ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2548 |
---|---|
ผู้เขียน | อภิลักษณ์ เกษมผลกูล ภาควิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล |
เผยแพร่ |
ชื่อของ “ผีบุญ” เป็นที่คุ้นเคยกันทั่วไปในหมู่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยและผู้สนใจทั่วไป “ผีบุญ” เหล่านี้ คือบุคคลธรรมดาๆ ที่สถาปนาตัวเองขึ้นเป็น “ผู้วิเศษ” บนพื้นฐานความคิดความเชื่อเรื่องพระศรีอริยเมตไตรยในพระพุทธศาสนา เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับฝ่ายราชสำนัก หรือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัว ผีบุญเหล่านี้ มีบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารว่ามีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และพบมากในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตามหัวเมืองต่างๆ โดยเฉพาะอีสานและล้านนา ที่มักมีชื่อเรียกต่างๆ กันไปว่า พระยาอินทร์บ้าง พระยาธรรมบ้าง พระยาธรรมิกราชบ้าง ตนบุญบ้าง
ต่อมาในช่วงก่อนถึงปีพุทธศักราช 2500 ซึ่งเป็นช่วง “กึ่งพุทธศาสนยุกาล” ตามความเชื่อที่ว่าศาสนาของพระสมณโคดม สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ จะมีอายุ 5,000 ปี พุทธศาสนิกชนจึงเกรงว่าช่วงนี้อาจเกิดภัยหรืออันตรายต่างๆ ได้ ยุคของผีบุญจึงกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง
ในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่เมืองตราดและเมืองปัจจันตคีรีเขตร์ (เกาะกง) ซึ่งเป็นหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออกของสยาม เกิดมีนักบวชชาวญวน รูปร่างสูงใหญ่ ผิวขาว หน้าตาดี อยู่ในวัยหนุ่ม เดินทางเข้ามาอยู่ในแถบนี้และตั้งตัวเป็นผู้วิเศษ รู้จักกันดีในนามว่า “องค์โด้”
“บุญญาธิการและอำนาจวิเศษ” : มรรควิธีการเปิดตัวขององค์โด้
ในหนังสือ “ปัจจันตคีรีเขตร์เกาะกง : เมืองแห่งความหลัง” ของประโยชน์ โยธาภิรมย์ บันทึกเรื่ององค์โด้ไว้ว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองปัจจันตคีรีเขตร์มีพระยาพิไชยชลธี (บ๊วย) เป็นเจ้าเมือง ซึ่งเป็นสมัยแห่งความรุ่งเรืองของบ้านช้างนอน จังหวัดปัจจันตคีรีเขตร์ เพราะเป็นที่ตั้งของจวนของท่านเจ้าเมือง มีเรื่องเล่ากันต่อๆ มาว่า ในสมัยนั้นมีผีบุญตนหนึ่งเรียกกันว่า “องค์โด้” เป็นนักบวช เป็นหลวงญวน เป็นผู้มีวิชาความรู้ในทางเวทมนตร์คาถา องค์โด้ตนนี้ในสมัยแรกที่เข้ามาอยู่ในเมืองปัจจันตคีรีเขตร์ ได้ตั้งสำนักอยู่ที่ชายฝั่งแม่น้ำเกาะปอ ที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่า “บ้านเสาธง” ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเกาะปอ ใกล้กับปากน้ำถนนควาย
