วิกฤตการณ์ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่สงขลา จากคำบอกเล่าผู้อยู่ในเหตุการณ์

เหตุการณ์สู้รบในสงครามโลกครั้งที่ 2 (ภาพจาก หนังสือ “บันทึกภาพประวัติศาตร์ในสงครามโลกครั้งที่ 2” สนพ.มติชน)

บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเมื่อญี่ปุ่นยกพลบุกสงขลานี้ เรียบเรียงจากความจำโดย รตนารถ ว.รัตนะ อดีตนายสถานีวิทยุสื่อสารฯ ประจำค่ายทหารคอหงส์ และมีหน้าที่รับผิดชอบการรับ/ส่งข่าวของราชการ ขณะที่กำลังรับ/ส่งข่าวทางราชการทหารอยู่นั้น สถานีวิทยุเป็นเป้าการโจมตีเพื่อทำลาย

ในวันที่ 8 ธันวาคม 2488 ถ้าหากญี่ปุ่นทิ้งระเบิดสถานีวิทยุแห่งนี้ได้ อะไรจะเกิดขึ้น รตนารถ ว.รัตนะเขียนไว้ในบทความชื่อ “เมื่อวันญี่ปุ่น ยกพลบุกสงขลา” (ศิลปวัฒนธรรม, เดือนสิงหาคม 2528) ไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

Advertisement

 

ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้นระหว่างทางคอหงส์-สงขลา ในคืนวันที่ 8 ธันวาคม 2484 วันแห่งประวัติศาสตร์โลกวันหนึ่ง ซึ่งญี่ปุ่นเปิดฉากสงครามขึ้นในภาคพื้นเอเชียบูรพา โดยส่งกองทัพเรือลำเลียงพลพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์เข้ายึดครองเมืองท่าอันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทุกแห่งพร้อมกันในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน โดยไม่มีปี่มีขลุ่ยบรรเลงโหมโรงให้ใครรู้ล่วงหน้าเลย

ก่อนหน้านั้นราวๆ 1 สัปดาห์ ข้าพเจ้าได้ต้อนรับแขกที่ไม่ได้รับเชิญและไม่เคยรู้จักกันมาก่อนคนหนึ่ง ลักษณะท่าทางเป็นสุภาพบุรุษหนุ่ม กิริยาวาจาดี คล่องแคล่ว แนะนำตัวเองว่าชื่อ… มาจากบริษัท… ซึ่งข้าพเจ้านึกไม่ออกเสียแล้ว

ก็ใครจะไปจำได้เล่าเวลามันล่วงไปตั้ง 44 ปีแล้ว!

เขาเอาของกำนัลมาให้ 3 อย่าง อันนี้จำได้เพราะมันเกี่ยวกับชีวิตของข้าพเจ้าช่วงหนึ่ง, ของกำนัล 3 สิ่งนั้นคือ เบียร์ (ตราพระอาทิตย์?) 1 หีบกระดาษ, รองเท้ากีฬาพร้อมถุงเท้าคู่หนึ่ง, กับตั๋วรถไฟชั้น 1 ไปกลับ หาดใหญ่-กรุงเทพฯ 2 ใบ

เขาบอกด้วยว่าผู้จัดการใหญ่บริษัทที่เขาทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ มีความยินดี ที่จะได้พบข้าพเจ้าในระหว่างงานฉลองรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ, ขอให้ข้าพเจ้าเดินทางไปพร้อมทั้งครอบครัว, เขาคอยต้อนรับอยู่แล้ว

เป็นกลลวงหรืออุบายแยบยลอย่างใด เวลานั้นไม่ได้คิดไปถึง

และก่อนหน้านั้นในเวลาไล่เลี่ยกัน นายเช็งจือ ลือประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเอเชีย สาขาหาดใหญ่ ได้เข้ามาหา ผบ.ร.พัน 5 ด้วยเรื่องสำคัญทางการทหาร ข้าพเจ้าเผอิญอยู่ในวงสนทนาครั้งนั้นด้วย

เซ็งจือกางหนังสือนิตยสารภาษาอังกฤษที่ติดมือมา ให้เราดูรูปแผนที่โลกภาคตะวันออกขยายใหญ่เต็ม 2 หน้า แสดงภาพกองทัพเรือญี่ปุ่นมุ่งหน้าเข้าไปยังเป้าหมายหลายจุดเพื่อยกพลขึ้นบก ณ ที่ใดบ้าง, เป็นภาพพยากรณ์เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ทุกโอกาส

