แลหลัง กบฏ ปฏิวัติ รัฐประหาร ในการเมืองสยามไทย

รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 (Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 (กปค. 75)

ในประวัติศาสตร์การปฏิวัติยุคใหม่คงไม่มีประเทศไหนที่มีกลุ่มและขบวนการที่ทำการปฏิวัติหรือเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วยกำลังมากและต่อเนื่องยาวนานเท่ากับการปฏิวัติในสยามประเทศไทย

นับจากการพยายามยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ แห่งรัชกาลที่ 6 ในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “กบฏร.ศ. 130” หรือ “กบฏเก๊กเหม็ง” (พ.ศ. 2454) มาถึง “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475” ถึง “รัฐประหาร 2490” ถึง “กบฏแมตฮัตตัน” ถึง “รัฐประหารเงียบ” ถึง “การปฏิวัติ 2500” ถึง “การปฏิวัติ 14 ตุลา 2516” ถึง “รัฐประหาร 6 ตุลา 2519” และคณะปฏิรูปการปกครอง ถึง “กบฏเมษาฮาวาย 2524” ถึง “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ 2534” (รสช.) และ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (คปค.) ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งล่าสุด 2549 แต่ยังไม่มีใครทราบแน่นอนว่าสุดแล้วหรือยัง ดังนั้นเพื่ออนุวัตรตามสมัยนิยม จึงขออนุญาตใช้คำย่อสำหรับเรียกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช 2475 ว่า “กปค. 75”

หากนับรวมการยึดอำนาจและพยายามยึดอำนาจ ทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จเข้าด้วยกัน นับแต่ปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา จนถึงปี พ.ศ. 2549 รวมทั้งสิ้น 17 ครั้ง เฉลี่ยมีการยึดอำนาจกันทุก 4 ปีกว่า การก่อรัฐประหารยึดอำนาจโดยฝ่ายกองทัพรวมทั้งสิ้น 9 ครั้ง มีการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ในรัชกาลปัจจุบันรวม 15 ฉบับ มีรัฐธรรมนูญรวม 18 ฉบับ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีการกระทำที่เรียกรวมๆ ว่าการปฏิวัติรัฐประหารและมีรัฐธรรมนูญมากที่สุดในโลก

เมื่อพูดถึงการปฏิวัติของชาติ ในบรรดาประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมและเมืองขึ้นแบบต่างๆ ของมหาอำนาจตะวันตกล้วนมีประวัติศาสตร์และวันปฏิวัติแห่งชาติ เมื่อได้รับเอกราชและอิสรภาพจากเจ้าอาณานิคม ทุกประเทศไม่เคยมีปัญหากับวันปฏิวัติหรือวันเอกราชแห่งชาติ ไม่มีใครมานั่งวิเคราะห์และถามกันทุกปีๆ  ว่าวันเอกราชหรือวันปฏิวัติของเขานั้นล้มเหลวหรือล้าหลังหรือไม่ ตรงกันข้าม นับแต่ได้มี “กปค. 75” (“การเปลี่ยนแปลงการปกครอง” พ.ศ. 2475) การปฏิวัติครั้งนั้นยังไม่อาจได้รับการยอมรับ และตีความตรงกันอย่างเป็นเอกฉันท์ว่าคือการปฏิวัติ

หากแต่ยิ่งนานวันเข้ามาบัดนี้ถึง 8 ทศวรรษแล้ว การปฏิวัติครั้งนั้นก็ยังต้องพ่วงท้ายด้วยคำคุณศัพท์ที่ขยายการกระทำนั้นว่า “ล้มเหลว” “สำเร็จ” หรือกึ่ง ๆ ฝ่ายที่ว่า “ล้มเหลว” ก็อธิบายว่าก็เพราะเป็นการกระทำที่ “ชิงสุกก่อนห่าม” ส่วนฝ่ายสำเร็จก็ว่าเป็นการ “อภิวัฒน์” เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองบ้านเมืองอย่าง “คว่ำแผ่นดิน” ส่วนฝ่ายทางเลือกอื่น ๆ ก็ว่าไม่ถึงที่สุด เป็นต้น

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะผลของการเปลี่ยนแปลงฯ หรือ “กปค. 75” นั้นยังดำรงและสืบทอดต่อเนื่องมาอย่างไม่ยุติเด็ดขาด และไม่สมบูรณ์ คนรุ่นหลังที่เรียนรู้และเข้าใจในเรื่องราวดังกล่าวนั้นก็รับและรู้ไม่ตรงกัน กระทั่งตรงข้ามกัน เหตุการณ์สำคัญ ๆ มีการเล่าและตีความที่ต่างกันและขัดแย้งกัน หลายเรื่องก็ยังพูดในที่สาธารณะอย่างเปิดเผยไม่ได้ ตัวละครและผู้แสดงทั้งสำคัญมากและสำคัญน้อยจำนวนไม่น้อยที่ยังดำรงและรักษาความต่อเนื่อง อย่างไม่ให้ขาดตอนของตนเองเอาไว้ จนทำให้ประวัติศาสตร์ “กปค. 75” กลายเป็นเหตุการณ์ปัจจุบันร่วมสมัยมากกว่าการเป็นประวัติศาสตร์ที่ควรเป็นเรื่องราวสำหรับนักประวัติศาสตร์จะเข้ามาศึกษาวิเคราะห์และตีความต่อไป หรือไม่ก็ถูกทำให้เป็นประวัติศาสตร์เฉพาะที่เป็นของกลุ่มบุคคลมากกว่าเป็นประวัติศาสตร์ของสังคมหรือเป็นประวัติศาสตร์ทั่วไป