องค์โด้ตั้งสำนักรักษาชาวบ้านด้วยน้ำมนต์จากบ่อน้ำที่ขุดกันขึ้น โดยใช้เป็นที่อาบและกิน เพราะถือกันว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เรียกกันว่าบ่อน้ำองค์โด้ ใช้อาบเพื่อรักษาโรค เล่ากันว่าถ้าใครอาบหรือกินน้ำบ่อขององค์โด้เข้าไปแล้วจะหลงรักนับถือองค์โด้ เพราะเป็นบ่อน้ำเสน่ห์ยาแฝด ทำให้หลงใหล
ต่อมาองค์โด้ย้ายสำนักขึ้นไปตั้งอยู่ในป่าเหนือบ้านช้างนอนขึ้นไป โดยไปขุดสระน้ำอยู่ในป่า ใช้เป็นที่รักษาเรียกกันว่าสระองค์โด้
ในครั้งนั้นเล่ากันว่ามีผู้คนหลงนับถือองค์โด้มาก โดยองค์โด้อวดอ้างวิชาที่จะชุบคนที่ตายแล้วให้กลับคืนเป็นคนขึ้นมาตามเดิม ขอแต่ให้นำกระดูกผีของคนที่ตายไปแล้วนำมาให้องค์โด้แล้วจะปลุกเสกชุบชีวิตให้กลับมาเป็นคนตามเดิม
พวกชาวบ้านทั้งหลายในสมัยนั้นที่หลงเชื่อนับถือต่างพากันนำกระดูกของพี่น้อง พ่อแม่ และลูก นำไปที่สำนักขององค์โด้ เพื่อคอยเวลาที่จะทำพิธีปลุกเสกให้กลับคืนมาเป็นคน เล่ากันว่ากองกระดูกของคนตายแล้ว พวกญาติๆ พี่น้อง ลูกหลาน นำไปกองไว้ใกล้กับสระน้ำองค์โด้เป็นกองๆ
บ่อน้ำและสระน้ำขององค์โด้นั้นสกปรก เพราะน้ำในบ่อเป็นทั้งน้ำที่ลงอาบชำระล้างร่างกาย ทั้งนำมาบริโภคหรือเป็นน้ำมนต์ก็น้ำในบ่อแห่งนั้น ต่อมาชาวบ้านเกาะปอหรือบ้านอื่นๆ ที่รู้เรื่องขององค์โด้ เมื่อเห็นน้ำแห่งใดของใครสกปรกก็จะพูดว่า น้ำบ่อนั้นบ่อนี้เป็นบ่อน้ำองค์โด้ หรือน้ำในที่ใดสกปรกก็จะเรียกกันว่าน้ำองค์โด้
ในสำนักขององค์โด้มีคนที่นับถือหลงใหลพากันไปบวชเป็นสานุศิษย์ขององค์โด้ มีทั้งผู้หญิงสาวๆ และผู้ชาย โดยผู้ชายบวชเป็นเณร ส่วนผู้หญิงบวชเป็นชี แม่ชีในสำนักขององค์โด้เป็นชีสาวๆ เล่ากันมาว่า ในจำนวนชีทั้งหลายเหล่านั้นมีบุตรสาวของท่านพระยาพิไชยชลธี (บ๊วย) ผู้ว่าราชการเมืองปัจจันตคีรีเขตร์รวมอยู่ด้วย เจ้าเมืองบ๊วยก็หลงใหลนับถือความศักดิ์สิทธิ์ขององค์โด้ไปด้วย จำนวนผู้ที่นับถือหลงเชื่อองค์โด้จึงมีมาก
มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า คนที่หลงเสน่ห์ยาแฝดขององค์โด้ จำพวกสานุศิษย์ เวลาองค์โด้จะไปที่แห่งใด พวกสานุศิษย์ถึงกับนอนต่อๆ กันให้องค์โด้เดินย่ำไปบนร่างกาย ถ้าองค์โด้ถามว่าตัวหนักไหม พวกสานุศิษย์ทั้งหลายที่พากันนอนให้องค์โด้เหยียบย่ำไปบนร่างกายจะพากันตอบว่า “ตัวท่านพ่อเบาเหมือนโสน”
