ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
จอมพล ป. เปลี่ยน “พิธีสวนสนาม” ของกองทัพไทย เพื่อความหมายใหม่แห่งความเป็น “รัฐพิธี” ไม่ใช่ “ราชพิธี”
จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหนึ่งในผู้นำที่ดำรงแหน่งสำคัญต่างๆ เช่น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, นายกรัฐมนตรี ฯลฯ นอกจากนี้ยังอยู่ในตำแหน่งสำคัญดังกล่าวหลายวาระ ที่สำคัญในช่วงเวลาเดียวกันยังดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งพร้อมกัน
ดังนี้จึงมีอำนาจ และหน้าที่ความรับผิดชอบ ในการดำเนินการต่าง ๆ ได้เต็มที่
เช่นครั้งหนึ่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม เปลี่ยนรายละเอียด, รูปแบบ, สาระความสำคัญ ฯลฯ “พิธีสวนสนาม” ของกองทัพไทย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ให้เป็น “รัฐพิธี” เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อประเทศ และรัฐธรรมนูญ
รายละเอีดยเรื่องนี้ เทพ บุญตานนท์ อธิบายไว้ ใน “ทหารของพระราชา กับการสร้างสำนึกแห่งศรัทธาและภักดี” (มติชน, 2565) พอสรุปได้ดังนี้
เมื่อจอมพล ป. ก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพลก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบอีกครั้ง โดยกระทรวงกลาโหมได้ใช้เพลงมาร์ช “ทหารของชาติ” [1] ซึ่งประพันธ์โดยหลวงวิจิตรวาทการเป็นเพลงประกอบการสวนสนาม เพื่อเน้นย้ำให้ทหารตระหนักว่า นับจากนี้การปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพลและการสวนสนามกระทำเพื่อปฏิญาณว่าทหารจะจงรักภักดีต่อประเทศชาติและรัฐธรรมนูญ
ในช่วงแรกที่จอมพล ป. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น กระทรวงกลาโหมได้จัดพิธีสวนสนามเป็นประจำทุกปี โดยหนึ่งในพิธีสวนสนามครั้งสำคัญจัดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ซึ่งเป็นวันชาติไทยตามคำประกาศของรัฐบาลใน พ.ศ. 2481 เพื่อฉลองครบรอบ 8 ปี ที่คณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง พิธีสวนสนามครั้งนั้นถูกจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปด้วยพร้อม ๆ กัน [2]
ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ต้องการจะเฉลิมฉลองวาระที่ประเทศเปลี่ยนแปลงการปกครอง พร้อมกับการยกย่องกลุ่มคณะราษฎร รวมถึงจอมพล ป. และบรรดาคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลจอมพล ป. ที่มีส่วนร่วมในการปกครองระบอบประชาธิปไตย
การย้ายสถานที่จัดพิธีสวนสนามจากลานพระราชวังดุสิตซึ่งมีพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 มาอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นับเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญของคณะราษฎร โดยสื่อให้เห็นว่าการจัดพิธีสวนสนามนับแต่นี้ไปกระทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จากการมีรัฐธรรมนูญอันเป็นสมบัติที่มีคุณค่ามากที่สุดของชาติ ซึ่งได้มาด้วยความกล้าหาญของกลุ่มคณะราษฎร
ไม่เพียงแต่ทหารเท่านั้นที่เข้าร่วมพิธีสวนสนาม แต่กลุ่มยุวชนทหารรวมไปถึงลูกเสือต่างก็เข้าร่วมพิธีดังกล่าว [3] ส่วนประธานในพิธีก็คือจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในการสวนสนามครั้งสำคัญนั้น จอมพล ป. ประธานในพิธีกล่าวคำปราศรัยแก่ทหารและประชาชนที่เข้าร่วม “พิธีสวนสนาม” ความตอนหนึ่งว่า
“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้เทอดพระมหากษัตริย์ไว้ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของชาติ เป็นที่เคารพสักการะเหนือการล่วงละเมิด และเป็นที่รวมขวัญของประชาชนชาวไทย ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นปัจจัยให้คนทั้งชาติสมัครสมานสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อเป็นอนุวรรตน์ตามรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์จึงทรงปฏิบัติในทางอันเป็นพระคุณแก่ชาติ ทรงเว้นการปฏิบัติพระองค์ในทางอันเป็นพระเดช…” [4]
อ่านเพิ่มเติม :
- 4 ถนนสำคัญ ล้อมรอบ “พระบรมมหาราชวัง” มีถนนสายไหนบ้าง?
- “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” เกือบถูก “รื้อ” เพื่อสร้างอนุสาวรีย์ให้ “รัชกาลที่ 7”
- ย้อนดูบรรยากาศวันชาติครั้งแรก “24 มิถุนายน 2482” การเฉลิมฉลองเพื่อประชาชนทุกชั้น!
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เชิงอรรถ :
[1] “พิธีกระทำสัตย์สาบานต่อธงชัยเฉลิมพลของทหารที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้กระทำหน้าพระที่นั่ง พ.ศ. 2470,” ราชกิจจานุเบกษา 44 (16 ตุลาคม พ.ศ. 2470), น. 2132
[2] ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ชมเชยทหารและยุวชนที่ทำการสวนสนามในงานเฉลิมฉลองวันชาติ 24 มิถุนายน 2483,” ราชกิจจานุเบกษา 60 (2 กรกฎาคม พ.ศ. 2480), น. 1003.
[3] เรื่องเดียวกัน.
[4] “คำกล่าวตอบของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในการเปิดอนุสสาวรีย์ประชาธิปไตย ณ วันชาติ 2483,” ราชกิจจานุเบกษา 57 (24 มิถุนายน พ.ศ. 2482), น. 878.
เผยแพร่ในระบบการออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤษภาคม 2565