ถกความเชื่อเรื่อง “เต้านม” ในคติตะวันตก-ออก เครื่องสะท้อนสังคม “แม่เป็นใหญ่”

ปฐมเหตุแห่งเต้า

หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขออกมาแถลงผลวิจัยว่า กวาวเครือ หาได้มีพิษภัยทำให้เกิดมะเร็งที่เต้านมต่อหญิงสาวแต่ประการใดไม่

ทันใดนั้นวัฒนธรรมบริโภคอาหารเสริมเต้าแคปซูลราคามหาโหดก็หวนกลับมาแพร่สะพัดท่ามกลางหมู่สาว ๆ ที่อยากอึ๋มอีกระลอกหนึ่ง ซึ่งก่อนนั้นไม่นาน ข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ก็เพิ่งโชยกลิ่นกระแสการตบเต้ากระตุ้นต่อมให้เต่งโตอย่างไม่เกรงกลัวมะเร็งถามหาไปหมาด ๆ ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงแฟชั่นศัลยกรรมเสริมทรวงอก อันกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้วในสังคมไทย

Advertisement

มีประเด็นที่น่าขบคิดมากมาย เกี่ยวกับวิวัฒนาการเรื่องของ “เต้า”!

เดิมนั้น “เต้า” เคยเป็นเครื่องสะท้อนสังคมว่า “แม่เป็นใหญ่” เป็นเครื่องมือแสดง “อำนาจของผู้หญิง” สามารถเปิดเผยให้เห็นในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่ขวยเขิน ใครจะเต้าใหญ่-เต้าเล็กไม่สำคัญ ไม่ต้องมี “ปม” เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มา

ต่อมา “เต้า” ของแม่กลับกลายเป็น “วัตถุที่สูญหาย” ทั้ง ๆ ที่เคยเป็นสมบัติชิ้นแรกของเราขณะเป็นทารก เนื่องจาก “เต้า” ถูกแทนที่ด้วย “ขวดนมพลาสติก” ไม่พอ ยังถูกยัดเยียดด้วย “หน้าอกพลาสติก” อีกชั้นหนึ่ง

และในปัจจุบัน “เต้า” กำลังเดินทางไปสู่ความเป็น “วัตถุทางเพศ” อย่างเบ็ดเสร็จ!

เต้านี้มีตำนาน

ในโลกศิลปะ เราพบงานจิตรกรรมและประติมากรรมมากมายที่แสดงถึงเรื่องราวของ “เต้า” ในมิติต่าง ๆ ไม่ซ้ำแบบกัน มีเต้าชิ้นเด็ดจำนวนไม่น้อยที่สมควรได้รับการยกย่องกล่าวขานถึงในบทความชิ้นนี้ทั้ง “เต้าตะวันตก” และ “เต้าตะวันออก”

เริ่มจาก “เต้าประวัติศาสตร์” นาม Venus de Willendorf ถือว่าเป็นโคตรเหง้าแห่งเต้ารุ่นเก๋าคู่แรกที่ผู้ศึกษาศิลปะต้องรู้จัก ด้วยมีอายุเก่าแก่ถึงหมื่นปี เป็นเต้าที่มองเผิน ๆ แล้วดูน่าขบขันยิ่งนัก คล้ายดั่งตุ๊กตาล้มลุก แขน-ขาสั้น อ้วนป้อมพุงพลุ้ย แต่เมื่อลองพินิจพิเคราะห์ให้ถ้วนถี่จะพบว่า นี่คือเต้าที่มีความยิ่งใหญ่เอาเรื่องทีเดียว เพราะสรีระของคุณย่าทวดวีนัสแห่งวิลเลนดอร์ฟชิ้นนี้เปิดเผยให้เห็นถึงธรรมชาติของผู้หญิงที่ผ่านสถานภาพของการเป็น “เมีย” และ “แม่” มาแล้วอย่างสมบูรณ์แบบ สองเต้าจึงหย่อนยานเท้งเต้ง หน้าท้องคล้อยเบ๊อะบ๊ะ ปล่อยเนื้อปล่อยตัวเผละผละ ฟ้องว่าเป็นเต้าที่ผ่านฤดูกาลแห่งการถูกดูดเคล้าเค้นคลึงจากลูกและผัวมาอย่างเมามัน จนไม่ยี่หระต่อความงามให้เต้าต้องตั้งเต่งตึงชูชันอีกต่อไป

