โบราณสถานกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของชาติ

วัดไชยวัฒนาราม พระนครศรีอยุธยา

ในบรรดาประเทศที่กำลังพัฒนาด้วยกัน ประเทศไทยนอกจากจะร่ำรวยด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติแล้ว ยังเป็นประเทศที่ร่ำรวยด้านทรัพยากรทางวัฒนธรรมมากที่สุดประเทศหนึ่งด้วย

คำว่าทรัพยากรทางวัฒนธรรมออกจะเป็นคำใหม่สำหรับนักวางแผนโดยทั่วไป แต่เป็นคำเก่าแก่ที่หลายประเทศใช้มรดกทางวัฒนธรรมในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศ จนสามารถเพิ่มรายได้ประชาชาติโดยอาศัยรายได้จากนักท่องเที่ยว

Advertisement

โบราณสถาน เป็นส่วนหนึ่งของทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่น ชายหาด ขุนเขา และความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติอื่นๆ

ประเทศไทยมีโบราณสถานที่ทรงคุณค่าทางความงามทางประวัติศาสตร์ และการสืบต่ออารยธรรมของเทคโนโลยีในอดีตอันยาวนานกว่า 1,300 แห่ง และแต่ละแห่งมากมายด้วยรูปแบบรูปทรงและเทคนิคต่างๆ ซึ่งท้าทายและเชิญชวนให้คนอยากรู้ อยากเห็น อยากชม

มิได้เพียงแต่ท้าทายรุมเร้าใจคนไทยเท่านั้น แม้นักท่องเที่ยวนานาชาติก็อยากรู้ อยากเห็น อยากชมโบราณสถานจึงไม่เป็นแต่เพียงเกียรติยศของชาติไทยเราเท่านั้น แต่โบราณสถานสามารถผลิตเพิ่มรายได้และช่วยแก้ไขความยากไร้ของประชาชนในชนบท เป็นแหล่งการท่องเที่ยวที่สำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของชาติเราด้วย

ทุกประเทศทั่วโลกถือว่าโบราณสถานเป็นทรัพย์สินของประเทศ ที่รัฐบาลในฐานะผู้บริหารราชการจะต้องตั้งองค์กรและจัดทำงบประมาณในการดูแลรักษาทรัพย์สินเหล่านั้นไว้ เช่นเดียวกับที่ครอบครัวจะต้องดูแลรักษามรดกซึ่งพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย สร้างและเป็นมรดกตกทอดมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ควบคู่ไปกับการศึกษาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินโบราณนั้น

ในมรดกส่วนบุคคล หากครอบครัวใดลูกหลานรุ่นปัจจุบันมีฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคงร่ำรวยเพียงพอก็สามารถทะนุถนอมรักษามรดกเหล่านั้นได้อย่างดี แต่ครอบครัวใดที่ลูกหลานยากจนก็รื้อทำลายบ้าง จำหน่ายจ่ายแจกไปสู่บุคคลอื่น

แต่ทรัพย์สินส่วนรวมของชาติบ้านเมืองนั้น ไม่สามารถนำออกจำหน่ายจ่ายแจกไปยังชาติอื่นๆ ได้แบบทรัพย์สินส่วนบุคคล ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องหาทางจัดการอนุรักษ์และบริหารทรัพย์สินที่เราเรียกว่าโบราณสถาน ให้ก่อเกิดประโยชน์ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจต่อชาติบ้านเมืองโดยส่วนรวม

ครอบครัวใดที่รักษามรดกซึ่งพ่อแม่สร้างและมอบให้ไม่ได้ ครอบครัวนั้น บุคคลนั้นเราเรียกว่า คนอัปรีย์ ในทำนองเดียวกัน ชาติใดเผ่าพันธุ์ใดที่รักษามรดกที่บรรพชนมอบให้ไว้ไม่ได้ ชาตินั้นจึงถูกชาติอื่นดูถูกเหยียดหยามว่าเป็นชาติที่ไร้ปัญญา

