ท่องดินแดน “วัลฮัลลา” (Valhalla) อาณาจักรนักรบหลังความตาย ท้องพระโรงของโอดิน

ภาพจินตนาการของวัลฮัลลา (Valhalla)

“Valhalla” หรือ “วัลฮัลลา” คืออาณาจักรแห่งชีวิตหลังความตายในตำนานเทพเจ้านอร์ส (Norse mythology) ตามความเชื่อของชาวสแกนดิเนเวียน โดยเฉพาะสำหรับชาวไวกิ้งที่เชื่อว่าเป็นดินแดนสำหรับเหล่าวีรบุรุษวีรสตรีที่เสียชีวิตในการสงคราม โดยจะมี “วัลคีรี” (Valkyrie) เทพีของเพทเจ้า “โอดิน” (Odin) มารับไปอยู่ในดินแดนแห่งนั้น เพื่อเตรียมทำสงครามครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในวันสิ้นโลก หรือ “Ragnarok”

เดิมคำว่า “Valhalla” สันนิษฐานว่ามีต้นเค้ามาจากคำว่า “Valholl” อันหมายถึงหินหรือภูเขา ไม่ได้หมายถึงท้องพระโรง (Hall) ของเทพเจ้าโอดิน ซึ่งเข้าใจว่า Valholl นี้มีความเกี่ยวข้องกับหินแห่งการสังหาร (หรือสังเวย?) ของผู้ศรัทธาเทพเจ้านอร์สในยุคแรก ส่วนวัลคีรีเองก็ถูกมองว่าแต่เดิมนั้นเข้าใจว่าเป็นปีศาจแห่งความตายที่พาวิญญาณไปดินแดนของผู้วายชนม์

จากข้างต้นสามารถอนุมานได้ว่าแนวคิดนี้ถูกแปรเปลี่ยนความหมายไปตามยุคสมัย และเกี่ยวข้องกับอิทธิพลของคริสต์ศาสนาเป็นสำคัญ เพราะแต่เดิมนั้นตำนานเทพเจ้านอร์สจะถูกเล่าขานผ่านบทเพลงและบทกวี ไม่ได้ถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน ถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12-13 มีการบันทึกตำนานอย่างเป็นระบบ และศาสนาก็ส่งอิทธิพลต่อการจัดทำและเรียบเรียงตำนานของชาวสแกนดิเวียนอยู่ไม่น้อย ดังนั้น ในยุคหลัง วัลฮัลลาจึงแปรความหมายไปเป็นท้องพระโรงของเทพเจ้าโอดิน และวัลคีรีก็กลายเป็นเทพเจ้าผู้นำพาวิญญาณนักรบไปสู่ดินแดนแห่งความนิรันดร์

วัลฮัลลาตั้งอยู่ในแอสการ์ด ป้อมปราการแห่งสวรรค์ของเหล่าทวยเทพ ซึ่งมีโอดิน เทพเจ้าแห่งสงครามเป็นผู้ปกครองดูแล ท้องพระโรงแห่งนี้มีหลังคาเป็นโล่สีทองคำอร่าม ค้ำจุนโครงสร้างด้วยหอก และมีชุดเกราะวางเกลื่อนอยู่บนม้านั่ง และท้องพระโรงแห่งนี้ประกอบด้วยประตูถึง 540 บาน แต่ละบานนั้นกว้างใหญ่เพียงพอที่นักรบจำนวน 800 คน สามารถเดินผ่านได้ในเวลาเดียวกัน

ชาวสแกนดิเนเวียนเชื่อว่าวัลฮัลลาเป็นดินแดนแห่งพันธสัญญา เมื่อพวกเขาสิ้นชีพในการทำสงคราม วัลคีรีจะพายังไปยังดินแดนแห่งนี้ ซึ่งนับเป็นเกียรติยศอันสูงส่ง

“วัลคีรี” (Valkyrie) เทพีของเพทเจ้า “โอดิน” (Odin)

ณ วัลฮัลลา กิจวัตรจะเป็นเหมือนเดิมทุก ๆ วัน คือ ช่วงกลางวัน พวกเขาจะทำสงครามฆ่าฟันกันอย่างดุเดือด เสมือนเป็นกีฬาแห่งความตาย แต่พอตกเย็น พวกเขาจะฟื้นคืนชีพอีกครั้ง และจะร่วมกันรับประทานอาหาร ดื่มกิน เฉลิมฉลอง สังสรรค์กันด้วยมิตรภาพและความรัก

