ประกาศกระทรวงศึกษาธิการเมื่อปี พ.ศ. 2504 ห้ามมิให้ “ครูสตรี” ประกวดนางงาม!!!

การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของ “คณะราษฎร” ต้องการปรับปรุงประเทศและเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ทันสมัย จึงได้ออกนโยบายพัฒนาประเทศที่เรียกว่า “หลัก 6 ประการ” ประกอบด้วย เอกราช, ความปลอดภัย, เศรษฐกิจ, เสมอภาค, เสรีภาพ และการศึกษา

ซึ่งประเด็นความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิสตรีถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่คณะราษฎรต้องการผลักดันให้สอดรับกับรูปแบบของการปกครองใหม่ จึงเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีสิทธิ์เลือกตั้งผู้แทนราษฎร รวมถึงเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้พวกเธอสามารถสมัครเข้าร่วมชิงตำแหน่งในทางการเมืองได้ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ผู้หญิงทุกชนชั้นก้าวสู่การเป็น “สตรียุคใหม่” ที่ทันสมัยผ่านการศึกษาในระบบโรงเรียน อีกทั้งยังสามารถออกไปประกอบอาชีพนอกบ้าน เช่น ครู, พยาบาล, เลขานุการ ฯลฯ ได้อย่างเท่าเทียมกับบุรุษ 

Advertisement

ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องการสร้างความรับรู้ ความเข้าใจ และเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของระบอบประชาธิปไตย รวมถึงนโยบายต่าง ๆ ที่มีส่วนสนับสนุนในการสร้างชาติให้ทันสมัย จึงได้มีการจัด “งานฉลองรัฐธรรมนูญ” ขึ้นพร้อมเพรียงกันทั่วทั้งประเทศในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี โดยหวังจะใช้งานรื่นเริงนี้ดึงดูดให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมที่สอดแทรกไปด้วยเนื้อหาอันเป็นประโยชน์แก่รัฐบาลภายใต้รูปแบบความบันเทิง กระทั่งในปี พ.ศ. 2477 ได้มีการเพิ่มกิจกรรมการประกวด “นางสาวสยาม” เพื่อเพิ่มความครึกครื้นให้แก่งาน และนับเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการประกวดนางงามระดับชาติให้เกิดขึ้นครั้งแรกในสังคมไทย ซึ่งในอีกด้านหนึ่งรัฐบาลต้องการใช้กิจกรรมดังกล่าวมาเฟ้นหาตัวแทนผู้หญิงไทยเพื่อเป็นต้นแบบของการบำรุงสุขภาพอนามัย, ความงาม, การศึกษา ตลอดจนกริยามารยาท ฯลฯ    

ห้ามไม่ให้ “นักเรียนหญิง” ประกวดนางงาม!!!

ในช่วงแรกของการก่อร่างสร้างรัฐประชาธิปไตย การประกวดนางงามซึ่งเป็นกิจกรรมที่กำลังเป็นที่นิยมในโลกตะวันตก แต่ในสังคมไทยนั้นถือเป็นเรื่องใหม่ จนนำไปสู่ปัญหาตามมาคือ การประกวดนางงามระดับชาติและนางงามประจำจังหวัดมีผู้เข้าร่วมการประกวดน้อยหรือบางแห่งกลับพบว่าไม่มีผู้มาสมัครเลยสักคน เนื่องจากหญิงไทยยุคนั้นไม่กล้าประพฤติตนขัดต่อจารีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่านิยมการเป็นกุลสตรีไทยที่เน้นในเรื่องการรักนวลสงวนตัว กิจกรรมการประกวดนางงามที่มักจะจัดขึ้นในตอนกลางคืน รวมถึงการที่ผู้เข้าประกวดทุกคนจะต้องแต่งหน้าทาปากออกมาเดินโชว์ตัวบนเวทีให้คณะกรรมการตัดสิน ซึ่งแน่นอนว่ารูปแบบการประกวดดังกล่าวขัดต่อค่านิยมของไทยอย่างชัดเจน ที่สตรีชั้นดีจะไม่นิยมเดินอวดโฉมแสดงตัวตามที่สาธารณะในยามค่ำคืน เพราะเสี่ยงที่จะถูกกล่าวหาได้ว่าเป็นผู้หญิงเสเพล