การรักษามรดกทางทรัพย์สินที่เป็นอาคารสถานที่บ้านเรือน สถานที่เคารพทางศาสนาและสาธารณสมบัติโบราณได้รับการพัฒนาสืบต่อกันมาตามลำดับจนถึงปัจจุบันนี้ เราเรียกวิทยาการดังกล่าวว่า การอนุรักษ์ทรัพย์สินทางประวัติศาสตร์ (Protection of Historic and Cultural Properties) ซึ่งมีหลักสูตรการสอนในระดับต่างๆ และมีตำรับตำราเขียนออกเผยแพร่เป็นแนวทางให้บุคคลที่มีอาชีพหรือมีความสนใจใช้เป็นแนวทางมารับใช้การดำเนินงานของตน

แต่อย่างไรก็ตามโดยข้อเท็จจริงเอกสาร และบทความทางวิชาการว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานต่างๆ มีน้อยมาก ในประเทศยุโรปซึ่งเป็นแหล่งที่มีอารยธรรมโบราณ และอาคารประวัติศาสตร์ที่สืบต่อมาช้านานก็มีจำนวนจำกัด ในสหรัฐอเมริกาซึ่งแม้จะเป็นประเทศใหม่แต่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 200 ปี และเป็นประเทศที่ตีพิมพ์เอกสารมากที่สุดในโลก ก็มีเอกสารที่ใช้ในการค้นคว้าน้อยมาก เพิ่งตีพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2527 นี้เอง โดยสรุปบทความกว่า 10,000 บทความเข้าด้วยกันกำหนดทิศทางให้นักอนุรักษ์ นักพัฒนา และนักผังเมือง ใช้เป็นแนวทางการดำเนินงาน

การที่มีบทความและสาระความรู้ในด้านนี้มีน้อยมากนั้น ยังไม่มีใครวิเคราะห์สาเหตุได้เด่นชัด แต่น่าจะมาจากเหตุที่ว่า เดิมโบราณสถานหรืออาคารสถาปัตยกรรมของสถาปนิกในอดีต ถูกสถาปนิกนายช่างปัจจุบันเหยียบย่ำดูหมิ่นดูแคลนและประชาชนปล่อยปละละเลย ถือว่าเป็นส่วนเกินของสังคม

จนกระทั่งในรอบ 20 ปีหลัง เกิดนักอนุรักษ์ขึ้นมาอีกอาชีพหนึ่งซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการอนุรักษ์ผลงานสถาปัตยกรรม ซากโบราณสถานย่านประวัติศาสตร์ ตลอดจนนครที่มีเรื่องราวอารยธรรมสืบต่อกันมา จัดระบบวิธีการอนุรักษ์แบบใหม่ขึ้นเพื่อพัฒนาซากของอาคารประวัติศาสตร์และโบราณสถานต่างๆ มารับใช้ทางสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้เกิดข้อขัดแย้งและบทความตลอดจนวิธีการอนุรักษ์นานัปการขึ้น จนสามารถจัดทำเป็นเอกสารตำรับตำราการดำเนินงานการสงวนรักษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง

ฉะนั้น บุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์อย่างจริงจังหรือเป็นบุคคลอาชีพหนึ่งแล้ว ยากที่จะติดตามความเคลื่อนไหวและทราบพัฒนาการในสาขาวิชาชีพนี้

แนวทางการอนุรักษ์โบราณสถานในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 โบราณสถานหรือทรัพย์สินทางศิลปะและทางประวัติศาสตร์นั้น เป็นเกียรติยศของบรรพชนในอดีตและเกียรติภูมิของแผ่นดิน ที่ห้ามแตะต้องดัดแปลงแก้ไขใดๆ ทั้งปวง หรือหากจำเป็นจะต้องทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ก็ต้องระมัดระวังจะเปลี่ยนแปลงปรับปรุงใดๆ ไม่ได้โดยเด็ดขาด ถือเป็นของต้องห้าม มีเท่าไรก็ดูไปเท่านั้น บทบาทของโบราณสถานสนองคุณทางสังคมด้านเดียว ประชาชาติขาดประชาธิปไตยในการเรียกร้องสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของโบราณสถาน นักวิชาการ ขุนนางและนายทุนเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นมีสิทธิ์เสรีในการชื่นชมและควบคุมกลไกกำหนดบทบาทของโบราณสถาน ตลอดจนทรัพยากรทางวัฒนธรรมทั้งปวง