ทหารคณะราษฎรตั้งปืนกลรักษาพระนครในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2550)

ประวัติศาสตร์กับการปฏิวัติ

ประวัติศาสตร์คือสิ่งที่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว นี่เป็นนิยามที่ธรรมดาและง่ายสุด เพราะถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นในอดีต ก็ไม่มีเรื่องจะให้คนรุ่นหลังต่อมาพูดและเขียนถึง แต่สิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้วคืออะไร ตรงนี้คือปัญหาสำหรับนักประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์ ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว เกิดคลื่นสึนามิ และ ฯลฯ เหล่านี้เป็นประวัติศาสตร์ไหม นักประวัติศาสตร์คงตอบได้ไม่ยากว่าไม่ใช่ เพราะมันไม่มีตัวละคร มีแต่สิ่งของธรรมชาติ

สำหรับประวัติศาสตร์สิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้วต้องมีความคิดและการกระทำ พูดอย่างนี้ก็เท่ากับจำกัดว่าสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในอดีตก็ต้องเป็นเหตุการณ์ที่มีคนกระทำและยังต้องมีความคิดด้วย ถ้าเพียงแต่กระทำเฉย ๆ เช่น เดินไปเดินมาระหว่างบ้านกับแม่น้ำหรือไร่นา โดยไม่ได้พูดและแสดงความคิดให้ประจักษ์แก่คนอื่น ๆ จนจำถ่ายทอดกันมาถึงรุ่นลูกหลานเหลนได้ ก็ไม่ได้สร้างประวัติศาสตร์อีกเหมือนกัน แต่เท่านี้ก็ยังไม่ครบถ้วนกระบวนความของการเป็นประวัติศาสตร์ตามทางของประวัติศาสตร์สมัยใหม่ หากที่สำคัญไม่น้อยก็คือเรื่องในอดีตนั้นต้องเกี่ยวพันกับการกระทำของคนจำนวนมากหรือมีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก ทำให้คนรุ่นต่อมาคือนักประวัติศาสตร์ สามารถเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในท้ายที่สุด นั่นคือต้องมีคนทำ การนำเสนอถ่ายทอดหรือจดจำเรื่องราวที่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว และพรรณนาทำให้มันเป็นเรื่องราว ที่คนอื่น ๆ ยังรับรู้ได้จึงจะทำให้สิ่งที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วนั้นกลายเป็นประวัติศาสตร์ไปได้อย่างสมบูรณ์

ประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติคือประวัติศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงแบบของรัฐบาลหรือตัวผู้นำรัฐ กล่าวได้ว่า นับแต่มีการก่อตั้งสังคมและมีการผลิตทางสังคมเพื่อรักษา ค้ำจุน และสร้างเสถียรภาพให้แก่ชีวิตของมนุษย์ในชุมชนที่ใหญ่ขึ้น ได้นำไปสู่การใช้อำนาจเพื่อสร้างและรักษาสิ่งที่เรียกว่า “ระเบียบสังคม” เอาไว้ไม่ให้สั่นคลอนและสูญสลายไปได้

กำเนิดของอำนาจจึงมาพร้อมกับการเกิดชนชั้นผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง หลังจากนั้นก็มีปัญหาและความขัดแย้งในหมู่ผู้นำกันเอง จนนำไปสู่การเปลี่ยนตัวผู้ปกครองและแบบของรัฐบาลขณะนั้น การอธิบายทำนองนี้ว่าไปแล้วก็เป็นการคิดและมองแบบสมัยใหม่ ในสมัยโบราณยังไม่มีการจำแนกแยกแยะระหว่างการยึดอำนาจ รัฐประหาร และการปฏิวัติว่ามีความหมายนัยที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงยังไม่มีประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติกบฏอะไรทั้งสิ้น แต่มีการใช้กำลังเข้าแย่งยึดรัฐและที่มาของอำนาจในแต่ละชุมชน การที่ไม่มีประวัติศาสตร์หมายความว่าสังคมนั้นไม่มีการศึกษาและสร้างบทเรียนของการกบฏปฏิวัติขึ้นมาอย่างเป็นระบบและเป็นทางการนั่นเอง

เมื่อไม่มีการจำแนกแยกแยะว่าการปฏิวัติคืออะไร แตกต่างจากรัฐประหารหรือกบฏและจลาจลอย่างไร ศัพท์คำว่า “ปฏิวัติ” ที่มีความหมายแน่นอนว่าคือการใช้กำลังเข้าเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในระบอบการปกครองและสังคมอย่างฉับพลันและรุนแรง แบบที่เรารู้จักและเข้าใจในปัจจุบันนั้นก็ไม่มีใช้ในสมัยโบราณ นั่นคือไม่มีศัพท์ว่า “ปฏิวัติ” ไม่ว่าในภาษากรีก ละติน อังกฤษ จีน บาลี สันสกฤต และไทย ลาวด้วย จริง ๆ แล้วคำว่า “ปฏิวัติ” “revoluzione” ถูกคิดประดิษฐ์สร้างขึ้นมาในยุคสมัยใหม่ อย่างมากก็ราว ๆ 5 ศตวรรษมานี้เอง การปฏิวัติในความหมายใหม่ไม่ได้เพียงแต่เปลี่ยนแปลงผู้นำหรือรัฐบาล ด้วยวิธีการอันรุนแรงเท่านั้น หากที่สำคัญยังมีนัยถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและโครงสร้างหลัก ๆ ของระบอบการปกครองไปถึงระบบเศรษฐกิจสังคมนั้น ๆ ด้วย

การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ในรัสเซีย ค.ศ. 1917

ถ้าพูดให้ชัด ๆ ก็คือความหมายนัยของการปฏิวัติสมัยใหม่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของปรัชญาลัทธิแสงสว่าง (Enlightenment) นักคิดดัง ๆ ได้แก่ ล็อค รุสโซ วอลแตร์ และค้านท์ ซึ่งเชื่อในทฤษฎีว่าด้วยความก้าวหน้าของมนุษย์และสังคม ทำให้การมองและวางเป้าหมายให้แก่การกระทำของมนุษย์ทั้งในปัจจุบันและอนาคตต้องเคลื่อนที่ไปสู่คุณภาพที่ดีกว่าและสูงขึ้น ทำให้การศึกษาและตีความประวัติศาสตร์เริ่มได้รับอิทธิพลของความคิดเรื่องความก้าวหน้า สำนักปรัชญาที่ยกระดับ และทำให้การวิเคราะห์ตีความประวัติศาสตร์ว่าคือการเคลื่อนไหวไปสู่จุดหมายที่ก้าวหน้าอย่างเป็นลำดับขึ้นได้แก่ ลัทธิเฮเกล ซึ่งประกาศว่าจุดหมายสูงสุดของประวัติศาสตร์คือเสรีภาพ

แนวคิดดังกล่าวถูกปฏิวัติโดยลูกศิษย์หัวรุนแรงกว่ามาเป็นลัทธิมาร์กซิสม์ ด้วยการเสนอคำขวัญอันปลุกเร้าใจนักต่อสู้ที่ปฏิวัติทั้งหลายว่า “กงล้อประวัติศาสตร์ ย่อมหมุนไปข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นั่นคือการปฏิวัติที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงปลดปล่อยทางชนชั้นในรัฐและสังคมอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเลยทีเดียว

ความคิดว่าด้วยการกบฏปฏิวัติในสมัยโบราณ

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า ทั้งนักคิดสมัยโบราณของกรีกและจีน อินเดีย ต่างมีแนวคิดทรรศนะและความเชื่อคล้ายคลึงกันในเรื่องการกบฏปฏิวัติ ในชั้นต้นทั้งขงจื้อและเพลโตต่างก็ไม่มีความคิดเชิงทฤษฎีอันว่าด้วยการกบฏปฏิวัติแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะประเด็นเรื่องการปฏิวัติยังไม่ใช่โจทย์หรือปัญหาหลักของความคิดและปรัชญาการเมืองในสมัยโน้น ปรมาจารย์เหล่านั้นต่างมองเห็นทะลุปรุโปร่งแล้วว่า หัวใจของการเมืองและการปกครองหรืออำนาจรัฐอยู่ที่คุณธรรมของผู้ปกครอง เมื่อได้ผู้ปกครองที่เป็นราชาปราชญ์แล้ว ยังจะต้องมาถามถึงเรื่องกบฏปฏิวัติอะไรกันอยู่อีกเล่า

หากจะสรุปความคิดทางการเมืองการปกครองทั้งหลายให้เหลือเพียงประเด็นหลักเรื่องเดียว ก็คือเรื่องอำนาจการปกครอง ว่าควรจะอยู่กับใคร คำตอบก็คือคนพิเศษส่วนน้อย ไม่ใช่ไปอยู่กับคนธรรมดาส่วนมาก ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอันมีผลต่อความคิดทางการเมืองต่างก็เวียนว่ายตายเกิดกันอยู่ในวังวนของโจทย์ข้อนี้ด้วยกันมาทั้งนั้น จากยุคกรีกโบราณและจีน อินเดียโบราณมาถึงสยามไทยปัจจุบัน

ข้อที่ต่างกันในพัฒนาการทางความคิดการเมืองระหว่างกรีกโรมันกับโลกตะวันออกได้แก่ การที่ตะวันตกได้มีการศึกษาและตั้งโจทย์ของอำนาจการปกครองหรือรัฐใหม่ไม่ได้ เดินตามความคิดและคำสอนของปรมาจารย์แต่ถ่ายเดียว หากแต่พัฒนาวิเคราะห์และวิจารณ์เสียใหม่ให้เปลี่ยนไปตามสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป กล่าวคือแม้เพลโตจะไม่ให้ความสำคัญแก่การปฏิวัติ แต่เขาก็มองเห็นวัฏจักรของการเปลี่ยนแปลงในแบบของรัฐบาลและการปกครอง ซึ่งตามความเชื่อของเขาก็มาจากคุณธรรมของผู้ปกครองเองนั่นแหละที่เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา จากอุตมรัฐหรือรัฐกษัตริย์ในอุดมคติมาสู่อภิชนาธิปไตย มาสู่คณาธิปไตย แล้วมาสู่ประชาธิปไตยก่อนจะไปถึงทรราชย์

ความจริงเพลโตไม่ได้ตั้งใจเสนอให้เป็นวัฏจักรจริง ๆ เพราะจากทรราชย์ก็ไม่ได้บอกว่าแล้วรูปแบบต่อไปจะกลับไปสู่อะไรอีก ต้องรอถึงสมัยของโพลีเบียส ที่มาเติมเต็มความคิดของเพลโต ด้วยการบอกว่า จากประชาธิปไตยก็ไปสู่การปกครองของม็อบ จากระบอบม็อบก็ไปสู่ภาวะธรรมชาติ ซึ่งมีคนรุ่นใหม่ช่วยตีความต่อให้อีกว่า จากภาวะธรรมชาติก็แน่นอนย่อมนำไปสู่การเกิดระบอบกษัตริย์ใหม่อีกครั้ง จากนั้นก็เริ่มวัฏจักรใหม่อีกรอบหนึ่ง

