จากจลาจลสโตนวอลล์สู่ “เดือนแห่งความภาคภูมิใจ” (Pride Month)

ภาพงาน Bangkok Naruemit Pride (Parade THAILAND-LGBT-PRIDE-MARCH / AFP)

ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ ย่อมาจาก Lesbian (ผู้หญิงที่มีรสนิยมชอบผู้หญิง), Gay (ผู้ชายที่มีรสนิยมชอบผู้ชาย), Bisexaul (คนที่มีรสนิยมสามารถชอบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย), Transgender (บุคคลข้ามเพศ ซึ่งมีทั้งผู้หญิงข้ามเพศมาจากผู้ชาย และผู้ชายที่ข้ามเพศมาจากผู้หญิง) และ Queer (กลุ่มคนที่มีเพศลื่นไหล ไม่ได้จำกัดกรอบว่าตนจะต้องชอบเพศไหน) ส่วนสัญลักษณ์ + เพิ่มต่อท้ายเข้ามาในภายหลังนั้นก็เพื่อสะท้อนว่า ที่จริงกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นมีมากมายนอกเหนือไปจากนิยาม 5 กลุ่ม

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 2022 กรุงเทพมหานครจัดงาน Bangkok Naruemit Pride Parade ที่นำโดยคณะทำงานบางกอกนฤมิตไพรด์ ได้สรรค์สร้างขบวนพาเหรดสีรุ้งเพื่อสนับสนุนความหลากหลายและเท่าเทียมทางเพศ (LGBTQ+) โดยในงานมีผู้เข้าร่วมและสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งกลุ่มนักแสดง ดารา พรรคการเมือง และประชาชนที่สนับความเท่าเทียมทางเพศ

การเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศแบ่งออกออกในหลายมิติ เช่น มิติทางด้านวัฒนธรรม การเรียกร้องให้มองว่าทุกเพศมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันเป็นมนุษย์เหมือนกัน มิติทางการเมือง เช่น การเรียกร้องร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม ซึ่งมีสาระเป็นการกำหนดให้ชาย หญิง หรือบุคคล 2 คน ซึ่งเป็นเพศเดียวกันสามารถหมั้นหรือสมรสกันได้ตามกฎหมาย เป็นต้น

การจัดงาน Pride Month หรือ “เดือนแห่งความภาคภูมิใจ” เป็นการจัดเพื่อฉลองและรำลึกแด่เหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) ย่านเกรนิชวิลเลจ (Greenwich Village) แมนฮัตตัน (Manhattan) ในนครนิวยอร์ก (New York City) ประเทศสหรัฐอเมริกา

ย้อนกลับไปในทศวรรษ 1970 สังคมมองผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ว่าเป็นผู้ป่วยทางจิตดังนั้น กลุ่มคนที่รักเพศเดียวกันจะถูกตัดสินว่ามีความผิดทางกฎหมายในทันที ส่งผลให้ความรักของผู้คน LGBTQ+ ต้องแสดงความรักอย่างหลบซ่อนเพื่อให้เป็นตามบรรทัดฐานของสังคมที่อนุญาตให้มีความรักเฉพาะเพศชายและเพศหญิงเท่านั้น

เหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการปลดปล่อยผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ให้มีที่ยืนในสังคม โดยในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1969 ชาว LGBTQ+ รวมตัวกันในบาร์ อย่าง สโตนวอลล์ อินน์ (Stonewall Inn) แต่ถูกตำรวจเข้าจับกุมพร้อมใช้ความรุนแรงกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

การใช้ความรุนแรงของตำรวจต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้ส่งผลให้เกิดการปะทะกันจนเกิดเป็นจลาจลลุกลามไปจนกลายเป็นการชุมนุม การปะทะกันใช้เวลานานถึง 5 วัน โดยสถานการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ก็ทำให้ผู้คนเริ่มตระหนักและเข้าใจในกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น ทำให้มีกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศและผู้สนับสนุนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ออกมาชุมนุมและกล้าประกาศยอมรับถึงความแตกต่าง และต่อต้านการใช้ความรุนแรง

