ตราชูเป็นคู่กับตราชั่ง “ตราชู” มาจากไหน? คนไทยไฉนเรียก “ตราชั่ง(ตาชั่ง)”

ตาชั่ง
ภาพประกอบเนื้อหา - ตาชั่งวัดตวงน้ำหนัก ผลิตโดย Henry N. Hooper and Company ในสหรัฐอเมริกา ราว ค.ศ. 1845–55

ตราชู มาจากภาษาทมิฬว่า “ตราจุ” คนไทยออกเสียงเป็น ตราชู เป็นชื่อเครื่องชั่งที่มีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ มีภาพเขียนอยู่ในพีระมิดของอียิปต์ ทำเป็นรูปเครื่องชั่งมีหลักกลางห้อยลงมา ตามความเชื่อของอียิปต์เชื่อว่าคนตายแล้ว จิตวิญญาณจะต้องไปเข้าเครื่องชั่งเพื่อตรวจสอบความดีความเชื่อ โดยใช้ขนนกเป็นลูกชั่ง ในคัมภีร์กุรอ่านกล่าวว่าพระอ้าหล่าได้มอบตราชูมาให้มนุษย์ใช้เพื่อความยุติธรรม

ในภาษาไทยคำว่า ตราชู ยังหมายถึงความเที่ยงตรงไม่ลำเอียงอีกด้วย เมื่อ พ.ศ. 2456 ทางราชการของไทยได้กำหนดตราตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมให้ใช้ตราพระดุลพาห ทำเป็นรูปพระแสงขรรค์กับรูปดุลหรือตราชูประดิษฐานอยู่เหนือพานสองชั้น

Advertisement

เครื่องชั่งแบบที่ปลายคันแขวนถาดสำหรับวางของทั้งสองข้างนี้ คนอินเดียโบราณเรียกว่า “ตุลา” เป็นภาษาสันสกฤต เมื่อใช้เป็นกิริยาเรียกว่า “ตุละ” หรือ “ตุล” ที่ไทยมาเรียกว่า “ดุล” ในสมัยอยุธยามีพระราชพิธีดุลาภารหรือตุลาภาร

“ตั้งตราชูกลางพระโรง เบื้องซ้ายใส่สรรพทรัพย์เบื้องขวาพระองค์แลสมเด็จพระอรรคมเหษี ฯลฯ”

คำว่าตราชูและตุลคงจะเข้ามาเมืองไทยพร้อมๆ กัน และรับประเพณีนี้มาจากอินเดีย พิธีตุลาภารแบบนี้เคยเห็นภาพถ่ายในหนังสือพิมพ์อินเดีย ทำคันชั่งด้วยไม้อย่างหยาบๆ ให้เด็กนั่งในสาแหรกข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งในผลไม้เผือก มัน ของกิน ว่ากันว่าทำในวันเกิด ของที่นำมาชั่งนั้นให้เป็นของขวัญแก่เด็ก

เรื่องชั่งน้ำหนักของเด็ก Chiang Yee ได้เล่าไว้ในหนังสือ A Chinese Children ว่าเด็กๆ จะถูกนำไปชั่งปีละ 2 ครั้ง เด็กโตรู้ความแล้วก็ให้เอามือโหนตะขอตาชั่งไว้ ถ้าเป็นเด็กอายุน้อยๆ ขนาด ๓ เดือนก็เอาผ้าไหมแดงมาห่อ แล้วแขวนกับตะขอตาชั่งจีน ไม่ใช่เทียบน้ำหนักกับของขวัญอย่างอินเดีย แต่เพื่อทดสอบดูว่าน้ำหนักของเด็กจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ถ้าน้ำหนักเพิ่มขึ้นก็แสดงว่าเด็กอ้วน เป็นที่พออกพอใจของผู้ใหญ่มาก

คนไทยรู้จักการชั่งด้วยมือมาช้านาน เช่นเอาของใส่ในมือซ้ายและในมือขวา แล้วหยั่งหรือชั่งน้ำหนักของสองสิ่งนั้นว่าน้ำหนักเป็นอย่างไรกัน ฉะนั้นเมื่อมีตราชูเข้ามาใช้ ไทยจึงเรียกสิ่งนั้นว่า “ตราชั่ง” เพราะคล้ายกันกับชั่งด้วยมือ แต่การออกเสียง “ตราชั่ง” อย่างพระยาศรีสุนทรโวหารคงไม่ถนัดปากคนไทย จึงได้กลายเป็น “ตาชั่ง” อย่างที่ใช้กันทุกวันนี้

ตาชั่งมีหลายแบบ บางอย่างหมดสมัยหาดูได้ยากบางอย่างก็ไม่มีคนเรียก เพราะไม่เคยใช้ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) อดีตหัวหน้ากองชั่งตวงวัดอธิบายไว้ว่า

“ตราชู” เป็นแบบของไทยแท้ ซึ่งเรียกว่า ตาชั่ง

ตาชั่งจีน รูปร่างเป็นคันยาวมีลูกชั่งติดอยู่กับคันมีรอยขีดบอกอัตราน้ำหนัก จีนนำเอามาใช้แต่โบราณ เรียกกันว่า “ตาชั่งจีน” ขนาดใหญ่ใช้ชั่งน้ำหนักมาก มีมาตราเป็นตำลึงจีน, ชั่งจีน

ถ้าเป็นตาชั่งจีนขนาดเล็กใช้ชั่งน้ำหนักน้อย มีมาตราเป็นหลี เป็นหุน เรียกกันว่า “ตาเต็ง” ใช้ในการชั่งทอง เงิน และขายยาจีน สำนวนไทยว่า “ไม่เต็มเต็ง” และ “เบาเต็ง” หมายถึงคนบ้าๆ บอๆ ผิดธรรมดา ก็มาจากตาเต็ง”

อนึ่งผู้รู้ภาษาจีนกล่าวว่า ตาชั่งขนาดใหญ่จีนเรียกว่า “ฉิ่ง” (เคยอ่านพบเรื่องร้านทำตาชั่งจีนในสิงคโปร์ เขาเรียกตาชั่งขนาดใหญ่นี้ว่า Daching ดูใกล้กับตาฉิ่ง-ตาชั่ง) และเรียกตาชั่งขนาดเล็กว่า “เต็ง” หรือ “เต้ง” ส่วนที่มีคำว่า ตาในคำว่า “ตาเต็ง” นั้นเป็นเพราะที่คันชั่งมีรอยเป็นจุดๆ สำหรับนับแบ่งคล้ายกับเป็นตาของเต็ง จึงเรียกว่า ตาเต็ง อาจมาทางเดียวกับตาชั่งก็ว่าได้

คำที่ไทยโบราณเรียกตาชั่งฝรั่งว่า “ตาปอนด์” มีอยู่ ๒ แบบ แบบหนึ่งเป็นแท่นใหญ่สำหรับวางของ ใช้สำหรับชั่งของที่มีน้ำหนักมาก อีกแบบหนึ่งเป็นตาชั่งหน้าปัดกลม มีเข็มหมุนไปตามขีดที่บอกอัตราน้ำหนัก ใช้สำหรับชั่งของที่มีน้ำหนักน้อย ทั้งสองแบบมีมาตราเป็นปอนด์ จึงเรียกกันว่า “ตาปอนด์”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มกราคม 2561