โพลีเบียสจะขยายความศัพท์ของเพลโตให้ละเอียดมากขึ้นด้วยการบอกว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและรัฐบาลนั้นกระทำด้วยการใช้กำลังบังคับ นั่นคือมีการใช้ความรุนแรงในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ภาษาโรมันใช้คำว่า “res novae” ซึ่งแปลว่าการเปลี่ยนระบอบ (change of regime) การเปลี่ยนของโรมันนี้อาจมาจากการเปลี่ยนแปลงโดยการทำรัฐประหารหรือการปฏิวัติก็ได้ การทำรัฐประหารก็เข้าใจว่าสมัยโน้นคือการยึดอำนาจภายในวัง จะด้วยกลวิธีใด ๆ ก็สุดแล้วแต่สถานการณ์ ส่วนการทำการปฏิวัตินั้นคิดว่าเป็นการใช้กองกำลังจากภายนอกพระราชวัง เข้ามาทำการล้มอำนาจรัฐลง แบบหลังจึงอาจนองเลือดและรุนแรงมากกว่าแบบแรก

กล่าวโดยสรุปได้ว่าแม้จะไม่มีคำว่าปฏิวัติแบบสมัยใหม่ แต่กรีกโรมันโบราณก็มีศัพท์อย่างน้อย 2 คำที่มีความหมายถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองและรัฐบาล นั่นคือคำว่า neoterismos ของกรีก และ res novae ของโรมัน จุดที่น่าสนใจยิ่งต่อไปคือการต่อยอดและพัฒนาความหมายของคำดังกล่าวนี้ให้ลึกซึ้งและมีบริบททางการเมืองและทางสังคมต่อไป คนที่ทำให้ภูมิปัญญาและความคิดทางการเมืองของยุคกรีกโรมันโบราณค่อย ๆ ยกระดับขึ้นเป็นทฤษฎีทางการเมืองได้แก่คนที่เรารู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีแล้วในหลาย ๆ เรื่อง เขาคืออริสโตเติล

เขาวิพากษ์การมองการเปลี่ยนแปลงในแบบการปกครองอย่างเป็นวัฏจักรของเพลโต แล้วเสนอความคิดใหม่ที่วางอยู่บนการวิจัยข้อมูลชั้นต้นว่า การใช้กำลังเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองและแบบการปกครอง การปฏิวัติก็คือการทำลายธรรมนูญ ซึ่งมีหลายแบบแตกต่างกันไป เช่น ธรรมนูญของระบบกษัตริย์ ธรรมนูญของระบบทรราชย์ ธรรมนูญของระบบอภิชนาธิปไตย ธรรมนูญของระบบคณาธิปไตย และธรรมนูญของระบบประชาธิปไตย ที่สำคัญคืออริสโตเติลวิคราะห์ลงไปถึงมูลเหตุของการเกิดกบฏปฏิวัติรัฐประหารด้วย ว่าทำไมถึงต้องเกิด เกิดแล้วได้อะไรและเสียอะไร

อันที่จริงนักรัฐศาสตร์ไทยน่าจะประยุกต์ความคิดและภาษาการเมืองแบบกรีกโบราณมาใช้อธิบายการปฏิวัติในการเมืองไทยบ้าง ว่าในที่สุดแล้วก็คือการดำเนินตามวัฏจักรของรัฐธรรมนูญแบบต่าง ๆ เท่านั้น ไม่ใช่การยึดอำนาจหรือโค่นล้มอำนาจรัฐอะไรลงไป เพราะจริง ๆ แล้ว ทุกการปฏิวัติในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรที่เป็นประโยชน์ของประชาชนอย่างเป็นชิ้นเป็นอันอย่างสถาพรมั่นคงและมีความหมายนัยต่ออนาคตของระบอบการปกครองรัฐไทยมาเลย มันเป็นเพียงแค่วงจร (ที่ไม่อุบาทว์แล้วเพราะหยุดไม่ได้) ที่ดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติเท่านั้น เป็น “ความจริง” ของระบบการเมืองไทย

ในโลกแห่งความเป็นจริง อริสโตเติลเองก็ได้ประสบกับตนเอง ว่ารัฐและรัฐบาลทั้งหลายล้วนมีปัญหาที่ไม่อาจไปบรรลุความดีได้ มิหนำซ้ำหลายรัฐยังต้องประสบกับปัญหาของความไม่สงบทางการเมืองและการปกครอง จนเสื่อมทรามลงไปเป็นรัฐที่ห่างไกลจากการใช้ปัญญาและเหตุผลในการปกครองมากขึ้นเรื่อย

ทำไมและจะหาทางออกให้แก่รัฐและการเมืองอย่างไร

เราลองมาศึกษาค้นคว้าดูว่ารัฐและชนชั้นนำสยามไทยตัดสินใจอย่างไรและทำอย่างไรในการแก้ปัญหาและความขัดแย้งทางการเมืองและการปกครองในช่วงเวลา 8 ทศวรรษที่ผ่านมา

ส่วนหนึ่งของ “คณะ ร.ศ. 130” (ภาพจากปฏิวัติ ร.ศ. 130, สำนักพิมพ์มติชน,2556)

สาเหตุของการกบฏปฏิวัติรัฐประหารในสยามไทย

มูลเหตุและปัญหาที่นำไปสู่การกบฏปฏิวัติรัฐประหารในเมืองไทยนับจากปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา โดยดูจากการแถลงประกาศของคณะและกลุ่มที่ทำกบฏปฏิวัติรัฐประหาร สามารถแบ่งออกได้เป็นดังนี้