ที่เราสนใจมากก็คือ สงขลา ปัตตานี นครศรีธรรมราช และ…ฯลฯ ปรากฏอยู่ในแผนที่นั้นด้วย! นั่นแสดงว่าอเมริกาก็รู้ล่วงหน้าอยู่ว่า สงครามจะต้องเกิดขึ้นทางซีกโลกตะวันออกโดยญี่ปุ่นเป็นผู้จุดชนวนขึ้นอย่างแน่นอน และจะเกิดขึ้นอย่างไร ที่ไหนบ้าง?

แต่แล้วเพิลฮาเบอร์ของเขาเองก็ถูกโจมตีพร้อมๆ กันกับเป้าหมายสำคัญทุกแห่งถูกต้องตรงตามที่เขาพยากรณ์ไว้!

ข้าพเจ้าเกริ่นแก่ท่านพอให้รู้เค้าเบื้องหน้า จะได้ปะติดปะต่อกับเนื้อหาที่จะเล่าต่อไป

วันมหาวิปโยค 8 ธ.ค. 2484 ข้าพเจ้ามีหน้าที่เป็นนายสถานีวิทยุสื่อสารช่วยราชการทหารประจำอยู่ในค่ายทหารคอหงส์ ร.พัน 5 ต.คอหงส์ อ. หาดใหญ่ จ.สงขลา รับผิดชอบการรับส่งข่าวของราชการทหารรวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับงานนั้นทุกประการ ตัวสถานีที่ทำการเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ห้องเดียวหลังเล็กปลูกบนยอดเขาตอนต่ำสุดของเทือกเขาคอหงส์ ซึ่งยาวเหยียดเข้ามาสุดปลายภายในที่ตั้งของค่ายทหาร ร.พัน 5 สูงราว 4-500 เมตร, ห่างจากหาดใหญ่ตามทางถนน 6 ก.ม. จากสงขลา 25 ก.ม.

คืนวันนั้นเวลาประมาณ 2 ยามกว่า ข้าพเจ้ายังไม่ทันหลับดีเสียงแตรสัญญาณบอกเหตุสำคัญดังขึ้นอย่างกระชั้นลั่นก้องทั่วบริเวณกองพัน ซ้ำแล้วซ้ำอีก, เร่งเร้า และเรียกทหารทุกคนให้ไปชุมพลพร้อมกันที่หน้ากองพัน, ข้าพเจ้าคว้าได้กระบอกไฟฉาย, ปลุกไอ้ดำเด็กคนการประจำตัวให้วิ่งตามไป, พอไปถึงเห็นทหารทั้งหลายกำลังชุลมุนกันอยู่เต็มไปหมด, จึงหลีกเข้าไปรายงานตัวต่อ ผบ.พัน พอรู้ว่าทหารญี่ปุ่นลำเลียงพลมายึดหัวหาดที่สงขลาถึง 14 ลำเรือ, ข้าพเจ้ามิได้รอช้าแต่วินาทีเดียว, ออกวิ่งจี๋ไปยังตีนเขาซึ่งเป็นที่ตั้งห้องเครื่องการกำลังไฟฟ้าสำหรับส่งขึ้นไปบนเขาใช้เฉพาะกิจกับเครื่องส่งเครื่องรับวิทยุของข้าพเจ้าโดยมิได้รอช้า จัดแจงจุดตะเกียงฟู่เผาหัวเครื่องยนต์ดีเซลเพื่อเดินเครื่องปั่นมอเตอร์ไฟฟ้าด้วยตนเอง เพราะช่างเครื่องยังไม่มา, สั่งงาน ไอ้ดำ ให้ทำหน้าที่แทนช่างเครื่องแล้ววิ่งขึ้นเขาทันที

เขาลูกนี้ปกติข้าพเจ้าเคยเดินขึ้น-ลงทุกวันก็จริง ก็ยังต้องหยุดพักเหนื่อยเป็นทอดๆ 2-3 ครั้งกว่าจะถึง, แต่ในคืนวันนั้นวิ่งขึ้นรวดเดียวถึง ทั้งๆ ที่ร่างกายได้พักผ่อนนอนหลับเพียงงีบเดียว แสดงว่ากำลังภายในของคนเรานั้นมีอยู่ประจำตัวทุกคน และมันจะสนองความต้องการให้เองโดยมิต้องเรียกร้อง