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงต้องแก้ไขสถานการณ์โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ทำหน้าที่ตรวจตราคุณสมบัติผู้สมัครเพื่อป้องกันสตรีมีอาชีพเข้ามาปะปนและช่วยปกป้องชื่อเสียงของผู้เข้าร่วมการประกวดไม่เป็นในทางที่เสื่อมเสีย พร้อมกันนี้รัฐบาลยังได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยส่งหนังสือขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ ให้ช่วยทำหน้าที่เป็นแมวมองเสาะหาสาวงามส่งเข้าร่วมการประกวด สะท้อนผ่านวาทกรรมที่ว่า “ประกวดนางงามเพื่อชาติ”

นอกจากนี้ รัฐบาลได้เร่งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์โดยมุ่งเน้นอธิบายว่าการประกวดนางงามมีความสำคัญอย่างไร เหตุใดในต่างประเทศจึงเป็นที่นิยม รวมถึงแนวคิดต่าง ๆ ที่รัฐบาลไทยนำกิจกรรมนี้มาเป็นสัญลักษณ์ของการสร้างตัวแทนผู้หญิงสมัยใหม่ที่อุทิศตนเพื่อส่วนรวม

ประกอบกับภาพลักษณ์ของสตรีไทยในยุคนั้นที่ประกอบอาชีพเป็นครูได้รับการยกย่องจากสังคมว่าเป็นผู้ที่มีความรู้และเป็นผู้นำที่ทันสมัยในด้านต่าง ๆ จึงทำให้พบว่ามีนางงามจำนวนไม่น้อยที่ประกอบอาชีพเป็นครูมาก่อน อาทิ “กันยา เทียนสว่าง” นางสาวสยาม พ.ศ. 2477 เป็นครูที่โรงเรียนประชาบาลทารกานุเคราะห์, “ยินดี มกติ” ครูสาวจากโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้ครองตำแหน่งนางสาวนครศรีธรรมราชคนแรกในปี พ.ศ. 2479 หรือกรณีของ “เรณู พิบูลภานุวัธน์” รองนางสาวไทย พ.ศ. 2491 ก็เป็นครูจากโรงเรียนสตรีวรนาถ เป็นต้น

การประกวดนางงามเนื่องในวันรัฐธรรมนูญที่จังหวัดหนองคาย เมื่อ พ.ศ. 2480 ด้านหลังจะเห็นรัฐธรรมนูญฉบับจำลองกลางปะรำพิธี (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

อย่างไรก็ดี ช่วงต้นทศวรรษ 2480 เป็นต้นมา การประกวดนางงามเริ่มเป็นที่ยอมรับและแพร่หลายในสังคมไทย แต่กระนั้นจำนวนผู้เข้าประกวดนางสาวสยามยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของรัฐบาล ด้วยเหตุนี้ในการประชุมคณะกรรมการผู้จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญครานั้น “พลเอก หลวงเชวงศักดิ์สงคราม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้รับผิดชอบจัดการประกวดนางงามประจำชาติได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุม ขออนุญาตให้เด็กนักเรียนหญิงเข้าร่วมประกวดนางงามตามกฎเกณฑ์คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประกวด ที่กำหนดไว้ว่า จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เข้าแข่งขันประกวดประกวดนางงาม

แต่กระนั้น “พลเรือเอก สินธุ์ กมลนาวิน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) ได้คัดค้านข้อเสนอนี้ เพราะมองว่าการประกวดนางงามนั้น มีการเสริมความงามด้วยการแต่งหน้าทาปาก หากเด็กสาวเหล่านี้ต้องมาผัดหน้าขาว ทาปากแดง และสวมชุดรัดรูปเพื่อโชว์สัดส่วนเห็นทีจะไม่เป็นการเหมาะสมกับวัยเท่าใดนัก จึงห้ามมิให้นักเรียนสตรีเข้าร่วมการประกวดนางงาม  

