กระบวนการ “เซ็นเซอร์ประวัติศาสตร์” แบบจีนๆ

เหมา เจ๋อตุง พบประชาชน ระหว่างสงครามจีน-ญี่ปุ่น (1937-1945) ภาพโดย AFP

หลายประเทศกำลังมีความตื่นตัวด้านการศึกษาประวัติศาสตร์มากขึ้น เหมือนในสหรัฐฯ ที่พยายามกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่หันมาศึกษาประวัติศาสตร์กันเยอะขึ้น หลังภาควิชาประวัติศาสตร์ถูกละเลยจากนักศึกษาในยุคหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2007 อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยผู้สนับสนุนการเรียนในสาขาวิชานี้ชูข้อดีของการเรียนประวัติศาสตร์ว่าจะช่วยเสริมทักษะ “การคิดวิเคราะห์” ของนักศึกษาให้ดีขึ้นได้

ที่เมืองจีนเขาก็ตื่นตัวเรื่องประวัติศาสตร์เหมือนกัน แต่มีลักษณะที่ต่างออกไปสักหน่อย เพราะเป็นการตื่นตัวของรัฐบาลที่ไม่ชอบให้ประชาชนมีความอยากรู้อยากเห็นสักเท่าไหร่ (การรู้จักคิดวิเคราะห์ยิ่งไม่ต้องพูดถึง) จึงพยายามปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของประเทศ

เรื่องนี้เปิดเผยโดย ศาสตราจารย์ โรเบิร์ต บิคเกอร์ส (Robert Bickers) จากภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบริสตอลในอังกฤษที่อ้างว่า ที่เมืองจีนกำลังปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลจำพวกจดหมายเหตุ การศึกษาในด้านนี้จึงเป็นเรื่องยาก เมื่อรัฐเป็นฝ่ายกำหนดแนวทางการเล่าประวัติศาสตร์โดยไม่ให้โอกาสกับนักวิชาการในการตรวจสอบ

“อย่าไปเชื่อสิ่งที่ สี จิ้นผิง บอกคุณเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของจีน เราต้องไตร่ตรองประวัติศาสตร์ตลอดยุคศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมาให้ดี ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องยาก เพราะในช่วงห้าหกเจ็ดปีที่ผ่านมาจีนปิดกั้นไม่ให้เราเข้าถึงข้อมูลจดหมายเหตุต่างๆ” บิคเกอร์ส กล่าวกับ South China Morning Post โดยเขายังบอกอีกว่า ตอนนี้บรรดาคุณครูในโรงเรียนนานาชาติก็กำลังอึดอัดกับท่าทีของรัฐบาลมาก เพราะรัฐเข้ามาเซ็นเซอร์เนื้อหาด้านประวัติศาสตร์ที่ทำการเรียนการสอนด้วย

นี่มิได้เป็นมาตรการที่กีดกันแต่นักวิชาการต่างชาติ นักประวัติศาสตร์จีนเองก็ถูกห้ามการเข้าถึงเอกสารเก่าเหมือนกัน บิคเกอร์ส กล่าวว่า เพื่อนนักวิชาการจาก Fudan University เคยบ่นว่าจะต้องเดินทางไปถึง Stanford University เพื่อหาข้อมูลของประเทศตัวเอง เพราะเขาไม่อาจเข้าถึงแหล่งข้อมูลในจีนได้

สำหรับข้ออ้างอย่างเป็นทางการที่จีนปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลในหอจดหมายเหตุนั้น พวกเขาให้เหตุผลว่า เพื่อเปลี่ยนแหล่งข้อมูลทั้งหมดให้เป็นดิจิตอล ซึ่งฟังดูก็เข้าท่าดีอยู่ เพราะมันคงจะช่วยให้ผู้ทำการศึกษาสามารถค้นหาข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น แต่ บิคเกอร์ส ก็มองโลกในแง่ร้ายอยู่หน่อยว่า กระบวนดังกล่าวก็จะยิ่งทำให้จีนเซ็นเซอร์ข้อมูลได้ง่ายขึ้น โดยนึกย้อนไปถึงอดีตที่เขาเคยไปขอข้อมูลแล้วเจ้าหน้าที่ก็นั่งจ้องมองหาคีย์เวิร์ดที่อ่อนไหวของทางการ ทีละหน้าๆ ถ้าเจอก็ดึงออก ซึ่งเขาเชื่อว่าเมื่อเป็นระบบดิจิตอลทางจีนก็คงจะทำเหมือนๆ กัน

นอกจากนี้แล้ว ทางการจีนก็กำลังทำสารานุกรมออนไลน์คล้ายๆ กับ “วิกิพีเดีย” ด้วย (ปัจจุบันวิกิพีเดียถูกบล็อคในจีนทั้งฉบับภาษาอังกฤษและภาษาจีน) แต่ที่คล้ายคือคล้ายในความเป็นสารานุกรมออนไลน์เท่านั้น ส่วนกระบวนการนั้นต่างกันมาก เพราะวิกิพีเดียเขาให้อาสาสมัครเข้ามาอัพเดตข้อมูลกันได้ตามสะดวก แต่วิกิพีเดียฉบับจีนจะอนุญาตให้แต่นักวิชาการที่รัฐให้การสนับสนุนเท่านั้นที่จะเข้ามาเขียนบทความต่างๆ ได้

ทาง Yang Muzhi บรรณาธิการใหญ่ของสารานุกรมออนไลน์ของจีนบอกว่า สารานุกรมที่พวกเขากำลังซุ่มทำกันอยู่จะมีความน่าเชื่อถือไม่แพ้วิกิพีเดียต้นฉบับแน่ๆ เพราะเป็นงานที่มาจากนักวิชาการขนานแท้ และจะเป็น “กำแพงเมืองจีนทางวัฒนธรรม” (Great Wall of culture) ที่จะคอยนำทางให้กับประชาชนเลยทีเดียว (Quartz)


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2560