วีนัสแห่งวิลเลนดอร์ฟ (Venus of Willendorf) (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2544)

เต้าในอุดมคติ

เต้าที่งดงามที่สุดในโลกเห็นจะไม่มีใครเกิน Venus de Milo (พบที่เกาะมิโล) ของกรีกเป็นแน่แท้ เป็นเต้าแบบอุดมคติ มีขนาดเล็กกะทัดรัดดุจสาวแรกแย้มหรือสาวพรหมจารี ประติมากรทั่วโลกยกย่องว่า นี่คือแบบฉบับของเต้าที่คลาสสิกที่สุด แม้อายุอานามของเจ้าหล่อนจะปาเข้าไปถึง 2,200 ปีแล้วก็ตาม แต่ยังคงไว้ซึ่งสัดส่วนอันเย้ายวนชนิดที่ยังไม่มีเต้าใดอาจหาญมาเทียบได้ ที่เห็นว่าพอจะสูสีอยู่บ้างก็คือ เต้าวีนัสผู้ถือกำเนิดบนกาบหอย งานชิ้นโบแดงของบอตติเชลลิเพียงชิ้นเดียว

ส่วนซีกโลกตะวันออกนั้น มีเต้านางฟ้าอยู่ 2-3 กลุ่ม ที่ถือว่างดงามแต่ก็ค่อนไปทางบึบบับคล้ายสาวใหญ่มากกว่าสาวรุ่น ได้แก่ ภาพสลักนางอัปสราขอมที่ปราสาทนครวัด นางอัปสราจามที่ปราสาทตระเกียว และนางอัปสรลังกาที่เขาสีคิริย

อย่างไรก็ดี ทั้งวีนัสและอาภัสราที่กล่าวมานี้ แม้จะเป็นเต้าที่แสนวิจิตร แต่ก็เป็นเพียงการแสดงให้เห็นถึง “สรีระ” ของเพศหญิงเท่านั้น หาได้ซ่อนคติปรัชญาอันใดแฝงเร้นเบื้องหลังเต้างามไม่

รูปปั้น Venus de Milo จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ (Louvre Museum) เมื่อทศวรรษ 1960 (Photo by AFP)

เต้าตะวันตก : บุคลาธิษฐาน

เท่าที่ประมวลดู ดิฉันพบว่าเต้าตะวันตกมีความน่าสนใจ ในแง่ของการเป็นสัญลักษณ์แห่ง “มหามาตา” อย่างชัดเจน จะเห็นว่าศิลปินทุกสมัยตั้งแต่บรรพกาลจวบจนปรัตยุบันต่างพยายามถ่ายทอดความยิ่งใหญ่แห่ง “เต้า” ออกมาเป็นงานศิลปะเชิงบุคลาธิษฐาน โดยใช้ตัวละครสามตัวนี้เป็นสื่อเสมอมา :- อาร์เตมีส มารี และการิตัส

ประติมากรรมน้ำพุเทพีอาร์เตมีส ตกแต่งสวนโรมัน ณ พระราชวังฤดูร้อนของพระสันตะปาปา ที่เมืองติโวลี อิตาลี (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2544)

เทพอาร์เตมีส (Artemis)