ทันทีที่ขึ้นไปถึงข้าพเจ้าหมุนโทรศัพท์สายตรงเรียกไปยังที่ทำการไปรษณีย์ที่หาดใหญ่ทันที ถามเขาว่า สายโทรเลขระหว่างหาดใหญ่-ทุ่งสง-กรุงเทพฯ ยังติดต่อกันได้หรือไม่ โชคดีสายโทรเลขยังมิได้ถูกตัด จึงบอกข้อความให้พนักงานส่งโทรเลขถึงที่ทำการวิทยุกลางติดต่อในประเทศ ซึ่งเวลานั้นตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟบางกอกน้อย ให้เปิดการติดต่อกับข้าพเจ้าทันทีที่ได้รับโทรเลขนี้ และรออยู่ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงเราก็ติดต่อกันได้ทางวิทยุโทรเลข และนับแต่วินาทีนั้น ข้าพเจ้าได้รายงานเหตุการณ์ต่างๆ ให้ทางกรุงเทพฯ ทราบข่าวความเคลื่อนไหวทุกระยะตลอดเวลา, และแล้วเขียนรายงานมอบให้ทหารเดินสารนำไปเรียน ผบ.พันให้ทราบว่า เราได้เปิดทำการวิทยุสื่อสารกับทางกรุงเทพฯ ได้แล้ว โดยต่างเฝ้าฟังกันและกันอยู่สามารถทำการรับ-ส่งได้ทันทีตลอดเวลา

ข้าพเจ้าต้องคร่ำเคร่งอยู่กับงานจนไม่มีโอกาสที่จะเอาใจเผื่อแผ่ไปให้กับเรื่องที่อยากรู้อย่างกระวนกระวาย นั่นก็คือการต่อสู้ระหว่างทหารไทยกับทหารญี่ปุ่น เพราะว่าสองหูต้องถูกครอบไว้ด้วยเครื่องฟังเสียงจากเครื่องรับวิทยุ, สองตาจ้องมองอยู่บนหน้ากระดาษ ซึ่งมือข้างขวาจับปากกาเขียนตัวหนังสือที่สมองแปลออกมาจากสัญญาณมอร์สที่หูได้ยิน มือซ้ายคุมอยู่ที่คนเคาะทำหน้าที่กดหรือปล่อยให้หน้าสัมผัสของปุ่มตัด/ต่อทางเดินกระแสไฟฟ้าของหลอดวิทยุในเครื่องส่งให้ทำงานเป็นจังหวะจุด-ปิด ตามที่กำหนดไว้ให้เป็นที่รู้กันว่า กี่จุดกี่ขีดจึงเป็นอักษรตัว ก.ตัว ข. ฯลฯ

สถานีวิทยุที่ข้าพเจ้าควบคุมอยู่ไม่มีพนักงานผู้ช่วย เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะผลัดเปลี่ยนลุกออกไปไกลๆ จากหน้าเครื่องส่งเครื่องรับจึงไม่มีเลย! แต่ก็รู้ข่าวเพียงประปรายจากการสอบถามทหารที่ขึ้นมารักษาการณ์บนเขาว่า กองหน้าของทหารญี่ปุ่นหน่วยแรกประมาณ 1 กองร้อย ถูกกระสุนของฝ่ายเราตายเกือบหมด เพราะพวกนั้นเดินดาหน้าเข้ามาตามถนนโดยมิได้ใช้ยุทธวิธีประการใดเลย แล้วก็มีข่าวทะยอยเข้ามาอีกว่า กองทัพญี่ปุ่นทำการยกพลขึ้นบกอย่างห้าวหาญ มิได้สะทกสะท้านต่อกระสุนปืนใหญ่ที่ฝ่ายเราระดมยิงไปจากหน่วยที่ตั้งใหญ่อีกแห่งหนึ่งซึ่งเร้นอยู่ในสวนตูล