ในการประกวดนางสาวไทย พ.ศ. 2497 อันเป็นปีสุดท้ายก่อนที่จะถูกยกเลิกไปด้วยเหตุผลทางการเมือง ข้อห้ามที่มิให้เด็กนักเรียนหญิงเข้าประกวดนางงามยังคงถูกใช้เรื่อยมา สะท้อนได้จากบทสัมภาษณ์ของ “วณี เลาหเกียรติ” อดีตนางสาวสยาม พ.ศ. 2478 ที่แสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้โดยเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการปลดล็อคข้อห้ามดังกล่าวไว้ว่า “เรื่องการประกวดนางสาวไทย ดิฉันมีความเห็นว่า ตราบใดที่กระทรวงศึกษาฯ ยังไม่ร่วมมือด้วยแล้ว ก็จะหาสาวสวยจริง ๆ ได้ยาก เพราะที่สังเกตเห็นเด็ก ๆ นักเรียนเตรียมสวย ๆ น่ารักมีเยอะ”

เมื่อ “คุณครู” ถูกห้ามประกวดนางงาม!!!

สืบเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองที่คุกรุ่นเรื่อยมาในการแย่งชิงอำนาจตั้งแต่ทศวรรษ 2490 ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2500 “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถือเป็นจุดสิ้นสุดการบริหารประเทศของอดีตสมาชิกคณะราษฎร ดังนั้น รัฐบาลชุดใหม่จึงได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อที่จะตัดขาดอุดมการณ์ทางการเมืองจากระบอบอำนาจเดิม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “การยกเลิกงานฉลองรัฐธรรมนูญ” เมื่องานดังกล่าวถูกยกเลิกส่งผลให้การประกวดนางสาวไทยต้องถูกยกเลิกลงไปด้วย แต่ทว่าในต่างจังหวัดยังคงมีการจัดงานต่อไป เพียงแต่เปลี่ยนชื่อจากงานฉลองรัฐธรรมนูญมาเป็น “งานกาชาด” หรือ “งานฤดูหนาว” และยังคงจัดให้มีการประกวดนางงามตามเดิม

การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 มิได้เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเท่านั้น แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของวงการนางงามครั้งสำคัญ กล่าวคือ ก่อนทศวรรษ 2500 คณะราษฎรได้พยายามส่งเสริมในประเด็นเรื่องของความเท่าเทียม และสิทธิสตรี พร้อมทั้งสถาปนาให้นางงามเป็นเสมือน “ผู้หญิงของชาติ” ที่เปี่ยมไปด้วยเกียรติยศและศักดิ์ศรี เป็นแกนนำสตรีดำรงตนเป็นประโยชน์เพื่อชาติ

พิศมัย โชติวุฒิ นางสาวสยาม พ.ศ. 2481 ถือถ้วยรางวัลที่เป็นขันน้ำพานรอง (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2549)

ทว่าภาพจำเหล่านี้กลับถูกลบเลือนลงไปในยุคที่ “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” ขึ้นมาเป็นผู้นำบริหารประเทศ การประกวดนางงามได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมว่าเป็น “สถาบันที่เฟ้นหาสาวงามเพื่อมาบำเรอผู้มีอำนาจทางการเมือง” เนื่องจากเกิดเรื่องอื้อฉาวมากมายที่ว่า นางงามส่วนหนึ่งได้กลายมาเป็น “อนุภรรยา” ของผู้มีอำนาจทางการเมืองท่านหนึ่ง โดยพวกเธอจะได้รับการอุปการะเลี้ยงดูอย่างดีโดยได้รับเงินเดือนก้อนโต บ้านหลังใหญ่ 1 หลัง รถยนต์ เทานุส 1 คัน แหวนเพชร นาฬิกา เครื่องประดับต่าง ๆ ตลอดจนทหารรับใช้ไว้คอยติดตาม  

