จักรพรรดิแม็กซิมิเลียนที่ 1 แห่งเม็กซิโก กษัตริย์หุ่นเชิดของจักรวรรดิฝรั่งเศส

จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 (Napoleon III) (ภาพจาก Wikimedia Commons )

หลังจากก่อตั้งระบอบสาธารณรัฐเม็กซิโกประเทศได้ประสบปัญหาหลายด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจที่ยังมีหนี้สินล้นพ้นตัวจนต้องกู้ยืมชาติมหาอำนาจต่างๆ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา อีกทั้งในช่วง ค.ศ. 1836 เม็กซิโกยังต้องสูญเสียดินแดนทางตอนเหนือคือรัฐโกอาวีลาและเตฆัส (Coahuila y Tejas) จากการที่ชาวอเมริกันที่ไปลงทุนและตั้งถิ่นฐานในดินแดนดังกล่าวได้ลุกฮือต่อต้านนโยบายการกลืนชาติและการปกครองแบบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางโดยรัฐบาลเม็กซิกัน

นำไปสู่การปฏิวัติเท็กซัส (Texas Revolution) กองทัพเม็กซิกันซึ่งนำโดยนายพลซานตา อันนาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และต้องยอมลงนามในสนธิสัญญาเวลาสโก (Treaties of Velasco) ทำให้สาธารณรัฐเท็กซัส (Republic of Texas) ถูกสถาปนาขึ้นและมีอำนาจอธิปไตยในการปกครองตนเองอย่างสมบูรณ์

ความพ่ายแพ้ของเม็กซิโกในครั้งนี้เกิดจากการที่รัฐบาลขาดแคลนงบประมาณในการทำสงครามและกองทัพไม่มีความพร้อมจนนำมาสู่ความอัปยศของชาติ การเมืองภายในของเม็กซิโกมีความสั่นคลอนอีกครั้ง เพราะบรรดาชาวเม็กซิกันในหัวเมืองต่างๆ พากันลุกฮือต่อต้านการรวมอำนาจสู่ศูนย์กลาง และเศรษฐกิจประเทศก็มีปัญหาจากการเพิ่มอัตราภาษี 15% ของสินค้านำเข้าจนการค้าระหว่างประเทศซบเซา

ท่ามกลางสถานการณ์ที่วุ่นวายมีผู้ที่พยายามเสนอให้มีการรื้อฟื้นการปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยอีกครั้งแต่ล้มเหลวเพราะนายพลซานตา อันนาได้ก่อรัฐประหารขึ้นมาก่อนในปี ค.ศ. 1841 ต่อมาในปี ค.ศ. 1845 เท็กซัสได้ถูกผนวกรวมเป็นรัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกาสมัยประธานาธิบดีเจมส์ เค. โพลค์ (James K. Polk) ทำให้เม็กซิโกไม่พอใจอย่างมาก อีกทั้งสหรัฐอเมริกายังมีความต้องการพื้นที่แคลิฟอร์เนียเพื่อหาทางออกสู่ทะเลฝั่งตะวันตกไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก

ความขัดแย้งได้บานปลายจนกลายเป็นสงครามเม็กซิกัน-อเมริกัน (Mexican–American War) ในระหว่าง ค.ศ 1846-1848 โดยสงครามนี้สหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะและได้ผนวกดินแดนทางตอนเหนือของเม็กซิโกไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันคือรัฐแคลิฟอร์เนีย, เนวาดา, ยูทาห์, โคโรลาโด, นิวเม็กซิโก และแอริโซนา จากการทำสนธิสัญญากัวดาลูเป ฮิดัลโก (Treaty of Guadalupe Hidalgo) ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1848

หลังจากที่เม็กซิโกได้สูญเสียเกียรติภูมิความยิ่งใหญ่อีกทั้งยังบอบช้ำจากปัญหาเศรษฐกิจ บรรดาประเทศเจ้าหนี้ของเม็กซิโกอย่างอังกฤษ, ฝรั่งเศส และสเปน ต้องการบีบบังคับให้รัฐบาลเม็กซิโกชดใช้หนี้ จึงได้นำกองทัพเรือไปยึดเมืองเบราครูซและปิดล้อมเม็กซิโกในปี ค.ศ. 1862

