เรื่องเพศสมัยกรุงเก่า “รับจ้างทําชําเราแก่บุรุษ”

ภาพจิตกรรมภายในพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์ฯ (ภาพจาก ธัชชัย ยอดพิชัย)

ผู้หญิงกับผู้ชายชาวสยามสมัยโบราณ มีวิถีชีวิตอย่างไร? เป็นเรื่องน่าสนใจ

แต่หาหลักฐานยาก เพราะไม่ค่อยมีบันทึก ถึงจะมีก็น้อย เพราะฉะนั้นก็เดาๆ กันไปตามความเข้าใจของแต่ละคน

หลักฐานที่น่าสนใจชุดหนึ่งอยู่ในหนังสือจดหมายเหตุลาลูแบร์ (ฉบับแปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร)

แต่ก็มีไม่มากนักและมักเป็นเรื่องผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย วิถีชีวิตของผู้ชายคงไม่น่าสนใจเท่าผู้หญิง ลาลูแบร์จึงมีเรื่องผู้หญิงมากกว่า ส่วนเรื่องผู้ชายจะมีมากตอนบวชเป็นพระ แต่นั่นก็เป็นประเด็นทางศาสนามากกว่าจะเป็นวิถีชีวิตผู้ชาย

ลาลูแบร์เป็นอัครราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศสที่เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นี่เท่ากับเป็นชนชั้นสูง มองเรื่องต่างๆ ด้วยสายตาของชนชั้นสูงฝรั่งเศสที่มีขนบธรรมเนียมและประเพณีของชาวยุโรปกำกับอยู่ด้วย

ฉะนั้น ลาลูแบร์จึงเห็นว่า การอยู่กินด้วยกันของผู้หญิงกับผู้ชายโดยไม่มีพิธีแต่งงาน เป็นเรื่องน่าละอาย แต่ในสังคมชาวสยามระดับสามัญชนแล้วเป็นเรื่องธรรมดาๆ ดังนี้

“การสมสู่อยู่กินด้วยกันอย่างเสรีโดยมิได้ประกอบพิธีแต่งงานนั้น ไม่เป็นสิ่งที่น่าอัปยศ โดยเฉพาะในหมู่ราษฎรสามัญ เขาถือว่าเมื่อได้สมสู่อยู่กินด้วยกันแล้ว ก็เสมือนว่าได้แต่งงานกัน และถ้าเกิดความไม่ปรองดองกันขึ้น ต่างฝ่ายต่างก็แยกทางกันไป ก็มีผลเท่ากับการหย่าร้างกันไปในตัวนั่นแล”

ฟังน้ำเสียงของลาลูแบร์แล้วเหมือนจะเหยียดๆ ราษฎรสามัญชาวสยามยุคนั้นอยู่ในที ทำราวกับว่าชนชั้นสูงไม่ได้ทำอย่างนี้

ลาลูแบร์เห็นอีกว่า “หญิงชาวสยามก็ทะนงตนมากพอที่จะไม่ยอมทอดเนื้อทอดตัวให้แก่คนต่างประเทศโดยง่าย หรืออย่างน้อยก็ไม่เจรจาวิสาสะด้วย” ตรงนี้พอเข้าใจได้ เพราะนอกจากขนบธรรมเนียมและประเพณีแล้ว ดูเหมือนชาวสยามจะกลัวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวยุโรปด้วยซ้ำไป เพราะชาวยุโรปผิวขาว ฟันก็ขาว เหมือนฟันหมา น่ากลัวออกจะตายไป

ที่สำคัญคือพูดกันไม่รู้เรื่อง ถ้าพูดกันรู้เรื่องบ้างก็คงไม่น่ากลัวนัก

แต่เรื่องนี้สาวมอญไม่กลัว ลาลูแบร์จดว่า

“หญิงชาวพะโคที่อยู่ในประเทศสยาม ซึ่งตนเองก็เป็นคนต่างประเทศอยู่แล้ว ยังติดต่อกับคนต่างประเทศด้วยกันมากกว่า (หญิงชาวสยาม) จึงถือกันว่าเป็นหญิงแพศยา ในทัศนะของบุคคลที่ไม่เล็งเห็นว่านางปรารถนาที่จะหาสามีสักคนหนึ่ง ด้วยประการฉะนี้ นาง (หญิงชาวพะโค) จึงมีความซื่อตรงต่อสามีจนกว่าเขาจะทอดทิ้งนางไป และเมื่อนางตั้งครรภ์ขึ้น ก็มิได้รับการดูหมิ่นถิ่นแคลน จากชาวพะโคด้วยกันแต่ประการใด นางกลับภูมิใจเสียอีกที่ได้สามีเป็นคนผิวขาว”

