ผลวิจัยเผย มนุษย์เลี้ยง “ไก่บ้าน” แห่งแรกที่บ้านโนนวัด จ.นครราชสีมา ราว 3,000 ปีก่อน

ภาพวาดการเลี้ยงไก่ วาดก่อน ค.ศ. 1882

สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (PNAS) ตีพิมพ์งานวิจัย “The biocultural origins and dispersal of domestic chickens” (6 มิถุนายน 2565) ซึ่งเผยข้อมูลว่าพื้นที่ที่เลี้ยง “ไก่บ้าน” เป็นที่แรกของโลกอยู่ที่บ้านโนนวัด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา (เท่าที่พบหลักฐาน ณ ตอนนี้)

งานวิจัยชิ้นนี้จัดทำเพื่อให้เข้าใจว่าไก่มีจุดกำเนิดเมื่อใด ที่ไหน อย่างไร โดยคณะวิจัยได้ศึกษา และวิเคราะห์กระดูกไก่จากแหล่งโบราณคดีกว่า 600 แห่ง ใน 89 ประเทศ โดยประเมินผ่านทาง โบราณคดี สัณฐานวิทยา การตรวจสอบกระดูก บริบท สัญลักษณ์ และข้อมูลสถิติ

ผลของการศึกษาชี้ให้เห็นว่ากระดูกไก่ชิ้นแรกที่เป็นไก่บ้านไม่ใช่ไก่ป่า พบที่บ้านโนนวัด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยมีอายุระหว่าง 1,650-1,250 ปีก่อนคริสต์ศักราช ตรงกับยุคหินใหม่ ซึ่งนับว่าเป็นการท้าทายการศึกษาเดิมที่เชื่อกันว่าแหล่งกำเนิดของไก่อยู่ที่ อินเดีย จีน หรือเมโสโปเตเมีย

การศึกษาจุดกำเนิดของไก่ในช่วงก่อนหน้านี้ได้อ้างว่ามีการค้นพบกระดูกสัตว์ปีกคล้ายไก่เก่าแก่ในหลายพื้นที่ อาทิ การค้นพบกระดูกสัตว์ปีกที่คาดว่าอาจเป็นไก่ ในประเทศจีน อายุประมาณ 6,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช แต่ภายหลังพิสูจน์แล้วว่าเป็นไก่ฟ้า (Pheasants) หรือการค้นพบกระดูกสัตว์ปีกที่ฮารัปปาในลุ่มแม่น้ำสินธุ อายุประมาณ 4,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช แต่เมื่อนำมาจำแนกทางพันธุกรรมแล้วมีความคล้ายคลึงกับสายพันธุ์ไก่ป่า ตระกูลไก่ป่าแดง (Red forestflow) มากกว่าจะเป็นสายพันธุ์ไก่บ้านแบบในปัจจุบัน

แต่ผลการวิจัยชิ้นนี้ได้พบว่าแท้จริงแล้วต้นกำเนิดของการเลี้ยงไก่บ้าน อยู่ในช่วงประมาณ 1,650-1,250 ปีก่อนคริสต์ศักราชที่บ้านโนนวัด โดยจากการศึกษาที่แหล่งโบราณคดีแห่งนี้พบว่ามนุษย์ในสมัยนั้นได้ฝังกระดูกไก่ ซึ่งอยู่ในวงศ์ Gallus (สายพันธุ์เดียวกับไก่บ้านในปัจจุบัน) จำนวนมาก รวมกับสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ เช่น หมู สุนัข และวัว ในฐานะสิ่งของฝังไปพร้อมกับผู้ตายในยุคนั้น ลักษณะดังกล่าวเป็นหลักฐานที่หนักแน่นชี้ว่าสัตว์ปีกเหล่านี้เป็น “ไก่เลี้ยง” ไม่ใช่ “ไก่ป่า”

เพื่อตามรอยการกำเนิดและแพร่กระจายของไก่ คณะวิจัยได้ศึกษาเพิ่มเติมนอกเหนือจากกระดูกไก่ที่ค้นพบ โดยเทียบเคียงข้อมูลจากสภาพภูมิอากาศ และศึกษาพัฒนาการของอารยธรรมมนุษย์ในด้านการเกษตรกรรม