เมื่อภาพลักษณ์ของนางงามในยุคนั้นได้ถูกสังคมตีตราในด้านลบ ขณะที่อาชีพครูได้ถูกยกให้มีบทบาทเป็นเสมือนแม่พิมพ์ของชาติ ซึ่งมีกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่กำหนดให้ต้องทำหน้าที่เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ผู้เรียน ชุมชน และสังคม สิ่งเหล่านี้ล้วนขัดต่อรูปแบบของการประกวดนางงาม ที่ผู้เข้าประกวดต้องสวมใส่ชุดเปิดเผยเรือนร่าง รวมถึงใช้เครื่องสำอางแต่งแต้มสีสันบนใบหน้าเพื่อเสริมความงาม จึงทำให้อาชีพ “ครู” กับภาพลักษณ์ของการเป็น “นางงาม” ต้องขาดสะบั้นลง เพื่อธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของวิชาชีพและเพื่อป้องกันเรื่องเสื่อมเสียต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ดังนั้นในปี พ.ศ. 2504 กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ออกประกาศตามหนังสือที่ ศธ.1422/2504 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 ห้ามมิให้ข้าราชการครูเข้าร่วมกิจกรรมการประกวดนางงาม ดังปรากฏเป็นข้อความต่อไปนี้

“กระทรวงศึกษาธิการไม่อนุญาตให้ครูสตรีเข้าประกวดนางงาม ตลอดจนการประกวด หรือแสดงแบบเครื่องเครื่องแต่งกายสตรี ไม่ว่าการประกวดนั้นจะเรียกชื่ออย่างไร และผู้ใดเป็นผู้จัด หากฝ่าฝืนอาจได้รับการพิจารณาลงโทษถึงให้ออกจากราชการ”

ความกังวลดังกล่าวมิเพียงปรากฏอยู่ในแค่ประกาศของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น เรื่องเสื่อมเสียที่เกิดขึ้นในวงการนางงามได้ถูกพยายามฟื้นฟูแก้ไขในทางที่ดีอีกครั้ง ภายหลังที่จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2506 รัฐบาลชุดต่อมาภายใต้การนำของ “จอมพลถนอม กิตติขจร” ได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศสานต่อในการเป็นมหามิตรที่ดีกับสหรัฐอเมริกาท่ามกลางบริบทของสงครามเย็น ขณะเดียวกันทุนตะวันตกได้โหมเข้ามาตีตลาดเศรษฐกิจไทย พร้อมกันนี้บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันผู้ดำเนินการจัดประกวด “นางงามจักรวาล” (Miss Universe) ได้มาติดต่อรัฐบาลไทยให้ร่วมส่งตัวแทนสาวงามจากประเทศไทยเข้าร่วมประกวด ประกอบกับรัฐบาลเห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวและเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศไทยในเวทีนานาชาติอีกทางหนึ่ง จึงได้มีแนวคิดที่เฟ้นหาตัวแทนผู้หญิงไทยเข้าร่วมประกวดที่สหรัฐอเมริกา

ด้วยเหตุที่ “พลเอกประภาส จารุเสถียร” (ยศในขณะนั้น) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทั้งยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธฯ ได้เสนอให้ใช้การประกวดนางงามวชิราวุธฯ เป็นเวทีที่ใช้คัดเลือกตัวแทนผู้หญิงไทยไปประกวดนางงามจักรวาล พร้อมกันนี้ได้เปลี่ยนชื่อการประกวดมาเป็นนางสาวไทยเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ดังกล่าวและเพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของสตรีไทย การประกวดนางสาวไทยจึงถูกฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2507 ดังปรากฏในความตอนหนึ่งว่า

“นางสาวไทยที่ได้รับคัดเลือกแต่ต้นมา ไม่เคยทำความเสียหายด่างพร้อยแก่สตรีไทย แต่งงานเป็นหลักเป็นฐาน และทำราชการได้ดิบได้ดีทั้งนั้น แต่เมื่อมีการใช้ชื่ออื่น เช่น เทพีนั่น เทพีนี่ ก็ถูกชักจูงให้เสียหาย แม้แต่ไปเป็นเมียน้อยเขาก็มากมาย แต่ถ้าหากใช้ชื่อนางสาวไทย อย่างน้อยก็ทำให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกรู้จักรักษาชื่อเสียงตัวเอง…การประกวดปีนี้จะได้คำนึงถึงพื้นเพเดิม และการศึกษาพอสมควร”

