เบื้องหลังการขุดค้น เรื่องราวก่อนของประเทศไทย โดยคณะไทย-เดนมาร์ก

หลุมขุดค้นที่บ้านเก่า จ.กาญจนบุรี ในระยะแรก
หลุมขุดค้นที่บ้านเก่า จ.กาญจนบุรี ในระยะแรก เผยแพร่ใน ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม 2544

ผมไม่เคยเรียนวิชาโบราณคดี แต่บังเอิญอาจหาญถึงกับสร้างพิพิธภัณฑ์สถานก่อนประวัติศาสตร์ขึ้นมานั้นมีสาเหตุอยู่ 2-3 ประการ

ศ. นพ. สุด แสงวิเชียร (ภาพจากเพจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)

ประการแรกผมเกิดมีความคิดแหวกแนวขึ้นมาคืออยากทราบว่าคนไทยมาจากไหน ทำไมผมจึงไม่ยอมรับว่าคนไทยไม่ได้เคลื่อนย้ายหนีมาจากจีนตามที่คนส่วนใหญ่เชื่อกัน ผมก็ตอบไม่ได้ชัด ผมคิดว่าหลักฐานที่พบอยู่บนพื้นดินนั้นไม่ได้ยืนยันชัดเจนในเรื่องนี้ ผมกลับไปคิดว่าหลักฐานชัดเจนนั้นควรจะอยู่ใต้ดิน คือโครงกระดูกและเครื่องใช้สอยที่คนแต่ละสมัยเคยใช้

บังเอิญกรมศิลปากรในขณะนั้นก็เกิดสนใจแบบเดียวกัน คือสนใจเรื่องโครงกระดูก และมอบหมายให้อาจารย์ชิน อยู่ดี รับผิดชอบในเรื่องนี้คือมีหลักสูตรเล็กๆ เปิดให้นักศึกษาโบราณคดีศึกษาโครงกระดูกมนุษย์และสัตว์ โดยหวังว่าในการขุดค้นทางโบราณคดีสิ่งที่ขุดค้นได้นั้น เช่นโครงกระดูกจะช่วยใช้เป็นหลักฐานในทางโบราณคดีได้ แหล่งที่กระดูกคนรวบรวมไว้เพื่อใช้ในการอบรมวิชาแพทย์แก่นักศึกษาก็มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยขณะนั้น

อาจารย์ชินจึงมาติดต่อให้ผมช่วยให้ความเห็นในฐานที่ผมไม่เคยเรียนวิชาโบราณคดีและยังเคยพบโครงกระดูกที่ฝังอยู่ใต้ดินมาก่อน ผมก็ให้คำปรึกษาว่าการเรียนควรเรียนเหมือนนักเรียนแพทย์แม้จะไม่ละเอียดถี่ถ้วนเท่า คือให้เห็นของจริงมาตั้งแต่ต้น เช่นจะเรียนกระดูกไม่ว่าจากส่วนใดของร่างกายไม่จำเป็นว่ากระดูกนั้นมันชื่ออะไร แต่ควรเรียนให้รู้ว่ามันควรอยู่ในส่วนไหนของร่างกาย เมื่อเรียนมากและได้พบบ่อยๆ สิ่งเหล่านี้ก็ค่อยซึมเข้าไปเอง อาจารย์ชินเห็นด้วย

