เมืองเชียงใหม่เป็นของพญามังราย สร้างโดยพญามังราย เพื่อพญามังราย

การ​ฟ้อน​เล็บ​เฉลิม​พระ​เกียรติ​จาก​จิต​อาสา​ทุก​ภาค​ส่วน​เป็น​ไป​โดย​พร้อมเพรียง​และ​สวย​งาม ใน​พิธี​เปิด​งาน​มหรสพ​สมโภช เนื่อง​ใน​โอกาส​มหา​มงคล​พระ​ราช​พิธี​บรม​ราชาภิเษก ที่​ลาน​พระ​บรม​ราชา​นุ​สาว​รี​ย์​สาม​กษัตริย์ อ.​เมือง จ.​เชียงใหม่ เมื่อ​วัน​ที่ 22 พฤษภาคม 2562

สัญลักษณ์หนึ่งที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ คือ พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ อันประกอบด้วยพระมหากษัตริย์ 3 พระองค์ผู้สร้างเวียงเชียงใหม่ขึ้นมา ได้แก่ พญามังราย พญางำเมือง และพระร่วง อันสะท้อนความสำคัญของประวัติศาสตร์การร่วมมือกันของพระมหากษัตริย์ในสามดินแดนในภูมิภาคเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกันก็ได้มีข้อเสนอของนักวิชาการถึงประเด็นการสร้างเมืองเชียงใหม่นั้นเกิดขึ้นจากพญามังรายเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น

วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “3 กษัตริย์ที่ไม่ได้สร้างล้านนา กับ 1 นางพญาที่ไม่เป็นรองใคร” มีวิทยากรโดย อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย ดำเนินการเสวนาโดย ณัฐพงศ์ ดวงแก้ว ณ ห้องโถงมติชนอคาเดมี โดยมีการนำเสนอและข้อโต้แย้ง ดังนี้

อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย กล่าวเริ่มต้นว่าตัวเองชอบการศึกษาประวัติศาสตร์นอกตำราจึงนำมาสู่การเสนอหลักฐานว่าเมืองเชียงใหม่ไม่ได้ถูกสร้างโดย 3 กษัตริย์ ซึ่งมีหลักฐานในการโต้แย้งประวัติศาสตร์ล้านนา กระแสหลักแบ่งออกกว้างๆ 3 ประเภท ได้แก่ เอกสาร ศิลาจารึก และหลักฐานแวดล้อม อาทิ ภาษา ผังเมือง เป็นต้น

อาจารย์สมฤทธิ์ได้ยกหลักฐานประเภทแรกคือเอกสาร ที่สำคัญคือ หนังสือมูลศาสนา หนังสือตำนานพื้นเมืองเชียงแสน และตำนานพื้นเมืองเชียงราย เชียงแสน ซึ่งหลักฐานข้างต้นกลับพบว่าไม่มีการกล่าวถึงการสร้างเมืองเชียงใหม่จากการร่วมมือของ 3 กษัตริย์ มีแต่พญามังรายเท่านั้นที่สร้างเมืองเชียงใหม่

ต่อมาอาจารย์ได้โต้แย้งหลักฐานที่มีการกล่าวถึงว่าเชียงใหม่เกิดจากการร่วมสร้างจากกษัตริย์จากเอกสารชินกาลมาลีปกรณ์ ว่าในเอกสารไม่ได้บอกว่าเชียงใหม่เกิดจากการสร้างของกษัตริย์ เพียงแต่กล่าวถึงการมาพบกัน ผูกมิตรกันแล้วแยกย้ายกลับเมืองของตน นอกจากนี้อาจารย์สมฤทธ์ยังตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะมีการเติมแต่งขึ้นมาภายหลัง เพราะเขียนหลังจากตั้งเมืองเชียงใหม่ไปแล้ว 232 ปี เพราะผู้เขียนคือพระรัตนเถระบันทึกไว้ว่าเอามาจากตำนานเดิม ซึ่งไม่รู้ว่าเอามาจากตำนานที่ไหน

