พระองค์เจ้าขุนเณร ผู้นำหน่วยทหารกองโจร ของกองทัพสยาม

เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนเจ้าเณร
เขื่อนศรีนครินทร์ (เขื่อนเจ้าเณร) บนเส้นทางแควใหญ่ ที่ “บ้านเจ้าเณร” ที่สันนิษฐานว่าเป็น “กองโจร” ของเจ้าขุนเณร ในสงครามเก้าทัพ (ภาพจาก เว็บไซต์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย)

พระองค์เจ้าขุนเณร เป็นพระโอรสของพระเจ้าขุนรามณรงค์ และพระเจ้าขุนรามณรงค์ (ออกหลวงรามณรงค์) เป็นพระเชษฐาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้สิ้นชีวิตก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2310

พระราชภารกิจของพระองค์เจ้าขุนเณรในแผ่นดินรัตนโกสินทร์ ไม่ปรากฏชัดเจนว่าปฏิบัติหน้าที่อย่างใด เพียงแต่พระองค์ได้รับมอบหมายในงานเฉพาะกิจ ซึ่งสามารถค้นคว้ารวบรวมได้ดังนี้

1. สันนิษฐานได้ว่า พระองค์เจ้าขุนเณร ได้รับพระบัญชาโปรดเกล้าฯ ให้ไปสกัดทัพพม่า หรือรักษาด่านอยู่ที่ท่ากระดาน ก่อนสงครามเก้าทัพ ทหารที่พระองค์นำไปตั้งค่ายอยู่ระยะหนึ่ง ณ สถานที่แห่งนั้นมีชาวบ้านมาตั้งถิ่นฐานบริเวณใกล้เคียงอยู่ด้วย สันนิษฐานว่าคงเป็นชาวไทย มอญ ข่า ละว้า และกะเหรี่ยง

หมู่บ้านนี้ชาวบ้านเรียกว่า “บ้านเจ้าเณร” หรือ “บ้านพ่อขุนเณร” เขื่อนศรีนครินทร์เดิมก็ชื่อ เขื่อนเจ้าเณร

บ้านเจ้าเณรตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควใหญ่ ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ปัจจุบันถูกน้ำท่วมหมดแล้วรวมทั้งเมืองท่ากระดาน ด่านแม่แฉลบและด่านกรามช้าง ซึ่งเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์อันสำคัญยิ่ง

2. กรณียกิจที่ปรากฏชัดเจนและมีความสำคัญยิ่งคือ เหตุการณ์ในการทำสงครามกับพม่าที่เรียกว่า สงครามเก้าทัพ หรือสงครามทุ่งลาดหญ้า ณ เมืองกาญจนบุรีในปี พ.ศ. 2328 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

พระองค์เจ้าขุนเณรได้รับหน้าที่พิเศษหรือที่เรียกว่าหน้าที่เฉพาะกิจ โดยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท โปรดเกล้าฯ ให้เป็น หัวหน้ากองโจร หรือเรียกกันอย่างสมัยใหม่ว่า เป็น ผู้บังคับการกองรบพิเศษ มีหน้าที่เฉพาะกิจคือการทำลายกองกำลังพม่า ตัดกำลังแย่งชิงอาหารและยุทโธปกรณ์ของพม่าจากที่ตั้งกองเสบียงและสัมภาระ รบกวนรังควานแย่งชิงทำลายกองเกวียนกองช้างกองม้า ที่นำเสบียงมาจากเมืองเมาะตะมะ เมืองทวาย ตะนาวศรี นำกำลังเข้าไปทางบกทางน้ำในพื้นที่ของข้าศึก แทรกซึมเข้าไปในที่ตั้งของข้าศึก