ฉะนั้นในการวางแนวการสอนซึ่งมีชั่วโมงเรียนแต่เพียงเล็กน้อย ผมก็ถ่ายภาพกระดูกจากหนังสือของจริงแล้วอัดสำนาทำเป็นกระจกฉาย (สไลด์) ในชั่วโมงฝึกหัดผมก็เอากระดูกทั้งโครง ชายหนึ่งโครง, หญิงหนึ่งโครง เอามาเรียงไว้ในกล่องมีทรายอยู่ข้างใต้แล้ววางกระดูกแต่ละชิ้นไว้ตามตำแหน่งที่ปรากฏในร่างของมนุษย์เหมือนโครงถูกฝังอยู่ ตั้งให้นักเรียนๆ กันเองโดยมีครูคอยช่วยเหลือ ผลจะดีเลวมากน้อยผมไม่อาจสรุปได้ เพราะนักเรียนให้ความสนใจน้อยกว่าที่ผมหวัง แต่ก็เกิดผลดีประการหนึ่งคือคุณชินทราบว่าผมสนใจเรื่องกระดูกไม่ว่าของคนและสัตว์ที่ถูกฝังอยู่แล้วเป็นเวลานาน ฉะนั้นเมื่อมีข่าวพบโครงกระดูกอาจารย์ชินก็แจ้งมาให้ผมทราบ ถ้าผมว่างไม่ติดการสอนผมก็ขอร่วมไปด้วย

โดยประการดังกล่าวอาจารย์ชิน จึงเท่ากับเป็นผู้ชักนำให้ผมได้รู้จักกับเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเป็นครั้งแรก คือเมื่อประมาณกว่า 30 ปีมาแล้ว ได้มีชาวบ้านนำโครงกระดูก 2 ชิ้น (รูป 1) ที่ขุดพบที่เพิงผา (ชาวบ้านเรียกถ้ำขรม), เขตอำเภอนาสาร, จังหวัดสุราษฎร์ธานี นำมามอบให้กรมศิลปากร แม้จะมีลักษณะไม่ใช่โครงกระดูกของมนุษย์แต่ก็เป็นที่น่าสนใจเพราะความเก่าแก่

อาจารย์ชิน, ท่านอาจารย์ (ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล) ก็อยากจะไปขุดค้นให้ได้เรื่องชัดเจน จึงชวนผมให้ร่วมไปในการเดินทางไปพักที่โรงแรมเล็กๆ ที่สถานีรถไฟอำเภอนาสาร เช้าขึ้นก็ออกเดินทางไปตามรางรถไฟจนถึงปากทางที่จะเข้าไปที่เพิงผา แหล่งที่พบเป็นเพิงผา ต้องไต่กระไดไม้ไผ่ขึ้นไปจนถึงบริเวณที่ขุดพบ เป็นเพิงผาที่มีช่องทางติดต่อกับภายในเขา แต่ไม่ได้สำรวจ เมื่อพิจารณาโดยรอบแล้วก็ลงมือขุดค้น ทำอยู่ 2 วัน แต่ก็ไม่พบอะไรเพิ่มเติมคงได้แต่กระดูกสองชิ้นที่ชาวบ้านนำมามอบให้เท่านั้น

รูป 1 กระดูกข้อเท้าวัวและฟันกวาง สัตว์ในสมัยไพลสโตซีน

เนื่องจากเวลานั้นประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อผมมีโอกาสก็เก็บกระดูกสองชิ้นใส่กระเป๋าเพราะเหตุว่า สถาบันเวนเนอร์เกรน แห่งนครนิวยอร์ก (Wenner-Gren Foundation) ได้เชิญผมไปร่วมประชุมทางมนุษยวิทยา (World Symposium in Anthropology) ที่นครนิวยอร์ก หลังประชุมผมก็ขึ้นไปที่พิพิธภัณฑ์ฯ ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ขอร้องให้ผู้ชำนาญช่วยตรวจว่าเป็นกระดูกอะไรและเป็นของสัตว์ชนิดไหน