ประการแรก มาจากการที่รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจในการปกครองขณะนั้นไม่ทำหน้าที่ในการปกครองอย่างถูกต้อง เรียบร้อย และยุติธรรม ส่วนรายละเอียดและความคิดที่ใช้อ้างกันนั้นก็แตกต่างกันไปตามยุคสมัย เช่น คณะราษฎร กล่าวในคำประกาศวันยึดอำนาจว่า

“เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชสมบัติสืบจากพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรบางคนได้หวังกันว่า กษัตริย์องค์ใหม่นี้คงจะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น แต่การก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจเหนือกฎหมายอยู่ตามเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้าง ซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนราคา เงิน ผลาญเงินของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กดขี่ข่มเหงราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรมดังที่จะเห็นได้จากความตกต่ำในทางเศรษฐกิจและความฝืดเคืองในการทำมาหากิน ซึ่งพวกราษฎรได้รู้กันอยู่ทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้…”

นับจากนั้นมาเหตุผลข้อนี้คือหัวหน้ารัฐบาลหรือรัฐบาลไม่สามารถปกครองได้ก็ถูกนำมาใช้เป็นเหตุผลใหญ่ในการทำกบฏปฏิวัติรัฐประหารต่อมาอีกเกือบทุกครั้ง นับว่าเป็นสาเหตุหลักที่แทบทุกคณะและกลุ่มยึดอำนาจคิดได้ออกก่อนข้ออื่น ๆ นับจำนวนรวมได้ 9 ครั้งที่อ้างสาเหตุข้อนี้ อันได้แก่ 1. กปค. 75 2. กบฏบวรเดช 76 3. รัฐประหาร 2490 4. กบฏวังหลวง 92 5. กบฏแมนฮัตตัน 94 6. เมษาฮาวาย 24 7. กบฏกันยา 28 8. รสช. 34 และ 9. คปค. 49

ดูอีกตัวอย่าง คณะรัฐประหาร 2490 อ้างดังนี้

“…ภาวการณ์ของชาติไทยเท่าที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ คณะรัฐบาลปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี จึงเป็นเหตุให้พี่น้องทั้งหลายได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส…ไม่สามารถแก้ไขในเรื่องภาระการครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องข้าว มิหนําซ้ำยังปล่อยให้เกิดทุจริต…พวกนักการเมืองบางคนทำการฉ้อราษฎร์บังหลวง…ความเหลวแหลกในการปฏิบัติของวงการรัฐบาล เป็นผลให้เกิดความทุกข์ร้อนขึ้นทุกหย่อมหญ้า…”

คณะ รสช. 2534 อ้างดังนี้

“…พฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวง คณะผู้บริหารประเทศได้ฉวยโอกาสอาศัยอำนาจตามตำแหน่งทางหน้าที่ทางการเมือง แสวงหาประโยชน์ให้กับตนเองและพรรคพวกอย่างรุนแรงที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา”

ภาพประกอบเนื้อหา – ทหารพร้อมรถถังในเหตุกาณ์รัฐประหาร วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 (Photo by PONGSAK CHAIYANUWONG / AFP)

ล่าสุดคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) อ้างในประกาศฉบับที่ 1 ถึงสาเหตุในการยึดอำนาจว่า

“การบริหารราชการแผ่นดินโดยรักษาการณ์รัฐบาลปัจจุบันได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดินอันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงาน องค์กรอิสระถูกครอบงำทางการเมือง ไม่สามารถสนองตอบเจตนารมณ์ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง แม้หลายภาคส่วนสังคมจะได้พยายามประนีประนอมคลี่คลายสถานการณ์มาโดยต่อเนื่องแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งยุติลงได้”

ส่วนสาเหตุอื่น ๆ รองลงไปที่คณะรัฐประหารและกบฏนำมาอ้างกันนั้น ที่มีการอ้างมากรองลงไปได้แก่ประเทศชาติย่ำแย่ สถานการณ์ในและนอกประเทศไม่มั่นคงไม่ปลอดภัย รวมได้ 6 ครั้ง คือ รัฐประหาร 2490, 2501, 2514, 2520, 2524 และ 2528

ประกาศที่คลาสสิคที่สุดในข้อนี้ได้แก่ประกาศคณะปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2501 ดังความต่อไปนี้

“เนื่องจากประกาศฉบับที่ 1 ของคณะปฏิวัติที่ได้แจ้งให้ประชาชนทราบว่า การยึดอำนาจครั้งนี้ได้กระทำด้วยความจำเป็นที่สถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกรัดรึงตึงเครียด เป็นภัยอันใหญ่หลวงแก่ประเทศชาติไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีอื่น ๆ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงไปใช้วิธีใด นอกจากยึดอำนาจ…ทางสถานการณ์ภายใน ลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นภัยอันยิ่งใหญ่ เหตุการณ์ภายนอกก็เพิ่มความลำบากหนักใจยิ่งขึ้นทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถวถิ่นใกล้เคียงกับประเทศไทย…”

การยึดอำนาจและรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นการรัฐประหารที่ฉีกออกไปจากรูปแบบและขนบธรรมเนียมของการรัฐประหารโดยสิ้นเชิง มีการสร้างนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์อย่างมากมายหลายเรื่องในการก่อการรัฐประหาร ต้องให้เกรดเอถ้าหากมีการสอบไล่วิชาว่าด้วยการทำกบฏปฏิวัติรัฐประหารในเมืองไทย ประการแรก จอมพลสฤษดิ์ไม่ได้ก่อการหนเดียวเหมือนคนอื่น ๆ หากแต่ทำการปฏิวัติซ้ำในเวลาใกล้ ๆ กันต่อมาคือการปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2501