รวมทั้งอาศัยภูมิประเทศเหตุการณ์ดินฟ้าอากาศในขณะนั้น จู่โจม โจมตี ทำลาย และจับกุมกำลังทหารของพม่าทำให้ข้าศึกพะวักพะวน ต้องดึงกำลังมารักษาพื้นที่ส่วนหลังมากขึ้น เป็นการทำลายขวัญของพม่าให้ลดถอยในการสู้รบ การปฏิบัติงานสำคัญและกว้างขวางเสี่ยงต่อภัยอันตรายตลอดเวลา พระองค์เจ้าขุนเณรใช้ทหารเพียง 1,800 คนเท่านั้น ผู้เขียนเข้าใจว่าคงมีการคัดเลือกทหารที่มีความสามารถเป็นกรณีพิเศษ

กองโจรของพระองค์เจ้าขุนเณรโดยมากปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ส่วนหลังของกองทัพพม่า พื้นที่ปฏิบัติการเข้าใจว่าอยู่ในเส้นทางเมาะตะมะ-ด่านพระเจดีย์สามองค์-ท่าดินแดง-ไทรโยค-ท่ากระดาน กับเส้นทางทวาย-บ้องตี้-ไทรโยค-พุตะไคร้-ช่องแคบ-ทัพศิลา-ท่าด่าน เป็นระยะเวลา 2 เดือนเศษ ปรากฏผลตามพระราชนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า

“พระเจ้าปดุงทราบว่ากองทัพหน้ามาถึงประชิดอยู่กับไทย ได้แบ่งเสบียงในกองทัพหลวงส่งมายังกองทัพหน้าก็ถูกไทยตีชิงเอาไปเสียเนื่องๆ ครั้งหนึ่งใช้เอาเสบียงบรรทุกช้าง 60 เชือก (ผู้เขียนเข้าใจว่าคงมีกองม้าต่างวัวต่างด้วย) มีกองลำเลียงเสบียง คุมมา 500 คน กองโจรของไทยไปซุ่มอยู่ก็ตีเอาไปได้หมด ทีหลังจึงส่งเสบียงกันไม่ได้”

อีกตอนหนึ่งว่า

“กรมพระราชวังบวรฯ ทรงสังเกตเห็นว่ากองทัพพม่าอดอยากครั่นคร้ามมากอยู่แล้ว ครั้นถึง ณ วันศุกร์ เดือน 3 แรม 4 ค่ำ ปีมะเส็ง ก็ตรัสสั่งให้กองทัพไทยเข้าระดมตีค่ายพม่าพร้อมกันทุกค่าย ในเวลาเดียวกันพม่าก็แตกฉาน ทั้งกองทัพที่ 4 และที่ 5 ไทยได้ค่ายหมดทุกค่าย ฆ่าฟันล้มตายเสียเป็นจำนวนมาก ที่เหลือตายก็แตกหนีไป กองโจรของพระองค์เจ้าขุนเณรพบเข้าก็ซ้ำเติมฆ่าฟันพม่าและจับส่งมาถวายอีกก็มาก”

3. กรณียกิจครั้งสุดท้ายของพระองค์เจ้าขุนเณร ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จากหนังสืออานามสยามยุทธ ได้พบพระนามของพระองค์เจ้าขุนเณรอีก ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า น่าจะเป็นพระองค์เดียวกันกับพระองค์เจ้าขุนเณรในสงครามเก้าทัพที่กาญจนบุรี เพราะพิจารณาข้อความตอนหนึ่งที่ขุนนางผู้ใหญ่ได้นำหนังสือกราบบังคมทูลถึงการปฏิบัติการรบกับกองทัพพระเจ้าอนุเวียงจันทน์ในฐานะกองโจร และกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแม่ทัพหลวงทรง ตรัสว่า

“พระองค์เจ้าขุนเณรเขาเคยได้กระทำการศึกสงครามชำนิชำนาญมาแต่ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง แต่ครั้งท่านเสด็จไปตีพม่าที่เขาชะงุ้มราชบุรี ครั้งนั้นเจ้าขุนเณร เขาได้เป็นนายทัพกองโจรไปตีกองลำเลียงพม่าเขาเคยมีชัยชนะมาแล้ว” (ผู้เขียนเข้าใจว่าน่าจะเป็นเหตุการณ์ในสงครามเก้าทัพมากกว่าซึ่งจะได้ค้นคว้าต่อไป)