ระยะ 40 ปีต่อมา สภาวะเศรษฐกิจของโลกเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีและการอุตสาหกรรม การแย่งชิงทรัพยากรระหว่างชาติเพิ่มขึ้น ท่ามกลางความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการขนส่ง และความเคร่งเครียดทางอุตสาหกรรม สถานะของโบราณสถานที่ผุกร่อนค่อยๆ ร่อยหรอลงตามกาลเวลา ในขณะที่พื้นที่ดินราคาแพงขึ้นเพื่อพัฒนาชุมชนเป็นเมือง นายช่างสถาปนิกที่ขาดความศรัทธาต่อซากของอาคารในอดีต ทำให้นักอนุรักษ์ซึ่งมาจากสาขาวิชาชีพต่างๆ เห็นว่าหากเปลี่ยนให้โบราณสถานตายด้านต่อสังคมที่เคลื่อนไหวแล้ว หลักฐานอารยธรรมของมนุษย์ในอดีตจะไม่เหลืออะไรเลย

สถาบันที่เรียกร้องให้แต่ละประเทศอนุรักษ์และพัฒนาเปลี่ยนบทบาทของโบราณสถานมารับใช้สังคมและเศรษฐกิจ ก็คือ องค์การ UNESCO โดยนำผลการประชุมของผู้เชี่ยวชาญ สถาปนิก วิศวกร นักประวัติศาสตร์ และนักเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ รวบรวมไว้ด้วยกัน

ในที่สุดร่วม 20 ปีหลัง บทบาทของโบราณสถานไม่เป็นเพียงซากร่องรอยอารยธรรมของมนุษย์ในอดีตเท่านั้น แต่เริ่มเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจตลอดจนการเมือง จนบางประเทศใช้โบราณสถานเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการขาดดุลการค้า ดุลย์การชำระเงินและเป็นการเพิ่มรายได้แก่ประชาชนในรูปของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประเทศที่ยากจนมีหนี้สินล้นพ้นตัวเช่นไทยเรานั้น เราจะให้โบราณสถานเป็นเพียงเกียรติภูมิของแผ่นดินหรือให้สถาบันอันนี้ เข้ามาช่วยเพิ่มพูนรายได้ของแต่ละท้องถิ่นหรือไม่ โปรดช่วยกันพินิจพิจารณาดู

เมื่อบทบาทของโบราณสถานในองค์การโลกเปลี่ยนแปลงไปเช่นนั้น การจำแนกลักษณะโบราณสถานและแนวทางตลอดจนมาตรการในการอนุรักษ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเหตุการณ์ด้วย

โบราณสถานอาคารประวัติศาสตร์ย่านโบราณสถานเป็นจำนวนมากไม่ได้ใช้เป็นเพียงหลักฐานทางวิชาการเท่านั้น แต่มีการฟื้นฟูโบราณสถานนั้นให้มีสีสันขึ้นมาใหม่ อาคารที่อยู่อาศัยโบราณได้รับการปรับปรุงให้คนรุ่นใหม่เข้าอยู่อาศัยแทนที่ ทั้งยังนำเอาเทคโนโลยีปัจจุบันเข้าช่วยเสริมสร้างเอกลักษณ์ในอดีต

ด้วยเหตุนี้การจำแนกบทบาทโบราณสถานเดิมซึ่งเป็นแนวทางการอนุรักษ์ที่นักวิชาการชาวยุโรปแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. โบราณสถานที่ตายแล้ว (Dead Monuments)

2. โบราณสถานที่ยังมีชีวิตอยู่ (Living Monuments)

ได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้ามากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

สหรัฐอเมริกามีประวัติศาสตร์แม้จะไม่ยาวนานเหมือนประเทศอื่นๆ แต่เขาก็มีประวัติศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจ เพราะเป็นการฟื้นฟูด้วยภาพของอาณาจักรโรมันขึ้นมาใหม่ในโลก โดยถือเอาประโยชน์ร่วมกันทางเศรษฐกิจของเผ่าชนต่างๆ ที่อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนแห่งนั้น

นักวางแผน สถาปนิก วิศวกร นักประวัติศาสตร์ ฯลฯ แห่งอเมริกา จำแนกโบราณสถานออกนอกแนวทางโบราณของยุโรปโดยสิ้นเชิง นักอนุรักษ์เหล่านั้นไม่ได้จำแนกโบราณสถานออกเป็น 2 กลุ่ม เช่นนักวิชาการชาวยุโรป แต่เขาจำแนกออกดังนี้