ในสำนักขององค์โด้มีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อถึงเวลามีการเทศนาสั่งสอนนั้น องค์โด้จะเทศน์ไม่เหมือนใคร เมื่อขึ้นนั่งเทศน์ก็มักจะเทศน์เป็นปริศนาให้พวกสานุศิษย์ คือ พวกชี พวกเณร ทั้งหลายตีความ เช่น องค์โด้เทศน์ว่า “วันนี้ท่านพ่ออยากจะฉันไอ้อ๊อกๆ กับใบคอกิ่ว” เมื่อท่านพ่อเทศน์ออกมาอย่างนั้น พวกสานุศิษย์ก็จะพากันตีความหมายว่าท่านพ่อจะฉันอะไร เมื่อรู้ความหมายแล้วก็จะพากันไปจัดหามาถวายท่าน เช่น ไอ้อ๊อกๆ คือไก่ ส่วนใบคอกิ่ว คือเหล้า ใส่ขวดคอกิ่วๆ ท่านพ่อองค์โด้ก็นั่งฉันเพลิดเพลินไป
พวกเณรๆ ขององค์โด้นั้นมีทั้งเณรตัวเล็กและตัวใหญ่เป็นหนุ่ม คนที่เคยเป็นเณรอยู่ในสำนักขององค์โด้ชื่อ “ตาชุ่ม” เล่าว่าแกเป็นเณรที่เล็กที่สุดในสมัยนั้น เป็นศิษย์ขององค์โด้ และจำคาถากันพายุที่องค์โด้สอนให้ได้ เป็นคาถาป้องกันพายุลมร้ายที่เวลาเดินทางไปกับเรือ เมื่อเกิดพายุพัดจัดกลัวเรือจะล่มก็ว่าคาถานี้ “โอมพาลุลา ปะติอะปะติอา โจ๊ะลักโจ๊ะเท่ง”
คณะแม่ชี VS ทรพีเหงาๆ : องค์โด้ในฐานะ “เพลย์บอย”
แม่ชีสาวๆ ในสำนักขององค์โด้นั้น องค์โด้จะตั้งชื่อเรียกใหม่ เช่น ชื่อว่า “แม่ชีศรีวิลาด” “แม่ชีศรีชะบา” เป็นต้น ทั้งนี้แม่ชีขององค์โด้จะมีชื่อ “ศรี” นำหน้าเสมอและมักเป็นแม่ชีสาวๆ
กล่าวกันว่า องค์โด้ตนนี้มีการเล่นการแสดงสัปดนที่ต่างจากนักบวชทั่วๆ ไป หลายคนเล่าตรงกันว่า เวลาวันดีคืนดี หรือในคืนวันเพ็ญ องค์โด้มักจะเล่นสนุกๆ โดยพาแม่ชีสาวๆ มาเล่นเป็นเมียของพระยาทรพี ในเรื่องรามเกียรติ์ จับเอาตอนที่พระยาทรพีคุมฝูงควายทั้งหลายแทนพระยาทรพา ผู้แสดงก็คือองค์โด้ แสดงเป็นทรพีพระยาควาย ส่วนแม่ชีศรีๆ ทั้งหลายแสดงเป็นนางควายตัวเมีย ทุกคนเปลือยกายล่อนจ้อน ตัวองค์โด้เองก็แก้ผ้าล่อนจ้อนคลานและเล็มหญ้าไปตามสถานที่ที่สมมติว่าเป็นทุ่งหญ้า และแสดงตอนเวลาถึง “สัด” ด้วย เล่ากันว่า องค์โด้ที่แสดงเป็นพระยาทรพีควายเปลี่ยว แสดงอาการเที่ยวคลานสี่เท้า เบิ่งหน้าเหมือนควายและคอยดมก้นควายตัวเมีย คือแม่ชีสาวๆ ตัวนั้นนิด ตัวนี้หน่อย เที่ยวคลานงุ่มง่ามไปมา แล้วทำท่าเกาะขี่หลังกันเหมือนกับควายถึงฤดูผสมพันธุ์ ขี่หลังตัวนั้นทีตัวนี้ที ทำเป็นเล่นเช่นควาย