การจัดประกวดนางสาวไทยครั้งนี้ต้องการลบล้างภาพความเสื่อมเสียที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ และเพื่อสร้างความยอมรับให้กับสังคมเหมือนครายุคก่อนทศวรรษ 2500 อีกครั้ง จึงทำให้มีการเพิ่มกฎเกณฑ์กติกาต่าง ๆ มากมาย สะท้อนได้เนื้อหาจากการนำเสนอข่าวของ “หนังสือพิมพ์ชาวไทย” ดังนี้

“…การประกวดปีนี้คณะกรรมการได้วางหลักเกณฑ์ต่าง ๆ รัดกุมขึ้นกว่าเดิม เพื่อรักษาชื่อเสียงของการเป็นนางสาวไทย โดยต้องเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ขึ้นไป ต้องไม่มีอาชีพและความประพฤติเป็นที่รังเกียจของสังคม ต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 16 ปี และไม่เกิน 25 ปี และห้ามแต่งงานจนกว่าจะมีนางสาวไทยคนใหม่”

ผู้ได้ครองมงกุฎนางสาวไทย พ.ศ. 2507 ได้แก่ “อาภัสรา  หงสกุล” นักเรียนสาวจากโรงเรียนปีนัง คอนแวนต์ เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย ที่ภายหลังไปคว้ามงกุฎนางงามจักรวาลคนแรกของไทยในปี พ.ศ. 2508 ถึงแม้ชัยชนะครั้งนี้จะช่วยสร้างกระแสความนิยมนางงามและช่วยกอบกู้ภาพลักษณ์ของการประกวดในทางที่ดีอีกครั้ง แต่ถึงกระนั้นการประกวดนางสาวไทยก็จัดต่อได้เพียง 7 ปี เนื่องจากถูกต่อต้านอย่างหนักจากขบวนการนิสิตนักศึกษาในช่วงทศวรรษ 2510 ท่ามกลางกระแสผู้คนต่อต้านความโสมมของเผด็จการทหารที่กุมอำนาจบริหารประเทศมาอย่างยาวนาน พร้อมทั้งต่อต้านอิทธิพลของสหรัฐฯในภูมิภาคนี้ อันเห็นได้ชัดจากการตั้งฐานทัพในประเทศไทยจากการสนับสนุนของรัฐบาล

อาภัสรา หงสกุล รับตำแหน่งนางงามจักรวาล และรองทั้ง 4 คน

ขณะเดียวกันกระแสสตรีนิยมได้เข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในกลุ่มนักศึกษาปัญญาชนผู้หญิง อันสะท้อนแนวคิดเสรีภาพและความเสมอภาคของสตรี การสร้างค่านิยมและภาพพจน์ของสตรียุคใหม่จึงมุ่งเน้นไปที่สติปัญญามากกว่าเรือนร่าง

เมื่อเหล่าปัญญาชนมองว่า การประกวดนางงามเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการกดขี่ทางเพศภายใต้สังคมปิตาธิปไตยและการแสวงหาผลกำไรจากเรือนร่างของผู้หญิงโดยกลุ่มนายทุน อีกทั้งภาพความทรงจำในสังคมที่ยังหลงเหลืออยู่ในทางที่เสื่อมเสียจากยุคของจอมพลสฤษดิ์ ตลอดจนเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ช่วงสงครามเย็นในยุครัฐบาลจอมพลถนอม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้สังคมมองว่าการประกวดนางงามเป็นผลผลิตจากเผด็จการทหาร จึงส่งผลให้การประกวดนางงามในสังคมไทยทั้งระดับชาติและในท้องถิ่นจำต้องยุติไปเป็นระยะเวลา 10 กว่าปี

 


อ้างอิง :

ธนสรณ์ สุมังคละกุล. การเปลี่ยนแปลงบทบาทของนางสาวไทย พ.ศ. 2477-2542. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ. 2562.

โดม แดนไทย, นามแฝง. จอมพลของคุณหนูๆ. พระนคร : จักรวาลการพิมพ์. 2507.

สุพัตรา กอบกิจสุขสกุล. การประกวดนางสาวไทย (พ.ศ. 2477-2530). วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2531.

อรสม สุทธิสาคร. ดอกไม้ของชาติ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์รวมทรรศน์. 2533.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กรกฎาคม 2565