1. อนุสาวรีย์แห่งชาติ (National Historic Monuments) หมายถึงอนุสรณ์สถานต่างๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อบุคคลหรือเรื่องราวที่ประชาชนจะต้องร่วมรำลึกถึง

2. อาคารสถาปัตยกรรมแห่งชาติ (National Historic Buildings) ได้แก่ อาคารบ้านเรือนที่ให้คุณค่าทางรูปแบบ โครงสร้าง และองค์ประกอบอื่นๆ

3. อาคารสัญลักษณ์ของเมือง (National Historic Landmarks) ได้แก่ อาคาร สิ่งก่อสร้าง สะพาน หรือลำคลอง ซึ่งเป็นสถานสำคัญที่เป็นสัญลักษณ์บ้านเมืองนั้น

4. ย่านประวัติศาสตร์ (National Historic District or Neighborhood) ซึ่งรวมกลุ่มพื้นที่ อาคารทางการค้าการพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมในอดีตที่มีแบบลักษณะของตนเอง มีเรื่องราวเนื้อหาของย่านนั้นโดยเฉพาะ ฯลฯ

5. อุทยานประวัติศาสตร์ (National Historical Parks) ได้แก่ พื้นที่ใดๆ ในเมืองที่มีเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรม ถนนหนทาง และสภาพแวดล้อมพิเศษ ฯลฯ

6. นครประวัติศาสตร์ (National Historic Cities) ได้แก่ เมืองหรือบริวารของเมืองที่มีแบบอย่างวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ สภาพของอาคารสถานที่ หรือมีอาคารประเภท 1-5 อยู่พร้อมมูล

7. ซากโบราณสถานหรือแหล่งโบราณคดี (Trace of Archaeology of Historic Sites) ได้แก่ ซากหรือแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี

เมื่อโบราณสถานมีฐานะที่แตกต่างกันกลายสภาพเช่นนี้ การกำหนดแนวทางให้นักอนุรักษ์ดำเนินการก็ต้องแตกต่างกันออกไป ตามสถานะของโบราณสถานนั้นๆ การอนุรักษ์โบราณสถานประเภทต่างๆ มีข้อจำกัดที่แตกต่าง อาคารประวัติศาสตร์กับย่านประวัติศาสตร์หรือนครประวัติศาสตร์หรืออุทยานประวัติศาสตร์ แม้จะถูกจำกัดในกรอบการอนุรักษ์ที่เหมือนกันแต่ย่อมผ่อนปรนโบราณสถานของประเภทนั้น มีขั้นตอน (Scope) กระบวนการ (Process) วิธีการ (Methodology) และเทคนิค (Technic) ที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ยังต้องพิจารณาถึงสภาพของท้องถิ่น (County) รัฐ (State) และสภาพสังคมและเศรษฐกิจของแต่ละเมืองประกอบด้วย

เมื่อพัฒนาการในการอนุรักษ์และจัดการโบราณสถานเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ การที่นักวิชาการไทยหลายท่านจับเอากฎบัตรสากลต่างๆ มาใช้ในการวิเคราะห์งานการต่างๆ โดยไม่จำแนกให้ชัดเจนว่า เขากำลังดำเนินงานอนุรักษ์โบราณสถานประเภทไหนให้ชัดเจนนั้น เป็นเรื่องที่พูดกันคนละเรื่องและให้สาระในการนำโบราณสถานมารับใช้สังคมและเศรษฐกิจคนละอย่าง เพราะระบบการอนุรักษ์โบราณสถานในศตวรรษก่อนกับปัจจุบันแตกต่างกันดังได้กล่าวมาแล้ว

เมื่อโบราณสถานไม่ได้เป็นเพียงแหวนประดับนิ้วก้อยหรือหลักฐานของแผ่นดินเช่นอดีตเท่านั้น หากเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจโดยเฉพาะผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวเช่นนี้ การอนุรักษ์โบราณสถานจึงพัฒนาการกว้างไกลไปจนกระทั่งขั้นที่เรียกว่า Rehabilitation ในย่านประวัติศาสตร์ของนครต่างๆ ในอาคารบางประเภท และรูปเคารพบางจำพวกรวมทั้งการใช้โบราณสถานและแหล่งประวัติศาสตร์เพื่อหาประโยชน์ทางการเมืองของชาติทั้งหมดนี้เรายังไม่ได้พิจารณาการอนุรักษ์รูปเคารพและอาคารที่ประชาชนเคารพศรัทธาทางศาสนาที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนแต่ละเผ่าพันธุ์ซึ่งแตกต่างกันออกไปอีกประเภทหนึ่งต่างหาก

