สงครามหอยนางรม ในเมกาตัวอย่างโศกนาฏกรรมสาธารณสมบัติ?!?

แฟ้มภาพ หอยนางรมจากอ่าว Arcachon ในฝรั่งเศส ภาพเมื่อปี 2006, AFP PHOTO / JEAN-PIERRE MULLER

ประวัติศาสตร์ยุคแรกของอเมริกา หอยนางรมมีราคาถูก และอุดมสมบูรณ์มาก โดยเฉพาะในอ่าวเชซาพีค ชาวอินเดียนแดงกินหอยนางรมเท่าที่กินได้ ทิ้งซากเปลือกเป็นภูเขาเลากา นักล่าอาณานิคมพบว่าอ่าวนี้อุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยภูเขาหอยนางรมเสียจนไม่ว่าจะคราดเพื่อขุดลอกโคลนเลนเพียงใด หอยนางรมก็ดูเหมือนจะไม่มีวันหมด “หอยนางรมมีเหลือเฟือในอ่าว (ประมาณปี 1600) จนกระทั่งบางครั้งเรือจะเกยตื้นบนแหล่งหอย” [1]

อ่าวหอยนางรมคือสาธารณสมบัติแบบ “เข้าถึงโดยเสรี” ใครๆ ก็สามารถจับได้

แต่เมื่อมาถึงกลางศตวรรษที่ 19 ก็เริ่มมองเห็นเค้าลางบางอย่างเกิดขึ้น เทคโนโลยีการประมงเปลี่ยนจากวิธีโลว์เทคที่ใช้การคราดมาเป็นวิธีอวนลากสมัยใหม่ที่จับได้มากกว่า

ชาวประมงที่ใช้คราด ถูกความจุที่จำกัดของเรือและความยาวที่จำกัดของคราด ช่วยจำกัดความเสียหายต่อแหล่งหอย [2] ชาวประมงที่ใช้คราดทำงานในน้ำลึกไม่เกิน 20 ฟุต ซึ่งเป็นระดับของดินเลนที่มีหอยอาศัยอยู่เยอะที่สุด

ขณะที่ชาวประมงอวนลากพัฒนาเรือ “สกิ๊ปแจ๊ก” ที่ทำงานได้ทุกความลึก พวกเขาดึงอวนลากตาข่ายถี่ๆ ไปบนหน้าดินในทะเล กวาดทุกอย่างขึ้นมาหมด หลังจากดินเลนที่เป็นบ้านของหอยนางรมก็อาจพังทลาย และฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ไม่ได้อีก

เมื่อชาวประมงใช้สกิ๊ปแจ๊กกันอย่างแพร่หลาย หอยนางรมก็เริ่มหายาก เมื่อทรัพยากรหายากแล้ว สาธารณสมบัติแบบเข้าถึงโดยเสรี ก็สร้างวงจรอุบาทว์-จับหอยนางรมวันนี้ได้ราคาดีอย่างแน่นอน การปล่อยให้ผสมพันธุ์ดูจะเป็นเรื่องโง่

สงครามที่แบ่งแยกอ่าวเชซาพีคนานเกือบ 100 ปี สัญญาสงบศึกเพิ่งลงนามกันได้ในปี 1962 นี่เอง สกิ๊ปแจ็กจำนวนมากถูกจม ลูกเรือถูกกราดยิงตาย และศพก็ลอยอืดเข้าฝั่งเป็นปกติ

ศึกชิงเสรีภาพในการจับหอยในอ่าวเริ่มตั้งแต่ปี 1632 เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ของอังกฤษทรงวาดพรมแดนทางทะเลที่คั่นระหว่างแมรี่แลนด์กับเวอร์จิเนีย [3] พระองค์ไม่ได้ทรงแบ่งอ่าวตรงที่สายน้ำไหลเชี่ยวที่สุด (วิธีปกติ) แต่แบ่งตรงจุดที่น้ำขึ้นสูงสุดในฝั่งเวอร์จิเนีย ทำให้แหล่งหอยนางรมทั้งหมดอยู่ในเขตน่านน้ำของแมรี่แลนด์ “ความไม่เท่าเทียม” กันจุดประกายความขัดแย้งที่กินเวลานานกว่าสามศตวรรษ