ความมักมากขององค์โด้นี้จึงทำให้เกิดคำในภาษาถิ่นจังหวัดตราด ที่ใช้กันในบางหมู่บ้านว่า “องค์โด้” ซึ่งมี 2 ความหมาย เป็นความหมายในเชิงเปรียบ ความหมายแรก หมายถึง “ผู้ชายที่มีภรรยาหลายคนหรือผู้ชายเจ้าชู้ มักใช้ในกรณีเสียดสี” เช่น ทิดจุกนี่ ทำตัวเป็นองค์โด้ มีเมียทีตั้งหลายคน ความหมายที่ 2 หมายถึง “ผู้ชายที่เป็นประธานหรือเป็นใหญ่ในกลุ่ม มักใช้ในกรณีล้อเลียน” เช่น “นั่นลุงชูนี่ นั่งเต๊ะท่ากลางวงเหล้าเป็นองค์โด้เชียว”
อวสานของลัทธิเพลย์บอย กับการไร้ร่องรอยของเจ้าลัทธิ
องค์โด้ตั้งสำนักเป็นชุมนุมจนเป็นข่าวเล่าลือไปถึงกรุงเทพฯ ต่อมารัฐบาลในสมัยนั้นส่งเรือบรรทุกทหารออกมากวาดล้างจับกุม กล่าวกันว่า ก่อนที่เรือบรรทุกทหารจะแล่นเข้ามาถึง องค์โด้ได้รู้ล่วงหน้าก่อน และบอกสานุศิษย์ทั้งหลายว่า “ระวังตัวให้ดี ยักษ์ปากกว้างจะมาจับคน”
ต่อมาไม่นาน เรือที่ส่งมาจากกรุงเทพฯ แล่นเข้ามาถึงบ้านช้างนอนและจับตัวสานุศิษย์ขององค์โด้ได้เป็นจำนวนมาก พระยาพิไชยชลธี (บ๊วย) พร้อมทั้งครอบครัวถูกจับกุมตัวด้วย แต่ตัวองค์โด้เองหลบหนีไปได้ และไม่มีใครรู้ว่าองค์โด้หลบหนีไปซุกซ่อนอยู่ ณ ที่แห่งใด พระยาพิไชยชลธี (บ๊วย) พร้อมทั้งครอบครัวถูกจับกุมส่งไปยังกรุงเทพฯ ส่วนเหตุการณ์หลังจากนั้นไม่มีใครทราบได้ ฝ่ายด้านงานปกครองเมืองปัจจันตคีรีเขตร์นั้น มีกรมการเมืองคือหลวงแพ่ง ขุนสัจจา และกรมการขุนหมื่น ร่วมกันรักษาราชการเมืองปัจจันตคีรีเขตร์ให้เป็นปกติต่อมา
คำสาปศักดิ์สิทธิ์ : วีรกรรมของผู้พิชิตเสือเกาะช้าง
คำร่ำลือเรื่อง “เสือ” ที่เกาะช้างนั้น เป็นที่รับรู้กันดีของชาวตราดและเรือที่สัญจรไปมา ว่าเกาะช้างเสือชุมนัก ดังที่ก๋งเกลื่อน สิทธิถาวร ผู้เฒ่าแห่งเกาะช้างวัย 92 ปี เล่าว่า
…มันกัดควายของพ่อผม กัดจนหางขาดอยู่บนป่านี้เลย ตัวมันคลานมาแช่น้ำ รู้กันตั้งแต่ในป่าว่าควายถูกกัดเพราะควายขวิดต้นไม้หักหมด เสือที่นี่แต่ก่อนชุม ไปกินควายที่คลองพร้าว คลองสนโน้นอีกด้วย ทีหลังโดนจับน่าจะตาย ผู้หญิง [ที่โดนไล่กัด-ผู้เขียน] นี่เป็นบ้าหมด ผู้หญิง 7-8 คน ผู้หญิงคอก [หมู่บ้านสลักคอก-ผู้เขียน] 10 กว่าคน ต้องไปทำน้ำมนต์ปัดรังควาน…
เรื่องเสือเกาะช้างนี้ชุมมาก เป็นที่เดือดร้อนของชาวบ้านมากจนกระทั่งต้องมีผู้มาปราบให้เสือหมดไปจากเกาะช้าง ทำให้เกาะช้างไม่มีเสือตราบจนปัจจุบัน หลวงสาครคชเขตต์ อดีตนายอำเภอเกาะช้าง บันทึกเรื่องการปราบเสือที่เกาะช้างไว้ว่า