ข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า

“กรมพระราชวังบวรฯ ตรัสเรียกพระองค์เจ้าขุนเณรให้เข้ามาเฝ้าในที่ใกล้ จึงพระราชทานพระแสงดาบฝักทองคำองค์หนึ่งแด่พระองค์เจ้าขุนเณรเป็นรางวัล”

พระองค์เจ้าขุนเณรทรงเป็นนายทัพกองโจรในสงครามเก้าทัพ ปี พ.ศ. 2328 และเป็นนายทัพกองโจรสงครามเจ้าอนุในปี พ.ศ. 2365 ระยะเวลาห่างกัน 41 ปี จึงสันนิษฐานได้ว่าพระองค์เจ้าขุนเณร ออกสงครามทรงเป็นแม่ทัพกองโจร ในขณะพระชนมายุเกิน 60 พรรษา ซึ่งเราคงเห็นเป็นทางเดียวกันว่าอยู่ในเกณฑ์สูงอายุแล้ว แต่พระองค์ก็ยังทรงเก่งกล้าสามารถปฏิบัติหน้าที่ ได้รับความสำเร็จมาด้วยดีและฝากฝีมือการรบกลยุทธ์ของกองโจรไว้ให้กับทหารของเจ้าอนุจนเป็นที่ครั่นคร้ามกันทั่วไป

ผู้เขียนขอรวบรวมการปฏิบัติการรบแบบกองโจรพอให้ทราบว่า พระองค์ปฏิบัติการแบบกองโจรที่ใดบ้างและมีกำลังอย่างไรใช้หลักการอย่างใด กรมพระราชวังบวรฯ โปรดให้พระองค์เจ้าขุนเณรเป็นนายทัพกองโจรตามที่ทราบมาแล้ว แต่นายทัพกองโจรท่านนี้คุมกำลังกองโจรที่ไม่ใช่เป็นคนไทย แต่เป็นคนพม่าคนทวาย ซึ่งเป็นนักโทษมาแล้วด้วยจำนวน 500 คน (ภายหลังให้ทหารเมืองนครราชสีมามารวมด้วยอีก 500 คน โดยให้พระณรงค์สงครามเป็นหัวหน้า) กองโจรต่างชาตินำโดยแม่ทัพไทยได้เริ่มออกปฏิบัติการรบแบบกองโจร ในขณะที่กองทัพหลวงเข้าตีค่ายทหารลาวที่หนองบัวลำภู ค่ายส้มป่อย ค่ายทุ่งลำพี้และค่ายเขาช่องสารเป็นลำดับไป

ผู้เขียนได้ค้นคว้าการรบแบบกองโจรของพระองค์เจ้าขุนเณร ในสงครามเก้าทัพมีบันทึกไว้น้อย แต่สงครามกับเจ้าอนุเวียงจันทน์ ในแผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 ในปี 2368 มีบันทึกสถานการณ์สงคราม สถานที่ทำการค่อนข้างสมบูรณ์จากหนังสือ อานามสยามยุทธ ซึ่งเป็นเอกสารของเจ้าพระยาบดินทรเดชาขุนพลแก้วของสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ผู้เขียนขอยกเอาสถานการณ์รบแบบกองโจรของพระองค์เจ้าขุนเณรไว้บางส่วนเท่านั้น

ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นนเรศร์โยธี กรมหมื่นเสนีย์บริรักษ์ เป็นแม่ทัพใหญ่นำกำลังเข้าประชิดทหารลาวที่ค่ายส้มป่อย เจ้าหน่อคำแม่ทัพใหญ่ค่ายส้มป่อยนำหน้าทหารเข้าตีค่ายทหารไทย พระยาเสน่หาภูธรและพระยาวิสูตรโกษาแม่ทัพหน้า ยกทหารออกต้านทานสัประยุทธ์ยิ่งแทงฟันกันเป็นสามารถยังไม่แพ้ไม่ชนะกันทั้งสองฝ่าย ไทยไพร่พลน้อยกว่าลาวจึงล่าทัพเข้าค่ายปีกกาปิดประตูค่ายรักษามั่นไว้

กรมหมื่นนเรศร์ฯ กับกรมหมื่นเสนีย์ฯ แม่ทัพใหญ่ได้ทราบข่าวจากม้าเร็วว่า กองทัพหน้าถูกทหารลาวล้อมไว้ จึงยกกำลังเข้าไปแก้ไขสถานการณ์อย่างเร่งด่วนโดยประมาท จึงถูกพระยาแสนหาญกับพระยาน่านมือเหล็กแม่ทัพกองซุ่มของลาวคุมทหาร 8,000 คนซุ่มอยู่ข้างป่าดงตะเคียน ยกพลเข้าโจมตีกองทัพกรมหมื่นทั้ง 2 พระองค์ ต่อสู้ตะลุมบอนฟันแทงกันด้วยอาวุธสั้นทั้งสองฝ่าย ฝ่ายไทยเสียเปรียบจึงถูกทหารลาวล้อมไว้อีกทัพหนึ่ง

ฝ่ายพระองค์เจ้าขุนเณรซึ่งเป็นแม่ทัพนายกองโจร ยกกองทัพพม่าทวายไทยไปซุ่มคอยตีกองลำเลียงลาวอยู่ในป่าหลังค่ายทุ่งส้มป่อย ขณะนั้นพลลาวในค่ายทุ่งส้มป่อยออกเที่ยวหาเผือกมันกิน 7 คน กองโจรไทยม้าเร็วขี่ม้าเข้าล้อมจับได้ทั้ง 7 คนมาถามได้ความว่า

“เจ้าหน่อคำเป็นแม่ทัพใหญ่คุมพลทหารพันแปดร้อยยกไปตีกองทัพไทย และให้ท้าวเพี้ยคุมพลทหารพันหนึ่งอยู่รักษาค่าย แล้วเจ้าหน่อคำจัดการระวังรักษาทางป่าและหนองน้ำลำธารเป็นสามารถ พระองค์เจ้าขุนเณรได้ทราบดังนั้นตกพระทัยเกรงว่าพลลาวมากนักจะยกไปตีไทยๆ มีพลน้อยจะเสียท่วงทีแก่ข้าศึกลาว พระองค์เจ้าขุนเณรมีความวิตกนักจึงดำริหาอุบายที่จะไปช่วยกองทัพไทย ฝ่ายกองหน้าที่ถูกล้อมนั้นจะทำเป็นประการใดดี แต่ทรงดำริอยู่ช้านานจึงคิดขึ้นได้เป็นกลอุบายอย่างหนึ่ง จึงเรียกลาว 7 คนที่จับมาได้นั้นเข้ามาตรัสว่า กูจับมึงทั้ง 7 คนนี้ได้โทษถึงถึงตายทั้งสิ้น แต่กูจะไม่ฆ่าจะยกโทษให้พ้นความตายทั้ง 7 คน แต่จะยึดพวกมึงไว้ 6 คนก่อนแล้วจะให้พวกไทยแต่งตัวเหมือนลาวปลอมหาบคอนแทนพวกมึงทั้ง 6 คน รวมเป็น 7 คนทั้งพวกมึงคนหนึ่งจะให้พวกมึงพาพวกไทย 6 คนเข้าไปในค่ายลาวในเวลาวันนี้ อย่าให้ลาวในค่ายรู้เหตุการณ์ได้ ถ้าสำเร็จการประสงค์ของกูแล้วกูจะปูนบำเหน็จให้ถึงถึงขนาดกับความชอบของมึง ซึ่งจะรับอาสาทำการตามกสั่งนี้ได้หรือไม่ได้ให้ว่ามา”