ในปี 1785 นายพลจอร์จ วอชิงตัน เป็นคนกลางที่เจรจาให้สองมลรัฐนี้ตกลงกัน [4] “สัญญา 1785” แบ่งอาณาเขต แต่เส้นแบ่งใหม่นี้ก็ไม่ทำให้ฝ่ายไหนพอใจ และการปล้นหอยนางยังคงเกิดขึ้น (แต่การเจรจาครั้งนี้ก็กระตุ้นให้จอร์จ วอชิงตัน, เจมส์ แมดิสัน กับจอร์จ เมสัน ครุ่นคิดถึงวิธีที่จะรวมพลังของมลรัฐต่างๆ นั่นคือการจัดประชุมร่างรัฐธรรมนูญ) [5]

จนถึงกลางศตวรรษที่ 19 รัฐสภาของแมรี่แลนด์กับเวอร์จิเนียยังพอร่วมมือกันได้ พวกเขาขับไล่ชาวประมง “ต่างชาติ” จากนิวเจอร์ซีย์ นิวยอร์ก และรัฐอื่นตลอดชายฝั่งตะวันออก ที่ทำลายแหล่งหอยนางรมในน่านน้ำตัวเองไปหมดแล้ว? ชาวนิวอิงแลนด์เหล่านี้แล่นเรือลงมาในอ่าวเพื่อเก็บตัวอ่อนหอย เอาไปเพาะที่บ้าน ถึงแม้ว่าแมรี่แลนด์กับเวอร์จิเนียจะสงวนสิทธิ์การจับหอยในอ่าวไว้สำหรับพลเมืองตัวเองเท่านั้น ความพยายามที่จะปิดอ่าวไม่ให้คนอื่นเข้ามาก็ไม่เกิดผลใดๆ เพราะทั้งสองรัฐต่างไม่อยากตั้งข้อจำกัดสำหรับชาวประมงของตัวเอง เพราะไม่มีใครเชื่อจริงจังว่าแหล่งหอยนางรมในอ่าวอาจหมดได้ในวันหนึ่ง

ในช่วงเวลานี้เรืออวนลากเกือบพันลำทำงานในอ่าวเชซาพีคและแม่น้ำใกล้เคียง กองเรืออวนลากที่แล่นเข้าไปในเวิ้งน้ำอย่างรวดเร็ว ลากอวน ทำลายหน้าดินจนเกลี้ยง ไม่เหลือหอยนางรมแม้แต่ตัวเดียวแล้วก็จากไป ถึงแม้ว่าชาวอเมริกันจากภาคเหนือจะถูกกีดกัน ชาวประมงในแมรี่แลนด์กับเวอร์จิเนียก็ยังต้องดิ้นรนเอาตัวรอด พวกเขาเริ่มแข่งกันระหว่างที่การแข่งขันเข้มข้นขึ้น มลรัฐแต่ละแห่งก็ออกมาตรการอนุรักษ์หอยนางรมที่ละเอียดซับซ้อนเพื่อกำกับดูแลการจับหอยและปกป้องอุตสาหกรรมในเขตของตัวเอง [6]

ทศวรรษ 1860 เป็นทศวรรษแห่งการเปลี่ยนผ่านที่ไม่หวนคืน ในปี 1862 คำว่าการใช้มากเกินไป (overuse) เข้าสู่ภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรก “แหล่งหอยนางรมกำลังร่อยหรอ ส่วนหนึ่งจากการใช้มากเกินไป” [7] ปริมาณหอยนางรมที่จับได้ในอ่าวพุ่งถึงจุดสูงสุดก็เริ่มตกลง