พอท้องฟ้าสางแสงทองค่อยผ่องอำไพทัศนวิสัยอำนวยให้สายตามองเห็นอะไรๆ ได้ดีขึ้นๆ มิช้ามินานพลัน ปรากฏเสียงกระหึ่มครึมคราวดังก้องบนท้องฟ้า ใกล้เข้ามา-ใกล้เข้ามาอีก เรารู้ทันทีว่ามันคืออะไร, จะมาดีหรือมาร้าย ใครเลยจะหยั่งรู้ในสถานการณ์เช่นนั้น มหาภัยกำลังเผชิญหน้ากันอยู่ ศัตรูกำลังบุกรุกขึ้นมาจากท้องทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล เหลือกำลังของเราที่จะป้องกันได้ทั่วถึง ทางท้องฟ้านภากาศเล่า ก็ปลอดโปร่งโล่งโถงปราศจากอุปสรรคใดๆ แก่ข้าศึกแม้เพียงนิ้วก้อย, กองบินของเราไม่มีที่สงขลาซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญแห่งหนึ่งทั้งทางบกทางทะเลและทางอากาศ ถ้าเป็นเครื่องบินของข้าศึก…? จิตสำนึกของข้าพเจ้าขณะนั้น-แม้เวลาได้ล่วงไปแล้วตั้ง 44 ปี-เกือบถึงศตวรรษแล้ว! เมื่อย้อนระลึกนึกถึงความสยองขวัญ เสียวสันหลังวาบครั้งกระโน้นยังเตือนความจำได้หมายรู้จนกระทั่งบัดนี้!

เพราะอะไรหรือ? ก็เพราะว่า สถานีวิทยุที่ข้าพเจ้านั่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ขณะนั้น เป็นเป้าประสงค์ของการทำลายของยุทธศาสตร์แห่งหนึ่ง อาคารที่ทำการตั้งอยู่บนยอดเขาโดดเด่นเห็นถนัดตาและอยู่ในค่ายทหาร, พญาเหยี่ยวตัวหนึ่งโฉบแถถลาลงมาเตี้ยผ่านหวืดหวือเฉียดหลังคาไป ถ้ามันหย่อนไข่ของขวัญวันแลนดิ้ง-เดย์ลงมาให้สักใบหนึ่ง-เพียงใบเดียวเท่านั้น จุณวิจุณย่อมเกิดขึ้นทั่ว พริบตา!

ข้าพเจ้าอดทนอยู่ไม่ได้ต้องลุกออกไปแหงนหน้าดู ก็เห็นพญาเหยี่ยว 3 ตัวกำลังพันตูกันอยู่ ลำหนึ่งสีเทาค่อนขาวเป็นแบบเครื่องบินทะเลมีแต้มสีแดงเป็นวงกลมใหญ่ใต้ปีกมองเห็นถนัด แสดงสัญชาติซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกคงเป็นเครื่องบินตรวจการณ์เพราะอยู่ในระดับสูงมาก อีก 2 ลำเป็นแบบขับไล่ อนุมานได้จากรูปลักษณะและขนาดที่คล่องตัวบินฉวัดเฉวียนได้รวดเร็ว ข้าพเจ้าเดาเอาว่าคงเป็นสปิตไฟร์ของอังกฤษที่ขึ้นมาจากสิงคโปร์เข้าเผชิญหน้าต่อสู้ศัตรูผู้รุกราน

แต่ชั่วครู่เดียว ลำหนึ่งก็ควันยาวเป็นทางออกจากแพนหางและหัวทิ่มดิ่งต่ำลงๆ หายลับไป, ส่วนอีกลำหนึ่งก็มองหาไม่เห็นเสียแล้ว

ครั้นเวลาผ่านไปอีกมิช้า ฟ้าแจ้งจางปางสว่างโร่, เสียงปืนที่ดังสะท้อนย้อนหลังมาจากแนวหน้าของเราที่ยกออกไปปะทะกับญี่ปุ่น ชักจะเพลาลง, คงเนื่องจากมีการถนอมกระสุน ไม่ยิงสุ่มเหมือนเมื่อตอนแรกที่ยังมืดอยู่, หรือมิฉะนั้นก็อาจเป็นเพราะฝ่ายข้าศึกหยุดยั้งระวังตัวไม่บุ่มบ่าม ข้าพเจ้าเกิดความคิดขึ้นว่าควรเปิดการสื่อสารทางวิทยุโทรศัพท์กับกรุงเทพฯ ขึ้นอีกทางหนึ่ง เพื่อผลการติดต่ออำนวยความสะดวกระหว่างผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกระทรวงกลาโหมจะได้พูดจากับผบ.พันของข้าพเจ้าได้โดยตรง, จึงบอกความประสงค์ผ่านทางสถานีกลางที่บางกอกน้อยให้ช่วยบอกไปที่ “ห้องพูด” ซึ่งอยู่ที่ ปณ.กลาง บางรัก, แล้วข้าพเจ้าก็เดินเครื่องส่งวิทยุโทรศัพท์ส่งเสียงเรียกออกอากาศไปเป็นระยะๆ ไม่ช้าเราก็ติดต่อกันได้สำเร็จ

