“พิธีไล่น้ำ” สมัยอยุธยา พิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์ ไล่น้ำท่วมให้ลด ไล่น้ำลงทะเล

คน สยาม อยุธยา พายเรือ
ไพร่ฝีพายเรือของเจ้านายและขุนนางสมัยอยุธยา ลายเส้นจากหนังสือจดหมายเหตุ ลา ลูแบร์

“พิธีไล่น้ำ” หรือ “พิธีไล่เรือ เถลิงพิธีตรียัมพวาย” ในสมัยอยุธยา พิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์ ไล่น้ำท่วมให้ลด ไล่น้ำลงทะเล

ในสมัยอยุธยา บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นพื้นที่ที่มีน้ำไหลหลากท่วมเป็นประจำทุกปี ได้นำเอาความอุดมสมบูรณ์มาให้แก่ชาวอยุธยา ทั้งข้าวและปลาก็บริบูรณ์ ดังที่ นิโกลาส์ แชร์แวส ชาวฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์บันทึกว่า

“น้ำท่วมใหญ่ ซึ่งดูเป็นที่น่ารำคาญและทำความเสียหายให้มากนี้ กลับนำประโยชน์และความชื่นชอบมาสู่คนสยามและนำความมั่งคั่งมาสู่ประเทศ…ต้นข้าวนั้นชอบอยู่ในน้ำ น้ำยิ่งสูงเท่าไรลำต้นยิ่งแข็งแรง…สิ่งที่ให้ประโยชน์อีกประการหนึ่งในกรณีที่มีน้ำท่วม ก็คือมีปลาเป็นอันมาก…”

อย่างไรก็ตาม หากปีใดมีน้ำหลากมามากเกินไป ก็จะสร้างความเสียหายแก่พืชผลทางการเกษตรได้ โดยหากน้ำจะหลากท่วมสูงเร็วผิดปกติ ต้นข้าวไม่อาจจะโตทันได้ภายในเวลาอันสั้น คือไม่ทันชูยอดขึ้นเหนือน้ำ ก็จะทำให้ข้าวเน่าและตายได้

ดังนั้น ในปีใดหากมีน้ำเหนือไหลหลากลงมามากเกิน ราชสำนักอยุธยาจะประกอบพระราชพิธีที่เรียกว่า “พิธีไล่น้ำ” ซึ่งพิธีดังกล่าวนี้ปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธี 12 เดือน บางครั้งเรียกว่า “พิธีไล่เรือ เถลิงพิธีตรียัมพวาย”

พิธีนี้จะจัดขึ้นในเดือนอ้าย (ประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม) ขั้นตอนประกอบพิธีคือ พระมหากษัตริย์เสด็จฯ ประทับเรือพระที่นั่ง พร้อมด้วยพระอัครมเหสี พระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอ และขุนนางผู้ใหญ่ตามเสด็จฯ เป็นขบวนใหญ่ โดยขบวนเสด็จพยุหยาตราชลมารคจากอยุธยาแล้วล่องตามแม่น้ำลงไปทางทิศใต้

เมื่อล่องขบวนเสด็จฯ ไปถึงสถานที่ที่กำหนดก็ทำพิธีตั้งเครื่องบัตรพลีทำพิธีเรียกขวัญสู่ขวัญพระแม่คงคา มีการร้องลำน้ำเห่กล่อม หลังจากนั้นพระมหากษัตริย์ “เสด็จออกยืน” กลางเรือพระที่นั่ง แล้วทรงถือ “วาลวิชนี” (พัดโบก) หนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ทรงโบกไปมาเหนือลำน้ำ โดยจะทรงโบกในลักษณะจากเหนือลงใต้ เป็นสัญลักษณ์ว่าขอให้เกิดลมมาพัดกระแสน้ำให้ไหลลงทะเลโดยเร็วเพื่อน้ำที่กำลังหลากท่วมจะได้ลดลง

นอกจากนี้ ในการประกอบพิธีก็อาจจะมีการใช้พระแสงดาบฟาดฟันสายน้ำ เพื่อเร่งรัดให้น้ำลดลงอีกด้วย ดังที่ปรากฏอยู่ในคำให้การชาวกรุงเก่า ที่บันทึกถึงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงเรือพระที่นั่งในเวลาน้ำขึ้น “รับสั่งให้น้ำลด แล้วทรงพระแสงฟันลงไป น้ำก็ลดตามพระราชประสงค์”

อย่างไรก็ตาม นิโกลาส์ แชร์แวส อธิบายว่า “พิธีไล่น้ำ” ได้เลิกไปในสมัยสมเด็จพระนารายณ์นั้น ดังที่บันทึกว่า “เมื่อก่อนนี้ยังมีอีกโอกาสหนึ่งที่จะได้เห็นพระองค์ คือในวันเสด็จไปประกอบพระราชพิธีฟันน้ำ เพื่อมิให้มันท่วมขึ้นมา แต่ปัจจุบันนี้ได้ยุบเลิกขนบประเพณีที่ว่านี้เสียแล้ว”

เหตุที่ต้องมี “พิธีไล่น้ำ” ก็เพื่อไล่น้ำที่หลากท่วมท้องทุ่งให้ราษฎรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวในนาที่กำลังสุกพอดีเกี่ยว ซึ่งพิธีนี้ไม่ได้ทำทุกปี แต่จะทำเฉพาะในปีที่เกิดน้ำหลากลงมากจนสร้างความเสียหายแก่นาข้าว แม้ว่าพิธีกรรมนี้อาจจะช่วยไล่น้ำไม่ได้จริง แต่ก็นับว่าเป็นพิธีที่สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ราษฎรในสมัยก่อนอย่างมาก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

นิโกลาส์ แชร์แวส. (2550). ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมือง แห่งราชอาณาจักรสยาม (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์). แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา.

สิทธารถ ศรีโคตร. (มกราคม, 2555). น้ำท่วม ทำเลที่ตั้ง และการจัดการน้ำในเมืองโบราณของไทย. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 33 : ฉบับที่ 3.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กันยายน 2564