มื้อเย็นนี้มีอาหารและเครื่องดื่มไม่อั้น โดยมี Andhrimnir พ่อครัวใหญ่ของเหล่าทวยเทพ เสิร์ฟอาหารจากสัตว์ร้ายที่มีนามว่า Saerimnir (บางครั้งเรียกว่าหมูป่า) ที่ย่างมันเหนือเปลวไฟที่แผดเผาตลอดเวลา และเช่นเดียวกัน ในทุก ๆ วัน Saerimnir จะเกิดใหม่เพื่อให้เนื้อสำหรับวันรุ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแพะนามว่า Heidrun ที่มอบเหล้ามีด (Mead) อย่างไม่มีที่สิ้นสุดจากเต้าของมัน ในขณะที่กวางนามว่า Eikthyrnir ก็มอบหยดน้ำเย็นแสนบริสุทธิ์จากเขาของมัน ซึ่งทำให้วัลฮัลลามีน้ำที่ใสสะอาดอยู่โดยตลอด

ณ ท้องพระโรง เทพเจ้าโอดินจะนั่งบนบัลลังก์ท่ามกลางวิญญาณของเหล่าวีรบุรุษวีรสตรี มีอีกาสองตัวนามว่า Huginn และ Muninn เกาะอยู่บนบ่า อีกาคู่นี้จะบินผ่านโลกทุกวัน และนำข่าวกลับมาแจ้งแก่ผู้เป็นเจ้านายในเวลาอาหารเย็น เทพเจ้าโอดินจึงรับรู้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในอาณาจักรทั้ง 9 อยู่ตลอดเวลา ในงานเลี้ยงนั้น พระองค์เองไม่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น เพียงแต่ดื่มไวน์เท่านั้น และจะป้อนเนื้อให้กับหมาป่าสองตัวนามว่า Geri และ Freki ในขณะที่วัลคีรีนำวิญญาณไปที่ท้องพระโรงเพื่อเริ่มมื้อเย็นแบบบุฟเฟ่ต์

และเมื่องานเลี้ยงจบลง สงครามในวันใหม่ก็ถือกำเนิดขึ้น ทุ่งหญ้าแห่งวัลฮัลลาเต็มไปด้วยกองศพเหลือคณานับ แต่ก็กลับฟื้นคืนมาเฉลิมฉลองหลังอาทิตย์อัสดง เป็นเช่นนี้ร่ำไป

นักวิชาการเชื่อว่าแนวความคิดของท้องพระโรงของเทพเจ้าโอดิน หรือวัลฮัลลา อาจจะพัฒนามาจากความเชื่อหรือวิสัยทัศน์ของชาวสแกนดิเนเวียนเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายของนักรบ ซึ่งในช่วงยุคก่อนคริสต์ศักราช ในดินแดนแถบนี้เหมือนจะไม่สนับสนุนแนวคิดเรื่องการเกิดใหม่ แต่เน้นที่การตายอันรุ่งโรจน์ซึ่งจะถูกจดจำผ่านบทเพลงของกวี

นอกจากนี้ นักวิชาการยังแสดงความเห็นว่าความคิดของชาวสแกนดิเนเวียนในลักษณะของการพลีชีพในสงครามที่เต็มไปด้วยความโหดร้ายและรุนแรงนี้ เป็นลัทธิความตายชนิดหนึ่งซึ่งในทางจิตวิทยาจะช่วยทำให้พวกเขาต่อสู้กับศัตรูอย่างไม่เกรงกลัวความตาย

ในอีกทางหนึ่ง “หลังบ้าน” หรือครอบครัวของบรรดานักรบหญิงชาย ก็จะได้รับการประโลมจากการสูญเสียคนที่รัก เพราะผู้วายชนม์นั้นจะได้มีชีวิตอยู่ในท้องพระโรงของเทพเจ้าโอดิน ซึ่งมีงานเลี้ยงที่ไม่วันสิ้นสุด มีทุ่งหญ้าที่ไร้ขอบเขต รายล้อมไปด้วยสาวพรหมจรรย์ที่งดงามในคณะของราชาแห่งทวยเทพ ภาพฝันนี้คงช่วยปลอบโยนผู้ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และให้ความหวังกับบรรดานักรบ ผู้เสี่ยงภัยความตายในสงคราม

อ่านเพิ่มเติม :


อ้างอิง :

Joshua J. Mark. “Valhalla”. Access 10 July 2022, from <https://www.worldhistory.org/Valhalla/>

NOAH TETZNER. “Valhalla: How Viking Belief in a Glorious Afterlife Empowered Warriors”. Access 10 July 2022, from <https://www.history.com/news/viking-valhalla-valkyrie-afterlife>

The Editors of Encyclopaedia Britannica. “Valhalla”. Access 10 July 2022, from <https://www.britannica.com/topic/Valhalla-Norse-mythology>

VALHALLA. Access 10 July 2022, from <https://norse-mythology.org/cosmology/valhalla/>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กรกฎาคม 2565