ในประเทศสังคมนิยม ไม่ว่าจะเป็นประเทศรัสเซีย หรือประเทศจีนมีปรัชญาในการจัดการกับวัฒนธรรมในอดีตที่ไม่แตกต่างกัน กล่าวคือ จะนำวัฒนธรรมในอดีตมารับใช้วัฒนธรรมปัจจุบันและรับวัฒนธรรมต่างชาติมารับใช้วัฒนธรรมประจำชาติ ส่วนเทคนิคในการอนุรักษ์นั้นเน้นการปรับปรุงแหล่งวัฒนธรรมมารับใช้สังคมและเศรษฐกิจเป็นหลัก

ในขณะเดียวกันการอนุรักษ์โบราณสถานในประเทศญี่ปุ่น ไม่เพียงแต่เน้นเทคนิคการอนุรักษ์โบราณสถานเพื่ออนุรักษ์ฝีมือช่างในอดีตเท่านั้นแต่ยังศึกษาและฟื้นฟู (Reconstruction) อาคารไม้ต่างๆ ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนในเอเชียและแปซิฟิคนั้นก็พยายามสร้างแนวทางของตนเองขึ้นมาโดยเฉพาะ Burra Charter เป็นการปลดแอกมันสมองจากนักวิชาการชาวยุโรป ฯลฯ

ในประเทศไทยเราแม้จะมีการอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์อาคารสถานที่ต่างๆ ที่สำคัญในประวัติศาสตร์มาช้านานเพียงใดก็ตาม จะหาตำราเอกสารว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานก็มีน้อยเต็มที ท่านผู้ใดมีความปรารถนาจะศึกษาวิธีการอนุรักษ์โบราณสถาน นโยบายตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรทางวัฒนธรรมมารับใช้สังคม ชีวิต เศรษฐกิจและการเมือง ก็ทำแทบไม่ได้ ภัณฑารักษ์ก็ดี บรรณารักษ์ก็ดี นักวางผังเมือง นักพัฒนา นักอนุรักษ์ สถาปนิก วิศวกร นักวิชาการ นักศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ นักกฎหมาย ข้าราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ หากมีความจำเป็นหรือความต้องการศึกษา จะต้องทำการค้นคว้าเป็นกรณีพิเศษ

เพราะในบรรดาเอกสารที่ได้พิมพ์ออกมาในภาคภาษาไทยนั้น เท่าที่ติดตามศึกษาได้ขณะนี้มี 5-6 บทความ เริ่มตั้งแต่บทความปาฐกถาพิเศษของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าด้วยการรักษาของเก่า ติดตามด้วยเอกสารหนังสือโบราณคดีของ ศาสตราจารย์หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ซึ่งบทความทั้ง 2 บทนี้มีอายุกว่า 40 ปี

ต่อมากรมศิลปากร ได้แปลหลักการว่าด้วยการอนุรักษ์และการบูรณะอนุสรณ์สถานและแหล่งโบราณสถานออกเผยแพร่ในเวลาต่อมา ในขณะเดียวกันก็มีการสัมมนาว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ในปี 2524-2528 จำนวน 2-3 ครั้ง กับมีบทความในหนังสือพิมพ์ต่างๆ ประปราย

โดยสรุปแล้วระยะเวลา 50 ปีหลังนี้มี หนังสือและเอกสารตีพิมพ์ออกเผยแพร่ 2-3 เรื่องเท่านั้น นับเป็นความอับปัญญาของวงวิชาการด้านนี้อย่างแรง และไม่สัมพันธ์กับจำนวนโบราณสถานอันมั่นคงของประเทศ