ทางพิพิธภัณฑ์ฯ ที่นั่นให้ว่า ชิ้นหนึ่งเป็นฟันของกวางและอีกชิ้นหนึ่งเป็นกระดูกข้อเท้าของวัวที่เคยอยู่ในระยะไพลสโตซีน (Pleistocene Period) ซึ่งเป็นระยะที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เพราะมนุษย์รุ่นแรกจะปรากฏในระยะต้นๆ ของระยะนี้ แม้จะได้ข้อความเพียงเล็กน้อยก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ว่า ประเทศไทยก็มีดินแดนเก่าแก่เกี่ยวกับร่องรอยของมนุษย์ในอดีต แม้จะไม่ได้พิมพ์เป็นผลงานนี้ไว้เป็นหลักฐาน ผมกับคุณชินก็สนิทสนมกันยิ่งขึ้น และคุณชินเกิดแน่ใจว่า ผมคงสนใจจริงในเรื่องกระดูกแม้จะไม่มีความรู้อะไรเลยในทางโบราณคดี

ความสัมพันธ์มาผลิตผลเอาเมื่อเชลยศึกชาวฮอลันดา (Dr. Van Heekeren) เก็บเครื่องมือหินเก่าได้ใกล้บริเวณที่สร้างทางรถไฟสายเมืองกาญจน์-มะละแหม่ง (สายมรณะ) แล้วศาสตราจารย์โมเวียส แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดตรวจพบว่าเป็นเครื่องมือที่เชื่อว่าทำขึ้นเมื่อประมาณ 500,000 ปี มาแล้ว แต่เรื่องเงียบไปเป็นเวลา 15 ปี จนกระทั่งทางเดนมาร์กยื่นมือเข้ามาช่วยในการศึกษาเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ของประเทศไทย คณะไทย-เดนมาร์ก จึงมีทั้งผู้พบเครื่องมือและอาจารย์ชินร่วมด้วยออกไปสำรวจตามแนวแควน้อยและแควใหญ่ของแม่น้ำแม่กลอง ของจังหวัดกาญจนบุรี

รูป 2 โครงกระดูกมนุษย์หินใหม่ 2 โครงแรกที่พบโดยคณะสำรวจ

ในปีแรก (พ.ศ. 2504) ได้มีการขุดค้น 2 แห่ง คือที่หมู่บ้านเก่า ตำบลจระเข้เผือก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี และที่เพิงผาหน้าถ้ำพระใกล้น้ำตกไทรโยค การขุดค้นที่หมู่บ้านเก่าทำก่อนโดยมีอาจารย์ชินร่วมอยู่ด้วย ในการทำหลุมทดลอง (test pit) คณะได้พบเท้าของโครงกระดูกโครงหนึ่ง และเมื่อขยายหลุมให้กว้างขึ้นก็ปรากฏว่ามีโครงสองโครง (รูป 2) ฝังอยู่ใกล้เคียงกัน นับเป็นการพบที่สําคัญชิ้นแรกของคณะสำรวจ เพราะจากการสืบสวนค้นคว้าต่อมาก็แน่ใจว่าเป็นโครงของมนุษย์สมัยหินใหม่ที่อาศัยอยู่ในดินแดนของประเทศไทยซึ่งไม่มีใครเคยพบมาก่อน มีอายุประมาณ 3,700 บวกลบ 70 (4,000 ปี)

การพบมีความสำคัญเกี่ยวกับเกียรติยศในการพบของคณะสำรวจ คณะสำรวจจึงปกปิดเป็นความลับ คนไทยนอกจากบุคคลในคณะสำรวจไม่มีใครทราบเลย แต่ทางการของคณะสำรวจส่งข่าวไปถึงหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ คณะหนังสือพิมพ์ได้บินมาถึงกรุงเทพฯ ทันที และเดินทางโดยเรือเร็วในคืนวันนั้นไปที่บริเวณที่พบโครงกระดูก หลังถ่ายรูปและทำข่าวแล้วก็บินกลับไป

