“Islamophobia”-“โรคเกลียดกลัวอิสลาม” มรดกจากสงครามเย็น

โศกนาฏกรรม 11 กันยายน พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001) เครื่องบินสองลำพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา (Photo by SETH MCALLISTER / AFP)

ภายหลังสงครามเย็นกระแสและค่านิยมของประชาธิปไตยได้เคลื่อนออกไปยังประเทศต่างๆ ที่มีตัวตนทางวัฒนธรรมต่างกัน (A civilization is a cultural entity) เช่น อารยธรรมขงจื๊อ (Confucian) อารยธรรมอิสลาม (Islamic) อารยธรรมฮินดู (Hindu) อารยธรรมแอฟริกา (Africa) เป็นต้น จึงเป็นผลทำให้เกิดกระแสชาตินิยมต่อต้านวัฒนธรรมตะวันตกที่หวังมาแสวงหาผลประโยชน์ โดยเฉพาะประเทศในตะวันออกกลางที่อุดมไปด้วยแหล่งพลังงานสำคัญที่ชาติตะวันตกต้องการ

จึงทำให้ชาติตะวันตกผลัดกันเข้ามาครอบงำการเมืองและเศรษฐกิจในตะวันออกลาง ซึ่งวัฒนธรรมตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศตะวันออกกลางมีความแตกต่างทั้งวิธีคิด วิถีชีวิต ความเชื่อ ศาสนา เป็นผลให้เกิด ขบวนการต่อต้านตะวันตก” (westoxication) อย่างแข็งขัน โดยประกาศตัวไม่ยอมรับวัฒนธรรมจากตะวันตกให้มีอิทธิพลเหนือสังคม การเมือง และจริยธรรมเหนือท้องถิ่นของตน

ในขณะเดียวกันชาวตะวันตกก็ได้เกิดแนวคิดเรื่อง ภัยคุกคามจากอิสลาม” (Islamic threat) ได้กระจายไปวงกว้างในตะวันตกถึงภาพประเทศกลุ่มอิสลามเป็นแหล่งสะสมนิวเคลียร์เป็นแหล่งก่อการร้ายและเป็นผู้อพยพที่ชาวตะวันตกไม่ต้องการ

ความขัดแย้งทางอารยธรรมได้ก่อรูปและระเบิดขึ้นด้วยการท้าทายผู้จัดระเบียบโลกอย่างสหรัฐอเมริกาในเหตุการณ์ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 ซึ่งได้ทำให้เกิดความปั่นป่วนในการจัดระเบียบโลกใหม่ ภายหลังเหตุการณ์จึงนับได้ว่าเป็นหมุดหมายใหม่ในการศึกษาประวัติศาสตร์สมัยใหม่

เหตุการณ์ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 เกิดขึ้นเมื่อเครื่องบินพาณิชย์ 4 ลำ ถูกผู้ก่อการร้ายจี้ซึ่ง 2 ลำได้พุ่งเข้าชนตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ (World Trade Center) ในกรุงนิวยอร์ก อีกลำพุ่งเข้าชนเพนตากอน (The Pentagon) ที่ทำการของกระทรวงกลาโหม ซึ่งการทำลายตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ ศูนย์กลางของการเงิน การตลาด ธนาคาร และตลาดหุ้น สะท้อนเห็นให้ถึงการท้าทายของอำนาจของทุนนิยมภายใต้มหาอำนาจตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ส่วนการพุ่งชนตึกเพนตากอนก็เปรียบเสมือนการท้าทายความเป็นเจ้าของสหรัฐอเมริกา เป็นผลให้สหรัฐอเมริกาประกาศทำ “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย”

โดยที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะรณรงค์ปราบปรามการก่อการร้ายข้ามชาติอย่างไม่หยุดยั้งทั่วโลก ทำให้สหรัฐอเมริกาปรับเปลี่ยนบทบาททางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยทันที ซึ่งการปรับนโยบายของมหาอำนาจผู้จัดระเบียบของโลกได้ทำให้สภาวะทางการเมืองของโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก เปรียบเสมือนคลื่นโลกใหญ่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก

โลกหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 ได้ทำให้สหรัฐอเมริกาปรับท่าที่นโยบายโดยเน้นอำนาจที่เรียกว่า “hard power” มากกว่าเดิม คือการใช้อำนาจทางการทหารในการที่จะรักษาความเป็นเจ้า (hegemony) เพราะเหตุการณ์ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 เป็นการสั่นคลอนความเป็นเจ้าของสหรัฐอเมริกาอย่างมาก และการใช้อำนาจทางการทหารที่เพิ่มมากขึ้นยิ่งทำให้ความชอบธรรมทางการเมืองของสหรัฐอเมริกายิ่งลดถอยลง เกิดกระแสการต่อต้าน โดยเฉพาะประเทศที่มีทรัพยากรและกำลังคนพร้อมที่จะเข้าไปมีส่วนรวมในการจัดระเบียบโลกเพื่อถ่วงดุลกับสหรัฐอเมริกาเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

