เม็กซิโกเรียกร้องเอกราชจากสเปน สู่การเถลิงอำนาจของ “จักรวรรดิอากุสตินที่ 1 แห่งเม็กซิโก”

ภาพจิตรกรรมฝาผนังสมเด็จพระจักรพรรดิอากุสตินที่ 1 แห่งเม็กซิโก (MEXICO-CRIME-STUDENTS-DRUG-TRAFFICKING / AFP)

เม็กซิโก เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีชื่อเสียงและมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของทวีปอเมริกาเหนือ เนื่องจากเคยเป็นที่ตั้งของแหล่งอารยธรรมโบราณอย่าง โอลเม็ก มายา และแอซเท็ก ที่สร้างมรดกทางวัฒนธรรมจำนวนไม่น้อยให้กับโลก เช่นการสร้างปฏิทินปฏิทินชาวมายา การสร้างชิเชนอิตซา (Chichen Itza) และการสร้างสวนลอยน้ำ ฯลฯ อีกทั้งยังมีภาพตัวแทนที่คนทั่วไปจดจำได้คือการบูชายัญมนุษย์เพื่อบูชาเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ โดยควักหัวใจทั้งเป็นและโยนร่างลงจากวิหาร ท่านสามารถรับชมภาพยนตร์เรื่อง Apocalypto (2006) เพื่อให้เห็นภาพดังกล่าวนี้ได้อย่างชัดเจน

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ชาวสเปนได้ขยายอิทธิพลมายังทวีปอเมริกาตรงกับสมัยจักรวรรดิแอซเท็ก โดยแอร์นัน คอร์เตซ (Hernán Cortés) ผู้นำกองกิสตาดอร์แห่งสเปนได้นำกำลังยึดอำนาจกษัตริย์แอซเท็กพระองค์สุดท้ายพระนามว่ากูเอาเตม็อก (Cuauhtémoc) ได้ใน ค.ศ. 1521 ทำให้พื้นที่ของอเมริกากลาง ซึ่งในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิแอซเท็กนั้นตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของจักรวรรดิสเปน และทำให้ระบอบกษัตริย์ของคนพื้นเมืองในภูมิภาคอเมริกากลางได้ล่มสลายลงไปด้วย

Advertisement

หลังจากที่ดินแดนนิวสเปนอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิสเปนมอย่างยาวนานประมาณเกือบ 300 ปี ด้วยการกดขี่รังแกคนพื้นเมืองด้วยการบังคับใช้แรงงาน เอารัดเอาเปรียบ มีการทำลายความเชื่อทางศาสนาดั้งเดิม และบังคับให้เข้ารีตตามแบบคริสต์ศาสนานิกายคาทอลิก อีกทั้งสเปนได้สูบทรัพยากรทั้งแร่เงิน ทองคำ ฯลฯ ด้วยผลกระทบจากแนวคิดชาตินิยมและเสรีนิยมที่เกิดขึ้นหลังจากการปฏิวัติอเมริกา ค.ศ. 1776 และการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 ได้ทำให้แนวคิดชาตินิยมและเสรีนิยมแพร่กระจายไปยังนิวสเปน ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 (Napoleon I) ได้ยกกองทัพรุกรานยุโรปอยู่หลายชาติโดยหนึ่งในชาติที่ถูกรุกรานคือสเปน

ด้วยแสนยานุภาพทางการทหารที่แข็งแกร่งทำให้จักรพรรดิเฟอร์ดินานด์ที่ 7 แห่งสเปน (Ferdinand VII of Spain) ต้องยอมจำนนในปี ค.ศ. 1808 โดยจักรพรรดินโปเลียนได้ตั้งพระเชษฐาของตนคือ โจเซฟ โบนาปาร์ต (Joseph Bonaparte) ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองสเปนแทน ด้วยเหตุนี้ทำให้อาณานิคมของสเปนในทวีปอเมริกาไม่มีผู้ดูแล ทำให้พวกคริโอล์ (Criollo) ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองเม็กซิกันเลือดผสมสเปน และพวกปัญญาชนที่ได้ศึกษาเรื่องการเมือง ได้ลุกฮือขึ้นเรียกร้องเอกราชในการปกครองตนเองจากสเปน โดยมีผู้นำคนสำคัญคือ มิเกล ฮิดัลโก (Miguel Hidalgo) บาทหลวงจากเมืองโดโลเรส (Dolores) และ อิกนาซิโอ อาเยนเด (Ignacio Allende) แต่ทั้ง 2 ท่านได้ถูกสังหารโดยกองทัพสเปนในปี ค.ศ. 1811