…ราษฎรเล่าว่า ตั้งแต่ครั้งกาลก่อนๆ ที่เกาะช้างย่อมมีเสือขนาดใหญ่อยู่ชุกชุม โดยข้ามไปมาระหว่างฝั่งตำบลแหลมงอบ (จังหวัดตราด) กับเกาะช้างกันได้ ความชุกชุมของเสือที่เกาะช้างในกาลครั้งนั้นปรากฏว่า เสือเที่ยวเพ่นพ่านหากินอยู่ตามละแวกหมู่บ้านคนนั้นเอง แต่ครั้นต่อมาภายหลัง ความได้ปรากฏว่ามีผู้วิเศษคนหนึ่งเรียกว่า “องค์โด้” จะเป็นชาติภาษาใด ศาสนาใดไม่ได้ความแน่ ได้ความแต่ว่าองค์โด้คนนี้ได้มาที่เกาะช้าง แล้วจัดการทำพิธีลงเลขยันต์อาถรรพ์ขับไล่สัตว์เสือให้สูญหายไปหมด และจำเดิมตั้งแต่องค์โด้ได้ทำพิธีขับไล่สัตว์เสือไปแล้ว หลังจากนั้นมาจนกระทั่งบัดนี้ ก็ไม่ปรากฏได้มีใครพบเห็นเสืออีกเลย…
อีกสำนวนหนึ่งเชื่อกันว่าเป็นสำนวนของนายติ้น ชาวบ้านสลักเพชรที่เกาะช้าง ได้เล่าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จประพาสเกาะช้าง ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นหลวงสลักเพชรพัฒนกิจ ตำแหน่งนายบ้านสลักเพชร สำนวนของคุณหลวงเล่าว่า
…เดิมเกาะนี้มีเสือ ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีญวนคนหนึ่งชื่อองค์โด้ ได้ทำพิธีขว้างก้อนหินลงไปในทะเล และสาปว่า ถ้าหินนี้ไม่ผุดขึ้นมาให้คนเห็น เกาะช้างจะไม่มีเสืออีกต่อไป เกาะช้างจึงไม่มีเสือมาจนตราบเท่าทุกวันนี้…
จากเรื่องราวข้างต้นจะเห็นว่ามีเรื่ององค์โด้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้สันนิษฐานว่าเมื่อสำนักขององค์โด้ถูกทางการกวาดล้าง องค์โด้คงหลบหนีมาอยู่ที่เกาะช้างนี้เอง ท่ามกลางความช่วยเหลือของศิษยานุศิษย์และชาวบ้านเกาะช้าง ที่อาจได้ยินกิตติศัพท์ขององค์โด้มาบ้าง เพราะเกาะช้างกับเกาะกงไม่ไกลกันจนเกินไปนัก
รายละเอียดเรื่ององค์โด้ที่เกาะช้างนั้นมีการเล่ากันต่อๆ มาว่า องค์โด้มักตั้งที่พักอยู่เหนือน้ำ๑ ศิษยานุศิษย์ขององค์โด้มักเป็นผู้หญิง คอยติดตามไปทุกหนทุกแห่ง2
ก๋งเพียร รินนุโยค ผู้เฒ่าแห่งเกาะช้างเล่าว่า องค์โด้นี้เป็นญวน เป็นนักบวชศาสนาคริสต์ แต่นิยมเล่นคุณไสยโดยเฉพาะ “พรายกุมาร” เมื่อภรรยาขององค์โด้ตั้งครรภ์ได้ 7 เดือน ก็ขอลูกในท้องนั้นมาทำกุมาร ภรรยาไม่ยอมจึงผ่าท้องเอาลูกออกมา แล้วนำมาย่างในถ้ำ ต่อมาทางการไปจับตัวก็ไม่พบตัว พบเพียงแต่เทียนไขจุดสว่างอยู่เท่านั้น3 จากนั้นก็มีผู้พบองค์โด้อีกครั้งที่บนฝั่งเมืองตราด บริเวณตำบลเนินทราย เขตอำเภอเมืองตราด ซึ่งองค์โด้ก็ยังคงมีแม่ชีสาวๆ ติดตาม และแสดงบทบาทของทรพีเช่นเคย จนกระทั่งทางการสืบจนได้ความว่าองค์โด้หลบมาอยู่ที่นี่ องค์โด้จึงได้หลบหนีอีกครั้ง และครั้งนี้ไม่มีใครพบเขาอีกเลย4