ปรากฏอยู่ในเทพนิยายกรีก มีศักดิ์เป็นพี่น้องฝาแฝดของเทพอปอลโล จุดเด่นของนางอยู่ที่การมีเต้าคล้ายเถาองุ่นยุบยับไปหมด (แต่มีนักประวัติศาสตร์ศิลปะบางคนค้านว่าคล้ายกับอัณฑะของโคต่างหาก) แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของ “น้ำนมแห่งมารดา” ที่สามารถพลีกายกลั่นเลือดในอกหล่อเลี้ยงทารกได้ทั่วทั้งโลกอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

การบูชาเทพีอาร์เตมีสได้รับความนิยมไม่เพียงเฉพาะในอารยธรรมกรีก-โรมันเท่านั้น แต่ยังแพร่กระจายไปยังดินแดนตะวันออกกลางที่นับถือศาสนายิวและอิสลามแถบอิสราเอล ตุรกี อิหร่าน อีกด้วย นอกจากนี้ยังส่งอิทธิพลให้กับงานประติมากรรมน้ำพุสมัยหลัง ๆ ที่นิยมทำกระแสน้ำไหลพวยพุ่งออกมาจากเทพีหลายเต้า

พระแม่มารี

โดยปกติเรามักพบภาพพระแม่มารีอุ้มพระคริสต์ในอ้อมแขน นาน ๆ ที่จึงจักเห็นตอนที่พระนางประทานน้ำนมแก่บุตร โดยมากเป็นช่วงที่พักแรมขณะเดินทางไกล อันการป้อนน้ำนมแด่ทารกน้อยนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก สิ่งที่น่าตื่นเต้นก็คือ เรายังได้พบภาพพระแม่มารีให้พระเยซูดื่มน้ำนมในวัยหนุ่ม ดังเช่นตอน The Last Judgment (การตัดสินครั้งสุดท้าย) ก่อนจะเกิดเหตุการณ์นั้น พระแม่มารีผู้ซึ่งมีลักษณะอ่อนเยาว์ดุจสาวพรหมจารีตลอดกาลได้ควักเต้าให้พระเยซู (ผู้มีพระพักตร์แก่กว่ามารดา) ดื่ม หากจะให้ตีความก็คงหมายถึงว่า ก่อนที่พระเยซูจะทำการพิพากษาชะตากรรมของมวลมนุษยโลก จำเป็นอย่างยิ่งที่พระองค์ควรได้รับการถ่ายทอดความรัก ความเมตตา และความบริสุทธิ์ยุติธรรมจากพระมารดาก่อน

เทพีการิตัส (Caritas)

หรือเทพี Charity สัญลักษณ์แห่งความเสียสละและการแบ่งปันอันยิ่งใหญ่ นางมีลักษณะเป็นหญิงรูปงาม ดูเผิน ๆ แล้วมีความคล้ายคลึงกับพระแม่มารีมาก หากสังเกตให้ดีจะพบความแตกต่างนิดหน่อยตรงที่เทพการิตัสมักอยู่ท่ามกลางวงล้อมของเด็กเล็กเด็กน้อยที่มากระจองอแงร้องขอน้ำนมเต็มไปหมด ในขณะที่พระแม่มารีอุ้มพระบุตรเพียงองค์เดียว

นอกจากจะใจดีให้น้ำนมแก่เด็กเล็ก ๆ แล้ว เทพีการิตัสยังแบ่งปันเจือจานหยาดกษีรธารไปสู่เหล่านักบุญตกยากอีกจำนวนมาก เช่น Saint Bernard แห่ง Clairvaux และบาทหลวงชรา Cimon ขณะหลบลี้อาญาแผ่นดินกำลังหิวโซ อย่าลืมว่ายุคที่ศาสนาคริสต์เริ่มถือกำเนิดใหม่ ๆ นั้น ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวโรมันหัวโบราณและชาวยิวอย่างมาก ชนผู้หวงอำนาจเก่ากลุ่มนี้จำต้องคอยปราบปรามเหล่านักบุญและผู้ฝักใฝ่ศาสนาคริสต์ อย่างชนิดไม่ปรานีปราศรัย