ฝ่ายลาว 7 คนต่างคนก็กราบลงแล้วทูลว่า

“ซึ่งท่านให้ชีวิตพวกข้าพเจ้า 7 คนไว้ครั้งนี้นั้นพระเดชพระคุณหาที่สุดที่แล้วมิได้ พวกข้าพเจ้าทั้ง 7 คนพร้อมใจกันจะขอรับอาสาปฏิบัติทำตามถ้อยคำท่านนั้นทุกประการ พระองค์เจ้าขุนเณรจึงตรัสสั่งพระณรงค์สงคราม ให้เป็นแม่กองอาทมาตทะลวงฟันคุมพลทหารห้าร้อยถืออาวุธสั้นและมีคบเพลิงสำหรับตัวทุกคนจะได้เผาค่ายลาว ให้ยกไปซุ่มอยู่ตามชายป่าห่างค่ายลาวประมาณ 40 เส้นหรือ 50 เส้นพอควรการให้ทันท่วงที ถ้าเห็นลาวพาไทย 6 คนเข้าไปในค่ายเผาค่ายเจ้าหน่อคำได้แล้ว ให้พระณรงค์สงครามยกกองทัพอาทมาต รีบเร่งต้อนพลโห่ร้องกระหนำสำทับหนุนเนื่องกันเข้าไปหักค่ายให้พังลงแล้ว ไฟเผาค่ายลาวให้ไหม้สว่างขึ้น พลทหารลาวเจ้าหน่อคำก็จะตกใจพะว้าพะวังทั้งข้างหน้าข้างหลังก็จะถอยทัพล่าไปเอง ไทยที่อยู่ในที่ล้อมก็จะออกได้แล้วจะได้เป็นทัพกระหนาบด้วย”

พระองค์เจ้าขุนเณรจึงตรัสสั่งไทย 6 คนที่แต่งกายเป็นลาวนั้นว่า

“ถ้าเข้าค่ายลาวได้ให้ไล่ฆ่าฟันลาวในค่ายคลุกคลีตีลาวไปอย่าให้ลาวทันตั้งตัวหาอาวุธได้ ให้นำคบเพลิงเผาค่ายลาวขึ้นด้วย”

ฝ่ายพระองค์เจ้าขุนเณรคุมพลทหารอาทมาต 500 คนถืออาวุธสั้นยาวครบทุกคน ยกไปซุ่มแอบอยู่ตามชายป่าข้างทิศใต้ ห่างค่ายลาวข้าศึกที่ทุ่งส้มป่อยประมาณ 50 เส้น ทหารไทย 6 คนกับลาว 1 คนเป็น 7 คน แต่งเป็นลาวหาบคอนพากันเดินไปถึงประตูค่ายเจ้าหน่อคำเป็นเวลาเย็นจวนจะค่ำ เห็นนายประตูกำลังรับประทานข้าวอยู่ จึงชักดาบออกฟันนายประตูตายพร้อมกัน 4 คน แล้วจึงวิ่งเข้าค่ายได้ก็ไล่ฟันลาวไปจนถึงกลางค่าย บ้างก็นำคบเพลิงเผาค่ายขึ้นเป็นหลายแห่ง

พลทหารลาวในค่ายจะจับไม่ถนัด เพราะแต่งกายเป็นลาวเหมือนกัน ต่างคนก็ต่างตกใจหารู้ว่าเหตุมาแต่ทางไหนไม่ บ้างเข้าดับไฟบ้างไล่ติดตามค้นหาผู้ร้ายภายในค่ายเป็นอลหม่าน พระองค์เจ้าขุนเณรและพระณรงค์สงครามทั้งสองกองที่ซุ่มอยู่นั้น ครั้นเห็นแสงไฟสว่างขึ้นที่ค่ายลาว จึงยกพลทหารโห่ร้องเดินตามกัน หนุนเนื่องเข้าไปตีค่ายลาวพร้อมกัน พลทหารไทยพังค่ายเข้าไปในค่ายได้ ไล่ฆ่าฟันลาวตายเป็นกองๆ ช้างงาในค่ายลาวซึ่งตกน้ำมันอยู่นั้น ครั้นเห็นแสงไฟสว่างก็ตกใจแตกปลอกออกไล่แทงผู้คนล้มตายแล้วแล่นเข้าป่าไปในค่ำวันนั้น