นอกจากประเทศเราจะขาดตำรับตำราทางวิชาการแล้ว ในด้านการสร้างกำลังคนเกี่ยวกับการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมแทบไม่ได้ทำเอาเลย การจัดตั้งคณะโบราณคดี และคณะสถาปัตยกรรมไทย ในมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2496 นั้น ก็ด้วยความปรารถนาที่จะให้ไทยเรามีนักวิชาการ และช่างเทคนิครับผิดชอบภารกิจด้านนี้โดยเฉพาะ แต่ในเวลาต่อมาการศึกษาขยายวงกว้างออก มีการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ นัยว่าเพื่อให้นักศึกษามีวิชาความรู้กว้างขวางยิ่งขึ้น เน้นนักศึกษาโบราณคดีไปทางการค้นคว้าวิจัย เปลี่ยนคณะสถาปัตยกรรมไทยไปเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ยกเลิกหลักสูตรระดับเทคนิคในโรงเรียนศิลปศึกษา (โรงเรียนช่างศิลป์) จนกระทั่งบัดนี้แม้เราจะมีการพัฒนาระบบการศึกษากว้างขวางเพียงใด แต่เรายังไม่มีหลักสูตรในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมโดยตรง ใครอยากรู้หรือสนใจกันก็เดินทางไปศึกษาฝึกอบรมในต่างประเทศเป็นสำคัญ

เมื่อบุคลากรในประเทศขาดแคลนเช่นนี้ องค์การ SEMEO จึงได้จัดตั้งโครงการฝึกอบรมบุคลากรด้านนี้ขึ้น เรียกว่าโครงการ SPAFA เพื่อให้แต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกันพิจารณาสร้างบุคลากรในรูปของการฝึกอบรมขึ้น

แต่เกิดปัญหาต่อมาอีกที่บุคคลซึ่งไปฝึกอบรมแล้วนั้น ไม่ได้อยู่ในหน่วยงานที่จะปฏิบัติการโดยตรง

เป้าหมายที่คาดกันว่า เราจะมีบุคลากรเพียงพอในการจัดการกับโบราณสถานและมรดกทางวัฒนธรรมในอดีต จึงประสบปัญหามาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นเรื่องจะต้องพิจารณาแก้ไขกันต่อไป

ผมขึ้นต้นบทความว่า “โบราณสถานกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของชาติ” โดยการปูแนวทางการจัดการและปัญหาบางประการที่เราประสบอยู่ในปัจจุบัน

ที่นี้ลองมาพิจารณาดูว่าทรัพยากรทางวัฒนธรรมจะมีส่วนช่วยในการแก้ไขสังคมและเศรษฐกิจของชาติ แบบเดียวกับที่นานาชาติดำเนินการกันอยู่ในปัจจุบันได้หรือไม่ ซึ่งพื้นฐานในการพิจารณาขึ้นอยู่กับหลักใหญ่ 4 ประการคือ

ประการที่ 1 โบราณสถานนั้นเป็นทรัพย์สินของรัฐที่จะต้องไว้ให้เห็นวิวัฒนาการของสังคมในอดีตที่เป็นมรดกสืบทอดกันมา ซึ่งรัฐจะต้องออกกฎหมายตั้งองค์กร และงบประมาณในการสงวนรักษาโดยปฏิเสธไม่ได้

ประการที่ 2 ในการอนุรักษ์เดิมนั้นมุ่งเน้นเฉพาะโบราณสถาน ไม่มีการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้สัมพันธ์กับการปกครอง สังคม และเศรษฐกิจ โดยถือว่าโบราณสถานนั้นศักดิ์สิทธิ์ จะต่อเติมเสริมแต่งใดๆ ไม่ได้ มีเท่าไรให้รักษาไว้เท่านั้น การอนุรักษ์โบราณสถานมุ่งสนองทางสังคมมากกว่าทางเศรษฐกิจ

ประการที่ 3 ในสภาวะทางเศรษฐกิจปัจจุบัน ระบบราชการนั้นถือว่าเป็นระบบธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ กิจการใดๆ ของรัฐจะต้องมีผลตอบแทนทางสังคมและเศรษฐกิจตามสมควร เป็นการยากที่รัฐจะให้งบประมาณสนับสนุนเป็นกอบเป็นกำ เพราะถือการลงทุนประเภทนี้เป็นการสูญเปล่า

