สุดอาลัย “ส.พลายน้อย” เสียชีวิตในวัย 93 ปี ย้อนคุยที่มาของ “นามปากกา และอนุสรณ์ก่อนตาย”

สุดอาลัยกับการจากไปของ “ส. พลายน้อย” นามปากกาของ อาจารย์สมบัติ พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2553 ที่เสียชีวิตลงอย่างสงบในช่วงเช้าวันพุธที่ 6 กรกฎาคม 2565 จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังเข้ารับรักษาตัวในโรงพยาบาลราว 3 วัน สิริอายุ 93 ปี

อนึ่งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2551 ได้ลงบทสัมภาษณ์อาจารย์สมบัติ พลายน้อย โดย วิภา จิรภาไพศาล ในชื่อ คุยกับ อาจารย์ ส. พลายน้อย ในโอกาสที่อาจารย์สมบัติ ได้รับรางวัลนักเขียนอมตะ เมื่อปี พ.ศ. 2551 จึงขอคัดนำมาลงเผยแพร่อีกครั้ง เพื่อแสดงความอาลัย มา ณ โอกาสนี้


คุยกับ อาจารย์ ส. พลายน้อย

ชื่อของ “ส. พลายน้อย” ย่อมเป็นที่รู้จักดีของผู้อ่านหลายรุ่น หลายสมัย เพราะนี้คือนักเขียนท่านหนึ่งที่มีงานเขียนอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ๖๐ กว่าปี ไม่ว่าจะบทความหรือหนังประเภทต่างๆ เช่น สารคดี นิทาน เรื่องสั้น ประวัติศาสตร์ ฯลฯ หากประวัติเรื่องราวของ ส. พลายน้อย กลับไม่เผยแพร่เท่ากับผลงาน

แม้แต่เรื่อง “เกิดในเรือ” ที่ ส. พลายน้อย ตั้งใจเขียนแบบอัตชีวประวัติ เรื่องราวของท่านยังคงมีเพียงเล็กน้อย และปะปนอยู่ในเรื่องราวของเรือ หรือวิถีชีวิตของคนริมน้ำ เมื่อ อาจารย์ ส. พลายน้อย ได้รับรางวัลนักเขียนอมตะ ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ เราจึงขอไปคุยกับท่านที่บ้านพักแถววัดอนงคาราม ท่านยังยืนว่า “ผมไม่คิดว่าจะได้ เพราะท่านที่ได้รับรางวัลก่อนหน้า คุณเสนีย์ เสาวพงษ์ คุณเปลว สีเงิน และ คุณเขมานันทะ ล้วนมีผลงาน และมีชื่อเสียงทั้งนั้น”

ก่อนจะเล่าถึงเส้นทางนักเขียนของ ส. พลายน้อย ที่สั่งสมมาอย่างต่อเนื่อง จากพื้นฐานการเป็นนักอ่านที่ดี ว่า “มันบุญวาสนาอะไรไม่รู้ สมัยที่เรียนชั้นประถม มีเรืออาศัยจอดที่ท่าหน้าบ้านอยู่ลำหนึ่ง…จอดอยู่เป็น ๑๐ ปี ลูกชายเจ้าของเรือ เขาชอบซื้อหนังสืออ่านอยู่เรื่อยๆ และให้ผมได้หยิบยืมอ่านอยู่เสมอ ผมยังนึกถึงบุญคุณเขาอยู่เสมอ…ตอนหลังเขาย้ายเรือไปที่อื่น ผมเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยแล้ว จึงไปอ่านหนังสือของห้องสมุดโรงเรียนแทนซึ่งมีหนังสือดีๆ อยู่มาก 

หรือบางทีช่วงออกพรรษาคนถิ่นอื่นมาทำบุญที่วัดต่างจังหวัด เขาชอบแจกหนังสือ เป็นเรื่องรักบ้าง เป็นประวัติของวัด คำปราศรัยของนายกรัฐมนตรีพระยาพหลฯ บ้าง จอมพล ป. บ้าง บางเล่มก็สนุก บางเล่มก็ไม่ไหว ก็อาศัยหนังสือพวกนี้อ่านไป…หลังเก็บเงินจากค่าขนมบ้าง ก็ซื้ออ่าน สมัยนั้นเขาก็อ่านหนังสือนิยายเล่มบางๆ ขนาด ๔๐-๕๐ หน้า มีหลายประเภท เช่น รักโศก แต่ผมไม่ชอบ ผมชอบประเภทบู๊ล้างผลาญ ชกต่อย ของ มิตร เรืองเดช อรวรรณ พอโตขึ้นหน่อยอยู่ชั้น ม.๔ เริ่มอ่าน ประชามิตร สุภาพบุรุษ เอกชน สวนอักษร ศิลปิน…”