เม็กซิโกขอเจรจาพักชำระหนี้ชั่วคราวและจะทยอยจ่ายบางส่วนให้ ทำให้กองทัพเรือสเปนและอังกฤษยอมถอนกำลังกลับไปเหลือเพียงฝรั่งเศสที่ยังคงอยู่ เนื่องจากจักรวรรดิฝรั่งเศสในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ภายใต้การปกครองของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 (Napoleon III) ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ท่านได้มีความพยายามกอบกู้ชื่อเสียงเกียรติยศของราชวงศ์โบนาปาร์ตที่ได้ถูกทำลายลงหลังจากความพ่ายแพ้ของพระปิตุลาของพระองค์ท่านในการยกกองทัพจักรวรรดิฝรั่งเศสบุกโจมตีรัสเซีย ค.ศ. 1812

ความพ่ายแพ้ในสมรภูมิวอเตอร์ลู (Battle of Waterloo) ค.ศ. 1815 หลังจากที่จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 สามารถล้างแค้นรัสเซียในสงครามไครเมีย (Crimean War) ค.ศ. 1853-1856 ได้สำเร็จโดยได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรที่สำคัญอย่างจักรวรรดิอังกฤษ

จักรวรรดิฝรั่งเศสจึงมีความต้องการที่จะขยายอิทธิพลเหนือภูมิภาคลาตินอเมริกาแทนสเปนและโปรตุเกสที่เพิ่งเสื่อมอำนาจไป อีกทั้งยังต้องการจะสร้างจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ในทวีปอเมริกาขึ้นมาอีกครั้ง ฝรั่งเศสจึงชักชวนกลุ่มกษัตริย์นิยมในเม็กซิโกให้ร่วมมือกันโค่นล้มอำนาจประธานาธิบดีเบนิโต ฆัวเรซ (Benito Juárez) จากนั้นจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ได้สนับสนุนอาร์ชดยุกแห่งออสเตรียหนึ่งในสมาชิกแห่งราชวงศ์ฮับส์บวร์ก (Habsburg) คือ เจ้าชายแม็กซิมิเลียน (Maximilian) ผู้มีศักดิ์เป็นพระอนุชาของจักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟที่ 1 แห่งออสเตรีย (Franz Joseph I of Austria) ขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งเม็กซิโก

กลุ่มกษัตริย์นิยมในเม็กซิโกได้เดินทางไปอัญเชิญพระองค์ขึ้นเป็นพระจักรพรรดิแห่งเม็กซิโกที่ปราสาทมิรามาเร (Miramare Castle) โดยรวบรวมรายชื่อนับพันเป็นหลักฐานทำให้พระองค์ยอมขึ้นครองราชย์ในวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1864 พร้อมเสด็จมาประทับที่ปราสาทชาปุลเตเป็ก (Chapultepec Castle) กรุงเม็กซิโกซิตี้ พระองค์ได้ทำสัญญากับฝรั่งเศสโดยยอมให้ฝรั่งเศสคงทหารไว้ในเม็กซิโกจำนวน 28,000 นาย และขอกู้ยืมเงิน 175 ล้านฟรังก์ แต่รับจริงเพียง 8 ล้านฟรังก์ เงินที่เหลือเอาไปใช้หนี้ที่ติดค้างฝรั่งเศส