อาจารย์ชินเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเมืองไทยและเห็นว่าควรจะให้ผมรู้ด้วยจึงได้มีหนังสือลับด่วนส่งมาถึงผมที่โรงพยาบาลศิริราช รุ่งขึ้นผมก็เดินทางคนเดียวไปบ้านเก่าโดยทางรถไฟ ตอนนี้ข่าวรู้กันค่อนข้างแพร่หลายแล้วในหมู่ชาวบ้าน มีคนมามุงดูที่ขอบหลุม รวมทั้งตัวผมด้วย แต่คุณชินก็ไม่แนะนำหรือจะย้ายไปทำการขุดค้นที่ไทรโยคแล้วก่่อนผมไปถึงหรือเปล่าผมไม่ทราบ

อาจารย์ชิน อยู่ดี (ภาพจาก https://www.sac.or.th)

ผมจึงไปยืนค้างอยู่ปากหลุมลงไปในหลุมไม่ได้ เพราะเขาล้อมรั้วด้วยไม้ไผ่ห้ามคนลงไป แต่ผมเคราะห์ดี เพราะขณะนั้นข้าราชการการแต่งตัวไปไหนด้วยเครื่องแบบตรวจการ ผมจึงแปลกเด่นกว่าชาวบ้านที่ไปมุง มิสเตอร์เปียร์ ซอเรนเซ่น ซึ่งเป็นหัวหน้าคุมการขุดค้นก็ถามผมว่ามีธุระอะไร ผมตอบว่าผม อยากจะดูโครงกระดูก เคราะห์ดีที่เขาไม่ถามว่าผมทราบเรื่องนี้จากไหน ผมยังนึกไม่ออกว่าจะตอบอย่างไรถึงจะไม่ให้มัวหมองไปถึงคุณชินจนถึงเวลานี้ แต่มิสเตอร์เปียร์ไม่ถาม กลับถามผมว่าเป็นอะไรมาจากไหน ถึงอยากดูกระดูก ผมก็ควักการ์ดพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษให้ดูว่าเป็นศาสตราจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ที่คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล เขาก็เชิญผมให้ลงไปดูได้คนเดียว

คนไทยสองคนคืออาจารย์ชินและคุณธรรมนูญ อรรถากร ไม่ทราบว่าไปอยู่ที่ไหน ตอนนี้ความรู้เรื่องกายวิภาคศาสตร์มีประโยชน์ เพราะก่อนเดินทางผมเคยอ่านหนังสือสาส์นสมเด็จของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ มีลายพระหัตถ์ติดต่อระหว่างพระองค์ท่านกับสมเด็จกรมพระยานริศฯ เล่าถึงเรื่องการขุดค้นที่กัวชา, มลายู สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ขณะนั้นทรงลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่มาเลเซีย แต่ท่านทรงเป็นนักวิชการและนักโบราณคดีที่แท้จึงอุตส่าห์เดินทางไปดูการขุดค้นโดยศาสตราจารย์กาเลนเฟลที่นั้น แล้วกลับมาทรงมีลายพระหัตถ์ถึงสมเด็จกรมพระยานริศฯ บรรยายถึงวิธีการที่เขาขุด เขาทำละเอียดลออ เมื่อขุดค้นพบสิ่งใดไม่ว่าจะเป็นกระดูก, เครื่องใช้, เครื่องประดับ เขาจะใช้แปรงปัดจนกระทั่งกระดูกและสิ่งของนั้นลอยตัวขึ้นมาชัดเจน ฉะนั้นก่อนเดินทางผมจึงมีวัตถุอื่นนอกไปจากเครื่องใช้สอยส่วนตัวเพิ่มขึ้น 3 ชิ้น คือ แปรงทาสีไปปัดฝุ่นที่คงจับอยู่ที่ผิวกระดูก สอง-มีดพับปลายเล่มเล็กๆ สำหรับขุดดินทรายที่ติดอยู่ที่ผิวกระดูก สาม-ลูกยางเล็กๆ ที่ใส่น้ำยาฉีดเข้าทวารหนักเด็กเวลาท้องผูกเพื่อให้มีลมมาปัดเศษผงต่างๆ ให้หลุดไปจากผิวกระดูก