รัฐบาลแมรี่แลนด์เริ่มปล่อยเช่าแหล่งหอยในน่านน้ำของตังเองให้แก่ชาวแมรี่แลนด์เท่านั้น เพราะคิดว่าการแปรรูปให้เป็นของเอกชนจะกระตุ้นการลงทุนและเพาะพันธุ์ในบริเวณที่ไม่มีแหล่งหอยตามธรรมชาติ นโยบายดังกล่าวเป็นที่โต้เถียงอย่างรุนแรงชาวประมงเวอร์จิเนีย ปฏิเสธมาตรการอนุรักษ์ของรัฐ หลายคน “เชื่ออย่างงมงายว่าหอยนางรมเป็นผลผลิตของธรรมชาติ จะใช้กฎหมายเหมือนกับที่ใช้กับอาหารหรือทรัพย์สินประเภทอื่นๆ ไม่ได้” เวลานั้นชาวแมรี่แลนด์เรียกชาวเวอร์จิเนียว่า “โจรสลัด”

ความขัดแย้งทวีความรุนแรง ทุกฝ่ายเริ่มติดอาวุธ ใช้ความรุนแรงบ่อยครั้งกว่าเดิม สภานิติบัญญัติของแมรี่แลนด์มองเห็นปัญหา จึงจ้างทหารนอกเครื่องแบบคือผู้บังคับการเรือฮันเตอร์ เดวิดสัน ในปี 1868 ให้จัดตั้งและเป็นกัปตันคนแรกของกองทัพเรือหอยนางรมแห่งแมรี่แลนด์ (Maryland Oyster Navy) ก่อนที่เขาจะเริ่มงาน ผู้บังคับการเรือเดวิดสันชื่อเรือไอน้ำชื่อ ไลลา เป็นเรือแม่ของเขา ก่อตั้งกองทัพเรือปืนติดปืนครกและปืนไรเฟิลชนิดยิงซ้ำได้เร็ว

ฝ่ายเวอร์จิเนียก็วิตกเรื่องโจรสลัดแมลี่แลนด์เหมือนกัน พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 และจอร์จ วอชิงตันวาดอาณาเขตก็จริง แต่วาดได้ไม่ดีพอ ศึกในน้ำดำเนินไปพร้อมกับศึกในศาลบนฝั่ง ยกตัวอย่างเช่น ในปี 1877 ศาลฎีกาของสหรัฐขีดเส้นแบ่งน่านน้ำใหม่ ยกแหล่งหอยนางรมที่มีค่าที่สุดให้แก่เวอร์นิเจีย “เส้นปี 77” ซึ่งกลายเป็นการปลุกระดมชาวเกาะสมิธในแมรี่แลนด์ให้ลุกขึ้นสู้ พวกเขาไม่ยอมรับคำตัดสินของศาล เพราะมันจะทำให้พวกเขาสูญเสีย [8] โจรสลัดจากเกาะสมิธกดดันให้เวอร์จิเนียขยายกองทัพเรือหอยนางรมของตัวเองเช่นกัน

ก่อนหน้านั้น ในเดือนมกราคม ปี 1871 กัส ไรซ์ โจรสลัดหอยนางรมที่มีชื่อที่สุดในอ่าวเชซาพีค สันนิษฐานว่าเป็นชาวเวอร์จิเนียนำลูกสมุนของเขาลอบสังหารผู้บังคับการเรือเดวิดสันของแมรี่แลนด์ แม้จะไม่สำเร็จ แต่เหตุการณ์นั้นทำให้เดวิดสันไล่ล่ากองเรือโจรสลัดอย่างมุมานะมากขึ้น

ไรซ์เอาตัวรอดได้และปล้นหอยนางรมต่อมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปีด้วยเรืออวนลาก ต้นปี 1888 ชาวประมงหอยนางรมในแม่น้ำเชสเตอร์ทนไม่ไหวจึงติดตั้งปืนใหญ่ 2 กระบอกที่ปากน้ำเพื่อยิงไล่นักลากอวนของไรซ์ ขณะที่ไรซ์โต้ตอบด้วยการยกพลขึ้นบกยึดปืนใหญ่ จับยามชายฝั่ง