ประการที่ 4 ในฐานะที่มีองค์การศึกษาประชาชาติ เป็นองค์กรกลางที่เสนอข้อคิดเห็นให้แต่ละประเทศดำเนินการพัฒนาโบราณสถานเพื่อการท่องเที่ยว และประเทศไทยเป็นสมาชิกขององค์การนี้เราควรพิจารณากันอย่างจริงจังว่า ในจำนวนโบราณสถาน 1,300 แห่งนี้ กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนไว้ทั่วประเทศและอยู่ในสถานะที่เป็นสิ่งรกตาของบ้านเมืองของนักปกครองนั้นประมาณ 300 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ละแห่งจะต้องใช้งบประมาณพัฒนาเฉลี่ยประมาณ 20 ล้าน เป็นเงินประมาณ 6,000 ล้านบาท ดำเนินการในระยะ 5 ปี จะตกประมาณปีละ 1,200 ล้านบาท (โดยไม่รวมงบประจำ) แล้วกระจายเงินดังกล่าวไปยังท้องถิ่นต่างๆ ที่มีโบราณสถานอยู่ในการดูแล หากดำเนินการเสร็จเราจะมีแหล่งการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น 300 แห่ง ถ้าไม่ดูถูกตนเองและจำกัดแนวคิดแบบแคบๆ และเห็นแก่ตัวมากเกินไปแล้ว ผมยังเชื่อว่าจะต้องส่งผลกระทบทางการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล และไม่น้อยกว่าการกู้เงินมาสร้างเขื่อน สร้างตลาดแรงงาน และเศรษฐกิจอื่นๆ เช่นที่เรามีความชำนาญในการกู้ตลอดมา ฯลฯ

รายได้จากการท่องเที่ยวนั้น กำลังเป็นรายได้หลักของประเทศ เราเจ็บแค้นแน่นอนที่ถูกหาว่ารายได้จากการขายตัวเพราะชลบุรีมีแต่เม็ดทราย น้ำ ขอบฟ้า ชายฝั่งทะเล ที่มหัศจรรย์ลองบูรณะพระตำหนักฯ ที่เกาะสีชังขึ้นมา ลองบูรณะเมืองพระรถที่ปราจีนบุรี ซ่อมป้อมปราการที่ปากน้ำ ป้อมพระจุลที่พระประแดง ภาคตะวันออกอาจดีขึ้น และอาจช่วยลดปัญหาการเสียชื่อเสียงของชาติลงได้บ้าง

ในทำนองเดียวกันเมืองนครพิงค์เชียงใหม่ เมืองเชียงแสน เมืองลพบุรี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี และนครศรีธรรมราช ตลอดจนถึงสงขลา และปัตตานี ฯลฯ ลองพัฒนาเมืองเหล่านี้ขึ้นเป็นนครประวัติศาสตร์ที่มีอาคารสถาปัตยกรรมที่งดงาม มีพระบรมมหาธาตุเป็นจุดเด่น มีย่านประวัติศาสตร์เป็นระเบียบ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างมีระบบขึ้นมา

เราไม่เพียงแต่จะเป็นตลาดการท่องเที่ยวที่สำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่เราจะทำให้แผ่นดินไทยเป็นแผ่นดินทองของอารยธรรมโบราณในคาบกลางแหลมอินโดจีน

การสงวนรักษาโบราณสถานนั้น ตลอดเวลาเราจะถูกสอนถูกอบรมให้มุ่งการอนุรักษ์เป็นปัจจัยหลัก รายได้จากการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยรองหรือผลพลอยได้ เพราะเราถือว่าโบราณสถานเป็นเกียรติของประเทศ เป็นเกียรติภูมิของแผ่นดิน รัฐบาลมีหน้าที่ในการรักษาทรัพย์ของรัฐ ซึ่งไม่ผิดแต่อย่างใด

แต่ในสภาวะที่เรากำลังเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจเช่นปัจจุบันนี้ ผมเห็นว่าควรเปลี่ยนนโยบายในการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ การอนุรักษ์โบราณสถาน การพัฒนาทางวัฒนธรรม ตลอดจนแนวทางการอนุรักษ์จะต้องพิจารณาปรับปรุงใหม่ให้กลไกต่างๆ แสดงพลังออกมา

ไม่เฉพาะเพื่อเกียรติภูมิเท่านั้น แต่จะต้องส่งผลถึงปากท้องเจ้าของโบราณสถานนั้นๆ โดยส่งผลอย่างน้อย เป็นผลกระทบจากการดําเนินงานระหว่างสังคมและเศรษฐกิจ (50:50)

มรดกทางวัฒนธรรมแห่งใด เป็นเพชรเม็ดเดียวของโลก จะต้องบูรณะและประกาศให้ก้องไปทั้งแผ่นนั้นแผ่นดิน เราอาจหาเงินใช้หนี้ได้มากกว่าปัจจุบัน

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มิถุนายน 2565