เห็นควรชี้แจงระบบการทำงานวิทยุโทรศัพท์ของกองช่างวิทยุกรมไปรษณีย์สมัยนั้นไว้ ณ ที่นี้พอสังเขป

“ห้องพูด” คือที่ทำการของเจ้าหน้าที่พูดติดต่อกับสถานีปลายทางทั้งในประเทศบางแห่งและต่างประเทศบางประเทศ สำหรับสนองความต้องการให้ผู้ที่มีความประสงค์จะพูดกับใครก็ได้ที่ทางการได้เปิดการติดต่อไว้ โดยเสียค่าเช่าพูดตามอัตราที่กำหนด เบื้องแรกของกิจการครั้งนั้น ผู้พูดต้องไปใช้บริการที่ห้องพูด เจ้าหน้าที่จัดให้เสียงพูดเดินทางไปตามสายไปเข้าเครื่องส่งออกอากาศที่ศาลาแดง, ส่วนเสียงรับฟังจากอีกฝ่ายหนึ่งนั้นได้จากสถานีเครื่องรับที่หลักสี่ ส่งเสียงป้อนมาให้ตามสายเช่นเดียวกัน, เป็นงานที่ยุ่งยากอยู่ไม่น้อย. ต่อมาที่ห้องพูดจึงมีเครื่องมือเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ทันสมัยให้ความสะดวกแก่ผู้พูดที่อยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ต้องไปที่ห้องพูด ใช้โทรศัพท์ธรรมดาต่อเข้าไปก็สามารถพูดกันได้กับญาติมิตรในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ

เครื่องมือที่ว่านั้น ซึ่งอันที่จริงควรเรียกว่าเครื่องอุปกรณ์มากกว่า ใช้สำหรับต่อเชื่อมเสียงจากสายที่ส่งมาจากหลักสี่คู่หนึ่ง และเสียงของผู้พูดในห้องพูดที่เดินทางไปเข้าเครื่องส่งที่ศาลาแดงคู่หนึ่ง, รวมกันเป็น 2 คู่ 4 สายนั้นเอาร่วมกัน ประจุเข้าในสายโทรศัพท์ธรรมดา 2 สาย ต่อผ่านโทรศัพท์กลางไปยังบ้านใครๆ ก็ได้ ไม่ต้องเดินทางไปที่ห้องพูด, อุปกรณ์เครื่องนั้นเรียกว่าอะไรนึกไม่ออกเสียแล้ว เพราะข้าพเจ้าไม่เคยเห็น เป็นแต่รู้คุณสมบัติสมรรถภาพและรู้ว่าซื้อจากญี่ปุ่นราคาหลายหมื่น แต่ใช้อยู่ไม่นานเท่าไรได้ข่าวว่าเสีย!

โชคดีที่ข้าพเจ้าได้สร้างอุปกรณ์เล็กๆ ทดลองเล่นบ้าง เอาเสียงพูดจากเครื่องโทรศัพท์ธรรมดาผ่านมาจากตู้โทรศัพท์กลางที่ปณ.หาดใหญ่ ใส่เข้ากับเครื่องส่งวิทยุของข้าพเจ้า และเอาเสียงตอบจากเครื่องรับวิทยุประจุเข้ากับสายโทรศัพท์ธรรมดาส่งผ่านตู้กลางเช่นเดียวกัน ให้คนพูดที่อยู่คนละทางพูดกันได้-ชนิดโต้ตอบกันได้ทันทีทันควัน ไม่ต้องผลัดกันพูดผลัดกันฟัง, โดยได้ทดลองสร้างขึ้นด้วยวิธีการของข้าพเจ้าเอง ได้ผลแล้ว 80% จากผู้พูดที่อยู่สงขลาคนหนึ่งสนทนากับคนในกรุงเทพฯ, อุปกรณ์ของข้าพเจ้าจึงได้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริงในคราวคับขันครั้งนั้น, โดยผบ.ร.พัน 5 พูดกับทางกรุงเทพฯ ได้โดยไม่ต้องขึ้นไปบนเขา