นวัตกรรมอันแรกคือไม่เพียงแค่ยึดอำนาจแล้วตั้งรัฐบาลใหม่ของตน หากแต่สร้างเงื่อนไขและเหตุผลมากมายอันนำไปสู่การ “ล้มระบอบการปกครอง” เดิมลง แล้วสร้างระบอบปกครองอันใหม่ขึ้นมา อันแสดงออกในลักษณะใหญ่ ๆ ดังนี้

1. ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปิดรัฐสภา ล้มพรรคการเมือง

2. ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแทนชั่วคราว

3. ไม่สัญญาเรื่องการเลือกตั้งและพรรคการเมือง

4. ใช้กฎอัยการศึก และประกาศคณะปฏิวัติ ให้เป็นกฎหมายในการปกครอง

ในยุคสฤษดิ์นี้เองที่ประเทศไทยไม่มีระบอบการปกครองแบบรัฐสภาอย่างยาวนาน คือ 11 ปี (2501-12) แต่ปกครองภายใต้สภานิติบัญญัติที่แต่งตั้งโดยสฤษดิ์ผู้เดียว

ที่ทันสมัยไม่เบาก็คือในประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 2 ที่อธิบายถึงสาเหตุในการทำรัฐประหารแล้ว จอมพลสฤษดิ์ ยังให้สัญญาหรือหลัก 4 ประการที่จะทำต่อไป คือ

1. จะเคารพรักษาสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากล ที่ได้ทำขึ้นในสมัชชาแห่งสหประชาชาติ จะไม่ทำอะไรให้ผิดพลาดและละเมิดปฏิญญานั้น นอกจากจะมีเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องทำ เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศชาติอย่างแท้จริง

2.จะเชิดชูรักษาไว้ซึ่งอิสรภาพของศาล ให้ศาลมีอิสระสมบูรณ์ในการพิจารณาพิพากษา…โดยมิต้องอยู่ใต้อาณัติอิทธิพลหรือการแทรกแซงอย่างหนึ่งอย่างใดจากคณะปฏิวัติ หรือจากรัฐบาลที่คณะปฏิวัติจะตั้งขึ้นเลยเป็นอันขาด

3. จะปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศอย่างสมบูรณ์…เคารพปฏิบัติตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและที่เป็นขนบประเพณี

4. ในประการสำคัญที่สุด คณะปฏิวัติยึดมั่นอยู่เสมอว่าพระมหากษัตริย์กับชาติไทยจะแยกกันมิได้…คณะปฏิวัติจะรักษาฐานแห่งสถาบันนี้ไว้โดยเต็มความสามารถ และจะกระทำทุกวิถีทางที่จะให้องค์พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะจะมิให้มีการละเมิดอย่างหนึ่งอย่างใดต่อพระองค์ต่อพระบรมวงศานุวงศ์และต่อราชประเพณีที่ชาติไทยได้เชิดชูยกย่องมาตลอดกาล

จอมพลสฤษดิ์ ตรวจการดับเพลิงที่ตรอกสลักหิน หัวลำโพง เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2503

สาเหตุประการต่อมาที่มีการอ้างในการกบฏปฏิวัติรัฐประหารได้แก่ ความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชน รวม 5 ครั้ง คือ กปค. 2475, 2490, 2500, 2524, และ 2528

อีก 2 สาเหตุที่มีการอ้างในการทำรัฐประหารได้แก่ มีการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์และดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวม 3 ครั้ง ได้แก่ กบฏบวรเดช 2476, 2519 และ 2534 กับสาเหตุจากภัยคอมมิวนิสต์รวม 3 ครั้ง ได้แก่ รัฐประหารเงียบ 2494, 2501 และ 2514

หากพิจารณาจากสาเหตุต่าง ๆ ที่บรรดาคณะรัฐประหารได้อ้างกันมาแล้วนั้น ล้วนเป็นมูลเหตุแห่งความขัดแย้งที่มีลักษณะทั่วไป คือเป็นเรื่องและปัญหาที่มีเกิดได้ในระบอบการปกครองและบริหารทุกแห่ง นั่นคือเป็นเรื่องที่กล่าวอ้าง และยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของคนที่บริหารได้ แต่จะอ้างว่าดังนั้นจึงต้องยึดอำนาจล้มรัฐบาลและกระทั่งกฎหมายสูงสุดของประเทศ ยังฟังไม่ขึ้นและขาดตรรกะและเหตุผลอันควรให้เห็นพ้องยอมรับได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้วิเคราะห์ให้ลึกลงไปว่า แล้วสาเหตุจริง ๆ ของการยึดอำนาจกบฏรัฐประหารกันมามากมายและยาวนานนั้นมันมาจากอะไรกันแน่

คำตอบที่มีคนเคยให้ไว้ก็คือ เป็นการล้มอำนาจและแย่งยึดอำนาจจากผู้นำที่ตนเองไม่ต้องการและไม่พอใจ โดยเฉพาะต่อนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง (พระยามโนฯ 2476, หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ 2490, จอมพล ป. 2500, ถนอม 2501, ม.ร.ว.เสนีย์ 2519, ชาติชาย 2534, และทักษิณ 2549) อีกประการที่มีส่วนในการทำให้การอ้างถึงสาเหตุของการรัฐประหารเป็นที่ยอมรับได้อย่างน้อยก็ในช่วงเวลานั้น คือการเกิดกระแสความรู้สึกนึกคิดทางสังคมที่ร่วมกันอย่างหนึ่งขึ้นมา ความรู้สึกนั้นอาจมาจากปัญหา และเรื่องจริง ๆ เป็นส่วนใหญ่ก็ได้ หรืออาจมาจากความรู้สึกทางอัตวิสัยและความเชื่อตามกระแสสังคมก็ได้ การศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องการปฏิวัติรัฐประหารอย่างเป็นระบบ และมีทฤษฎีจึงมีส่วนในการทำให้การกระทำนั้นสามารถพิเคราะห์ได้อย่างมีเหตุผลและเป็นหลักการในการปฏิบัติต่อไปได้