ในพระนครศรีอยุธยายุคนั้น มีชาวต่างชาติมาอยู่มากมาย ยกเว้นฝรั่งชาวยุโรปเสียแล้ว คนเหล่านั้นก็นับเป็น “ชาวสยาม” นั่นแหละ โดยเฉพาะพวกแขก มอญ ลาว น่าจะมีมากกว่าพวกอื่นๆ

ลาวนั้นยกไว้ ถือเป็นญาติสนิท แต่แขกกับมอญเป็นเครือญาติห่างออกไป เพราะพูดกันคนละภาษา ทำให้พวกแขกกับมอญ ต้องรวมกลุ่มอยู่เฉพาะพวกของตนต่างหากออกไป และประกอบอาชีพที่พวกอื่นดูถูก เช่นอาชีพปั้นหม้อ เป็นต้น

เมื่ออยู่ในฐานะต่ำต้อยอยู่แล้ว การจะมีผัวฝรั่งชาวยุโรปแล้วถูกประณามว่า “หญิงแพศยา” ก็ไม่น่าเสียหาย เพราะมีแต่พวกภาษาอื่นเท่านั้นที่ดูถูก เช่นพวกไทย ลาว ฯลฯ แต่พวกเดียวกันเองไม่ได้ดูถูก ตรงข้ามกลับจะเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจด้วยซ้ำไปที่มีฐานะดีขึ้น

สมัยต้นกรุงเทพฯ นี้เอง ฝรั่งชาวยุโรปก็ชอบแต่งงานกับสาวมอญมากกว่าสาวไทย เพราะสาวไทยหวงตัวตามประเพณีผู้ดี และยังนับถือผีของตนอย่างเหนียวแน่น แต่สาวมอญถูกเหยียดหยามอยู่แล้ว จึงไม่รังเกียจที่จะแต่งงานกับฝรั่ง กลับจะเป็นเรื่องดีเสียอีกที่มีความเป็นอยู่ดีกว่าเดิม

เรื่องอย่างนี้จะว่าอย่างไหนดีหรือไม่ดีไม่ได้ ดูแต่เมื่อสงครามเวียดนามที่ผ่านมาเถิด เมื่อมีทหารอเมริกันมาตั้งฐานทัพอยู่ในเมืองไทย พวกสาวไทยจำนวนไม่น้อยเป็น “เมียเช่า” ทหารอเมริกันออกถมถืดไป ตอนแรกๆ ก็ด่ากันพึม ตอนหลังไม่เห็นด่า กลับได้ลูกชายลูกสาวมาเป็นดารา นักร้อง นางแบบ สร้างรายได้ดีเสียอีก

แต่ที่ลาลูแบร์บอกอีกตอนหนึ่งว่า เหตุที่สาวมอญเมืองพะโคนิยมแต่งงานกับฝรั่งชาวยุโรปนั้น “อาจเป็นเพราะหญิงชาวพะโคมีอารมณ์รักเหนือกว่าหญิงชาวสยามกระมัง และอย่างน้อยที่สุดนางก็มีความรู้สึกแรงกล้ามากกว่าเป็นแน่”

ตรงนี้เห็นจะไม่จริง

ลาลูแบร์คิดสัปดนมากไปตามคำนินทาสาวมอญที่มีมานานนักหนาว่า “มอญขวาง” หมายถึงอวัยวะเพศของสาวมอญไม่ตั้งตรง เหมือนสาวอื่นทั่วไป แต่ขวาง ดังกลอนนิราศวัดเจ้าฟ้า ของสุนทรภู่ ที่ทักสาวมอญสามโคก เมืองปทุมธานี ว่า

ฝ่ายสาวสาวเกล้ามวยสวยสะอาด   แต่ขยาดอยู่ว่านุ่งผ้าถุง

ทั้งห่มผ้าตาหรี่เหมือนสีรุ้ง   ทั้งผ้านุ่งนั้นก็อ้อมลงกรอมตีน

เมื่อยกเท้าก้าวย่างสว่างแวบ   เหมือนฟ้าแลบแลผาดแทบขาดศีล

นี่หากเห็นเป็นเด็กแม้นเจ๊กจีน   เจียนจะปีนซุ่มซ่ามไปตามนาง

ชาวบ้านนั้นปั้นอีเลิ้งใส่เพิงพะ   กระโถนกระทะอ่างโอ่งกระโถงกระถาง

เขาวานน้องร้องถามไปตามทาง   ว่าบางขวางหรือไม่ขวางที่นางมอญ

เขาเบือนหน้าว่าไม่รู้ดูเถิดเจ้า   จงถามเขาคนข้างหลังที่นั่งสอน

ไม่ตอบปากบากหน้านาวาจร   คารมมอญมิใช่เบาเหมือนชาวเมืองฯ

เห็นไหม สุนทรภู่ก็คิดสัปดน แต่ถูกสาวมอญศอกกลับจนหน้าแตกหนีไป

ทีนี้พูดถึงสาวไทยชาวสยามบ้าง ลาลูแบร์บอกว่าหญิงราษฎรสามัญมีเสรีที่จะไปไหนมาไหนก็ได้ จะมีผัวเมื่อไรก็ได้ ไม่มีใครห้าม แต่กับลูกสาวขุนนางแล้วมีข้อห้ามมากมาย มีกรอบประเพณีกำหนดกฎเกณฑ์แน่นอน ถ้าใครทำผิดจะถูกขายเข้า “ซ่อง”