ตกสายหน่อยมีข่าวเข้ามาจากแนวหน้าว่า ผู้นำทัพญี่ปุ่นส่งทหารถือธงขาว เข้ามาขอเจรจาหย่าศึก ทำความเข้าใจให้เรารู้ว่า ญี่ปุ่นไม่ต้องการรบกับไทย, ที่เกิดการปะทะกันขึ้นนั้นเป็นความเข้าใจผิด, ประเทศไทยไม่ใช่เป้าประสงค์ของญี่ปุ่น, ความมุ่งหมายของญี่ปุ่นนั้นคือ ต้องการขับไล่ฝรั่งชาติต่างๆ ออกไปให้หมดสิ้นจากภูมิภาคพื้นแผ่นดินเอเชีย ญี่ปุ่นปรารถนาจะสร้างวงไพบูลย์ขึ้นสำหรับโลกตะวันออก เอเชียต้องเป็นของคนเอเชียเท่านั้น, ญี่ปุ่นทนดูอยู่ต่อไปไม่ได้ที่เห็นคนชาติตะวันตกเข้ามาปกครองคนตะวันออก, เอารัดเอาเปรียบเหยียบย่ำกอบโกยเอาผลประโยชน์โดยไม่เป็นธรรม,

ญี่ปุ่นจึงตัดสินใจเป็นผู้นำดำเนินการบังคับเอาสิ่งที่พวกเราต้องเสียไปกลับคืนมาเป็นของเราใหม่ให้จงได้ ขอให้ชาวเอเชียร่วมมือกัน การที่ญี่ปุ่นยกทัพขึ้นที่สงขลานั้นไม่ใช่บุกรุกเพื่อยึดเอาเป็นยุทธภูมิ, เขาจำเป็นต้องทำตามแผนยุทธศาสตร์ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้, เพื่อเดินทัพผ่านไปสู่จุดหมายที่จะปลดแอกให้มลายูและพะม่า, เขาอาจต้องอาศัยดินแดนของไทยเป็นที่พักพิงบ้างอย่างมิตรประเทศ, ขอร้องกองทหารไทยอย่าได้ขัดขวาง ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะขัดขวาง, หมดเปลืองกำลังที่จะรบกันเอง, เขามิได้หลู่เกียรติทหารไทย, เขารับรองว่าทหารญี่ปุ่นทุกคนมีวินัยให้ถือว่าทหารไทยและคนไทยเป็นมิตรของญี่ปุ่น, ทหารญี่ปุ่นเคารพคนไทยเสมอ จะไม่ล่วงเกินเบียดเบียนคนไทยให้เดือดร้อนแม้แต่น้อยด้วยประการใดๆ เป็นเด็ดขาด

ข้อความข้างบนนี้ข้าพเจ้าเรียบเรียงขึ้นเองจากเนื่อถ้อยกระทงความที่ระลึกได้ แต่ผบ.พัน ของเราโต้ตอบไปอย่างไรข้าพเจ้าไม่ได้ยิน, และโทรเลขที่ส่งไปและรับตอบมาจากกรุงเทพฯเป็นคำรหัส แต่เข้าใจว่าคงตกลงตามที่ญี่ปุ่นขอร้อง เพียงแต่ประวิงเวลาขอปรึกษาผู้บังคับบัญชาก่อน

ต่อมา ข้าพเจ้ารับผ่านโทรเลขถึง ผบ.พันอีกฉบับหนึ่งเป็นคำรหัสเช่นเคย แต่แล้วโทรเลขฉบับนั้นทหารม้าใช้นำ กลับมาให้ทบทวนการรับการส่งใหม่, คงเป็นที่สงสัยหรือถอดไม่ออก, การทบทวนถูกต้องไม่มีคำใดเปลี่ยนแปลง และอีกครู่หนึ่งถัดมาก็มีคำสั่งจาก ผบ. สูงสุด คือ จอมพลป.พิบูลสงคราม ส่งมาอีก, ฉบับหลังนี้เป็นข้อความธรรมดามิได้เข้ารหัส จำได้ว่ามีความสำคัญว่า ให้หยุดรบ ให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านไปได้ ให้ถอยทหารกลับที่ตั้งปกติ รักษาการณ์อย่างกวดขันมิให้ทหารญี่ปุ่นล่วงล้ำเข้ามาในเขตของกองพัน