ต่อมาชาวสเปนสามารถขับไล่กองทัพของนโปเลียนออกจากแผ่นดินของตนได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1813 หลังจากหายนะทางการทหารครั้งใหญ่ของกองทัพนโปเลียนที่ได้ยกทัพไปบุกรัสเซียในปี ค.ศ. 1812 แต่กลับต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และสูญเสียทหารไปหลายแสนนาย สเปนจึงหันกลับมาให้ความสำคัญกับการทำสงครามกับชาวอาณานิคมในนิวสเปนอีกครั้ง

หลังจากการตายของฮิดัลโกและอาเยนเดกระแสต่อต้านสเปนในเม็กซิโกก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะลดลง ขณะเดียวกันได้มีนายทหารชาวครีโอล์ผู้มีความทะเยอทะยานนามว่า อากุสติน เด อิตูร์บิเด (Agustín de Iturbide) เขาเห็นด้วยกับการเรียกร้องเอกราช แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการใช้ความรุนแรงของฝ่ายกบฏ เขาเสนอแนวทางการประกาศเอกราชของสเปนด้วยการประสานความร่วมมือระหว่างฝ่ายนิยมสเปนกับฝ่ายกบฏ อิตูร์บิเดได้รับภารกิจจากผู้สำเร็จราชการให้ไปปราบกบฏของบิเซนเต เกเรโร (Vicente Guerrero) แต่เขาได้โน้มน้าวให้เกเรโรให้ร่วมมือกับเขา ทำให้อิตูร์บิเดกลายเป็น ผู้นำสูงสุดของกองทัพชาติ อิตูร์บิเดยึดหลัก 3 ประการคือ “ศาสนา เอกภาพ เอกราช”

การเรียกร้องเอกราชของชาวเม็กซิกันดำเนินมาต่อเนื่องจนกระทั่งในวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1821 ฆวน เด โอโดโนฆู (Juan O’Donojú) ผู้แทนจากนิวสเปนยอมลงนามกับอิตูร์บิเด ในสนธิสัญญากอร์โดบา (Treaty of Córdoba) โดยเนื้อหาของสนธิสัญญาคือการยอมรับเอกราชและการสถาปนาจักรวรรดิเม็กซิโก (First Mexican Empire)

หลังจากที่นิวสเปนได้รับเอกราชก็ประสบปัญหามากมายเพราะจักรวรรดิเม็กซิโกนั้นมีพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่กลับมีประชากรจำนวนไม่มากนักอีกทั้งชาวเม็กซิกันที่เพิ่งได้รับเอกราชยังขาดความรู้ความสามารถในการปกครองตนเอง ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจจากสภาวะหนี้สิน 45 ล้านเปโซ และความล้มเหลวในการจัดเก็บภาษีที่เป็นระเบียบทำให้การคลังของประเทศอยู่ในสภาวะล้มละลาย อิตูร์บิเดจัดตั้งคณะปกครองชั่วคราว (Provisional Governing Junta) ซึ่งทำหน้าที่คัดเลือกคณะผู้สำเร็จราชการ 5 คน สมาชิกในกลุ่มส่วนใหญ่เป็นฝ่ายสนับสนุนอิตูร์บิเดทำให้เขาครองเสียงข้างมากและมีอำนาจในการบริหาร

ขณะเดียวกันชื่อเสียงและอิทธิพลของอิตูร์บิเดทำให้เขตปกครองตนเองกัวเตมาลาขอเข้าร่วมกับจักรวรรดิเม็กซิโกในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1822 จนทำให้เม็กซิโกมีพื้นที่เกือบทั้งภูมิภาคอเมริกากลาง (กินพื้นที่ประเทศกัวเตมาลา, ฮอนดูรัส, นิการากัว, เอล ซัลวาดอร์, คอสตาริกาในปัจจุบัน) แต่ขณะเดียวกันปัญหาภายในรัฐบาลทำให้อิตูร์บิเดถูกสมาชิกรัฐสภากดดันเขาจึงได้สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิอากุสตินที่ 1 แห่งเม็กซิโก (Augustine I of Mexico) ในวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1822 โดยมีประชาชนสนับสนุนเขาจำนวนมาก แต่ฝ่ายกบฎที่นิยมระบอบสาธารณรัฐไม่พอใจนำไปสู่ความขัดแย้งภายในจักรวรรดิ

จักรพรรดิอากุสตินจึงสั่งยุบสภาและตั้งคณะปกครองแห่งชาติขึ้นมาแทน พระองค์เริ่มถูกต่อต้านจากประชาชนอย่างรุนแรงจากนโยบายบังคับกู้ยืม และนโยบายดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางของพระองค์ทำให้จังหวัดอื่น ๆ ไม่พอใจ นายทหารหนุ่มนามว่าอันโตนิโอ โลเปซ เด ซานตา อันนา (Antonio López de Santa Anna) ได้ก่อรัฐประหารที่เมืองเบราครูซในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1822

