ตราชั่งกรุงหงสาวดี เครื่องวัดบ่งชี้ “พรหมจารี” ของหญิงสาว

หญิงสาว พม่า
ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพวาดสีน้ำเกี่ยวกับชีวิตชาวพม่า โดยศิลปินชาวพื้นเมือง วาดเมื่อ ค.ศ. 1897

เกี่ยวกับคำว่าหญิงพรหมจารี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้นิยามไว้ว่า พรหมจาริณี น. หญิงที่ยังบริสุทธิ์ (ป.). พรหมจารี …หญิงที่ยังบริสุทธิ์…

ความหมายตามคำนิยามในพจนานุกรม ตรงกับความเข้าใจโดยทั่วไปว่า หมายถึงสตรีที่ไม่เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์ (จะโดยความยินยอมพร้อมใจหรือไม่ก็ตาม) หรือที่เรียกกันตามภาษาชาวบ้านว่า “ยังไม่เคยเสียสาว” มาก่อน

แต่ก่อนบุรุษผู้เห็นแก่ตัวมักจะพะวงสนใจว่า สตรีที่ตนเองเลือกมาเป็นคู่ครองนั้นเป็นสาวพรหมจารีหรือสาวบริสุทธิ์อยู่หรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็เคยมีเพศสัมพันธ์กับสตรีอื่นมาก่อน ยิ่งได้ผ่านมาหลายคนก็ยิ่งกลายเป็นความภาคภูมิ ดังนั้นหลายท่านอาจจะเคยได้ยินชายชาติอาชาไนย คุยถึงความเป็นผู้รู้ในวิธีการหรือเครื่องบ่งชี้ว่า สตรีคนใดบริสุทธิ์หรือไม่ได้อย่างพิลึกพิลั่น

เมื่อกล่าวถึงการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของสตรี ก็อยากจะเล่าถึงวิธีพิสูจน์แปลก ๆ ที่อ่านพบในหนังสือมหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า มาสู่กันฟังว่า ครั้งหนึ่งในสมัย พระเจ้าอนอรทามังจอ เป็นกษัตริย์ผู้มีพลานุภาพครองกรุงพุกาม เมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ 16 พระองค์ส่งทหารเอก 4 นาย ไปช่วยพระเจ้ากรุงหงสาวดีซึ่งเป็นเมืองของมอญทางใต้ ป้องกันเมืองหงสาวดีไว้ได้จากการรุกรานของพระเจ้าอโยชะลาวยวน

เพื่อเป็นการตอบแทนพระคุณ พระเจ้ากรุงหงสาวดีจึงถวายพระธิดาที่งามที่สุดในโลกพระนามว่า นางมณีจันทา แก่พระเจ้าอนอรทาแห่งกรุงพุกาม พร้อมกับมอบ ตราชู สำหรับชั่งนางไปด้วย ระยะทางจากกรุงหงสาวดีไปยังกรุงพุกามเป็นระยะทางไกล ต้องรอนแรมระหว่างทางหลายคืนหลายวัน โดยนายทหารเอกทั้ง 4 นายของพระเจ้าอนอรทา คอยทำหน้าที่คุ้มครองพระนางไปตลอดทาง

ในการคุ้มครองนางมณีจันทานั้น นายทหารเอกทั้ง 4 ได้ ผลัดเวรกันคอยดูแลผลัดละ 1 นาย เมื่อหมดเวรก็จะมอบหน้าที่แก่นายทหารคนต่อไป โดยก่อนการส่งมอบนั้นก็จะมีการนำนางมณีจันทาขึ้นชั่งบนตราชู การณ์ทั้งหลายก็เป็นไปด้วยดี

จนถึงเวรของ มางจันยิด นายทหารที่เป็นพระโอรสของพระเจ้าอนอรทาเอง ขณะที่อยู่เวรเกิดไปมีเพศสัมพันธ์กับนางมณีจันทาเข้า พอมีการส่งมอบเวรผลัดต่อไปเอานางมณีจันทาขึ้นชั่ง ปรากฏว่าน้ำหนักของนางเพิ่มขึ้นผิดปกติ ทหารเอกทั้ง 3 คนจึงช่วยกันจับมางจันยิด มัดส่งตัวแก่พระเจ้าอนอรทาพร้อมกับนางมณีจันทา

เรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไปหาอ่านได้จากมหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า ที่สำนักพิมพ์มติชนนำมาจัดพิมพ์แล้ว

ตราชั่งวิเศษอย่างนี้คงมีอยู่ที่กรุงหงสาวดีเพียงแห่งเดียว เดี๋ยวนี้เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่าเมืองพะโค

นอกจากตราชั่งมณีจันทาแล้ว ก็คงจะไม่มีเครื่องมือหรือวิธีการอะไรที่จะมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์หรือความเป็นหญิงพรหมจารีได้ เพราะแม้แต่ในวงการแพทย์เองก็ไม่ยอมยืนยันว่า สตรีที่ไม่มีเยื่อพรหมจรรย์ หรือ พรหมจารี จะต้องเป็นสตรีที่ผ่านชายมาก่อนเสมอไป เพราะหญิงพรหมจารีหรือหญิงบริสุทธิ์ก็อาจทำชิ้นส่วนที่บอบบางของเธอชิ้นนี้หลุดร่วงไปได้ง่าย ๆ จากการขี่จักรยานไปโรงเรียน หรือโดดตบวอลเลย์บอลอย่างหนักหน่วงหรือแสดงท่ายิมนาสติกงาม ๆ ฯลฯ ขณะนี้ไม่มีเครื่องมือหรือวิธีการใดมาชี้วัดได้

จริงเท็จอย่างใด รู้อยู่แก่ใจของสตรีผู้นั้นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “’เบิกพรหมจรรย์’ UNSEEN ไทยแลนด์ ที่ปราสาทพนมรุ้ง” เขียนโดย พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2546


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ตุลาคม 2561