เมื่อมิสเตอร์เปียร์เขาอนุญาตให้ผมลงไปดู ก็พบกระดูกทั้งสองนั้นถูกขุดขึ้นลอยตัวแล้ว (รูป 2) แต่เปรอะเปื้อนทรายไม่เห็นรูปร่างชัด ผมก็ใช้ความรู้ทางภายวิภาคศาสตร์ขุดเอาทรายที่ติดกระดูกออก ใช้แปรงปัดและบีบลูกยางให้ลมพัดเอาฝุ่นออกไปจนหมด มิสเตอร์เปียร์เขามายืนอยู่ข้างหลัง ถามผมว่าไปเรียนขุดกระดูกมาจากไหน ผมนิ่ง เพราะเป็นครั้งแรกที่เคยขุดกระดูกที่ฝังอยู่ในดินเป็นเวลานาน พอดีรถไฟล่องกลับกรุงเทพฯ ผมกลับไม่ทัน เขาก็ชวนไปค้างที่ที่พัก เป็นเรือนของพนักงานป่าไม้ที่ให้ยืม ขึ้นไปบนระเบียงก็ปรากฏว่ามีเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมากวางปนอยู่กับกระดูกเท้าของโครงที่พึ่งพบ ผมก็ถามว่าทำไมเอากระดูกเท้ามากองรวมไว้ด้วย ถามเขาเท่านั้นก็ไปหาอาหารรับประทานและเข้าไปพัก รุ่งเช้าเขาก็ชวนผมให้ทำงานต่อไปอีก ผมก็เลยกลายเป็นอาสาสมัครนับเป็นผลพลอยได้ประการที่สองที่นำมาให้ผมโดยอาจารย์ชิน อยู่ดี

การขุดค้นที่บ้านเก่าทําอยู่ 2 ฤดู (สองปี) ขุดได้ทั้งหมด 39 โครง ลำเลียงบรรทุกเรือไปตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑ์นครโคเปนเฮเกน 2 โครง คือ 2 โครงแรกที่ขุดค้นพบ คณะสำรวจรวบรวมสิ่งของต่างๆ ที่ขุดค้นได้รวมทั้งโครงกระดูกส่งไปนครโคเปนเฮเกนทั้งหมด ผมก็กลับมาปฏิบัติงานทางกายวิภาคศาสตร์ต่อไปตามปกติที่คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มีการเผยแพร่ให้คนไทยรู้เรื่องนี้แต่เพียงปาฐกถาครั้งเดียว ที่ผมนำคำเชิญจากท่านคณบดี (หลวงพิณพากย์พิทยเภท) ไปเชิญหัวหน้าที่คุมการขุดค้นที่บ้านเก่าคือมิสเตอร์เปียร์ ซอเรนเซ่น มาปาฐกถาที่คณะฯ และทางภาควิชากายวิภาคศาสตร์เลี้ยงน้ำชา

ทางคณะฯ ในเวลานั้นต้องการจะนำวิชาพันธุศาสตร์มาสอนและดำเนินการค้นคว้าในคณะฯ บังเอิญ WHO จะเปิดการสอนในวิชานี้เป็นระยะสั้นๆ (course) ขึ้นที่นครโคเปนเฮเกนขอให้โรงเรียนแพทย์ต่างๆ ส่งคนไปเรียน ทางคณะมาเลือกผม ผมปฏิเสธว่าไม่มีความรู้และอายุก็มากแล้ว คงกลับมาทำอะไรให้ได้ไม่มาก ทางการก็ไม่ยอมเพราะคิดว่าผมมีความรู้เพราะเคยเขียนเรื่องแฝดติดกันและบทความบางชิ้นเกี่ยวกับการเกิดการผิดปกติในร่างกาย จึงยืนยันจะให้ผมไปรับการอบรม บังเอิญข่าวคราวเรื่องโครงกระดูกที่คณะสำรวจเก็บเอาไปนั้น เอาไปทำอะไรบ้างไม่เคยแจ้งมาให้ทราบ ก็นึกอยากจะไปดู หลังอีก 4-5 วัน พิพิธภัณฑ์ที่นครโคเปนเฮเกนก็มีจดหมายเชิญผมให้ไปทำการค้นคว้าโครงกระดูกต่อจากที่ขุดค้นไว้ ผมจึงตกลงเดินทางไปอีกครั้งทั้งที่มีอายุเกือบ 60 ไปเป็นนักเรียนโค่งเรียนพันธุกรรม 3 เดือน แล้วย้ายมาทำการศึกษาโครงกระดูกอีก 3 เดือน ตอนนั้นได้พบอาจารย์ชินอีกครั้ง เพราะท่านได้รับเชิญไปดูการขุดค้นทางโบราณคดีที่ใกล้พรมแดนระหว่างประเทศเดนมาร์กและประเทศเยอรมนี