ที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยนี้เอง อาจารย์ ส. พลายน้อย เล่าถึงการเขียนหนังสือที่ไม่ใช่การบ้านส่งครูว่า “ตอนนั้นนึกสนุก จึงออกหนังสือพิมพ์กันเอง ด้วยการเรี่ยไรเงินเพื่อนในห้องที่มีอยู่ ๔๐ คน คนละ ๑ สตางค์ เอามาซื้อกระดาษฟุลสแก๊ปมาโหลนึง นั่งเขียนกัน มีเพื่อน ๒-๓ คน ช่วยกัน แปลนิทานภาษาอังกฤษสั้นบ้าง เขียนหยอกล้อพรรคพวกเพื่อนฝูงบ้าง การออกหนังสือพิมพ์ก็แล้วแต่จะมีสตางค์เท่าไร ผลัดกันเวียนอ่านในห้อง ใช้ชื่อว่า สหมิตรคือรวมมิตร ตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็นยุวประพันธ์ และเปลี่ยนจากกระดาษฟุลสแก๊ปเป็นสมุดปกแข็ง ๑๐๐ แผ่น เมื่อต้นปีไปเจอกันเพื่อนๆ ยังพูดถึงกัน ผมก็อยากดูว่าเขียนอะไรบ้าง มันคงเปิ่นดี” (หัวเราะ)

และที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยอีกเช่นกัน ที่งานเขียนของ อาจารย์ ส. พลายน้อย ได้เริ่มตีพิมพ์สู่สาธารณะเมื่อ ครูชิน อยู่ดี สอนให้เขียนเรียงความแบบใหม่ โดยตั้งหัวข้อเรื่องมาแล้วให้นักเรียนค้นคว้ามาเขียน (เดิมการเรียงความครูจะอ่านเรื่องให้ฟัง ๒-๓ เที่ยว แล้วให้นักเรียนเรียบเรียงเขียนขึ้นใหม่)

“เผอิญเราอ่านหนังสือมาเยอะอยู่แล้ว เลยได้แนว แล้วอยากให้มันวิจิตรพิสดารว่าคนชาติอื่นๆ เขาเรียกดอกบัวว่าอย่างไร ภาษาเขมรถามจากพระเขมรที่วัดใกล้บ้าน ภาษามอญพอดีมีเรือมอญบรรทุกจากมาจากบ้านเสากระโดงจอดอยู่แถวบ้าน ก็ไปถาม…เมื่อเอาไปส่งครูถามว่าเขียนเองหรือ ผมเขียนเองแน่นอน (หัวเราะ) ท่านชมว่าดี

เมื่อครูบอกว่าดีผมจึงทดลองส่งไปหนังสือพิมพ์ดูบ้าง เลยคัดใหม่ส่งไปให้ อาจารย์เปลื้อง ณ นคร ลองอีกครั้งว่ามันจะใช้ได้ไหม อาจารย์เปลื้องสงสัยอีกว่าเขียนเองหรือเปล่า ส่งจดหมายมาถาม บอกเขียนเอง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครเขียนให้ ท่านบอกว่าดี แล้วส่งไปลงหนังสือพิมพ์นิกรหรืออะไรจำไม่ได้ ตั้งแต่นั้นมาก็คิดว่าเราพอจะเขียนหนังสือใช้ได้

ส่วนการเขียนเรื่องสั้นนั้นพอดีมีนักเรียนพณิชยการคนหนึ่งอาศัยอยู่ที่บ้านผม เขาเคยเห็นหนังสือพิมพ์นักเรียนของผม เขาออกหนังสือพณิชยการ [นิตยสารรายเดือนของพณิชยการพระนคร] เขาบอกว่าให้เขียนให้เขาบ้างซิ แหม ทำยังกับว่าเราเป็นนักเขียนใหญ่ (หัวเราะ) ผมเองมีนิสัยไม่ค่อยจะขัดใจใครจึงรับปากเขาไปแล้วเขียนเรื่องศพผัวเมียนาย ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙

พอลงหนังสือพณิชยการไปแล้ว ผมไม่แน่ใจว่า เขาลงให้เพราะฝีมือผม หรือว่าเกรงใจ ผมอยากทดสอบดู ผมเลยคัดเรื่องนั้นส่งไปให้ที่  ‘ไทยใหม่วันจันทร์’ ปรากฏเขาลงให้ทันที เราก็บอก เอ๊ะ ขนาดหนังสือที่พิมพ์ขายเป็นอาชีพเขารับลงก็แสดงว่าใช้ได้ซิ”

เมื่อถามอาจารย์ว่าตอนนั้นเป็นนักเขียนเต็มตัว ได้รับค่าเรื่องแล้วใช่หรือไม่ อาจารย์ ส. พลายน้อย ตอบว่า “โอ๊ย อีกตั้งหลายปี มาได้ค่าเรื่องๆ แรกที่ลงในหนังสือพิมพ์โบว์แดง [รายสัปดาห์] ฉบับวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ เรื่องที่เขียนคือ ‘คนไม่ใช้ถ่าน’ เป็นเรื่องสั้นเหมือนกัน ได้ค่าเรื่องๆ แรก ๒๐ บาท โอ้โห ดีใจ  ๒๐ บาท ได้มาก็เลี้ยงข้าวผัดพรรคพวกหมด เลี้ยงเพื่อนได้หลายคน…”