แต่อ่าวเชซาพีคที่กว้างใหญ่ และไรซ์ก็ไม่ใช่กัปตันโจรสลัดเพียงคนเดียว หลายครั้งจึงเกิดการต่อสู้ของกองทัพควบคู่ไปกับการปะทะกันระหว่างผู้คุมกฎในการทำสงครามหอยนางรม ผู้บังคับการเรือเดวิดสันขอร้องให้สภานิติบัญญัติของแมรี่แลนด์สร้างสภาพแวดล้อมทางกฎหมายที่คุ้มค่ากับการที่เขาไปเสี่ยงตาย เขาเรียกร้องกฎหมายที่จะ “จำกัดและกำกับอุตสาหกรรมที่ไร้จิตสำนึกและมักง่ายในปัจจุบันที่จับหอยนางรมทุกตัวที่เจอโดยไม่เลือกฤดู ขนาด หรือสภาพแวดล้อม” [9] เดวิดสันเชื่อว่าการแก้ปัญหาการประมงเกินขนาดจะต้องให้รัฐปล่อยเช่าแหล่งหอยนางรมสาธารณะให้แก่ชาวประมง และกำหนดเพดานการจับหอยที่รัฐบังคับใช้ได้จริง

ขณะที่ศตวรรษที่ 19 กำลังจะปิดฉาก ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากทยอยออกมาเตือนถึงสถานการณ์วิกฤติ เช่น วิลเลี่ยม บรูกส์ นักชีววิทยาหอยนางรมที่เตือนว่า “ทุกคนที่คุ้นเคยกับเรื่องนี้ดีตระหนักมานาน แล้วว่าระบบปัจจุบันของเรามีผลลัพธ์ได้เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น-การสูญพันธุ์ของหอยนางรม” [10] แต่ไม่มีใครสนใจคำเตือนของพวกเขา

หลังเริ่มต้นศตวรรษที่ 20 ได้ไม่นาน ผลผลิตหอยนางรมตกต่ำลงด้วยอัตราเร่ง ราคาพุ่งสูงขึ้นจนหอยนางรมกลายเป็นอาหารหรูหราในอเมริกาที่คนกินขณะดื่มแชมเปญ (จากเดิมหอยนางรมเป็นอาหารชนิดหนึ่งที่มีราคาถูกที่สุดในอเมริกา)

จวบจนทศวรรษ 1940 คนก็ยังยิงกันเพื่อแย่งหอยนางรมในอ่าว

ในปี 1960  สแตนลีย์ รีด ผู้พิพากษาศาลสูงเรียกผู้ว่าราชการรัฐแมรี่แลนด์กับเวอร์จิเนียให้มาตกลงกันว่าจะแบ่งสิทธิหอยนางรมที่เหลืออยู่ในอ่าวอย่างไร ปี 1962 ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ลงนามรับรองให้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นกฎหมายชื่อ “กฎหมายประมงโปโตแม็ค” กฎหมายฉบับนี้ปิดฉากสงครามหอยนางรมลงอย่างบริบูรณ์ 300 ปีหลังจากที่อ่าวถูกแบ่งอาณาเขตเป็นครั้งแรก

เกือบ 200 ปีหลังจากที่จอร์จ วอชิงตันนึกว่าเขาสงบศึกได้แล้ว และเกือบ 100 ปีหลังจากที่ศาลฎีกาตัดสินเรื่องนี้เป็นครั้งแรก กองทัพเรือหอยนางรมของทั้งสองมลรัฐเปลี่ยนชื่อเป็น “ตำรวจประมงและสัตว์ป่า” และหน่วยงานนี้ก็ยังคงอยู่สืบมาจวบจนปัจจุบัน