วิกฤติการณ์ช่วงนั้นเปิดโอกาสให้โลกได้พิสูจน์ถึงพลังอันเหลือเฟือแห่งความเป็นแม่ “ผู้ให้ชีวิตแด่ผองชน” ของสตรีเพศ นอกจากเทพีการตัสแล้ว ยังมีนักบวชหญิงอีกรูปคือนักบุญอกาธา (Santa Agatha) ผู้มีความเสียสละเป็นเลิศ ถึงขนาดยอมให้คนนอกรีตตัดเต้าทั้งสองทิ้ง ทนซมซานโซซัดโซเซไปสิ้นชีพลงที่เกาะซิซิลีของอิตาลีในปี ค.ศ. 251 โทษฐานที่แอบให้น้ำนมแก่นักจาริกแสวงบุญพเนจรอดโซคู่หนึ่ง

ภาพวาดเทพีการิตัส (Caritas) หรือเทพี Charity โดย Guido Reni

เต้าตะวันออก : ธรรมาธิษฐาน

ในขณะที่ “เต้าตะวันตก” เปล่งศักยภาพด้วยสัญลักษณ์เชิงบุคลาธิษฐานอย่างแจ่มชัด “เต้าตะวันออก” กลับมีความซับซ้อนแยบยลยิ่งกว่า และมักนำเสนอผ่านงานศิลปะในเชิงธรรมาธิษฐาน ซึ่งพอจะจำแนกได้เป็น 2 ลักษณะ :- เพิ่มศักติ และประกอบศิวลึงค์

เต้าแห่งศักติ (ศากติ)

คำว่า “ศักติ” หมายถึง “พลังแห่งอิตถีเพศ” มาจากความเชื่อของชาวอินเดียและชาวอุษาคเนย์สมัยโบราณที่ว่า “อำนาจของผู้ชายจะมีความสมบูรณ์และศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริงต้องอาศัย “พลัง” ของสตรีเพศเข้ามาช่วยเสริมส่งด้วยอีกครึ่งหนึ่ง” ดังนั้น ประติมากรรมในศาสนาฮินดูจึงนิยมทำรูปเคารพของเทพีท่าทางขึงขังดุดันยืนเปลือยเต้าอย่างองอาจ ประดิษฐานวางเคียงข้างกับองค์เทพสวามิตามเทวาลัยต่าง ๆ อาทิ นางทุรคา (เจ้าแม่กาลี – เป็นภาคโหดร้ายของนางอุมา ชายาพระอิศวร) นางศรี (อีกนามคือภควดี – หรือลักษมีเทวี ชายาพระนารายณ์) และนางตารา (เป็นเทพที่ฝ่ายพุทธมหายานยืมไปใช้) ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการประกาศพลังอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ของอิตถีเพศผ่านเต้าขนาดมหึมา!

ในประเทศจีนสมัยราชวงศ์โจว ก็มีการบูชาศาลเจ้าแม่ 4-6 เต้า ถือว่าเป็นเครื่องหมายของ “พลัง” แห่งความเป็นหญิงเช่นเดียวกัน

ภควตี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะตาม เมืองดานัง เวียดนาม (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2544)

เต้ากับศิวลึงค์

ในศิลปะของจัมปา (จาม) ยุคอาณาจักรวิชัยปุระ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 17-18 ซึ่งเรียกกันว่าศิลปะแบบถัปมัม (Thap Mam – ปัจจุบันคือเมืองบิญดิญอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนาม) มีการใช้สัญลักษณ์รูปเต้าสตรีตกแต่งรายรอบฐานศิวลึงค์อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ถือว่าเป็น “เต้าปริศนา” ที่ไม่เคยพบในวัฒนธรรมอื่นใด สร้างความสับสนุนงงให้แก่นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวตะวันตกยิ่งนัก ตราบจนปัจจุบันก็ยังไม่มีใครกล้าตีความ ยกเว้นนายฟิลลิป แสตร์น ชาวฝรั่งเศส ที่พยายามถอดรหัสว่า การทำรูปเต้าของจามอาจมีความเกี่ยวพันกับชื่อบรรพบุรุษของพระเจ้าอินทรวรมันที่ 4 (กษัตริย์ขอมผู้มีชัยต่ออาณาจักรวิชัยปุระ) ซึ่งมีนามว่า Uroha แผลงมาจากคำว่า Urah (อุระห์) อันหมายถึงทรวงอก?