ส่วนที่มาของนามปากกา ส. พลายน้อย อาจารย์เล่าให้ฟังว่า “ยุคนั้นมันเป็นยุคตัวย่อ สมัยจอมพล ป. ชื่อย่อหมด ส. ย่อมาจากชื่อจริงว่า สมบัติ สมัยเขียนลงพณิชยการใช้แต่นามสกุล [พลายน้อย] เท่านั้น ส. พลายน้อย น่าจะเริ่มประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๐ กว่า ช่วงที่เริ่มเขียนลงโบว์แดง นอกจาก ส. พลายน้อย ยังมีชื่อ [นามปากกา] อื่น… ชื่อที่ใช้มากอีกชื่อหนึ่งก็คือ โสมทัต เทเวศร์ อันนี้ใช้แล้วโด่งดังพอสมควรเพราะไปเขียนเรื่องภาษาไทย คนไม่รู้จักเดากันต่างๆ นานา บางคนบอกว่าสงสัยจะเป็นเจ้า (หัวเราะ) คำว่าเทเวศร์มันชวนให้คิดว่าเป็นเจ้า แต่ไม่ใช่หรอกตอนนั้นผมเช่าบ้านอยู่เทเวศร์ ส่วนโสมทัตมาจากฉายาตอนบวชที่ว่าโสมทัตโต บอกเป็นฆราวาสก็ตัดโตออกไป”

ด้วยความรู้ ประสบการณ์ และผลงานการเขียนที่หลากหลาย หนังสือที่ อาจารย์ ส. พลายน้อย อยากเขียนในวันที่อายุ ๗๙ คือหนังสือประเภทใด อาจารย์หัวเราะอย่างสบายใจก่อนจะตอบว่า “ตอนหลังๆ อยากเขียนอะไรที่ยังไม่ได้ทำ อยากทำสารานุกรมหรือพจนานุกรมเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยและพุทธศาสนา สาเหตุที่อยากเขียน มันเกี่ยวกับความไม่รู้ของเรา ความโง่ของเรา คือเราอยากรู้อะไรแล้วค้นหาไม่ได้ทันใจ หรือเวลาผมอ่านหนังสือแล้วอะไรที่น่าสนใจจะโน้ตย่อไว้ในเศษกระดาษบ้าง สมุดบ้าง ไดอารี่บ้าง มันกระจัดกระจาย เวลาจดเราก็นึกจำได้ว่าจดไว้อย่างนี้นะ แต่เวลาจะเอาจริงๆ มันหาไม่เจอ ก็เลยเกิดความคิดว่า ทำของเราเองดีไหม เวลานึกอยากจะดูอะไร จะได้เปิดได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น เลยทำเหมือนกับทำสารานุกรมประวัติศาสตร์ ตอนนี้ก็ทำไว้ ๒ เล่ม

แต่ผมยังตั้งชื่อไม่ได้เลย จะใช้ชื่ออย่างไร อย่างหนังสือฝรั่งรูปร่างเป็น encyclopedia เขายังใช้ชื่อว่า dictionary ผมว่าถ้าเขาแปลว่าพจนานุกรมได้ ทำไมเราจะใช้ว่าพจนานุกรมบ้างไม่ได้…ผมไปซื้อ Dictionary History of India มาเล่มหนึ่ง ใช้คำว่า dictionary พูดถึงพระเจ้าอัคบาร์ ๓-๔ หน้าเลย เขายังใช้คำว่า dictionary ผมก็ว่าเอาอย่างนั้นแหละ แต่มันอาจจะผิดจากที่ราชบัณฑิตย์กำหนดเอาไว้ แต่ช่างมันเถอะผมจะขออนุญาตใช้” (หัวเราะ)

เมื่อถามว่าแล้วเราจะได้เห็นหนังสือเล่มนี้เมื่อไร อาจารย์ ส. พลายน้อย ตอบว่า “ยังไม่รู้เลย รวบรวมไปพอสมควร ก็พยายามจะรีบล่ะ อยากจะทำเป็นอนุสรณ์ก่อนตาย รู้สึกว่ามันจะใกล้เต็มทีแล้ว อายุวัยเรา ขัยมันจะบอก กาลเวลาที่เราจะต้องจากไป เวลาดูโทรทัศน์เย็นๆ เขาขึ้นเมรุ (ข่าวงานศพต่างๆ) เขามีประวัติอ่านนะ อย่างเก่ง ๙๖ ปี” (หัวเราะ)

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กรกฎาคม 2565