รายละเอียดการประกอบพิธีฝังอาถรรพ์ขององค์โด้ที่เกาะช้างนั้น เล่ากันว่าทำพิธีกันที่บริเวณที่เรียกกันว่า “ทุ่งใหญ่” (หลังสถานีตำรวจเกาะช้างในปัจจุบัน)5 องค์โด้จะเขียนภาพเสือลงบนผ้าขาวยาว 7 พับ แล้วฝัง ทับด้วยหินก้อนใหญ่6 บ้างก็ว่าฝังที่อ่าวสับปะรด7 (เพราะมีคนอ้างว่าขุดเจอ) เขาใช้ผ้าขาวเกลี้ยงฝังลงในดินแล้วพูดว่า “ของเกาะไปเกาะ ของฝั่งไปฝั่ง” ขณะนั้นก็มีพระมาเจอเสือที่ทะเล ก็ไปจับขึ้นมา เมื่อตัวเสือแห้งก็จะกัดพระ พระรูปนั้นจึงกระโดดลงน้ำและว่ายไปจนถึงฝั่ง8
เป็นอันว่า “องค์โด้” ก็กลายเป็นพระเอก เป็นวีรบุรุษของชาวเกาะช้างไป แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องการฝังอาถรรพ์เพื่อปราบสัตว์ร้ายนี้ คล้ายคลึงกับอนุภาค (Motif) ในตำนานแหลมงอบ และเกาะช้างของจังหวัดตราด ตอนที่พระโพธิสัตว์ฝังอาถรรพ์ไว้ตามเกาะต่างๆ เพื่อไม่ให้ช้างอาศัยอยู่อีกต่อไป นับแต่นั้นมาเกาะต่างๆ จึงไม่มีช้างอาศัยอยู่จนปัจจุบันนี้
ความคล้ายคลึงกันนี้ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่าเรื่องทั้งสองอาจมีอิทธิพลต่อกัน อาจเป็นไปได้ว่า เรื่องใดเรื่องหนึ่งอาจเป็นต้นเค้าให้เกิดอีกเรื่องหนึ่งก็เป็นได้ นอกจากนี้เรื่องการปราบเสือที่เกาะช้างบางสำนวนก็ไม่ได้กล่าวถึงองค์โด้ เช่น สำนวนของนายเจริญ เครือนุช ที่เล่าว่า เมื่อก่อนเสือเกาะช้างชุมมาก มักลงมากัดควายของชาวบ้านตาย แต่ต่อมาเจ้าป่าเจ้าเขาไม่ให้อยู่ เสือจึงอยู่ไม่ได้ต้องออกไปจากเกาะช้าง9 ดังนั้นจึงอาจเป็นไปได้ว่าเรื่ององค์โด้เป็นเพียงความคิดของคนบางกลุ่ม
อย่างไรก็ตามแม้ว่าที่เกาะช้างนี้องค์โด้จะได้ฝังอาถรรพ์ปราบเสือ ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 แล้วก็ตาม หากแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ยังคงพบว่ามีเสืออยู่ที่เกาะช้าง ดังในพระราชนิพนธ์เรื่องเสด็จประพาสจันทบุรี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล่าถึงเรื่องเสือที่เกาะช้างไว้ว่า
…เมื่อเวลาบ่ายขึ้นไปนั้น เห็นรอยตีนสัตว์ต่างๆ มีอยู่ที่ศิลามาก เป็นรอยตีนเสือใหญ่ก็มีหลายรอย แล้วให้กะลาสี 2 คน ขึ้นไปนั่งคอยระวังทางต้นไม้บนยอดเขา พระนายไวยขึ้นไปด้วย เห็นเป็นรอยตะกายดินใหม่ๆ เขาว่าดูเหมือนเสือ ด้วยเป็นเวลาตะกายกินน้ำ ตื่นเสียงโห่ก็ตะกายหนีไป…ด้วยคนนำร่องนั้นว่า เสือหนีไปจากเกาะ 17 ตัว เพราะรู้ข่าวว่าจะเสด็จมา พูดนั้นอยู่ข้างจะตื่นพระบารมีแก่ แต่ที่จริงนั้นเสือเคยข้ามไปข้ามมา เหมือนกับเราว่าไว้ข้างต้นแล้ว กับครั้งนี้คนมาตัดไม้ทำทางอื้ออึงด้วย เห็นจะเป็นอย่างนั้นเสือจึงไป…
และในคราวเดียวกันนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร จึงได้พระนิพนธ์โคลงตามเรื่องดังกล่าวทูลเกล้าฯ ถวายบทหนึ่งว่า
๏ ฟังยินชาวบ้านเล่า แถลงความ จริงแฮ
ว่าสิบเจ็ดเสือตาม ป่ากว้าง
ก่อนพระจะถึงคาม เขตต์ที่ นี้แฮ
ยำพระเดชเจ้าช้าง ปลาตข้ามชลหนี ฯ
ในขณะที่ พระนิพนธ์เรื่อง “เที่ยวทะเลตะวันออก” ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ทรงเล่าถึงเรื่องเสือและสัตว์สี่เท้าที่เกาะช้างไว้ว่า
…อนึ่งที่เกาะช้างนี้ มีสัตว์สี่เท้าสองเท้าอยู่มาก มีคำกล่าวเล่าลือว่าแต่ก่อนเสือชุม แต่บัดนี้ไม่ปรากฏชัดเลยว่าใครได้ปะเสือ เป็นแต่เล่าลือกันมา และเกาะกลางทะเลที่มีสัตว์นั้นมีหลายแห่งมีกวางและหมูป่าชุมมาก คิดๆ ดูก็เป็นที่น่าประหลาด ด้วยว่าเกาะอยู่กลางทะเล ทำไมจึงมีสัตว์ไปอยู่ได้…เล่ากันมาอย่างเหลวๆ ว่าปลาทะเลแก่เข้ากลายเป็นสัตว์สี่เท้าได้…
เรื่องราวขององค์โด้ที่เล่ากันมาในลักษณะของประวัติศาสตร์บอกเล่า (Oral History) ได้กลายเป็นนิทานประจำถิ่น (Legend) ในแถบเมืองตราดและเกาะกง ที่เล่าขานสืบต่อกันมาอย่างยาวนานโดยไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า “องค์โด้” มีตัวตนจริงหรือไม่ นอกจากนี้ยังเป็นนิทานอธิบายความเป็นมาของภูมินาม (Place Name) ของสถานที่บางแห่งในจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา (เมืองปัจจันตคีรีเขตร์ในอดีต) อีกด้วย
แม้ว่าร่องรอยของร่าง “องค์โด้” จะสาบสูญไปตราบจนปัจจุบัน แต่จิตและวิญญาณของเขาก็ได้เข้าครอบงำร่างอันไร้วิญญาณ (แห่งสุจริตชน) ของมนุษย์ไปเป็นจำนวนมาก เพื่อจะแสวงหามรรคาแห่งการตอบสนองกิเลสอันเป็นอนันต์ของตน อันยังผลให้สังคมวิกฤตมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราไม่มีวันล่วงรู้ได้เลยว่าจิตและวิญญาณเช่นนี้จะอยู่คู่กับโลกไปอีกนานเท่าใด
เชิงอรรถ
๑. เพียร รินนุโยค อายุ ๗๘ ปี (๓๐ มีนาคม ๒๕๔๘) หมู่ ๔ ตำบลเกาะช้างใต้ กิ่งอำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด
๒. เกลื่อน สิทธิถาวร อายุ ๙๒ ปี (๔ พฤษภาคม ๒๕๔๘) หมู่ ๔ ตำบลเกาะช้างใต้ กิ่งอำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด
๓. เพียร รินนุโยค อายุ ๗๘ ปี (๓๐ มีนาคม ๒๕๔๘) หมู่ ๔ ตำบลเกาะช้างใต้ กิ่งอำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด
๔. ประจวบ เกษโกวิท อายุ ๘๑ ปี (๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๘) หมู่ ๑ ตำบลท่าพริก อำเภอเมือง จังหวัดตราด