คำสั่งฉบับนี้ข้าพเจ้าต้องลงลายมือชื่อกำกับรับรองว่าข้อความทั้งหมดถูกต้อง ลงวันที่และเวลารับพร้อมทั้งชื่อผู้ส่งต้นทางที่กรุงเทพฯ ไว้อีกด้วย, ทั้งๆ ที่ลายมือเขียนของข้าพเจ้าเองเพราะว่า มันเกี่ยวกับความเป็นความตาย ซึ่งหมายความว่าถ้าคำสั่งฉบับนั้นเป็นเท็จ ก็หมายถึงว่า ข้าพเจ้าจะต้องถูกยิงเป้า! หรือถ้ามีคำใดคำหนึ่งผิด-ผิดจากต้นฉบับ ข้าพเจ้าก็ต้องรับโทษสถานใดสถานหนึ่งตามกฎอัยการศึก!

ส่วนความดีซึ่งปรากฏในเวลาต่อมาคือ ข้าพเจ้าได้รับพระราชทานยศเป็น นายร้อยตรี นายทหารนอกราชการ ตามอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนชั้นตรีเต็มชั้นที่ข้าพเจ้าได้รับอยู่เวลานั้น, ก็เท่านั้นเอง!

และเมื่อสงครามยุติแล้วข้าพเจ้าต้องถูกบังคับให้ลาป่วยจนถูกปลดเพราะไม่สามารถอดทนต่อความบีบบังคับจิตใจด้วยความไม่เป็นธรรม

ต่อจากนั้น กองทัพญี่ปุ่นก็เคลื่อนขบวนผ่านหน้ากองพันเราไปโดยปราศจากอุปสรรค เสียงสะท้อนเลื่อนลั่นปานแผ่นดินจะถล่มดังก้องขึ้นมาบนเขา กลบหูจนหนวกเสียงอื่นๆ ทั้งหมดมองลงไปดูสิ่งที่ประจักษ์แก่สายตาคือแสนยานุภาพอันเกรียงไกรหลั่งไหลไปเป็นขบวนยาวเหยียดสุดพิสัยของสายตาที่จะรายงานประมาณได้,

รถรบนานาชนิด ยานเกราะตีนตะขาบ รถหุ้มเกราะ รถปืนต่อสู้อากาศยาน ป้อมปืนใหญ่เคลื่อนที่ ปืนใหญ่สนาม รถลำเลียงพลลำเลียงยุทธสัมภาระพร้อมสรรพ, พรักพร้อมสะพรึบสะพรั่งทั้งกำลังคนในเครื่องแบบ บ้างก็สะพายซามูไร, สีหน้าร่าเริงเหี้ยมหาญบางครั้งก็เปล่งเสียงบันไซไปเป็นระยะๆ คันแล้วคันเล่า กลุ่มแล้วกลุ่มเล่า, อาทิตย์ธวัชสะบัดโบกชายนำขบวนแล่นสลับกำกับกันไปเป็นตอนๆ แลสลอนดุจลูกคลื่นในมหาสมุทรการณ์เป็นไปเช่นนั้นตลอดเวลา 48 ชั่วโมง ที่ข้าพเจ้าเฝ้างานกินนอนอยู่บนเขากับทหารหมู่หนึ่ง,

การลำเลียงพลังของกองทัพอาทิตย์อุทัยก็ยังมิได้เพลาลง และมาทราบภายหลังอีกว่านอกจากทางถนนผ่านหน้ากองพัน เขายังขนอาวุธยุทโธปกรณ์ไปทางรถไฟสงขลา-ปาดังเบซาร์ซึ่งมีรางต่อเชื่อมเลยเข้าไปถึงมลายูอีกทางหนึ่งด้วย โดยรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่แต่ถอดยางล้อออกเสียเหลือ แต่โครงล้อเหล็กวิ่งไปบนรางแทนรถไฟ!