การโต้แย้งหลักฐานเอกสารยังเกิดขึ้นอีก 2 ชิ้นที่สำคัญคือ ตำนานเมืองเชียงใหม่และตำนานสิบห้าราชวงศ์ ที่กล่าวถึงว่าทั้ง 3 กษัตริย์สร้างเมืองเชียงใหม่ด้วยกัน แต่อาจารย์สมฤทธิ์ได้ตั้งข้อสังเกตว่าเอกสารทั้ง 2 ชุดนี้ คัดลอกในสมัยรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 4) ซึ่งน่าจะมีการตัดตอนเติมแต่งจึงนับว่าไม่มีน้ำหนักในการยืนยันว่าทั้ง 3 กษัตริย์ร่วมกันสร้างเชียงใหม่

ต่อมาคือหลักฐานประเภทที่ 2 คือ จารึก โดยมีจารึกที่กล่าวถึงการสร้างเมืองเชียงใหม่ที่เกิดจากการร่วมมือกันของ 3 กษัตริย์ นั่นคือ จารึกวัดเชียงมั่น ซึ่งเขียนหลังจากสร้างเมืองเชียงใหม่ 285 ปี เพราะฉะนั้นต้องระวังการใช้หลักฐานประเภทจารึก เพราะไม่ใช่ว่าข้อมูลจะถูกต้องเสมอไป เห็นได้จากจารึกวัดเชียงสา พ.ศ. 2096 ที่บันทึกว่าพระไชยเชษฐาเป็นผู้ปกครองของเชียงใหม่และล้านช้าง ซึ่งแท้จริงแล้ว พ.ศ. 2096 เชียงใหม่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของทายาทของพญามังราย ฉะนั้นต้องตรวจสอบหลักฐานประเภทจารึกอย่างระมัดระวัง

นอกจากนี้ หลักฐานแวดล้อมยังชี้ให้เห็นว่าพญามังรายกับพระร่วงไม่ได้เป็นมิตรกัน โดยอาจารย์สมฤทธิ์ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมหลักฐานทางสุโขทัยจึงไม่บันทึกการสร้างเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งทำไมอิทธิพลตัวอักษรสุโขทัย จึงไม่มีในเชียงใหม่ในสมัยนั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการมาร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ของพระร่วงนั้นน่าจะไม่เป็นจริง ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างพญามังรายกับพญางำเมือง อาจารย์สมฤทธิ์อธิบายว่าความสัมพันธ์เป็นไปในทางลักษณะฝ่ายเมืองพะเยาเป็นรอง ไม่ได้เป็นมิตรต่อกัน

อาจารย์สมฤทธิ์ยังได้อธิบายต่อถึงทฤษฎีว่าทั้ง 3 กษัตริย์ร่วมตัวกันต่อต้านการรุกรานของมองโกลว่าไม่เป็นจริง เพราะทั้ง 3 แคว้นเล็กเกินไปไม่คุ้มค่าต่อการรุกราน สังเกตได้จากการที่มองโกลเลือกรุกรานแต่เมืองใหญ่ ๆ อย่างยูนนาน พุกาม เป็นต้น มองโกลน่าจะใช้การทูตกับทั้ง 3 แคว้นมากกว่า เพราะฉะนั้นทฤษฎีนี้จึงไม่มีน้ำหนัก

แล้วทำไมจึงมีตำนานทั้ง 3 กษัตริย์ร่วมกันสร้างเชียงใหม่? ประเด็นนี้อาจารย์สมฤทธิ์ได้อ้างถึงคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ที่อธิบายว่า ตำนานดังกล่าวมาจากการขยายอิทธิพลทางการค้าขายของกลุ่มคนภาษาไต-ไท โดยผูกเรื่องให้นิยายมี 3 กษัตริย์ พบกันด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง

ฉะนั้นประเด็น 3 กษัตริย์พญามังราย พญางำเมือง และพระร่วง ร่วมกันสร้างเชียงใหม่จึงไม่ใช่ความจริงแต่เป็นความเชื่อเสียมากกว่า

ติดตามอ่านบทความ “สามกษัตริย์ไม่ได้สร้างเชียงใหม่” เขียนโดย สมฤทธิ์ ลือชัย ได้ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2565

รับชมเสวนาช่วงที่ 1 :

รับชมเสวนาช่วงที่ 2 :


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กรกฎาคม 2565