โดยเรียกร้องให้ฟื้นฟูระบบรัฐสภาและตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐ เขาได้รับการสนับสนุนมากมายจากทั้งนักการเมือง ทหารและประชาชน นำไปสู่การประกาศแผนกาซา มาตา (Plan of Casa Mata) ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1823 ซึ่งเป็นการรื้อฟื้นการสถาปนารัฐสภาขึ้นใหม่และออกกฎหมายให้สิทธิการปกครองตนเองของจังหวัดต่าง ๆ

จากกระแสต่อต้านที่รุนแรงส่งผลให้จักรพรรดิอากุสตินที่ 1 ตัดสินพระทัยสละราชสมบัติในวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 1823 นำไปสู่การล่มสลายของจักรวรรดิเม็กซิโกที่ 1 และยังส่งผลให้ดินแดนในอเมริกากลางขอแยกตัวจากเม็กซิโกไปก่อตั้งสหพันธ์สาธารณรัฐอเมริกากลาง (Federal Republic of Central America) โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่กัวเตมาลาซิตี้ ซ้ำร้ายจังหวัดต่าง ๆ เช่นยูกาตัน, กวาดาลาฆารา, ซากาเตกัส ได้แยกตัวเป็นเอกราชปกครองตนเอง

รัฐบาลเม็กซิโกจึงไปเจรจาขอไม่ให้แต่ละจังหวัดแยกตัวแบบรัฐในอเมริกากลาง ทางรัฐบาลท้องถิ่นของจังหวัดกวาดาลาฆาราและซากาเตกัสยื่นข้อเสนอให้เม็กซิโกต้องปกครองแบบสหพันธรัฐเหมือนกับสหรัฐอเมริกาเท่านั้น รัฐสภายินยอมจึงมีมติก่อตั้ง สหรัฐเม็กซิโก (United Mexican States) ในวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1824 และประเทศเม็กซิโกยังคงปกครองโดยใช้รูปแบบสหพันธรัฐมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้รัฐสภาเม็กซิโกออกประกาศห้ามมิให้อิตูร์บิเดกลับมาเหยียบแผ่นดินเม็กซิโกอีกเด็ดขาด และเมื่ออิตูร์บิเดที่ได้ลี้ภัยไปอิตาลีได้ลักลอบเดินทางกลับมายังเม็กซิโก เขาถูกจับได้และประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1824 เป็นการปิดฉากจักรพรรดิเม็กซิโกพระองค์แรก และเริ่มการปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐโดยมีประธานาธิบดีเม็กซิโกคนแรกคือ กวาดาลูเป วิกตอเรีย (Guadalupe Victoria)

 


อ้างอิง :

หนังสือ

กุศล สุจรรยา. ลาตินอเมริกา อดีต-ปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2530

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองสหรัฐอเมริกา : แนวพินิจทางประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2548

เดวิดสัน, เจมส์ เวสต์. สหรัฐอเมริกา : ประวัติศาสตร์(ไม่รู้จบ)แห่งเสรีภาพและความเท่าเทียม. แปลโดย สุนันทา วรรณสินธ์ เบล. กรุงเทพฯ : บุ๊คสเคป, 2564

โบเยอร์, พอล. ประวัติศาสตร์อเมริกา : ความรู้ฉบับพกพา. แปลโดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. กรุงเทพฯ : บุ๊คสเคป, 2561

ปาโบล เอสกาลันเต กอนซาลโบ และคณะ. ประวัติศาสตร์เม็กซิโก (ฉบับปรับปรุง) A New Concise History of Mexico. แปลโดย นุชธิกา ราศีวิสุทธิ์, วรภัทร ดิศบุณยะ. กรุงเทพฯ : ยิปซี กรุ๊ป, 2560

มาตยา อิงคนารถ. ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างละตินอเมริกากับสหรัฐอเมริกา. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2548

สัญชัย สุวังบุตร, อนันต์ชัย เลาหะพันธุ. ยุโรป ค.ศ. 1815-1918. กรุงเทพฯ : ศักดิโสภาการพิมพ์, 2558

อรพินท์ ปานนาค. ประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา 2 . กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2550

เว็บไซต์

Castillo, Jose Antonio Hernandez. “Agustin de Iturbide Biography and Significance”. Study.com Online. Access 12 JULY 2022.

< https://study.com/learn/lesson/agustin-de-iturbide-biography-significance.html>

Morris M. “Maximilian I: The Austrian Dictator of Mexico”. Biographics Online. Access 12 JULY 2022.

< https://www.youtube.com/watch?v=e3ZJ65c2q8s&ab_channel=Biographics>

Wikipedia. Agustín de Iturbide, from <https://en.wikipedia.org/wiki/Agustin_de_Iturbide>

Wikipedia. Maximilian I of Mexico, from <https://en.wikipedia.org/wiki/Maximilian_I_of_Mexico>

Wikipedia. Mexican Revolution, from < https://en.wikipedia.org/wiki/Mexican_Revolution>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กรกฎาคม 2565