กลับมาที่ความคิดของอริสโตเติลอีกครั้ง เขาได้ศึกษาเรื่องการปฏิวัติอย่างเป็นระบบและที่เป็นแบบทั่วไป คือเกิดได้ทั่วไปนั้น เขาพบว่าการใช้ความรุนแรงระหว่างผู้นำกับประชาชนนั้นเกิดมาจากการที่รัฐต่าง ๆ ก่อตั้งขึ้นมาบนความคิดความเข้าใจในเรื่องความยุติธรรมที่ผิด ๆ และความคิดที่ผิด ๆ นี้เองที่นำไปสู่ความไม่พอใจของผู้ถูกปกครอง กระทั่งลุกลามไปสู่การลุกฮือและการประท้วงและปฏิวัติทำลายล้างซึ่งกันและกัน การลุกฮือนี้อาจไม่นำไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองเสมอไป แต่ก็นำไปสู่การเปลี่ยนรูปแบบของรัฐบาลแห่งรัฐ ซึ่งมีผลทำให้จุดหมายและการปฏิบัติของรัฐบาลนั้น ๆ แตกต่างกันไปโดยสิ้นเชิง

พอถึงจุดนี้อริสโตเติลก็ฟันธงสรุปลงไปได้เลยว่า มูลเหตุหลักของการเกิดการปฏิวัตินั้นมาจากปัญหาความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนในรัฐนั่นเอง ไม่ใช่มาจากความโง่เขลาเพราะไร้การศึกษา หรือเป็นคนชั้นต่ำรากหญ้า ไม่ใช่มาจากความยากจนเพียงโดด ๆ และย่อมไม่ใช่มาจากการถูกซื้อโดยผู้มีอำนาจหรือทรัพย์สินอย่างเชื่อง ๆ เหมือนโคกระบือด้วยเช่นกัน

อริสโตเติลได้ค้นพบสาเหตุมูลฐานของการปฏิวัติว่า มาจากปัจจัยทางสังคมที่เรียกว่า “ความไม่เสมอหน้า” หรือความไม่เท่าเทียมกันของคนในรัฐ สมุฏฐานของการปฏิวัติดังกล่าวนี้ ในปัจจุบันถือได้ว่าเป็นสัจธรรมทางการเมืองไปแล้ว ดังตัวอย่างในสยามก่อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่มีการก่อรูปของความรู้สึกนึกคิดก่อนในหมู่ราษฎรและชนชั้นนำบางส่วน ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 หนังสือพิมพ์มักตีพิมพ์ข่าวและรายงานเรื่องราวอันสะท้อนถึงความไม่พอใจของราษฎรและข้าราชการโดยเฉพาะหมู่ทหาร แสดงว่า ประเด็นความรู้สึกในความไม่พอใจต่อการใช้อำนาจปกครองของพระมหากษัตริย์ย่อมมีมากขึ้นเป็นลำดับ

เช่นหนังสือพิมพ์ฝรั่งชื่อลอยด์วีคลี่นิวส์ ได้เขียนบทความจากเหตุการณ์สมัยนั้นเรื่องหนึ่ง ความว่าในการเตรียมงานพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกสมโภชของรัชกาลที่ 6 กำหนดให้มีการเล่นฟ้อนรำด้วย หลวงรักษานารถข้าราชสำนักผู้หนึ่งไม่ยินยอมให้ภรรยาของตนร่วมฟ้อนด้วย ความทราบถึงรัชกาลที่ 6 ทรงพิโรธเป็นอย่างมาก ถึงขนาดมีพระบรมราชโองการให้สั่งถอดยศบรรดาศักดิ์ พร้อมทั้งเฆี่ยนหลังหลวงรักษานารถ 30 ที และให้นำตัวไปขังคุกเป็นเวลา 1 ปี ผู้เขียนบทความแสดงทรรศนะในตอนท้ายว่า “เป็นเรื่องที่หวาดเสียวไม่เฉพาะแต่ชาวยุโรปในกรุงสยามเท่านั้น หากแต่รวมไปถึงคนไทยชั้นสูงด้วย” [1]

ในทรรศนะของอริสโตเติลการป้องกันการปฏิวัติที่ดีที่สุดคือการทำให้รัฐเป็นที่พอใจของประชาชน คือการสร้างความเสมอหน้า ความเป็นธรรมและความยุติธรรมให้กับคนส่วนใหญ่ ในบรรดารัฐต่าง ๆ ที่สามารถมีนโยบายเชิงบวกในการป้องกันการปฏิวัติคือรัฐกษัตริย์ (Monarchy) รัฐอภิชนาธิปไตย (Aristocracy) และรัฐประชาธิปไตย (Democracy) วิธีการส่วนใหญ่มุ่งไปที่การศึกษาและการใช้กฎหมาย ข้อแรกที่เขาเสนอให้รัฐยึดเป็นหลักในการป้องกันการปฏิวัติคือการที่คนชั้นนำต้องเคารพกฎหมาย ต้องปฏิบัติบนหลักการของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ในทางรูปธรรมได้แก่การจำกัดอำนาจของชนชั้นนำกันเอง เช่นในระยะเวลาของการมีอำนาจเป็นต้น