ได้เห็นสรรพกำลังพร้อมรบของเขาแล้วข้าพเจ้าถอนใจเฮือกใหญ่ สิ้นเคราะห์ไปที! ถ้าไม่ได้รับคำสั่งให้หยุดรบ…? ถ้าญี่ปุ่นใช้ปืนใหญ่ยิงเข้ามาในกองพัน…?

เหตุการณ์ต่อมาไม่มีปฏิบัติการทางทหารกับญี่ปุ่น นอกจากเขาตั้งรังปืนกลจุกช่องทางเข้าออกของเราไว้ 2 แห่ง ระหว่างเวลาที่กองทัพของเขาเคลื่อนขบวนไป รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งมีนายทหารหลายคนกับพนักงานวิทยุคนหนึ่งระหกระเหินมาจาก ร.พัน 42 ปัตตานี เข้ามารายงานต่อ ผบ.ร.พัน 5 เราจึงทราบว่า ที่ปัตตานีทหารไทยรบกับญี่ปุ่นจนถึงที่สุด กองพันถูกทำลายยับเยิน ผบ.พันต่อสู้จนวาระสุดท้ายตายในที่รบ, นายทหาร นายสิบ พลทหารเสียชีวิตจำนวนมากเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะไม่ได้รับคำสั่งหยุดรบ, การติดต่อวิทยุสื่อสารกับกรุงเทพฯ ทำไม่ได้ (แท้ที่จริงไม่ได้ทำ) เพราะเจ้าหน้าที่พนักงานวิทยุหายตัวไปไม่มีใครทำงาน.

ก็จะมีได้อย่างไรในเมื่อพนักงานวิทยุที่นั่นกับที่ธารโต, ที่สะเดา, รวมทั้งช่างเครื่องของข้าพเจ้าด้วยนัดกันไปดูหนังที่หาดใหญ่ ซึ่งฉายเรื่องโจรในแบกแดด แล้วก็เลยถือโอกาสเที่ยวกันต่อเนื่องจากเป็นวันหยุดราชการฉลองรัฐธรรมนูญ! ทั้งนี้จะเอาผิดฐานละทิ้งหน้าที่ได้หรือไม่ข้าพเจ้าไม่ทราบ

เขียนมาถึงตรงนี้ ขอย้อนความไปถึงตอนที่ข้าพเจ้าบันทึกไว้ว่า ได้รับของกำนัลจากคนๆ หนึ่งพร้อมตั๋วรถไฟ ให้ไปเที่ยวงานรัฐธรรมนูญที่กรุงเทพฯ ด้วยนั้น, แม้เวลาล่วงไปแล้วเกือบกึ่งศตวรรษก็ยังขบปัญหาไม่แตกว่า เขาหลอกให้ข้าพเจ้าไปเที่ยวกรุงเทพฯ เพื่อเลือกไสให้ไปเสียจากกองพันจะได้ไม่มีคนทำหน้าที่สื่อสารกับกรุงเทพฯ-เพราะเหตุใด?

ในเมื่อญี่ปุ่นไม่ประสงค์จะรบกับไทย, เขารู้ว่าคนไทยเป็นเลือดนักรบสู้ไม่ถอย ยอมพลีชีพเพื่อชาติทุกคน, ถึงต้องข้ามศพกูไปจึงจะผ่านไปได้ วิเทโศบายของรัฐบาลญี่ปุ่นต้องการไทยไว้เป็นมิตรประเทศ แต่ในทางพฤตินัยกองทัพไทยจะต้องหดหัวอยู่ในกระดอง?

กุศโลบายของแม่ทัพนายกองญี่ปุ่น จึงต้องการปราบทหารไทยให้หมดฤทธิ์ หมดอำนาจ จะได้เข็ดขยาดยอมเป็นมิตรด้วยความกลัวมิใช่เพื่อนที่กอดคอเคียงบ่าเสมอไหล่ด้วยการผูกไมตรี

เขาติดสินบนเราด้วยการยกดินแดนที่เราเคยเสียไปแก่อังกฤษ ฝรั่งเศส กลับคืนให้เราด้วยความจริงใจหรือฝากฝังไว้ให้ปกครองดูแล?


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤษภาคม 2565