไว้ในงานนิพนธ์ของท่านหลายตอน ในทำนองที่ไม่เห็นด้วย คัมภีร์จักกวาฬทีปนี แต่งเมื่อ พ.ศ. 2063 ดังนั้น คัมภีร์จันทฯ ควรจะแต่งก่อน พ.ศ. 2063 แต่จะเป็นปีใดนั้น ไม่สามารถกำหนดได้ สถานที่แต่งอยู่ในรัฐตัมพระ ประเทศพม่า

เนื้อเรื่องของ คัมภีร์จันทสุริยคติทีปนี แบ่งได้เป็น 6 หัวข้อ หรือที่เรียกได้ว่า มาติกา ได้แก่ รัตนวินิจฉัย โยชนวินิจฉัย ปเกียรณวินิจฉัย คติวินิจฉัย วิถีวินิจฉัย อยนวินิจฉัย อาโลกวินิจฉัย และอุปปติวินิจฉัย

มาติกาทั้ง 3 ประเภทแรกมีความสำคัญ ในฐานะที่เป็นความรู้พื้นฐานในการศึกษาขนาด และสัณฐานของสรรพสิ่งในจักรวาล ซึ่งแต่ละชนิดมีขนาดต่างกัน ทั้งนี้ ผู้สนใจจำต้องมีความรู้ในการใช้เครื่องวัดเหล่านี้ให้ถูกต้อง ส่วนมาติกาที่เหลือ ว่าด้วยวิถีโคจรของพระจันทร์ และพระอาทิตย์ อย่างละเอียด…ซึ่งไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงในที่นี้

รัตนวินิจฉัย ว่าด้วยการกำหนด ศอก โดยใช้ประมาณของบุรุษ ซึ่งแบ่งเป็น

มหาถามบุรุษ คือ บุราณบุรุษที่มีกำลังมาก ในคัมภีร์จันทฯ ไม่ได้แจ้งว่า บุรุษในสมัยใด จึงจัดให้เป็นมหาถามบุรุษ

มัชฌิมบุรุษ คือ บุราณบุรุษที่มีกำลังปานกลาง พิจารณาจากเนื้อความน่าจะหมายถึง บุคคลในสมัยพุทธกาล

หินถามบุรุษ คือ บุรุษในสมัยปัจจุบัน (หลังจากพุทธกาล) ที่มีกำลังน้อย

โยชนวินิจฉัย ว่าด้วยการกำหนดความยาวของ โยชน์ ซึ่งมีวิธีวัดดังนี้

1. โยชน์ซึ่งวัดด้วย ไม้เส้า (ไม้ขนาดยาว) มีความยาวได้ 21 ศอก

2. โยชน์หนึ่งมีความยาวเท่ากับ ชั่วแอกรถ เรื่องนี้มีปรากฏใน มหาชนกชาดก

3. โยชน์ซึ่งใช้ อุสุภ เป็นเกณฑ์ คำว่า “อุสุภ” มีความหมายว่า โค [วัว – ผู้เขียน] ดังนั้น ความยาวของโยชน์ในข้อนี้จึงเกี่ยวข้องกับ โค เป็นสำคัญ

สริรอุสุภ กำหนดจากขนาดของ โคอุสุภราช [พาหนะของพระศิวะ – ผู้เขียน] ซึ่งเหยียดกายเต็มที่ โดยวัดจากจะงอยปากจนสุดหาง หากวัดด้วยศอกจะ ได้ 3 ศอก

พลอุสุฏ กำหนดจากระยะทาง ที่เกิดจากการกระโดดเต็มแรงสุดของโคอุสุภราช ซึ่งวัดได้ 14 ศอก

สรอุสุภ กำหนดวัดจากการบรรลือเสียง (ร้อง) ของโคอุสุภราช ซึ่งสิ้นสุดในที่ใด ก็นับเป็นความยาวของอุสุภ

4. โยชน์ซึ่งใช้ โกสะ เป็นเกณฑ์

500 ชั่วธนู มีค่าเท่ากับ 1 โกสะ

4 โกสะ มีค่าเท่ากับ 1 คาพยุต

4 คาพยุต มีค่าเท่ากับ 1 โยชน์

5. โยชน์ซึ่งใช้ไม้วัดที่มีความยาว 7 ศอก เป็นเกณฑ์

7 ศอก x 20 ครั้ง มีค่าเท่ากับ 140 ศอก

140 ศอก มีค่าเท่ากับ 35 วา

35 วา มีค่าเท่ากับ 1 อุสุภ

80 อุสุภ มีค่าเท่ากับ 1 คาพยุต

4 คาพยุต มีค่าเท่ากับ 1 โยชน์

6. โยชน์ที่ใช้ไม้วัดที่มีความยาว 4 ศอก เป็นเกณฑ์

4 ศอก x 20 ครั้ง มีค่าเท่ากับ 20 วา

20 วา มีค่าเท่ากับ 1 อุสุภ

80 อุสุภ มีค่าเท่ากับ 1 กาพยุต

4 คาพยุต มีค่าเท่ากับ 1 โยชน์

มาตราวัดเฉพาะข้อ 5 และข้อ 6 ดูน่าจะเกี่ยวข้องกับการคิดคำนวณของคนไทยมากกว่าข้ออื่น ๆ …

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 สิงหาคม 2565