แต่ดิฉันกลับเห็นว่ารูปเต้าจากปราสาทถัปมัม น่าจะมีความเกี่ยวพันกับ “น้ำนม” โดยตรงมากกว่า เนื่องจากในคืนเพ็ญ “ศิวาราตรี” พวกพราหมณ์จะกระทำพิธีบูชาพระศิวะในเทวาลัย มีการนำน้ำนมโคสีขาวบริสุทธิ์ (โคเป็นพาหนะของพระศิวะ) มาราดรดแท่งศิวลึงค์ให้ไหลไปตามฐาน “สนานโยนิ” ผ่านไปยังท่อ “โสมศูทร” ครั้นพอเสร็จพิธีแล้ว จะมีเด็กยากไร้จากวรรณะศูทรและจัณฑาลแห่เข้ามาเอามือวักหรือเอาภาชนะมาตักเศษน้ำนมที่เหลือค้างตามท่อนั้นดื่มกิน ถือเป็น “ทานมัย” อย่างหนึ่ง

หาก “นัย” แห่งการทำรูปเต้าประดับรอบฐานศิวลึงค์เป็นดั่งที่ดิฉันตั้งข้อสมมติฐานจริง ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของ “เต้าตะวันออก” ทั้งในฐานะ “มารดาผู้หล่อเลี้ยงโลก” และ “ผู้ให้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด” ดุจเดียวกับการทำเต้าจำนวนนับไม่ถ้วนของเทพีอาร์เตมีส ผนวกรวมกับการเจือจานแบ่งปันน้ำนมของเทพีการิตัส ณ โลกฝั่งตะวันตกผสมผสานกัน

ฐานศิวลึงค์ ที่ปราสาทถัปมัม เมืองบิญดิญ เวียดนาม (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2544)

เต้าแบบไทย ๆ

มีข้อน่าสังเกตว่า “เต้า” ช่างมีความหมายต่องานศิลปกรรมของชาวคริสต์และชาวฮินดูอย่างเหลือล้น โดยศิลปินถือว่าเป็นเรื่องที่งดงาม ไม่ใช่สิ่งอุจาดอนาจาร แต่ไยเล่าในงานพุทธศิลป์ไทย กลับแทบไม่มี “เต้าชิ้นเอก” ขึ้นเวทีประชันกับเขาบ้างเลย

จริงอยู่เราพอจะพบเต้าวับ ๆ แวม ๆ ตามจิตรกรรมฝาผนัง ตั้งแต่ตัวมเหสีจนถึงภาพกากของชาวบ้านจนชินตา แต่ก็แทบจะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง ไม่มีบทบาทโดดเด่นในแง่มนุษยชาติ จิตรกรไทยโบราณวาดเต้ากลมดิกภายใต้สไบบางเบาปราศจากพลัง เป็นแค่เพียงภาพเล่าเรื่องที่สื่อให้เห็นว่านี่คือสรีระของตัวละครเพศหญิงเท่านั้น หาได้สื่อถึงคติปรัชญาอันลึกซึ้งไม่ว่าในเชิงบุคลาธิษฐาน หรือธรรมาธิษฐาน

จะเนื่องด้วยเพราะความละอายใจต่อธรรมะข้อ “หิริโอตตัปปะ” อย่างรุนแรงของนายช่าง ทำให้เกร็งไม่กล้าแสดงออก หรือเป็นเพราะว่าบทบาทของเพศแม่ยังไม่ได้รับการยกย่องให้เกียรติเท่าที่ควรในหมู่พุทธศาสนิกชนสยามกันแน่?