กิจกรรมการเดินขบวนพาเหรด Pride Month เริ่มต้นครั้งแรกในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1970 ซึ่งเป็นวันครบรอบหนึ่งปีเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ การเดินขบวนได้เรียกร้องถึงการขอให้ยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศที่โดนกระทำมาแล้วหลายศตวรรษ การจ้างงาน การเลือกปฏิบัติ และกฏหมายที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพที่มนุษย์พึงมีต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

ซึ่งวันนั้นถูกเรียกว่า Christopher Street Liberation Day พร้อมกับคำพูดประจำขบวนว่า Say it loud, Gay is proud ก่อนที่มันจะกลายเป็นวันสำคัญที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของการเรียกร้อง ดังนั้น เดือนมิถุนายน จึงกลายมาเป็นเดือนแห่งการร่วมเฉลิมฉลองให้กับความหลากหลายทางเพศหรือ Pride Month

สัญลักษณ์ของ Pride Month ที่เห็นได้ชัดนั้นคือ ธงสีรุ้ง ที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม LGBTQ+ ออกแบบโดยศิลปินและนักสิทธิชื่อดังนามว่า กิลเบิร์ต เบเกอร์ (Gilbert Baker) ศิลปินนักเคลื่อนไหวชาวอเมริกัน ที่ประกาศตัวว่าเขาคือหนึ่งในชาว LGBTQ+ โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากธงชาติของประเทศสหรัฐอเมริกาในวาระฉลองครบรอบ 200 ปี

ในอดีตธงสายรุ้งมี 8 สี แต่เนื่องจากในปีต่อๆ มา ผ้าสีชมพูและฟ้าขาดตลาด ทำให้ราคาสูงมาก และหาได้ยากในหลายพื้นที่ กิลเบิร์ตจึงปรับแบบให้เหลือเพียง 6 สี (ตัดสีชมพูและสีฟ้าเทอร์ควอยซ์ออก) เพื่อที่ทุกคนจะสามารถผลิตธงของตัวเองได้ จนกลายเป็นแบบที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน โดยแต่ละสีมีความหมายดังนี้

สีแดง หมายถึง ชีวิต (Life)

สีส้ม หมายถึง การเยียวยา (Healing)

สีเหลือง หมายถึง แสงแห่งความหวัง (Sunlight)

สีเขียว หมายถึง ธรรมชาติ (Nature)

สีน้ำเงิน หมายถึง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (harmony)

สีม่วง หมายถึง จิตวิญญาณ (Spirit)

การจัดงาน Pride Month เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้กระจายออกไปทั่วโลก ทั้งการจัดเดินขบวนพาเหรด การตกแต่งด้วยธงสีรุ้งในเดือนมิถุนายน ตัวอย่างเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศออสเตรีย ประเทศสเปน ประเทศไต้หวัน รวมถึงประเทศไทยด้วย

 


อ้างอิง :

สิทธิศักดิ์ บุญมั่น และวิชัย ตาดไธสงค์. (2564). ทำไมสัญลักษณ์ LQBTQ จึงเป็นสีรุ้ง?.  เข้าถึงได้จาก https://www.amnesty.or.th/latest/blog/880/

ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล. (2565). Pride Month Bangkok 5 มิ.ย. จากความเป็นมาที่ขมขื่นสู่กิจกรรมแห่งสีสัน. เข้าถึงได้จาก https://www.thansettakij.com/world/527597

Thevisual . (2564). Pride Month : เดือนแห่งความหลากหลาย สายรุ้งและความรุ่งเรือง LGBTIQN. เข้าถึงได้จาก https://thevisual.thaipbs.or.th/gender-on-screen/pride-month/

Ellethailand. (2564). ย้อนรอยประวัติศาสตร์ Pride Month และพลังของธงสีรุ้งที่โบกสะบัดอย่างภาคภูมิของ LGBTQ . เข้าถึงได้จาก https://www.ellethailand.com/pride-month-how-it-started-and-how-to-celebrate/

LIBRARY OF CONGRESS. Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender and Queer Pride Month. เข้าถึงได้จาก https://www.loc.gov/lgbt-pride-month/about/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มิถุนายน 2565