ในศตวรรษที่ 19 หอยนางรมในอ่าวเชซาพีคเป็นทรัพยากรที่อยู่บนจุดตัดของเส้นแบ่งจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นชาวประมงที่ใช้คราดกับชาวประมงที่อวนลาก ชาวประมงในอ่าวกับชาวประมงจากนิวอิงแลนด์ ชาวแมรี่แลนด์กับชาวเวอร์จิเนีย กะลาสีเรือกับคนงานบรรจุกระป๋อง โจรสลัดกับกัปตันเรือที่รัฐสนับสนุน แต่เส้นแบ่งที่กว้างใหญ่ที่สุดคือความขัดแย้งระหว่างคนที่ปฏิบัติต่อทรัพยากรราวกับว่าทุกคนเข้าถึงได้โดยเสรี และคนที่ทุ่มเทพลังงานให้แก่รูปแบบอื่นๆ ในการบริหารจัดการทรัพยากร

สงครามหอยนางรมสอนให้เรารู้ว่า การเข้าถึงโดยเสรีกับสงครามโดยเสรีนั้นไม่ใช่ส่วนผสมที่ดีสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีปัญญา เรือปืนอย่างเดียวปกป้องหอยนางรมไม่ได้ กฎหมายอย่างเดียวก็ทำไม่ได้เหมือนกัน

 


เชิงอรรถ :

[1] Wennersten, Oyster Wars, 6. ในปี 1701 ผู้มาเยือนรัฐ Virginia ผู้หนึ่งกล่าวว่า “ความอุดมสมบูรณ์ของหอยนางรมที่นี่เป็นเรื่องเหลือเชื่อ ชายเลนเต็มไปด้วยหอยจนเรือต้องแล่นหลบมัน เรือใบที่จะปล่อยเราลง ที่ Kingscreek ติดเลนหอยนางรมจนเราต้องรอ 2 ชั่วโมงให้น้ำขึ้นก่อน เรื่อถึงจะเทียบท่าได้” (Hedeen, Oyster, 6).

[2] Wennersten, Oyster Wars, 13-14 (อธิบายการใช้เรือลากแรงม้าสูงที่ “โจรปล้นหอยแยงกี” ริเริ่ม และกฎหมายของรัฐ Maryland ยุคกึ่งศตวรรษที่ตอบโต้ด้วยการห้าม “ชาวต่างชาติ” นั้นคือคนต่างรัฐเข้ามาจับหอย), 28-32 (อธิบายเรือสองชนิดและคนที่ใช้เรือเหล่านั้น), ดูประกอบ ใน Hedeen, Oyster, 158-183 (อธิบายกรรมวิธี รวมถึงเครื่องมือคีบและ ลากอวน).

[3] ดู Hedeen, Oyster, 9. ดูประกอบใน Wennerster 46-47.

[4] Wennersten, Oyster Wars, 47.

[5] David O. Stewart, The Summer of 1787: The Men Who Invented the Constitution (New York: Simon and Schuster, 2007), 1-10

[6] อ้างแล้ว, 19 (ตั้งข้อสังเกตว่าตั้งแต่ “ปี 1820 สภาออกกฎหมาย เกือบ 30 ฉบับ”).

[7] พจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับ Oxford, “Over-use, n.” (อ้างถึง หนังสือปี 1862 ที่อธิบายธรรมเนียมปฏิบัติของการจับหอยนางรมในหมู่เกาะ Channel)

[8] Wennersten, Oyster Wars, 48.

[9] ดู Davidson, Report upon the Oyster Resources, 3.

[10] 32. Brooks, Oyster, 77.


ข้อมูลจาก :

ไมเคิล แฮลเลอร์-เขียน, สฤณี อาชวานันทกุล-แปล. “โลกคือหอยนางรมของข้า” ใน. เศรษฐกิจติดขัด, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2553.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กรกฎาคม 2565