เวลา 3 เดือนที่ผมได้รับผมคิดว่าผมคงทำไม่เสร็จ ฉะนั้นระหว่างทำจึงได้ขอให้ทางการเดนมาร์กเชิญแพทย์หญิงเพทาย ศิริการุณไปช่วยผมอีกแรงหนึ่ง เพราะกระดูกที่เก็บมาก่อนจะมาทำการตรวจและวัดต้องทำความสะอาดอีกมาก คุณหมอเพทายไม่ขัดข้องเดินทางไปร่วมงานกับผม ได้ร่วมมือกันจนเสร็จเป็นรายงาน โดยพนักงานพิมพ์ดีดของศาสตราจารย์เฮาเกอร์ช่วยพิมพ์ให้ หลังส่งรายงานในวันรุ่งขึ้นก็บินกลับกรุงเทพฯ

รายงานได้รับการจัดพิมพ์โดยคณะจัดการสำรวจและพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินครโคเปนเฮเกนมีชื่อว่า

“The Thai-Danish Prehistoric Expedition 1960-62 Archaeological Excavations in Thailand Volume III, Ban-Kao Part two The Prehistoric Thai Skeletons 1969 by Munksgaard, Copenhagen Denmark.”

มีชื่อผู้แต่ง 3 คนคือ ตัวผม, แพทย์หญิงเพทาย ศิริการุณ และศาสตราจารย์ J. Balsley Jorgensen หัวหน้าห้องปฏิบัติการมานุษยวิทยาที่ทำการศึกษาโครงกระดูกที่ค้น นอกจากการพิมพ์นี้แล้วได้พิมพ์เป็นรายงานเริ่มแรกในจดหมายเหตุของสยามสมาคมฯ นับเป็นหลักฐานแรกเกี่ยวกับโครงกระดูกที่ฝังอยู่ในดินแดนไทยเมื่อเวลา 4,000 ปีมาแล้ว

และผู้รายงานขอถือว่าผลงานส่วนหนึ่งนั้นเป็นของอาจารย์ชิน อยู่ดี ที่เห็นแก่งาน ชักชวนแนะนำและอุตส่าห์ฝ่าอันตรายแจ้งงานสำคัญให้ผมได้ทราบ เปิดโอกาสให้ผมและคณะได้ทำการศึกษาเป็นผลสำเร็จยืนยันประการหนึ่งว่าคนไทยนั้นได้อาศัยอยู่ในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันมาแล้ว เป็นเวลา 4,000 ปี โดยนำผลงานที่ศึกษานำมาเปรียบเทียบกับกระดูกคนไทยที่เก็บไว้เพื่อการศึกษาของนักศึกษาแพทย์ ที่คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล

 


*Sangvichien, S. A preliminary report on non-metrical characteristics on Neolithic Skeletons found at Ban-Kao, Kanchanaburi. J.S.S Vol. LIV, 1966.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มิถุนายน 2565