เพราะเหตุการณ์ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 ทำให้ประเทศต่างๆ เชื่อมั่นว่าสหรัฐอเมริกาสามารถถูกท้าทายได้เสมอ เห็นได้จากการเกิดแนวร่วมการต่อต้านความเป็นเจ้า (hegemony) ของสหรัฐอเมริกา เช่น กลุ่มอิสลามร่วมมือกันมากขึ้น จีนกับรัสเซีย จีนกับอินเดีย สหภาพยุโรปรวมตัวกันมากขึ้น หรือการพยายามสร้าง “สามเหลี่ยมยุทธศาสตร์” (Strategic Triangle) ระหว่างจีน รัสเซีย อินเดีย เพื่อต่อต้านและถ่วงดุลสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ความขัดแย้งทางอารยธรรมของโลกหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 ได้ถูกขับเน้นและขยายวงกว้างออกไปมากกว่าจากเดิม กล่าวคือ เหตุการณ์นี้นับเป็นจุดระเบิดของความขัดแย้งของอารยธรรมตะวันตกกับอารยธรรมอิสลาม และได้สร้างผลกระทบความขัดแย้งทางอารยธรรมที่สะสมมาก่อนหน้านี้ยิ่งถูกขับเน้นให้ออกมาเป็นรูปธรรมมากขึ้น กล่าวคืออารยธรรมตะวันตกโดยเฉพาะผู้นำอย่างสหรัฐอเมริกากลับหันมาตระหนักในการรักษาอำนาจทางเศรษฐกิจและทางทหารเพื่อปกป้องผลประโยชน์ตนเองมากขึ้น หรืออาจเรียกว่าแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างเช่น การทำสงครามอัฟกานิสถานเพื่อตอบโต้ชาวมุสลิมและเป็นการแสดงถึงอำนาจของสหรัฐอเมริกาให้ทั่วโลกได้ประจักษ์ถึงว่ายังคงเป็นประเทศมหาอำนาจที่ยังมีศักยภาพในการรบอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นกำลังคน กำลังอาวุธ และกำลังเงินที่ใช้ในการทำสงคราม หรือ ชาวอเมริกันมองการลงทุนของชาวแคนนาดาและยุโรปด้วยสายตาที่เป็นมิตรมากกว่าการลงทุนของชาวเอเชีย เป็นต้น และสิ่งที่เด่นชัดหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 คือ “โรคหวาดกลัวอิสลาม”

Islamophobia หรือ โรคเกลียดกลัวอิสลามเป็นความหมายที่ให้ความหมายอิสลามและมุสลิมไปในทางอคติและรังเกียจ กล่าวคือหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 ได้ทำให้ศาสนาอิสลามถูกเชื่อมโยงกับการก่อการร้ายและความรุนแรง ซึ่งนำไปสู่การเหยียดเชื้อชาติ การพิมพ์เผยแพร่ในช่องทางต่างๆ เพื่อต่อต้านศาสนาอิสลามกระจายออกไปทั่วโลกจนถึงในปัจจุบัน รวมทั้งการเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิมในประเทศตนเองโดยเฉพาะชาวตะวันตก อาทิ ประเทศอิตาลี ผ่านกฎหมายต่อต้านการสร้างมัสยิด หรือประเทศเดนมาร์กประกาศช่วยเหลือและสนับสนุนชาวมุสลิมที่ต้องการละทิ้งศาสนาอิสลาม เป็นต้น

ซึ่งนับว่าเป็นผลกระทบครั้งใหญ่ต่อชาวมุสลิมและคนที่ไม่ใช่มุสลิมหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 ในการอยู่รวมในเหตุการณ์ความขัดแย้งของอารยธรรม ฉะนั้น เหตุการณ์ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 จึงเป็นหมุดหมายสำคัญในการศึกษาถึงความขัดแย้งทางอารยธรรมในยุคสมัยใหม่

 


อ้างอิง :

จรัญ มะลูลีม, Islamophobia : เรียนรู้ ลบเลือนความหวาดระแวง (กรุงเทพฯ : มติชน, 2559)

ธีรภัท ชัยพิพัฒน์, การเมืองระหว่างประเทศ (กรุงเทพฯ : มิสเตอร์ก๊อปปี้, 2556)

ประภัสสร์ เทพชาตรี, โลกในยุคหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ และปัญหาการก่อการร้ายสากล, รัฐศาสตร์สาร 27,1 (2549)

ธีรภัท ชัยพิพัฒน์, การเมืองระหว่างประเทศ (กรุงเทพฯ : มิสเตอร์ก๊อปปี้, 2556)

เพียงแข พงษ์ศิริบัญญัติ, เอกสารประกอบคำสอนรายวิชาเหตุการณ์โลกปัจจุบัน (Contemporary World Affair) (สงขลา : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา, 2548)

สุกัญญา เอมอิ่มธรรม, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมสมัย (ขอนแก่น : สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2559)

พวงทอง ภวัครพันธุ์, 9/11 สิทธิมนุษยชนกับสงครามก่อการร้าย (กรุงเทพฯ : คบไฟ, 2548)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กรกฎาคม 2565