ฝ่ายพระยาไชยสงคราม ท้าวสุวรรณ ท้าวหมี สามนายคุมพลทหารพันหนึ่งอยู่รักษาค่ายที่ทุ่งส้มป่อย เห็นเชิงศึกไทยกระชั้นที่เข้ามาในค่ายได้โดยเร็วดังนั้น ก็ตกใจจะรวบรวมทหารให้เป็นหมวดเป็นกองออกต่อสู้ก็ไม่ได้ ด้วยรี้พลแตกตื่นตกใจมากจะกดไว้ไม่อยู่ จึงปล่อยให้แตกแหกค่ายหนีไปซ่อนกายในป่าทั้งนายไพร่ได้บ้าง ที่ตายก็มากที่เหลือตายก็มี

พระองค์เจ้าขุนเณรตีค่ายทุ่งส้มป่อยแตกแล้ว ได้ช้างพลายพังระวางเพรียวยี่สิบช้างม้าร้อยม้าโคต่างเกวียนกระบือเป็นอันมาก กับเครื่องสรรพาวุธใหญ่น้อยกระสุนดินดำ พร้อมด้วยได้ลาวเชลยฉกรรจ์สองร้อย ทั้งที่ทุพพลภาพป่วยไข้ด้วยร้อยเศษ พระองค์เจ้าขุนเณรมีรับสั่งให้พระณรงค์สงครามคุมพลไทยแปดร้อยอยู่รักษาค่ายเดิม ให้รักษาลาวเชลยสามร้อยไว้ด้วย

แล้วพระองค์เจ้าขุนเณรคุมพลทหารอาทมาต 500 รีบรุดเร่งยกลงมาช่วยทัพไทยกองหน้าซึ่งถูกลาวล้อมไว้ เจ้าหน่อคำแม่ทัพใหญ่ฝ่ายลาวเห็นแสงไฟไหม้ค่ายของตน ขึ้นข้างหลังดังนั้นก็ตกใจ รู้ว่าค่ายของตนเป็นอันตรายเสียแก่ข้าศึกไทยแล้ว ด้วยว่ามาหลงล้อมไทยอยู่ข้างนี้จึงเสียค่ายข้างโน้น เจ้าหน่อคำก็เลิกการล้อมไทยถอยหนีล่าทัพกลับมาตั้งรั้งทัพอยู่

ขณะนั้น กรมหมื่นนเรศร์โยธี กรมหมื่นเสนีย์บริรักษ์ ทั้งสองพระองค์ที่อยู่ในที่ล้อมลาวทอดพระเนตรเห็นกองทัพลาวที่ล้อมนั้นล่าถอยไป จึงเข้าพระทัยชัดว่าชะรอยจะมีกองทัพไทยผู้ใดไปจุดเผาค่ายลาวๆ จึงได้ล่าถอยไป จึงตรัสสั่งให้นายทัพนายกองไทยเร่งรีบยกติดตามตี ทัพลาวเจ้าหน่อคำที่ล่าถอยหนีไปนั้นให้เต็มมือ เจ้าหน่อคำสู้พลางล่าถอยหนีมาพลางเดินทัพรุดหนี้มาตามทางในป่า ก็พอมาปะทะพบกองทัพพระองค์เจ้าขุนเณรยกมาเป็นทัพกระหนาบ หลังเจ้าหน่อคำๆ กระทำศึกดุจดังฟองสกุณปักษาชาติอันถูกพายุพัด มาประดิษฐานตั้งกลิ้งกลอกอยู่ริมก้อนศิลาที่เป็นแง่อันแหลม