พระองค์มีความเป็นเสรีนิยมจึงได้ร่างกฎหมายเพื่อประชาชนชาวเม็กซิกันหลายฉบับเช่น กฎหมายคืนที่ดินให้คนพื้นเมืองและผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน, การกำหนดชั่วโมงทำงานไม่เกินวันละ 10 ชั่วโมงต่อวัน, การยกเลิกหนี้ชาวนาที่มากกว่า 10 เปโซ, การห้ามลงโทษโดยทำร้ายทางกาย, การห้ามใช้แรงงานเด็ก นอกจากนี้จะจักรพรรดิเม็กซิมิเลียนยังทรงสนพระทัยในการสนับสนุนการค้นคว้าและวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ส่วนจักรพรรดินีทรงสนับสนุนสิทธิทางการศึกษาให้แก่สตรี พระองค์ท่านยังทรงพัฒนาประเทศด้วยการสร้างทางรถไฟจากเม็กซิโกซิตี้ไปเบราครูซ ต่อมาสถานการณ์ได้พลิกผันอีกครั้งหลังจากที่สงครามกลางเมืองสหรัฐอเมริกา (American Civil War) ได้สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1865

สหรัฐอเมริกาไม่พอใจที่ชาวยุโรปเข้ามาแทรกแซงการเมืองเม็กซิโกซึ่งอาจเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐอเมริกาได้ในอนาคต ทำให้รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน (Andrew Johnson) สนับสนุนงบประมาณ 3 ล้านเปโซให้แก่กองกำลังกบฏของฆัวเรซและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทัพฝ่ายกบฏอย่างแท้จริงจากเดิมที่เป็นเพียงกองกำลังที่ใช้การรบแบบจรยุทธ์เท่านั้น

สถานการณ์เลวร้ายลงเมื่อเม็กซิโกสามารถใช้เงินกู้จากฝรั่งเศสจนหมด ฝรั่งเศสที่เริ่มมองว่าการทุ่มงบประมาณในเม็กซิโกเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ อีกทั้งยังอาจนำไปสู่ความขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกา และทางยุโรปเองจักรวรรดิฝรั่งเศสมีความกังวลเกี่ยวกับการขยายอิทธิพลของปรัสเซียที่กำลังรวมชาติเยอรมนี (Unification of Germany) ฝรั่งเศสจึงถอนกำลังออก เมื่อจักรพรรดิออสเตรียเตรียมส่งทหารไปช่วยพระอนุชาแต่ก็ถูกสหรัฐอเมริกาปรามเอาไว้

การต่อต้านระบอบราชาธิปไตยในเม็กซิโกรุนแรงมากขึ้น จากทั้งฝ่ายเสรีนิยม กลุ่มชาตินิยมที่ไม่ยอมรับการแทรกแซงจากต่างชาติ และกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่เสียผลประโยชน์จากการปฏิรูปสมัยของจักรพรรดิแม็กซิมิเลียน ทำให้ได้มีการสนับสนุนกองทัพของฆัวเรซที่บุกเข้ามายังกรุงเม็กซิโกซิตี้อย่างรวดเร็วในปี ค.ศ. 1867 พระองค์ทรงหนีไปยังเมืองเกเรตาโร และทรงถูกจับกุมตัวที่เมืองนี้ พระองค์ถูกนำตัวขึ้นศาลอาญาศึกและถูกตัดสินประหารชีวิตในวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 1867 ด้วยวิธีการยิงเป้าเช่นเดียวกับจักรพรรดิอากุสตินที่ 1

ก่อนถูกประหารพระองค์ได้เขียนจดหมายหาพระมารดาและพระมเหสีและขอให้เพชฌฆาตไม่ยิงพระองค์ที่ศีรษะ หลังจักรวรรดิเม็กซิโกล่มสลายอีกครั้ง ฆัวเรซกลับมายังเม็กซิโกซิตี้โดยได้รับการต้อนรับเยี่ยงวีรบุรุษของชาติที่อุทิศตนเสียสละต่อสู้เพื่อปกป้องอำนาจอธิปไตยของเม็กซิโกจากการคุกคามโดยชาวต่างชาติ นับเป็นชัยชนะขั้นเด็ดขาดของกลุ่มสาธารณรัฐนิยมและเป็นการปิดฉากกลุ่มกษัตริย์นิยมในเม็กซิโกลงอย่างถาวร