โดยสภาพภูมิอากาศและปริมาณน้ำฝนคือตัวชี้วัดที่สำคัญ โดยพบว่าในบริเวณเขตป่าฝนกึ่งร้อนชื้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอื้อต่อการดำรงชีวิตของไก่ป่าที่ชอบความร้อน ขณะที่ความสัมพันธ์ของการปลูกข้าวและธัญพืชกับพฤติกรรมของไก่ป่าก็มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไม่น่าเชื่อ โดยผลลัพธ์ชี้ให้เห็นว่าการทำเกษตรกรรมและการเก็บรักษาธัญพืชช่วยดึงดูดไก่ป่าให้เข้ามาในพื้นที่ของมนุษย์

ไก่ป่านั้นจะเติบโตในได้ดีในพื้นที่ที่ลักษณะทุ่งรกร้าง เป็นทุ่งกว้าง หรือพื้นที่ที่เป็นไม้พุ่มเตี้ย ครั้นเมื่อมนุษย์บุกเบิกการเกษตรกรรม มีการถางป่าเพื่อเปิดพื้นที่ปลูกข้าวขึ้นใหม่ จึงเปลี่ยนสภาพป่ารกชัฏให้เป็นทุ่งปลูกข้าว การปลูกข้าวก็จะมีเศษข้าว ข้าวฟ่าง ธัญพืช หรือผลผลิตจากการเกษตรอื่น ๆ หลงเหลือ รวมถึงเศษอาหารจากการเลี้ยงปศุสัตว์ (เช่น หมู หรือวัว) เหล่านี้จึงดึงดูดไก่ป่าให้เข้าใกล้สังคมมนุษย์มากขึ้น 

การเลี้ยงไก่จึงเกิดขึ้นพร้อมกับการขยายตัวและเติบโตของสังคมมนุษย์ในยุคหินใหม่ โดยเชื่อว่ากลุ่มคนที่มีความรู้ด้านเกษตรกรรมที่เริ่มโยกย้ายถิ่นฐานจากหุบเขาแยงซีในแถบตอนใต้ของจีนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ใหม่แห่งนั้นพร้อมกับนำเทคโนโลยีการปลูกข้าวไปด้วย

เมื่อมีการปลูกข้าวทำนา ความอุดมสมบูรณ์ของธัญพืชภายในถิ่นฐานของมนุษย์จึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อการเลือกถิ่นฐานของไก่ป่าในแหล่งนั้น ๆ ฉะนั้น การเพาะปลูกข้าวและธัญพืชของมนุษย์จึงอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับไก่ป่า ที่เปลี่ยนจากไก่ป่าสู่ไก่บ้าน จนเกิดกระบวนการเลี้ยงไก่ แล้วค่อย ๆ แพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก

แหล่งโบราณคดีที่ค้นพบกระดูกไก่ในพื้นที่ประเทศไทย ภาพจากวิจัย “The biocultural origins and dispersal of domestic chickens” ​(ภาพจาก https://www.pnas.org/doi/10.1073/pnas.2121978119)

การประเมินหลักฐานทางโบราณคดีของคณะวิจัยได้บ่งชี้ถึงต้นกำเนิดและการแพร่กระจายของไก่ ถูกรวมเข้ากับสังคมมนุษย์เมื่อ 1,500 ปีก่อนคริสต์ศักราชที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากนั้นก็แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทางใต้ สู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้แถบหมู่เกาะต่าง ๆ และทางตะวันตกผ่านเอเชียใต้ เมโสโปเตเมีย ไปยังยุโรป และแอฟริกา

ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบทางโบราณคดีเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนลำดับเหตุการณ์นี้ว่าเป็นจริงตามข้อสันนิษฐานหรือไม่ และการขุดค้นครั้งใหม่อาจเผยให้เห็นไม่เพียงแค่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับไก่ในช่วงก่อนหน้านี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการย้ายถิ่นของไก่ทั่วโลกก่อนหน้านี้อีกด้วย

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

PNAS. (2022). The biocultural origins and dispersal of domestic chickens. เข้าถึงได้จาก https://www.pnas.org/doi/10.1073/pnas.2121978119


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มิถุนายน 2565