๕. จากการสัมภาษณ์นายนิยม นพวรรณ อายุ ๘๓ ปี (๓ พฤษภาคม ๒๕๔๘) หมู่ ๒ ตำบลเกาะช้าง กิ่งอำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด ได้ความว่าทำที่บริเวณที่เรียกว่า “ห้วงเสาธง” ใกล้กับ “ทุ่งใหญ่” การเรียกสถานที่นี้ว่าเสาธง เช่นเดียวกับชื่อสถานที่ที่อยู่ขององค์โด้ที่ปัจจันตคีรีเขตร์ จึงเป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากความสับสนของผู้เล่าเอง หรืออาจเป็นไปได้ว่าเมื่อองค์โด้ไปตั้งสำนักที่ใดจะมีเสาธงเป็นสัญลักษณ์ ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “เสาธง” และกลายเป็นภูมินาม (Place Name) ในเวลาต่อมา
๖. เพียร รินนุโยค อายุ ๗๘ ปี (๓๐ มีนาคม ๒๕๔๘) หมู่ ๔ ตำบลเกาะช้างใต้ กิ่งอำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด
๗. วิทยากร เรียกผู้ทำพิธีนี้ว่า “สรรพกง”
๘. เกลื่อน สิทธิถาวร อายุ ๙๒ ปี (๔ พฤษภาคม ๒๕๔๘) หมู่ ๔ ตำบลเกาะช้างใต้ กิ่งอำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด
๙. เจริญ เครือนุช อายุ ๗๑ ปี (๓๐ มีนาคม ๒๕๔๘) หมู่ ๔ ตำบลเกาะช้างใต้ กิ่งอำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด
บรรณานุกรม
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. เสด็จประพาสจันทบุรี. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายขนบ บุปผเวส เป็นกรณีพิเศษ ณ เมรุวัดราษฎร์บำรุง อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี วันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖.
ประโยชน์ โยธาภิรมย์. ปัจจันตคีรีเขตร์เกาะกง : เมืองแห่งความหลัง. มปท., ๒๕๔๐ (เอกสารอัดสำเนา).
วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดตราด. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุฯ, ๒๕๔๒.
สมมตอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. “เรื่องเที่ยวทะเลตะวันออก” อธิบายเรื่องเที่ยว เที่ยวทะเลตะวันออก เที่ยวมณฑลเพชรบูรณ์ เที่ยวน้ำตกเจ้าอนัมก๊กที่เกาะกูด เที่ยวไทรโยค. พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๐๔.
สาครคชเขตต์, หลวง. จดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดจันทบุรี. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : บริษัทต้นอ้อ แกรมมี่ จำกัด, ๒๕๓๙.
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 30 เมษายน 2560