บทส่งท้าย

ถึงแม้ว่าการต่อสู้ระหว่างฝ่ายสาธารณรัฐนิยมและกษัตริย์นิยมในเม็กซิโกจะสิ้นสุดลงไปนับตั้งแต่ ค.ศ. 1867 แต่การเมืองของเม็กซิโกหลังจากนี้ก็มิได้สงบลงแต่อย่างใดยังคงมีความขัดแย้งที่รุนแรง การรัฐประหาร และการอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองโดยระบอบเผด็จการทหารดังเช่นสมัยของปอร์ฟิริโอ ดิอัซ (Porfirio Diaz) ค.ศ. 1884-1911 ซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองจากการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการดิอัซ ได้นำไปสู่ การปฏิวัติเม็กซิโก (Mexican Revolution) ค.ศ. 1910-1920 ซึ่งเป็นสงครามกลางเมืองที่นองเลือดและยาวนานที่สุดของประวัติศาสตร์เม็กซิโก

ในช่วงเวลาดังกล่าวนับว่าเป็นการต่อสู้ทางการเมืองที่มีความรุนแรงและยังได้มีประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์โลกเพียงแค่ 45 นาทีเท่านั้น!! เขาคือ เปโดร ลาสกูเรน (Pedro Lascuráin) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศที่ได้รับการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตามลำดับการสืบทอดถัดจากรองประธานาธิบดีและอัยการสูงสุดตามรัฐธรรมนูญ แต่เขาก็ต้องลาออกอย่างรวดเร็วเพื่อหลีกทางให้กับนายทหารผู้ก่อการรัฐประหาร แม้สงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงไปนับร้อยปีแต่ปัจจุบันเม็กซิโกก็ยังคงไม่สงบจากสงครามยาเสพติด (Mexican drug war) ที่มีความรุนแรงและยังดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน

 


อ้างอิง :

หนังสือ

กุศล สุจรรยา. ลาตินอเมริกา อดีต-ปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2530

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองสหรัฐอเมริกา : แนวพินิจทางประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2548

เดวิดสัน, เจมส์ เวสต์. สหรัฐอเมริกา : ประวัติศาสตร์(ไม่รู้จบ)แห่งเสรีภาพและความเท่าเทียม. แปลโดย สุนันทา วรรณสินธ์ เบล. กรุงเทพฯ : บุ๊คสเคป, 2564

โบเยอร์, พอล. ประวัติศาสตร์อเมริกา : ความรู้ฉบับพกพา. แปลโดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. กรุงเทพฯ : บุ๊คสเคป, 2561

ปาโบล เอสกาลันเต กอนซาลโบ และคณะ. ประวัติศาสตร์เม็กซิโก (ฉบับปรับปรุง) A New Concise History of Mexico. แปลโดย นุชธิกา ราศีวิสุทธิ์, วรภัทร ดิศบุณยะ. กรุงเทพฯ : ยิปซี กรุ๊ป, 2560

มาตยา อิงคนารถ. ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างละตินอเมริกากับสหรัฐอเมริกา. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2548

สัญชัย สุวังบุตร, อนันต์ชัย เลาหะพันธุ. ยุโรป ค.ศ. 1815-1918. กรุงเทพฯ : ศักดิโสภาการพิมพ์, 2558

อรพินท์ ปานนาค. ประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา 2 . กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2550

เว็บไซต์ :

Castillo, Jose Antonio Hernandez. “Agustin de Iturbide Biography and Significance”. Study.com Online. Access 12 JULY 2022. <https://study.com/learn/lesson/agustin-de-iturbide-biography-significance.html>

Morris M. “Maximilian I: The Austrian Dictator of Mexico”. Biographics Online. Access 12 JULY 2022. <https://www.youtube.com/watch?v=e3ZJ65c2q8s&ab_channel=Biographics>

Wikipedia. Agustín de Iturbide, from <https://en.wikipedia.org/wiki/Agustin_de_Iturbide>

Wikipedia. Maximilian I of Mexico, from <https://en.wikipedia.org/wiki/Maximilian_I_of_Mexico>

Wikipedia. Mexican Revolution, from <https://en.wikipedia.org/wiki/Mexican_Revolution>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กรกฎาคม 2565