แน่ะ ลงโทษกันถึงขนาดนั้น ดังนี้

“ขุนนางสยามหวงบุตรีมากเท่ากับที่หึงหวงภรรยาของตนดุจกัน และถ้าบุตรีคนใดกระทำชั่ว ขุนนางผู้บิดาก็ขายบุตรีส่งให้แก่ชายผู้หนึ่ง ซึ่งมีความชอบธรรมที่จะเกณฑ์ให้สตรีที่ตนซื้อมานั้น เป็นหญิงแพศยาหาเงินได้ โดยชายผู้มีชื่อนั้นต้องเสียเงินภาษีถวายพระมหากษัตริย์ กล่าวกันว่า ชายผู้นี้มีหญิงโสเภณีอยู่ในปกครองของตนถึง 600 นาง ล้วนแต่เป็นบุตรีขุนนางที่ขึ้นหน้าขึ้นตาทั้งนั้น อนึ่งบุคคลผู้นี้ยังรับซื้อภรรยาที่สามีขายส่งลงเป็นทาสี ด้วยโทษคบชู้สู่ชายอีกด้วย”

จะเห็นว่าเป็นลูกสาวขุนนางมีกินมีใช้สบาย แต่ไม่มีอิสระ แถมยังถูกลงโทษหนักถ้าทำผิด หรือพ่อไม่ชอบ

แต่ที่ลาลูแบร์บอกว่าเจ้าของซ่องๆ หนึ่งมีหญิงโสเภณีของตนถึง 600 คน ออกจะเป็นจำนวนเล่าลือมากกว่าจะเป็นจริง อย่าลืมว่าไม่ได้มีซ่องนี้ซ่องเดียว แต่มีซ่องอื่นๆ อีก ถ้ารวมกันทั้งหมดก็จะมีโสเภณีเป็นพันๆ คน เป็นไปได้ยังไง กองทัพสมัยนั้นจะมีคนเท่าไร ลองคิดดู แล้วโสเภณีมีมากขนาดนี้มิเป็นกองทัพหรือ

หรือมีเท่านั้นจริงๆ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันแฮะ

ลาลูแบร์บอกอีกว่า เจ้าของซ่องแห่งหนึ่งมีบรรดาศักดิ์ถึง “ออกญา” ทีเดียว ดังนี้

“บรรดาผู้ที่มีบรรดาศักดิ์สูงนั้น หาใช่เจ้าใหญ่นายโตเสมอไปไม่ เช่นเจ้ามนุษย์อัปรีย์ที่ซื้อผู้หญิงและเด็กสาวมาฝึกให้เป็นหญิงนครโสเภณีคนนั้น ก็ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นออกญา เรียกกันว่าออกญามีน (Oc-ya Meen) เป็นบุคคลที่ได้รับการดูถูกดูแคลนมากที่สุด มีแต่พวกหนุ่มลามกเท่านั้นที่ไปติดต่อด้วย”

นี่แสดงว่าขุนนางในกรุงศรีอยุธยาหารายได้พิเศษด้วยการตั้งซ่อง

ซ่องในกรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ตามตลาด เอกสารจากหอหลวงยุคปลายกรุงศรีอยุธยายังจดว่า ซ่องแห่งหนึ่งอยู่ “ตลาดบ้านจีน” ปากคลองขุนละครไชย มีศาลเจ้าจีนอยู่ท้ายตลาดด้วย เป็นตลาดใหญ่ใกล้ทางเรือและทางบก มีตึกกว้านร้านจีนมาก ขายของจีนมากกว่าของไทย

บริเวณตลาดจีนที่ว่าอยู่ปากคลองขุนละครไชย หมายถึงคลองตะเคียนที่อยู่นอกเมืองด้านทิศตะวันตก เป็นย่านจอดสินค้าที่มาจากอ่าวไทย เรียกว่าย่านท่าเรือนั่นเอง

ที่นี่ไม่ได้มีซ่องเดียว แต่มีถึง 4 ซ่อง

เอกสารจากหอหลวงใช้คำไพเราะว่า ซ่องทั้งหมดนี้…

“รับจ้างทำชำเราแก่บุรุษ”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มิถุนายน 2565