ถ้าเช่นนั้นคงไม่ต่างอะไรไปจากกรณีการกีดกัน “ภิกษุณี” ของสังคมไทยในขณะนี้แต่อย่างใดเลย!

ภาพจิตรกรรมเชิงสังวาสที่วัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี

เต้าในโลกพลาสติก

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าคุณค่าของ “เต้า” ได้ผกผันไปตามกระแสของโลกที่เหวี่ยงขว้าง จากที่เคยเป็นเครื่องมือประกาศ “อำนาจของผู้หญิง” สู่ “วัตถุที่สูญหาย” และกลายเป็น “วัตถุทางเพศ” ในที่สุดจึงขอฝากโศลกบทหนึ่งว่าด้วยเรื่องของ “เต้าในโลกพลาสติก” ซึ่งดิฉันได้รจนาไว้ในเชิงจิตวิเคราะห์ :-

ทุกข์ใดของหญิงเล่า   เท่าห้วงทุกข์แห่งเนินถัน

เพศทัณฑ์-รู้ไม่ทัน   หลงแบกทุกข์ทุรนทุราย

นมนี้มีอำนาจ   ปลุกสัญชาตญาณชาย

เนียนนุ่มรุมกระหาย   กระตื่นเหี้ยนกระหือรือ

ตบเต้ากระตุ้นต่อม   ให้เต่งโตเพื่อใครหรือ

ตูมเติบจนล้นมือ   มิอาจยื้อสังขารา

แข่งขันกันอวบอึ๋ม   ใครอกอิ่มกว่ากัน อา!

น้ำนมแห่งมารดา   พลันสิ้นค่าในบัดดล

ใดเล่าคือความงาม   เมื่อความทรามเข้าแทรกปน

เจ็บเต้าประจานตน   เพียงเปรอปรนกิเลสชาย

จากจุดให้กำเนิด   สู่กำหนัดมิรู้หน่าย

หมกมุ่นจนเมามาย   แค่เรือนกายที่เปล่ากลวง

เล็ก-ใหญ่ ไฉนหนอ   มิเคยพอหรือภาพลวง

ใหญ่-เล็ก ก็คือทรวง   ย่อมคล้อยล่วงยามโรยชรา

ชายใดแม้นชอบดู   จงหมายรู้ไว้เถิดว่า

จิตใจนั้นให้หา   วัยทารกเคยอดโซ

โหยหิวน้ำนมแม่   มีก็แค่น้ำนมโค

ลุ่มหลงสาวทรงโต   เพื่อลบปมที่กดดัน

มาเถิดอิสตรี   คืนศักดิ์ศรีสู่ชีวัน

ใหญ่-น้อยทุกเนินนั้น   ล้วนคือถันแห่งมารดร

เสียงจาบจ๊วบปากจ่อสองมือจับ

คว้าขยับดูดเต้า…เจ้าเนื้ออ่อน

ควานหาน้ำนมครางอย่างวิงวอน

เหลือบตาช้อนใจปลื้มได้ดื่มชิม

เนินเนื้อนุ่มแม่นี้มีรสชาติ

อย่าสอดพลาสติกใส่ในนมนิ่ม

ชื่นโอชาหวานสดยามรสลิ้ม

หลับตาพริ้มเพลินเคล้าสองเต้าไป

แม่อย่ากลัวนมยานไม่ตั้งเต่ง

แล้วข่มเหงลูกรักด้วยผลักไส

ขอดูดน้ำนมแม่ ใช่นมใคร

เมื่อเติบใหญ่ลูกจักได้ไม่มีปม

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เต้าตะวันตก เต้าตะวันออก” เขียนโดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2544


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มิถุนายน 2565