ข้อต่อมาคือหลีกเลี่ยงการเพิ่มอำนาจให้แก่ตนเอง และพรรคพวกอย่างไม่เหมาะสม ข้อต่อไปคืออย่าให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของตนทำการคดโกง ข้อสุดท้าย คือผู้นำต้องแสดงให้ราษฎรเห็นว่าพวกเขามีการควบคุมการใช้อำนาจของตนเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แสดงออก (ผ่านสื่อและพฤติกรรมต่าง ๆ) ถึงการมีอำนาจและบารมีเหนือกว่าประชาชนอยู่ตลอดเวลา

ในความเป็นจริง รัฐแบบต่าง ๆ ก็มีวิธีการและหนทางของตนเองในการรักษาและเอาตัวรอดต่าง ๆ กัน รัฐกษัตริย์ อาจเอาตัวรอดได้ด้วยการทำให้คนรัก แต่หนทางดังกล่าวก็มีอายุอันจำกัดมาก ๆ ในระยะยาวไปไม่รอด รัฐทรราชย์ ด้วยการทำตัวเองให้แข็งแกร่งดุดันมากขึ้น เพื่อคนจะได้กลัว เช่น ประกาศใช้มาตรา 17 สมัยจอมพลสฤษดิ์และมาตรา 112 ในยุคปัจจุบัน ผู้นำทรราชอาจใช้กำลังอย่างสุดขั้วเลย หรือไม่ก็ใช้กำลังอย่างกลาง ๆ นิ่มนวลเหมือนคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ แต่ไม่ว่าจะใช้แบบไหน อายุของระบบทรราชย์ก็สั้นและสั้นที่สุดในรูปแบบรัฐทั้งหมด

รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 (Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

การปฏิวัติ 2475 กล่าวได้ว่าเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่ออันสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย เพราะความคิดและความรู้สึกไปถึงความต้องการทางสังคมของราษฎรในอดีตนั้น ถูกสังเคราะห์และนำไปสู่การปฏิบัติทางการเมืองอย่างจริงจังและประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่ที่เป็นปัญหามากกว่า คือการรักษาและสร้างให้ระบบการเมืองใหม่ดำเนินไปในทิศทางของการเป็นประชาธิปไตยและเป็นระบบการเมืองของประชาชนส่วนใหญ่ 2 เรื่อง 2 ปัญหานี้ควรพิจารณาในทางทฤษฎีที่แยกกัน คือไม่ใช่เรื่องเดียวกันและไม่จำเป็นต้องเป็นเหตุและเป็นผลซึ่งกันและกัน

นั่นคือการปฏิวัติอเมริกา ปี ค.ศ. 1776 ก็ไม่ต้องรับผิดชอบการเกิดสงครามกลางเมืองในปี 1861-1865 การปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศศ 1789 ก็ไม่ได้สร้างระบอบรัฐบาลที่ปกครองอย่างเรียบร้อยกว่าที่ระบบประชาธิปไตยฝรั่งเศสจะลงรากปักฐานก่อรูปเติบใหญ่ขึ้นมาก็มาจากการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของพลังการเมือง และสังคมอื่น ๆ ที่ตามมา ไม่มีใครคิดว่าทุกปัญหาในปัจจุบันต้องกลับไปวิพากษ์หรือเริ่มต้นถามกันใหม่ว่าการปฏิวัติในปี ค.ศ. 1789 ว่าทำไมถึงไม่ทำให้เรียบร้อยเสียแต่แรกเล่า

กล่าวอย่างสั้น ๆ จุดอ่อนของการสร้างระบบประชาธิปไตยในการเมืองไทย คือการที่พื้นที่และเวทีการเมืองใหม่นี้ ไม่อาจนำไปสู่การสร้างดุลยภาพในระดับที่ทำงานได้ระหว่างชนชั้นนำเก่ากับชนชั้นนำใหม่ ที่สำคัญคืออำนาจกองทัพ ซึ่งเป็นทั้งสถาบันสมัยใหม่แต่ก็สร้างอุดมการณ์ที่เป็นของเก่า เลยกลายเป็นสถาบันเก่าไปและยากต่อการพัฒนาให้เป็นพลังประชาธิปไตยที่แท้จริงขึ้นมาได้ บวกกับปัญหาพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมในโลกที่สาม ที่ไม่อาจสร้างชนชั้นกระฎมพี ช่างฝีมือและเสรีชนวิชาชีพอิสระต่าง ๆ มากพอ ที่จะทำให้พื้นที่สาธารณะใหม่นี้ต้องเป็นตัวแทน และสะท้อนความรู้สึกความต้องการในอนาคตใหม่ของราษฎรส่วนใหญ่ขึ้นมาได้

การกบฏปฏิวัติรัฐประหารจึงค่อย ๆ ก่อตัวและสถาปนาระบบและความรู้สึกนึกคิด (mentality) ของตนขึ้นมา จนทำให้ข้ออ้างต่าง ๆ ในการทำรัฐประหารเป็นคำอ้างที่ฟังได้ในหมู่คนชั้นกลางและผู้มีการศึกษาของสังคมนี้มาได้อย่างยาวนาน

 


เชิงอรรถ :

[1] Lloyd’s Weekly News. Noble’s Pretty Wife, King of Siams Despotic Conduct of Royal Theatricals. อ้างใน อัจฉราพร กมุทพิสมัย. กบฏ ร.ศ. 130 กบฏเพื่อประชาธิปไตย แนวคิดทหารใหม่, สำนักพิมพ์อมรินทร์วิซาการ, 2540, น. 106.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กรกฎาคม 2565