มาไวไปไว! การหวนคืนอำนาจของ “นโปเลียน” ปิดฉากอย่างรวดเร็วเพียงร้อยวัน

นโปเลียน ออกจาก เกาะเอลบา กลับ ฝรั่งเศส
นโปเลียนออกจากเกาะเอลบาเพื่อกลับฝรั่งเศส วาดโดย Joseph Beaume (ภาพจาก Wikimedia Commons)

นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoléon Bonaparte) หรือจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 แม่ทัพ, รัฐบุรุษ และจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่ง ฝรั่งเศส ในยุคการปฏิวัติอันโด่งดัง มีบทบาทเป็นผู้นำที่ครอบงำยุโรปไว้ภายใต้อำนาจจักรวรรดิฝรั่งเศสนานนับทศวรรษ ระหว่าง ค.ศ. 1804 จนถึง ค.ศ. 1814

ภายหลังจักรพรรดินโปเลียนประสบความล้มเหลวในการบุกรัสเซีย และปราชัยในยุทธการเมืองไลฟ์ซิก (Battle of Leipzig) เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1813 กองทัพของฝ่ายสหสัมพันธมิตร ประกอบด้วย รัสเซีย, อังกฤษ, ปรัสเซีย, ออสเตรีย และสวีเดน สามารถบุกยึดกรุงปารีสได้สำเร็จในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1814 ก่อนบีบให้พระองค์สละอำนาจ

ชาติสหสัมพันธมิตรร่วมมือกันลงนามใน สนธิสัญญาฟงแตนโบล (Treaty of Fontainebleau) ที่ระบุชัดว่า นโปเลียนต้องสละดินแดนฝรั่งเศสทั้งหมด พร้อมเนรเทศพระองค์ให้มีอำนาจปกครองเฉพาะดินแดนบนเกาะเอลบา (Elba) ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ใกล้กับอิตาลี โดยอนุญาตให้ดำรงสถานะจักรพรรดิแห่งราชวงศ์โบนาปาร์ตได้

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 (Louis XVIII) พระอนุชาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Louis XVI) ได้สิทธิ์ปกครอง ฝรั่งเศส แทนนโปเลียน แต่ความตั้งใจที่จะฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงของพระองค์สร้างความไม่พอใจให้ประชาชนอย่างมาก ความนิยมในรัฐบาลพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 จึงเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว แม้จักรพรรดินโปเลียนจะอยู่ห่างไกลออกไป แต่พระองค์ก็ทราบกระแสความไม่พอใจของประชาชน และถือโอกาสหลบหนีออกจากเกาะเอลบากลับมายังแผ่นดินฝรั่งเศสอีกครั้ง พระองค์ขึ้นฝั่งที่เมืองคานส์ (Cannes) ในคืนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1815 แล้วเดินทางสู่กรุงปารีส

ขบวนของจักรพรรดินโปเลียนได้รับการต้อนรับจากประชาชนตลอดเส้นทาง มีผู้เข้าร่วมกองทัพของพระองค์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กำลังทหารที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ส่งมาสกัด ปฏิเสธคำสั่งผู้บังคับบัญชาในการโจมตี แล้วเปลี่ยนฝั่งมาเข้าร่วมกองทัพของจักรพรรดินโปเลียนแทน แม้แต่นายพลมิเชล เน (Michel Ney) ผู้ให้คำมั่นกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ว่าจะนำจักรพรรดินโปเลียนใส่กรงเหล็กมาทูลถวาย ก็เปลี่ยนใจมาสวามิภักดิ์ด้วยน้ำตานองใบหน้า

เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ตระหนักได้ว่า ไม่อาจต้านทานการคืนสู่อำนาจของจักรพรรดินโปเลียนได้ จึงเสด็จลี้ภัยไปยังเบลเยียม

20 มีนาคม ค.ศ. 1815 จักรพรรดินโปเลียนเสด็จประทับ ณ พระราชวังตุยเลอรี (Tuileries) เริ่มรัชสมัยของพระองค์อีกครั้ง และทั่วกรุงปารีสล้วนประดับประดาด้วยธงสามสี สัญลักษณ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศส

การฟื้นคืนอำนาจของนโปเลียนสร้างความแตกตื่นแก่ชาติมหาอำนาจยุโรปอย่างมาก ประกอบกับขณะนั้นมีการประชุมที่กรุงเวียนนา (Congress of Vienna) ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ 15 กันยายน ค.ศ. 1814 จุดประสงค์คือสร้างสันติภาพและดุลแห่งอำนาจในกลุ่มชาติมหาอำนาจยุโรป ผู้แทนจากฝรั่งเศสภายใต้รัฐบาลพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ที่ถูกส่งมาประชุม ถอนตัวจากการประชุมทันที พร้อมกันนั้น 4 มหาอำนาจ ได้แก่ อังกฤษ, ออสเตรีย, ปรัสเซีย และรัสเซีย รื้อฟื้นข้อตกลงสนธิสัญญาโชมง (Treaty of Chaumont) เพื่อร่วมกันต่อต้านนโปเลียนอีกครั้ง โดยสนธิสัญญานี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการร่วมมือในการล้มล้างอำนาจของนโปเลียน และป้องกันไม่ให้ราชวงศ์โบนาปาร์ตกลับมาครองฝรั่งเศสอีกนั่นเอง

9 มิถุนายน ค.ศ. 1815 ประเทศสหสัมพันธมิตรร่วมลงนาม สนธิสัญญาเวียนนา (Treaty of Vienna) กำหนดมาตรการลงโทษฝรั่งเศส และสกัดกั้นการขยายอำนาจของฝรั่งเศสในอนาคต มีการจัดสรรดินแดนระหว่างชาติในยุโรปเพื่อเป็นแนวป้องกัน ทำให้ฝรั่งเศสถูกปิดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ทุกทิศทาง

การประชุมที่กรุงเวียนนาของตัวแทนชาติยุโรป

ทางด้านจักรพรรดินโปเลียนทรงประกาศชัดว่า พระองค์ปรารถนาสันติภาพและความสงบสุข ไม่มีความทะเยอทะยานเหมือนสมัยก่อนแล้ว แต่วีรกรรมและความแข็งแกร่งในอดีตของจักรวรรดิฝรั่งเศสยังหลอกหลอนประเทศฝ่ายสหสัมพันธมิตรอยู่ แน่นอนว่าพวกเขาไม่เชื่อใจนโปเลียน พร้อมทั้งส่งกองทัพมารวมตัวกันที่เบลเยียม สถานการณ์อันตึงเครียดนี้ทำให้ฝรั่งเศสประกาศสงครามกับชาติสหสัมพันธมิตรอีกครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มีสงครามและการปะทะกันระหว่างกองทัพฝรั่งเศสกับกองทัพฝ่ายสหสัมพันธมิตรในหลายพื้นที่ ก่อนจบลงใน ยุทธการวอเตอร์ลู (Battle of Waterloo) ซึ่งเป็นศึกสำคัญที่สุด เพราะทัพของจักรพรรดินโปเลียนที่พยายามบุกยึดฐานที่มั่นของกองทัพอังกฤษ ได้ถูกกองทัพปรัสเซีย (เยอรมนีในเวลาต่อมา) ยกมาตีขนาบจนพ่ายแพ้ไปในที่สุด ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนของฝรั่งเศสต่อต้านและบีบบังคับให้จักรพรรดินโปเลียนสละราชย์อีกครั้งในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1815

วันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1815 กองทัพสหสัมพันธมิตรเข้ายึดกรุงปารีสได้สำเร็จ มีการเชิญพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 กลับมาครองราชย์ในวันถัดมา ถือเป็นการปิดฉากการครองอำนาจรอบที่ 2 ของจักรพรรดินโปเลียนลงอย่างถาวร นับจากวันที่ 20 มีนาคม ถึง 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1815 (110 วัน)

นโปเลียน นักการทหารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งแห่งยุคของฝรั่งเศสถูกเนรเทศอีกครั้ง คราวนี้พระองค์ถูกเนรเทศไปไกลกว่าเดิม ยังเกาะเซนต์เฮเลน่า (St. Helena) กลางมหาสมุทรแอตแลนติกอันห่างไกลในฐานะนักโทษ และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นจวบจนวาระสุดท้ายในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1821

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

สุขุมาลย์ สิทธิมงคล. (2523). ยุโรปคริสตวรรษ 19-20. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

อนันต์ชัย เลาหะพันธุ. (2554). ยุโรปสมัยใหม่ ค.ศ. 1492-1815. กรุงเทพฯ : ศักดิโสภาการพิมพ์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 สิงหาคม 2565