“หนู” สัตว์ที่ได้รับความเคารพจากชาวฮินดูบางกลุ่ม ถูกขึ้น “ค่าหัว” โดยหน่วยงานปกครองของมุมไบ

หนู วิหารการ์นีมาตา อินเดีย
ฝูงหนูกินอาหารที่ผู้คนนำมาให้บริเวณวิหารการ์นีมาตา ใน Deshnoke ราชาสถาน โดย Fulvio Spada from Torino, Italy (Breakfast time! - Karni Mata Temple), via Wikimedia Commons

“หนู” เป็นสัตว์ที่ได้รับการเคารพจากชาวฮินดูบางกลุ่มใน “อินเดีย” เช่น ที่วิหารการ์นีมาตา (Karni Mata Temple) ศาสนสถานของชาวฮินดู ที่สร้างอุทิศแก่นางการ์นีมาตาหญิงผู้วิเศษ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นอวตารของเจ้าแม่ทุรคา นอกจากที่นี่จะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู ยังเป็นบ้านหลังใหญ่ของบรรดา “หนู” สัตว์ที่หลายวัฒนธรรมมองว่าเป็นสัตว์รบกวนและพาหะแพร่เชื้อโรค

เหตุที่วิหารหินอ่อนในราชาสถานแห่งนี้กลายเป็นวิมานของหนู เนื่องจากตำนานเล่าขานกันว่า นางการ์นีมาตาพยายามวิงวอน พระยม เทพแห่งความตาย ให้คืนชีวิตแก่เด็กหนุ่มในวงศ์วานของเธอ แต่พระยมกล่าวว่า เด็กหนุ่มรายนั้นได้ไปเกิดใหม่เสียแล้ว นางการ์นีมาตาจึงต่อรองกับพระยมว่า ต่อไปถ้าคนในเผ่าของเธอเสียชีวิตก็ขอให้คนเหล่านี้กลับมาเกิดเป็นหนู จนกว่าจะมีบุญพอที่จะกลับมาเกิดในเผ่าเดิมได้

ด้วยเหตุนี้ หนูในวิหารการ์นีมาตาจึงได้รับความเคารพจากชาวฮินดู ในฐานะคนใกล้ชิดของสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์ การได้กินอาหารหรือเครื่องดื่มต่อจากหนูเหล่านี้จึงเหมือนการได้รับพรจากเบื้องบน ยิ่งไปกว่านั้นการได้พบกับ “หนูขาว” จะยิ่งเป็นบุญขึ้นไปอีก เพราะชาวฮินดูบางกลุ่มเชื่อว่าหนูขาวเหล่านี้คือตัวแทนของนางการ์นีมาตาและญาติมิตรโดยตรงของเธอ

ฝูงหนูกินอาหารที่ผู้คนนำมาให้บริเวณวิหารการ์นีมาตา ใน Deshnoke ราชาสถาน โดย Fulvio Spada from Torino, Italy (Breakfast time! – Karni Mata Temple), via Wikimedia Commons

แต่ขณะเดียวกันที่ มุมไบ การขยายพันธุ์ของหนูกำลังถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อสุขอนามัยของชาวบ้าน จนหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นประกาศขึ้นค่าหัวของหนูจากตัวละ 10 รูปี (ราว 5.22 บาท) เป็น 18 รูปี (ราว 9.40 บาท) และยังจัดตั้งทีมงานเพื่อกำจัดหนูจรจัดขึ้นมาโดยเฉพาะ

การที่มุมไบเร่งกำจัดหนูในช่วงนี้ก็เพื่อรับมือกับฤดูมรสุม เนื่องจากหนูเป็นพาหะนำโรค “ฉี่หนู” (Leptospirosis) โรคที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ซึ่งมักระบาดในช่วงที่มีน้ำท่วม ทางองค์กรปกครองของบุมไบจึงต้องประกาศขึ้นค่าหัวเพื่อหาอาสาสมัครเพิ่มเติมในภารกิจครั้งนี้

คาดกันว่าผู้กำจัดหนูน่าจะฆ่าหนูได้ราว 100-150 ตัวต่อคืน ช่วยให้มีรายได้ราวคนละ 1,800-2,700 รูปี (ราว 939.52-1,409.28 บาท) ซึ่งถือเป็นรายได้ที่สูงทีเดียวเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำบวกค่าครองชีพสำหรับแรงงานไร้ฝีมือภาคเกษตรกรรมในโซนเอ (รวมถึงปริมณฑลของมุมไบ) ซึ่งจะได้รับเพียง 234++ รูปีต่อวัน (ราว 122.08 บาท) เท่านั้น

ปัญหานี้ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เมื่อชาวมุมไบมองเห็นอันตรายที่แฝงมากับหนูจนต้องเร่งกำจัด ด้วยความที่มุมไบเป็นเมืองท่าชายทะเล เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมขังได้ง่าย ทำให้เชื้อโรคจากฉี่หนูมีโอกาสที่จะแพร่ระบาดสูงตามไปด้วย โดยเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2558 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคฉี่หนูในมุมไบสูงถึง 15 รายในช่วง 10 วัน

แต่ก็น่าแปลก เมื่อมีชาวฮินดูจำนวนมากที่สัมผัสกับ “หนูลูกเทพ” ที่วิหารการ์นีมาตา “โดยตรง” (รวมถึงบางรายที่กินอาหารต่อจากบรรดาหนูเหล่านี้) แต่ในเขตราชาสถาน อินเดีย กลับมีรายงานการระบาดของโรคฉี่หนูค่อนข้างน้อยกว่าพื้นที่บริเวณอื่น

ผู้เขียนซึ่งไม่มีความรู้ด้านการแพทย์ก็ได้แต่สงสัยว่าเป็นเพราะเหตุใด (อาจเป็นเพราะพื้นที่ตั้งของวิหารไม่อยู่ในเขตที่มีน้ำท่วมขัง?) แต่น่าจะมีคำอธิบายที่สอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์มากกว่าการจะคิดง่ายๆว่า เป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของนางการ์นีมาตาที่ทำให้หนูลูกเทพเหล่านี้ปลอดเชื้อ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

“Kill a rat for Mumbai Municipal Corporation, earn Rs. 18”. The Times of India. <http://timesofindia.indiatimes.com/…/articlesh…/53197385.cms>

“Rats Rule at Indian Temple”. National Geographic. <http://news.nationalgeographic.com/…/0628_040628_tvrats.html>

“India: 15 Mumbai ‘lepto’ deaths in 10 days; What is leptospirosis?”. Outbreak News Today. <http://outbreaknewstoday.com/india-15-mumbai-lepto-deaths-…/>

“Epidemiology of leptospirosis: an Indian perspective”. Journal of foodborne and zoonotic diseases. Jakraya. <http://www.jakraya.com/journal/pdf/jfzdArticle_2.pdf>

Minimum rates of wages including the basic rates and Variable Dearness Allowance payable (31/3/2016). Office of the Chief Labour Commissioner, Ministry of Labour & Employment, Government of India. <http://clc.gov.in/estb/pdf/VDA_new.pdf>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กรกฎาคม 2559