ฝ่ายพระองค์เจ้าขุนเณรต้อนพลทหารให้โห่ร้องทะลวงฟันยิ่งแย่งแทงด้วยหอกและหลาว พลหนุนเนื่องกันเข้าโจมตีเป็นทัพกระหนาบสกัดทัพลาวไว้และฆ่าฟันลาวตายเป็นอันมาก ฝ่ายเจ้าหน่อคำเห็นเชิงศึกไทยหลักแหลมนัก เหลือกำลังจะตั้งต่อสู้หาได้ไม่ จึงพาทหารที่ร่วมใจสองร้อยคนเศษก็ฝ่าฟันออกจากที่ล้อมได้หนีไปในป่าหลายวัน ถึงค่ายช่องเขาสารแต่ว่าต้องถูกอาวุธมีบาดแผลเจ็บป่วยไปด้วยหาตายไม่ ขณะนั้นไพร่พลลาวแตกฉานซ่านเซ็นหนีเร้นไปทั่วป่า จะควบคุมกันเข้าก็ไม่ได้ด้วยหานายทัพนายกองจะบังคับปกครองมิได้แล้ว

ฝ่ายกองทัพไทยทั้งหลายไล่พิฆาตฆ่าฟันแทงลาวล้มตายเป็นอันมาก ศพสาวซ้อนซับทับกันเต็มไปทั้งป่า นายทัพนายกองไทยเก็บได้เครื่องศาสตราวุธต่างๆ ไว้ได้ทุกอย่าง จับได้ช้างใหญ่ได้ขนาดพลาย 49 เชือก ช้างพัง 41 เชือก ช้างเล็กไม่ถึงขนาดรวมทั้งพลายพังด้วยเป็น 174 เชือก ม้า 346 ม้า โค กระบือ 600 เสบียงอาหารพร้อมบริบูรณ์ เจ้าหน่อคำแม่ทัพใหญ่หนีไปกับทหารร่วมใจสองร้อยเศษไปถึงค่ายเขาสาร ทหารไทยหาจับได้ไม่

การปฏิบัติการแบบกองโจร ของพระองค์เจ้าขุนเณรในพื้นที่การรบดังกล่าว ทำให้การรบของทัพหลวงได้รับชัยชนะรวดเร็วขึ้น แก้ไขสถานการณ์ที่เพลี่ยงพล้ำแก่ข้า ศึกกลับกลายเป็นการได้เปรียบอย่างคาดไม่ถึง ใช้กลอุบายเฉพาะหน้าที่เสี่ยงต่อชีวิตและการแพ้ชนะชั่วเวลาอันสั้น ใช้การพิจารณาสถานการณ์ความรู้ในด้านจิตวิทยาเกี่ยวกับข้าศึกได้ถูกต้อง ใช้การลวงการจู่โจม ความเด็ดขาดปฏิบัติการรบอย่างกล้า หาญรุนแรงรวดเร็ว พฤติกรรมการรบของพระองค์ท่านเป็นแบบอย่างการรบอย่างกองโจรโดยแท้ และยังเป็นตัวอย่างที่เป็นแนวทางของการรบแบบกองโจรในสมัยนี้ได้อย่างสมบูรณ์ยิ่ง พระองค์จึงได้ทรงได้รับคำชมเชยและรางวัลดาบฝักทองคำจากกรมพระราชวังบวรฯ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

ผู้เขียนได้ตรวจค้นหลักฐานยังไม่พบหลักฐานว่าพระองค์เจ้าขุนเณรประสูติเมื่อใด สวรรคตที่ใด และได้รับพระราชทานยศตำแหน่งชั้นใดๆ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “พระองค์เจ้าขุนเณร” เขียนโดย พลโท รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2532


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มิถุนายน 2565